ใครที่เป็นแฟนหนังของ สตีเวน โซเดอร์เบิร์กห์ (Steven Soderbergh) ช่วงปีนี้น่าจะถือเป็นปีที่น่าชื่นใจเหลือเกิน เพราะเขากลับมาพร้อมหนังที่ออกฉายในเวลาไล่ๆ กันถึง 2 เรื่องคือ Presence (2024) ที่กำลังลงโรงฉายในบ้านเรา และ Black Bag (2025) ที่เตรียมเข้าฉายเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้

โซเดอร์เบิร์กห์ถือเป็นหนึ่งในคนทำหนังที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวโดดเด่น งานของเขามักพูดถึงคนตัวเล็กตัวน้อย และการกัดฟันดิ้นรนเอาชีวิตรอดในสภาพสังคมที่ไม่เป็นมิตร ความโกลาหล รวมทั้งมีกลิ่นอายของการเป็นหนังทดลองที่ให้รสชาติแปลกใหม่ในหนังของเขาเสมอ

People Also Watch สัปดาห์นี้ Man on Film พาไปสำรวจเส้นทางการกำกับและสร้างภาพยนตร์ระดับตำนานของสตีเวน โซเดอร์เบิร์กห์ ตั้งแต่ Sex, Lies, and Videotape (1989), Out of Sight, Erin Brockovich (2000), Traffic (2000) และ Ocean’s Eleven (2001) 

เขาเริ่มต้นจากการกำกับหนังสั้นและวิดีโอมิวสิกไม่กี่ชิ้น ก่อนจะลุยแหลกด้วยการทำหนังยาวเรื่องแรกที่ส่งผลให้เขากลายเป็นคนทำหนังหนุ่มน่าจับตาของฮอลลีวูดสุดๆ ใน Sex, Lies, and Videotape (1989) ว่าด้วยความสัมพันธ์สุดอลหม่านของชายสองหญิงสอง จอห์น (ปีเตอร์ กัลลาเกอร์) แต่งงานกับ แอนน์ (แอนดี แม็กโดเวลล์) ทว่าชีวิตคู่ของทั้งสองกลับไม่มีความสุขนักเมื่อความต้องการทางเพศสวนทางกัน เพราะฝ่ายหญิงไม่พึงใจจะร่วมรักกับเขา เรื่องเริ่มอลหม่านเมื่อ ซินเธีย (ลอรา ซาน กิอาโคโม) น้องสาวแท้ๆ ของแอนน์ร่วมหลับนอนกับจอห์นที่ถือเป็นพี่เขย สร้างสัมพันธ์ที่ตอบโจทย์คนทั้งคู่ และยิ่งยุ่งไปกว่านั้นเมื่อ เกรแฮม (เจมส์ สเปเดอร์) เพื่อนสนิทของจอห์นแวะมาหาเขา และเริ่มใกล้ชิดสนิทสนมกับแอนน์ซึ่งก็ห่างเหินทางกายจากสามีมานานแล้ว

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงต้นธารของความยุ่งเหยิง เมื่อพี่น้องสองสาวพบว่าเกรแฮมมีเทปวิดีโอลึกลับ สัมภาษณ์หญิงสาวแปลกหน้ามากมาย ว่าด้วยประสบการณ์ทางเพศของพวกเธอ ซินเธียที่เป็นคนเปิดเผยเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว ยินดีให้เกรแฮมสัมภาษณ์เธอ ขณะที่แอนน์เองก็ปลดเปลื้องเรื่องนี้ต่อหน้ากล้องเช่นกัน หากแต่บทสัมภาษณ์เธอนั้น -ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม- กลับสะท้อนภาพบาดแผลทางความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างจอห์นกับเธอ

หนังส่งให้โซเดอร์เบิร์กห์ -ที่เวลานั้นเพิ่งอายุ 26 ปี- คว้ารางวัลปาล์มทองจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ ทั้งยังส่งสเปเดอร์คว้าสาขานักแสดงชายยอดเยี่ยมด้วย รวมถึงได้เข้าชิงสาขาเขียนบทยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์อันถือเป็นเวทีใหญ่ฝั่งอเมริกา ทั้งยังจุดกระแสหนังอิสระในฮอลลีวูดจนอาจจะเรียกได้ว่า เป็นต้นธารของคนทำหนังร่วมสมัยเดียวกันในเวลาต่อมาอย่าง เควนติน ทารันติโน และเวส แอนเดอร์สัน จุดเด่นของหนังไม่เพียงมาจากเรื่องราว ที่พูดถึงความสามัญในชีวิตอย่างการแต่งงานและความสัมพันธ์ หากแต่มันยังรวมถึงวิธีตัดต่อ การเคลื่อนกล้องที่ถือว่า ต่างไปจากหนังสตูดิโอยุคต้นปี 90s โดยสิ้นเชิง 

โซเดอร์เบิร์กห์เขียนบทหนังทั้งเรื่องภายในเวลาเพียง 8 วัน (ซึ่งอันที่จริง เขามีพล็อตในหัวคร่าวๆ มาแล้วนานหลายปี) “ผมคิดว่าผมคงเขียนบทหนังภายใน 8 วันไม่ได้อีกแล้วแหละ ซึ่งก็ไม่เป็นไรหรอก” เขาบอก “ปกติแล้ว เมื่อผมมีไอเดียคร่าวๆ ในหัว กว่าจะเขียนจะร่างเสร็จก็กินเวลาไป 4 หรือ 5 สัปดาห์โน่น เพราะงั้น สิ่งที่ผมกังวลคือ คนจะพากันคิดว่าผมนั่งแหมะบนเก้าอี้ แล้วปั่นบทหนังออกมาได้เลยภายในเวลาเพียง 8 วัน อย่าไปคิดแบบนั้นเลย ผมว่ามันเป็นวิธีคิดที่ไม่ถูกต้องนักหรอก

“ผมคิดว่าวิดีโอทำให้เราวางตัวเองออกห่างจากผู้คนและเรื่องราวต่างๆ เรามักจะคิดว่าเราได้รับประสบการณ์ต่างๆ เพราะเราดูสิ่งนั้นผ่านเทปวิดีโอ แต่สำหรับกราแฮม -มันเหมือนผมพิจารณาตัวเองด้วยล่ะ- เขาต้องการระยะห่างเพื่อจะได้รู้สึกและสำรวจต่อสิ่งต่างๆ โดยไม่ต้องถูกคนอื่นตัดสิน ซึ่งด้านหนึ่ง ผมว่ามันเหมือนการแอบดูอะไรบางอย่างน่ะ แม้ผมจะคิดว่าคำว่า แอบดูมันค่อนไปทางแง่ลบก็เถอะ”

หนังไม่ถึงกับประสบความสำเร็จในนาทีที่ออกฉาย แต่แล้วจากกระแสรางวัลและการพูดแบบปากต่อปาก ก็ทำให้มันกลายเป็นหนึ่งในหนังที่ทำเงินของโซเดอร์เบิร์กห์ ด้วยการกวาดรายได้ไปราว 36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากทุนสร้างเพียงหนึ่งล้าน 2 แสนเหรียญฯ ส่งผลให้เขาเป็นคนทำหนังหน้าใหม่น่าจับตาของฮอลลีวูดในทันที

กระนั้นหนังเรื่องต่อๆ ไปของเขาก็ไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้นัก อาจจะเรียกได้ว่าเข้าข่ายเจ็บเนื้อเจ็บตัวด้วยซ้ำไป เพราะทำเงินไม่ได้เลยแม้แต่เรื่องเดียว ด้านหนึ่งหลายคนก็พิจารณาว่า ทีท่าการเป็น ‘นักทดลอง’ ของเขาอาจไม่ถูกจริตฮอลลีวูด หรือไม่ก็อาจเป็นเพราะค่ายหนังขายหนังของเขาผิดจุด หรือก็อาจเพราะอุตสาหกรรมฮอลลีวูดกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ฯลฯ แต่ในภาพใหญ่แล้ว หนังของเขาเจ๊งถล่มทลายหลายเรื่องติด “ผมทำหนังเจ๊งระเบิดไปเลย” เขาบอก “Out of Sight (1998) ชุบชีวิตผมไว้แท้ๆ”

Out of Sight พูดถึงความสัมพันธ์ชวนเวียนหัวของชายหญิงคู่หนึ่ง ดัดแปลงมาจากนิยายชื่อเดียวกันของ เอลมอร์ เลโอนาร์ด (Elmore Leonard) โดยมันเล่าเรื่องของ แจ็ก (จอร์จ คลูนีย์ -และการร่วมงานกันเป็นครั้งแรกระหว่างเขากับโซเดอร์เบิร์กห์ ก่อนจะผูกปิ่นโตร่วมงานกันมาอีกยาวนานหลังจากนั้น) โจรปล้นธนาคารที่ดวงตกสุดขีด เขาตัดสินใจลักพาตัว คาเรน (เจนนิเฟอร์ โลเปซ) ตุลาการสาวสวยที่ดันไปเห็นเขาละเมิดกฎแหกคุกเข้า และความปั่นป่วนก็เริ่มขึ้นเมื่อเธอดันตกหลุมรักแจ็กเข้า คาเรนจึงต้องหาทางจัดการความรู้สึกส่วนตัว กับความยุติธรรมที่เป็นเสมือนหัวใจหลักของหน้าที่การงานและของชีวิตเธอด้วย

หนังโดดเด่นในแง่การตัดต่อและลูกล่อลูกชนที่เลี้ยงคนดูให้อยู่กับหนังไปได้อย่างตลอดรอดฝั่ง ด้วยทุนสร้าง 48 ล้านเหรียญฯ หนังทำเงินไปทั้งสิ้น 77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งยังชิงออสการ์สาขาบทดัดแปลงและตัดต่อยอดเยี่ยมด้วย

คงไม่เกินเลยถ้าจะกล่าวว่า Out of Sight นี่เองที่ช่วยปักหมุดชื่อของโซเดอร์เบิร์กห์ให้กลับมาอยู่ในสายตาเหล่านายทุนทำหนังในฮอลลีวูดอีกครั้ง

“นานๆ ทีผมก็มีโอกาสคุยกับนักเรียนทำหนัง สิ่งหนึ่งที่ผมย้ำคือ นอกเหนือจากการเรียนรู้การสร้างชิ้นงานขึ้นมาแล้ว มันยังมีเรื่องของนิสัยและตัวตนของคุณในฐานะมนุษย์คนหนึ่งด้วย ส่วนใหญ่ของชีวิตเรานั้นคือการบอกเล่าเรื่องราวออกไป” โซเดอร์เบิร์กห์ว่า “ผมถามนักเรียนเหล่านั้นว่า ‘คุณอยากให้คนอื่นๆ เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับคุณว่าอะไร’ เพราะนี่แหละคือใจความสำคัญล่ะ ความสามารถในการจะได้งานบางทีแล้วก็ขึ้นอยู่กับว่า คนอื่นบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับคุณแบบไหน เหตุผลหนึ่งที่ เคซีย์ ซิลเวอร์ (Casey Silver) โปรดิวเซอร์หนังให้ผมได้ทำ Out of Sight แม้ก่อนหน้านี้ผมจะเพิ่งทำหนังเจ๊งมาแล้ว 5 เรื่องติด ก็เพราะเขาชอบตัวตนผมน่ะ เขารู้ว่าผมเป็นคนทำหนังที่มีความรับผิดชอบ เมื่อผมได้งาน เขาก็จะมาเจอผมอีกทีตอนหนังได้ฉายโน่นเลย และถ้าผมทำตัวแย่ๆ ผมคงไม่ได้งานมาทำแหงๆ”

สิ่งที่ทำให้โซเดอร์เบิร์กห์ดังกระจุย (อีกครั้ง) คือ Erin Brockovich (2000) หนังที่ดัดแปลงมาจากชีวิตจริงของ เอริน บร็อกโควิช (จูเลีย โรเบิร์ตส์) แม่เลี้ยงเดี่ยวที่ชีวิตบัดซบสุดขีด หลังจากตกงานและไม่มีเงินมาเลี้ยงดูลูกๆ เธอร้องขอให้ เอ็ด (อัลเบิร์ต ฟินนีย์) ทนายช่วยหางานเล็กๆ น้อยๆ ในบริษัทกฎหมายให้เธอทำเพื่อหาเงินเข้าบ้าน แต่ละวันของเธอจึงหมดไปกับการตะลุยกองเอกสารและคดีความมากมายเพื่อแลกเงินค่าแรง กระทั่งเมื่อวันหนึ่งเธอไปเจอเอกสารว่าด้วยการหมกเม็ดของบริษัทนายทุนที่ปล่อยสารปนเปื้อนลงแม่น้ำจนเดือดร้อนชาวบ้าน เอรินจึงรวบรวมเสียงร้องเรียนของคนจำนวนมากที่ได้รับความเดือดร้อนจากบริษัทใหญ่ แล้วฟ้องร้องในระดับแลกกันหมัดต่อหมัด ก่อนจะคว้าชัยที่พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์การฟ้องร้องในสหรัฐฯ 

บร็อกโควิชตัวจริงขายลิขสิทธิ์เรื่องราวของเธอให้สตูดิโอหนังในปี 1997 โดยที่ยังไม่มีการวางตัวผู้กำกับเป็นชิ้นเป็นอันเสียด้วยซ้ำ มีการเสนอชื่อคนทำหนังดังๆ มากมาย แต่ถึงที่สุดชื่อของโซเดอร์เบิร์กห์ก็ดูจะเข้าเค้าในการเล่าเรื่องราวของคุณแม่ลูกติด ผู้พลิกประวัติศาสตร์การฟ้องร้องคนนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่า เขาเป็นคนทำหนังที่กำกับตัวละครหญิงได้ดี “ฉันรู้ว่าเขาปฏิบัติต่อตัวละครเหล่านี้ด้วยความเคารพและไม่ทำให้พวกเธอออกมาดูแย่” ซานโตส แชมเบิร์ก (Santos Shamberg) โปรดิวเซอร์หนังบอก “ลองดูที่เขาทำกับเจนนิเฟอร์ โลเปซใน Out of Sight หรือกับแอนดี แม็กโดเวลล์ใน Sex, Lies, and Videotape สิ”

หนังเข้าชิงออสการ์ 5 สาขา รวมทั้งสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและกำกับยอดเยี่ยม ก่อนจะคว้ากลับบ้านในสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมโดย จูเลีย โรเบิร์ตส์ ที่จนถึงทุกวันนี้ คนยังชื่นชมเธอว่า รับบทเป็นคุณแม่นักสู้ได้อย่างมีหัวจิตหัวใจอย่างที่สุด ขณะที่ตัวหนังเองทำเงินไปทั้งสิ้น 256 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากทุนสร้าง 52 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ปี 2000 ยังถือเป็นปีทองของโซเดอร์เบิร์กห์ เพราะปลายปี Traffic (2000) หนังว่าด้วยสงครามยาเสพติดก็ออกฉายและได้รับความนิยมถล่มทลายเช่นกัน โดยหนังแบ่งออกเป็น 3 เส้นเรื่องใหญ่ๆ เส้นเรื่องแรกว่าด้วยนายตำรวจชาวเม็กซิกัน ฆาเบียร์​ (เบนิซิโอ เดล โตโร) กับมาโนโล (เจคอบ บาร์กัซ) ที่ไล่จับกุมพ่อค้ายาเสพติด โดยไม่รู้เลยว่า พ่อค้ายาเหล่านั้นเป็นคนของนายพลซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาการของพวกเขา ทำให้ฆาเบียร์กับมาโนโลต้องรับมือกับอิทธิพลและลูกตุกติก ที่ทำให้พวกเขาตั้งคำถามกับตัวเอง

อีกเส้นเรื่องหนึ่ง โรเบิร์ต (ไมเคิล ดักลาส) อัยการไฟแรงเพิ่งได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่กวาดล้างสงครามยาเสพติด และระหว่างที่เดินหน้ากำจัดปรามปรามกลุ่มค้ายาตรงพรมแดนระหว่างเม็กซิโกกับอเมริกาอยู่นั้น เขาก็พบกับข้อเท็จจริงชวนขนหัวลุกว่า หนึ่งในคนที่ติดยาอย่างหนักคือ ลูกสาวของเขาเอง

อีกด้าน เฮเลนา (แคตเทอรีน ซีตา-โจนส์) หญิงสาวที่กำลังตั้งท้องก็พบว่า คาร์ลอส (สตีเวน บราวเออร์) สามีที่เป็นเจ้าพ่อค้ายาถูกจับกุม และเฮเลนาก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากขึ้นดำรงตำแหน่งค้ายาแทนสามี และพร้อมกันนั้นก็ทำทุกทางเพื่อเอาคาร์ลอสออกจากคุก

“ผมกังวลเกี่ยวกับความสม่ำเสมอของหนังสุดๆ เลย” โซเดอร์เบิร์กห์เล่า “เพราะมันแบ่งออกเป็น 3 เส้นเรื่องใหญ่ๆ ทั้งยังมีตัวละครมหาศาล ทุกคนต้องให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในหนังเรื่องเดียวกัน และนี่แหละที่ยาก ตอนที่กำกับ ผมต้องใช้สัญชาติญานลุยนำไปเลยเพราะเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า มันจะออกมาอย่างที่ใจอยากหรือเปล่า กระทั่งเราเอาหนังไปเข้าห้องตัดต่อนั่นแหละ แล้วมันน่ากลัวมากจริงๆ นะ ไอ้ความรู้สึกของการที่อยู่ดีๆ ก็พบว่านักแสดงคนหนึ่งหรือฉากทั้งฉากเหมือนกระโดดมาจากหนังอีกเรื่องเนี่ย”

อย่างไรก็ดีฝันร้ายของโซเดอร์เบิร์กห์ไม่เกิดขึ้นจริงเพราะ Traffic กวาดคำชมถล่มทลาย ทำเงินไปทั้งสิ้น 207 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ชิงออสการ์ 5 สาขาและคว้ากลับบ้านมาได้ถึง 4 สาขา รวมทั้งกำกับยอดเยี่ยมและเดล โตโรในบทสมทบชายยอดเยี่ยมด้วย

ปีต่อมาก็ยังเป็นปีที่โซเดอร์เบิร์กห์ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง เมื่อ Ocean’s Eleven (2001) หนังโจรกรรมรวมดาวนักแสดงเข้าฉายเป็นครั้งแรก และได้รับความนิยมถล่มทลายจนถูกสร้างเป็นแฟรนไชส์ให้หลัง โดยรีเมกจากหนังชื่อเดียวกันเมื่อปี 1960 ว่าด้วย แดนนี (จอร์จ คลูนีย์) หัวขโมยที่เพิ่งออกจากคุกมาหมาดๆ กับ รัสตี (แบรด พิตต์) เพื่อนสนิทที่ติดขนมขบเคี้ยวทั้งวัน วางแผนจะปล้นเงินจากคาสิโนใหญ่ในลาสเวกัส แถมยังป่าเถื่อนขนาดจะงัดเอาเงินจากคาสิโน 3 แห่งที่เป็นของเจ้าพ่อผู้ทรงอิทธิพลอย่าง เทอร์รี (แอนดี กราเซีย) พร้อมๆ กัน!

ความทะเยอทะยานขนาดนี้ก็ต้องอาศัยเพื่อนร่วมทีมกลุ่มใหญ่ เช่น ไลนัส (แมตต์ เดมอน) นักล้วงกระเป๋าหน้าละอ่อน, พี่น้องมัลลอย (เคซีย์ แอฟเฟล็ค กับสก็อตต์ คาน) มือช่างที่เจาะระบบได้ทุกรูปแบบ ไปจนถึง เยน (ชิน ชาโบ) นักกายกรรมที่พาพวกเขาไปคว้าเงินก้อนได้ทุกหนทุกแห่ง โดยที่อีกด้าน เทต (จูเลีย โรเบิร์ตส์) คนรักของแดนนีก็อยู่ในสมการชวนหัวเหล่านี้ด้วย

หนังถูกพูดถึงอย่างมากในแง่ของการเป็นหนังรวมดาว โดยเฉพาะการปรากฏตัวของคลูนีย์กับพิตต์ที่เป็นนักแสดงแถวหน้าของวงการ “ผมว่า 2 คนนี้มีทัศนคติเกี่ยวกับตัวตนและการทำงานคล้ายๆ กัน” โซเดอร์เบิร์กห์อธิบาย “พวกเขาไม่ทำตัวเสแสร้ง ไม่ดูถูกตัวเอง ไม่ได้เป็นพวกนักแสดงที่เห็นแต่ตัวเองอย่างเดียว พวกเขาหัวเราะง่าย เราเจอกันครั้งแรกตอนทำซาวนด์เรื่อง Erin Brockovich คุยกันเรื่องบทหนังเรื่องนี้แหละ แล้วแบรดก็บอกว่า “ฟังดูสนุกดี ผมเล่นด้วยดิ” 

“หลังจากนั้น ผมไปที่บ้านแบรด เขาบอกผมว่า ‘ผมไม่ได้อยากให้คุณต้องมาเขียนบทใหม่หรืออะไรนะ แต่ผมพยายามทำความเข้าใจไดนามิกระหว่างตัวละครผมกับตัวละครของจอร์จอยู่ แล้วมีไอเดียขึ้นมาอย่างหนึ่งว่า แดนนี โอเชียนต้องเป็นคนที่มีแผนใหญ่ในหัว แต่ไม่เก่งเรื่องรายละเอียด ส่วนผมเป็นพวกจำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ได้หมดทุกอย่าง’ ผมบอกเขาไปว่า ‘สุดยอด เอาแบบนี้ทั้งเรื่องเลยนะ’ ไอเดียของแบรดดีและฉลาดมาก แถมเขายังบอกด้วยว่า เขาอยากให้ตัวละครรัสตีติดกินอะไรสักอย่างตลอดเวลา เพราะอะไรรู้ไหม เพราะว่าแบรดเป็นคนประเภทที่ตะลุยกินได้ทั้งวันแต่ยังดูเหมือนเดิมยังไงล่ะ!”

ความสำเร็จของหนังส่งผลให้มี Ocean’s Twelve (2004) และ Ocean’s Thirteen (2007) ตามมา ซึ่งล้วนแล้วแต่ประสบความสำเร็จระดับปรากฏการณ์ทั้งสิ้น อย่างไรก็ดี อีกไม่นานหลังจากนั้น โซเดอร์เบิร์กห์ประกาศว่า เขาตั้งใจจะปลดเกษียณตัวเองจากการทำหนัง “กระบวนการสร้างหนังอันย่ำแย่ โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีให้หลังมานี้ พวกผู้กำกับถูกปฏิบัติด้วยแย่มากๆ” เขาให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2014 “มันเลวร้ายจริงๆ ที่คนมีเงินเป็นคนตัดสินใจได้ทุกอย่าง แล้วไม่ได้เป็นแค่สตูดิโอเท่านั้น แต่ยังรวมถึงนายทุนคนอื่นๆ ด้วย”

Tags: , , ,