“นายทหารพวกนี้ไม่รู้สึกกลัวตาย แถมยังบ้าดีเดือดกว่าใครเพราะพวกเขาใช้ยา”

เมธแอมเฟตามีน (Methamphetamine) หรือ คริสทัลเมธ (Crystal meth) คือสิ่งที่ถูกพูดถึงเป็นวงกว้างช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากข่าวลือเกี่ยวกับสรรพคุณของสารชนิดนี้ว่าทำให้ไม่เหนื่อย กระปรี้กระเปร่า และรู้สึกไม่ง่วงแม้ร่างกายอ่อนเพลีย  ชาวบ้านต่างอยากลิ้มลองยาที่ว่า ใคร ๆ ต่างก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าคงต้องให้ไปขอที่กองทัพ เพราะรัฐบาลหลายประเทศแจกจ่ายยาหลายล้านเม็ดให้แก่นายทหาร

สารเสพติดรูปแบบเม็ดที่แพร่หลายในเยอรมนีช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีชื่อว่า เพอร์วิติน (Pervitin) ผลิตและพัฒนาโดยบริษัท Temmler ที่มีส่วนผสมหลักอย่างเมธแอมเฟตามีน ก่อนจะเปิดตัวยาเม็ดจอมพลังอย่างเป็นทางการในปี 1938 โดยโปรโมตถึงสรรพคุณที่จะสร้างความตื่นตัว ลดอาการซึมเศร้าได้ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ พร้อมกับยกตัวอย่างว่าผู้ใช้ยา จะสามารถทำงานต่อเนื่องได้ถึง 36-50 ชั่วโมง โดยไม่รู้สึกเหนื่อยล้า ซ้ำยังสามารถหาซื้อได้ทั่วไปในร้านขายยาโดยไม่ต้องใช้ใบรับรองแพทย์ 

การโปรโมตสุดอลังการของ Temmler ทำให้แพทย์ของกองทัพลองนำเพอร์วิตินมาทดลองกับนักศึกษามหาวิทยาลัย 90 คน ผลที่ออกมาเป็นที่น่ายินดีเมื่อนักศึกษากลุ่มตัวอย่างมีท่าทางตื่นตัวและทำข้อสอบวิชาประวัติศาสตร์ได้ดี จนทำให้กองทัพร่ำลือกันว่า เจ้าสิ่งนี้อาจจะช่วยให้เยอรมนีชนะสงครามที่กำลังจะมาถึงในอนาคตอันใกล้

คุณสมบัติของแอมเฟตามีนเองก็ช่วยเสริมความอึดให้กับนายทหารที่กำลังต่อสู้ได้จริง ๆ เนื่องจากเป็นกลุ่มยาสังเคราะห์ที่กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง สร้างความรู้สึกว่าอาการเหนื่อยล้าเริ่มหายไป รู้สึกตื่นตัว สบายตัว ขณะเดียวกันก็ลดความอยากอาหาร พวกเขาจะรู้สึกตื่นตัว สามารถเดินทัพได้ไกลขึ้นกว่าปกติหลายไมล์ นอกจากนี้สารเสพติดยังใช้ระงับความเจ็บปวดจากบาดแผลที่ได้รับจากสงครามอีกด้วย

บันทึกเอกสารทางการแพทย์ของด็อกเตอร์ธีโอดอร์ มอเรล (Theodor Morell) นายแพทย์ส่วนตัวของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ รวมถึงเอกสารอื่น ๆ ของกองทัพนาซี เผยให้เห็นรายละเอียดการใช้สารเสพติดของนายทหารและนักการเมืองในพรรคหลายคน ข้อมูลที่ได้มากเพียงพอที่จะเขียนหนังสือหนึ่งเล่มชื่อว่า Der Totale Rausch (The Total Rush) ของ นอร์แมน โอเลอร์ (Norman Ohler) ว่ามีหลายคนไม่ใช่แค่เสพยาเอาเรี่ยวแรง แต่ถึงขั้นเสพติดจนเลิกไม่ได้ โดยเฉพาะกองกำลังติดอาวุธนาซีแวร์มัคท์ (Wehrmacht) และเหล่านักบินนาซีในกองทัพลุฟท์วัฟเฟอ (Luftwaffe) ที่ได้รับเพอร์วิตินมากกว่าใคร

ในปี 1940 ระหว่างที่สงครามโลกเริ่มต้นได้ประมาณหนึ่งปี กองทัพนาซีสั่งผลิตเพอร์วิตินจำนวนมหาศาล และส่งยากว่า 35 ล้านเม็ดไปให้กับนายทหารที่อยู่แนวหน้า บ้างก็มาในรูปแบบยาเม็ดในแท่งช็อกโกแลต ต่อมาในปี 1941 อังกฤษอนุมัติให้ใช้กองทัพอากาศสามารถใช้เบนซีดริน (Benzedrine) ยาบ้ารูปแบบหนึ่ง ทั้งแบบเม็ดและแบบยาสูดพ่นได้ แต่ปริมาณการใช้จะต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ท้ายที่สุดกองทัพฝั่งสัมพันธมิตรก็ผลิตยาเสพติดประเภทเบนซีดรินเพื่อแจกจ่ายให้กับทหารตัวเองมีแรงสู้กับกองทัพนาซี

“เราไม่ต้องการคนอ่อนแอ เราต้องการเพียงผู้ที่แข็งแกร่งเท่านั้น!” – อดอล์ฟ ฮิตเลอร์

แม้เพอร์วิตินกับเบนซีดรินจะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งในระยะเวลาหนึ่ง แต่มีนายทหารบางคนได้รับผลข้างเคียงอันน่าตกใจ ระหว่างที่กองทัพนาซีกำลังเคลื่อนพลเข้าโจมตีฝรั่งเศส ผู้พันหน่วยเออร์ซัทซ์ที่ 1 มีอาการปวดหัวใจหลังรับเพอร์วิตินวันละ 4 ครั้ง ต่อเนื่องนานหลายสัปดาห์ รวมถึงกรณีพลทหารอีกหลายคนที่หัวใจวายขณะออกปฏิบัติหน้าที่เพราะใช้เพอร์วิติน

สารคดี PBS ระบุว่า ในปี 1942 พลเอก ดไวต์ดี. ไอเซนฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower ต่อมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ) ออกคำสั่งให้จัดหาเบนซีดรินแบบเม็ดกว่า 500,000 เม็ด ส่งให้กับนายทหารชาวอเมริกันที่ยกพลขึ้นบกในแอฟริกาเหนือ ซึ่งผลก็เป็นที่น่าพอใจเมื่อเหล่าทหารสามารถเคลื่อนพลได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันทหารกองพลรถถังหุ้มเกราะที่ 24 ของอังกฤษก่อนเคลื่อนพลเพื่อต่อสู้ในอียิปต์ ทุกคนจะได้รับเบนซีดรินคนละ 20 มิลลิกรัม ส่วนนักบินของกองทัพอากาศจะได้รับเพียงแค่คนละ 10 มิลลิกรัมเท่านั้น

จิตแพทย์ชาวอเมริกัน เลสเตอร์ กรินสพูน (Lester Grinspoon) เขียนบันทึกวิเคราะห์ถึงการใช้สารเสพติดช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ไว้ในหนังสือ The Speed Culture: Amphetamine Use and Abuse in America ว่า กองทัพทั้งสองฝ่ายต่างแข่งขันกันผลิตยามาใช้ในสงคราม จึงทำให้ระหว่างปี 1939-1945 ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ผลักดันให้การแพทย์สามารถวิเคราะห์ ผลิต และใช้สารเสพติดที่เคยผิดกฎหมายได้มากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก 

ทว่าพอสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง เกิดการปราบปรามสารเสพติดครั้งใหญ่บนภาคพื้นทวีปยุโรป ของที่เคยหาง่ายกลับไม่มีให้เห็นอีกต่อไป ส่งผลให้ผู้ที่เคยใช้สารเสพติดจำนวนมากต้องเผชิญหน้ากับความทุกข์ทรมานจากการเลิกยา

 

ที่มา

https://www.history.com/news/inside-the-drug-use-that-fueled-nazi-germany

https://www.livescience.com/65788-world-war-ii-nazis-methamphetamines.html

https://time.com/5752114/nazi-military-drugs/

 

Tags: , , , , , , ,