บทคุณพ่อที่ต้องแบกรับความเจ็บช้ำจากการที่ลูกชายถูกกล่าวหาว่า ฆาตกรรมเพื่อนร่วมชั้นใน Adolescence (2025) ส่งให้ สตีเฟน กราแฮม (Stephen Graham) ถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง เพราะคงยากจะปฏิเสธว่า บทบาทที่เขารับแสดงนั้นท้าทายในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการต้องสำแดงความขุ่นเคืองต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ความไม่มั่นใจในตัวเองต่อบทบาทพ่อที่ได้รับเลือกให้ปกป้องลูก ความเครียดเขม็งและภาวะแตกสลายสุดขีดในท้ายที่สุด ขณะที่ตัวซีรีส์ได้รับการยกย่องในแง่ของความทะเยอทะยานในการถ่ายลองเทกทั้งตอน เต็มความยาว 60 นาที (!!)
ไม่เพียงแต่แสดงนำ กราแฮมยังร่วมโปรดิวซ์และร่วมเขียนบทให้ซีรีส์ด้วย “เรื่องมันคือว่า เด็กผู้ชายคนหนึ่งถูกตัดสินให้มีความผิดฐานฆาตกรรมเด็กผู้หญิง แล้วเราไม่ได้อยากเล่ามันในเชิง ‘Whodunit’ (ใครเป็นคนฆ่า) แต่เราอยากตั้งคำถามว่า ‘ทำไม’ มากกว่า เขาทำอย่างนั้นทำไมกันนะ” กราแฮมให้สัมภาษณ์ “ผมเคยอ่านบทความหนึ่งว่าด้วยเด็กผู้ชายแทงเด็กผู้หญิงจนถึงแก่ความตาย อีก 2 เดือนต่อมาก็มีข่าวว่า เด็กผู้ชายคนหนึ่งแทงเด็กผู้หญิงคนหนึ่งจนตาย แล้ว 2 เรื่องนี้เกิดขึ้นคนละฟากของประเทศเลย
“เรื่องนี้กระทบใจผมมาก เอาแต่คิดว่า เราอยู่ในสังคมแบบไหนกันนะ ที่เด็กผู้ชายแทงเด็กผู้หญิงจนตายแบบนี้ คุณเคยได้ยินสำนวนเพราะๆ ที่เขาพูดกันไหม ที่ว่า ‘เลี้ยงเด็กหนึ่งคนต้องใช้คนทั้งหมู่บ้าน’ น่ะ ที่ผมคิดคือ ถ้าเราล้วนเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งเหล่านี้ล่ะ ไม่ว่าจะระบบการศึกษาก็ดี การเลี้ยงดูก็ดี สังคมก็ดี รัฐบาลก็ดี” เขาว่า “ตอนเรายังเด็กๆ เราไม่มีโซเชียลมีเดียนี่ครับ ถ้าไม่อยู่ห้องก็ออกไปวิ่งเล่นนอกบ้าน ไม่ก็แกร่วอยู่ในห้อง วาดภาพ เล่นคีย์บอร์ดอะไรของเราไป เราเข้าไม่ถึงแนวคิดต่างๆ ที่จะส่งอิทธิพลต่อเด็กได้เลย
“ผมแค่อยากจับจ้องไปที่ประเด็นนี้โดยไม่กล่าวโทษใคร แค่คิดว่าเราล้วนมีส่วนต้องรับผิดชอบต่อเรื่องนี้ ต้องพูดถึงมันอย่างตรงไปตรงมาน่ะ”
Adolescence เล่าเรื่องของ เจมี (โอเวน คูเปอร์ -ผู้รับงานแสดงเป็นเรื่องแรกและเฉิดฉายอย่างที่สุด) เด็กชายวัย 13 ปีที่วันหนึ่งถูกตำรวจพังเข้ามาในบ้าน จับเขาข้อหาฆาตกรรมเพื่อนร่วมชั้นเรียน เอ็ดดี (กราแฮม) พ่อของเขาแค้นเคืองสุดขีดและพยายามทำทุกทางในการจะปกป้องลูก หากแต่เขาก็ทำได้เพียงเฝ้ามองเจ้าหน้าที่รวบตัวลูกชายไป ขณะที่ แมนดา (คริสติน เทรมาร์โก) เมียของเขากับ ลิซา (อามีลี พีส) ลูกสาวคนโตลนลานออกจากบ้านเพื่อไปโรงพักด้วยกัน
อีกด้าน ลุค (แอชลีย์ วอลเตอร์ส) นายตำรวจที่รับหน้าที่สืบคดีนี้ก็พยายามตามหาหลักฐานต่างๆ ด้วยการเข้าไปยังโรงเรียนของเจมี หากแต่เขาพบแค่ความโกลาหลของเด็กๆ และคุณครูที่แทบไม่แยแสหรือใส่ใจนักเรียน อันจะพบได้ว่า ครูประจำชั้นของเจมีตอบเขาอย่างจนตรอกว่า “จะให้ผมทำยังไง เด็กพวกนี้มันเหลือรับประทานจริงๆ” หรือโรงเรียนที่เน้นเปิดคลิปให้นักเรียนดูแทนที่จะเป็นการสอนอย่างจริงจัง เขาเชื่อมั่นว่า เจมีกับเด็กสาวที่ตายมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวต่อกัน เพราะเห็นเด็กสาวไปคอมเมนต์แสดงความเห็นใน Instagram ส่วนตัวของเด็กชายอยู่บ้าง หากแต่เขาก็ถูกลูกชายผู้เหินห่างและเป็นเหยื่อในโรงเรียนอธิบายว่า คอมเมนต์เหล่านั้นไม่ได้เป็นไปในเชิงเจตนาที่ดี กลับกันมันคือบทสนทนาที่มีน้ำเสียงเสียดเย้ยเด็กชายเจมีอยู่ในที
หลายเดือนต่อมา เจมีเข้าพบ อริสตัน (อีริน โดเฮอร์ตี) จิตแพทย์เด็ก เธอกดช็อกโกแลตร้อนจากตู้เครื่องดื่มและใส่มาร์ชเมลโลวที่เขาชอบมาให้ บทสนทนาของทั้งสองไล่เรื่อยตั้งแต่ความเป็นอยู่ ถิ่นฐานที่ทั้งคู่เติบโต ก่อนที่เธอจะถามเขาเรื่องพ่อ เรื่องความเป็นชาย และเรื่องที่เขาพินิจมองตัวเองในฐานะเด็กชายคนหนึ่ง เจมีโกรธเกรี้ยวสุดขีด เขารู้สึกเหมือนถูกบีบให้ต้องตอบ การสนทนาความยาว 1 ชั่วโมงเต็มครั้งนั้นสิ้นสุดที่เจมีถูกเจ้าหน้าที่ลากออกจากห้องและอริสตันร้องไห้
หลายวันให้หลัง เป็นวันเกิดของเอ็ดดี เขาตั้งใจจะให้วันนี้เป็นวันที่ดี หากแต่พบว่ารถตู้คันโปรดของเขาถูกใครบางคนเอาสีมาพ่นเป็นคำหยาบคาย ลูกเมียพยายามสร้างสถานการณ์ให้กลับมาดีอีกครั้ง แต่ยิ่งเวลาล่วงผ่าน เขายิ่งพบว่ามันกลายเป็นวันที่ดีได้ยากขึ้นทุกที โดยเฉพาะเมื่อเจมีโทรมาบอกเล่าถึงแผนการในอนาคตที่เขาวางไว้ ซึ่งนำไปสู่จุดที่ห้วงอารมณ์ของเขาในฐานะพ่อแหลกสลายในที่สุด
อันที่จริงก็เป็นดังที่กราแฮมตั้งใจไว้ เพราะ Adolescence ไม่ได้เป็นซีรีส์ที่ชวนสำรวจว่าใครเป็นคนฆ่า หากแต่มันพูดถึงองคาพยพที่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมขึ้นต่างหาก “เราต้องคำนึงว่า คนที่เลี้ยงลูกๆ ของเรานั้นไม่ได้มีแค่เรา คนที่ให้การศึกษาพวกเขาก็ไม่ได้มีแค่โรงเรียน แต่ยังมีอิทธิพลข้างนอกอีกมากมาย ซึ่งคุณไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคืออะไรบ้าง ที่ส่งผลต่อวัฒนธรรมของเด็กๆ มีผลกระทบทั้งแง่บวกและแง่ลบใหญ่หลวง ผมคิดว่าเราจึงต้องเพ่งพินิจมันอย่างจริงจัง และเห็นว่า เราล้วนต้องรับผิดชอบต่อเรื่องนี้น่ะ” กราแฮมบอก
กราแฮมเกิดที่แลงคาเชอร์ (ที่ช่วยอธิบายถึงสำเนียงสุดจะสเกาซ์ของเขาได้) เขานิยามตัวเองว่าเป็นเด็กชายที่แสนจะสามัญ ไม่ได้มีความข้องเกี่ยวกับเรื่องการแสดงแต่อย่างใด กระทั่งเมื่อ แอนดรูว์ ชอฟิลด์ (Andrew Schofield) นักแสดงชาวอังกฤษจาก Sid and Nancy (1986) ที่อาศัยอยู่ในบ้านเยื้องกันกับบ้านคุณย่าของเขา เห็นกราแฮมในวัย 10 ขวบสวมเครื่องเคราของโรงเรียน เพื่อรับบทเป็น จิม ฮอวกินส์ (Jim Hawkins) ตัวละครหลักจาก Treasure Island นิยายของ โรเบิร์ต หลุยส์ สตีเวนสัน (Robert Louis Stevenson) และแนะนำครอบครัวของกราแฮมให้ส่งเจ้าลูกชายไปร่วมกลุ่มการแสดงที่โรงละครเอเวอรีแมนในเมืองลิเวอร์พูล กราแฮมทำตามคำแนะนำของชอฟิลด์
และนั่นคือจุดเริ่มต้นอาชีพการแสดงที่จะอยู่กับเขามาจนถึงปัจจุบัน ขณะที่ก็มีแรงหนุนจากครอบครัวช่วยอีกแรง เมื่อพ่อเลี้ยงของเขาเป็นนักดูหนังตัวยง เมื่อครั้งที่กราแฮมในช่วงวัยรุ่นออกปากเป็นมั่นเหมาะว่า เขาอยากเป็นนักแสดง พวกเขาก็ตะลุยคลังร้านวิดีโอและเช่าหนังดังทั้งหลายอย่าง The Godfather (1972) และ The Godfather Part II (1974) กลับมาที่บ้าน รวมทั้ง The Deer Hunter (1978) กับ Taxi Driver (1976)
“พ่อบอกว่า ‘เอาล่ะ ดูหนังพวกนี้เถอะ จะได้รู้ว่าการแสดงที่ดีมันเป็นยังไง’ อะไรทำนองนั้น” กราแฮมว่า
เขาเริ่มจากงานแสดงซีรีส์และหนังฟอร์มเล็กในบทที่ไม่มีชื่อด้วยซ้ำ และบทที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักคือ ทอมมี จาก Snatch (2000) หนังร่วมทุนสร้างสองสัญชาติ (สหรัฐอเมริกา-สหราชอาณาจักร) ของ กาย ริชชี (Guy Stuart Ritchie) คนทำหนังชาวอังกฤษที่เพิ่งดังเปรี้ยงหมาดๆ จาก Lock, Stock and Two Smoking Barrels (1998) หนังเล่าถึงเรื่องราวชวนเวียนหัวที่เกิดขึ้นในลอนดอน เมื่อเพชรเม็ดงามถูกขโมยหายไปจากร้านในเมืองแอนต์เวิร์ป และผู้ต้องสงสัยก็ดูจะเกี่ยวพันกันตุงนังไปหมดตั้งแต่อันธพาล นักมวย และหัวขโมย
ทอมมีกับเตอร์กิส (เจสัน สเตแธม) เป็นโปรโมเตอร์มวยสมัครเล่นที่คิดว่า หนทางอาชีพของเขากำลังไปได้สวย ทว่าก่อนจะถึงเวลาชกไม่กี่วัน นักมวยคนเก่งของเขาก็ถูก มิกกี (แบรด พิตต์) ชายยิปซีกับสำเนียงสุดประหลาดสาวหมัดใส่จนหน้าหงาย ทั้งทอมมีและเตอร์กิสจึงต้องเกลี้ยกล่อมให้เจ้าหนุ่มนักชกแปลกหน้ารายนี้ขึ้นชกแทน อีกด้านหนึ่ง แฟรงกี (เบนิซิโอ เดล โตโร) โจรขโมยเพชรมือฉมังที่ต้องมาส่งมอบเพชรในลอนดอน ดันไปเล่นพนันมวยที่เบื้องลึกเบื้องหลังนั้นมีแผนล้มมวยอยู่ ความอีนุงตุงนังก็เกิดขึ้น เมื่อนักชกที่จะขึ้นชกจริงๆ นั้นคือไอ้หนุ่มยิปซีขี้โมโหที่ไม่ยอมลงให้ใครหน้าไหนทั้งนั้น
บททอมมีของกราแฮมมีลักษณะเป็นลูกไล่อยู่เนืองๆ เขาต้องเวียนหัวจากการสนทนากับมิกกี ชายผู้พูดภาษาอังกฤษสำเนียงสุดแปร่ง (Do you like dags?) และต้องคอยดูแลเจ้าหมาน้อยสุดที่รัก ทั้งยังต้องคอยรองรับความคุ้มดีคุ้มร้ายของมิกกีและอารมณ์เครียดเขม็งของเตอร์กิสแทบทั้งเรื่อง
ริชชีเล่าว่า เขาเจอกราแฮมช่วงที่เขากำลังถ่ายหนังสั้น The Hard Case (1995) และกราแฮมแค่มาเตร่กับเพื่อนของเขาในกองถ่าย “นาทีแรกที่ผมเห็นเขา ผมก็รู้เลยว่าหมอนี่นี่โคตรจะชาวลิเวอร์พูล ทั้งตัวเขาโคตรจะสเกาช์” ริชชีบอก “แล้วสำเนียงค็อกนีย์ของเขานี่แสนจะพิเศษ คือถ้าคุณไม่ได้เกิดในลอนดอนก็ไม่มีทางพูดสำเสียงท้องถิ่นจ๋าแบบนี้ได้เลย ผมเลยบอกเขาว่า ‘ไหนลองพูดให้ฟังหน่อย’ แล้วสตีวี (ชื่อที่ริชชีเรียกกราแฮม) ก็พูดได้ทุกสำเนียงเลย!”
อีกไม่กี่ปีถัดจากนั้น กราแฮมก็ตื่นเต้นสุดๆ เมื่อเขาได้ร่วมงานกับคนทำหนังที่เฝ้าดูมาตั้งแต่เด็กอย่าง มาร์ติน สกอร์เซซี (Martin Scorsese) ใน Gangs of New York (2002) หนังชิงออสการ์ 10 สาขารวมทั้งสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม หนังว่าด้วยเรื่องความขัดแย้งที่เกิดขึ้นช่วงศตวรรษที่ 19 บิลลี (เดเนียล เดย์-ลูอิส) หัวหน้าแก๊งฝั่งอเมริกันพื้นเมือง กับ อัมสเตอร์ดัม (ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ) ลูกชายของ วัลลอน (เลียม นีสัน) บาทหลวงที่บิลลีเคยสังหารทิ้งระหว่างการปะทะกันเมื่อ 10 กว่าปีก่อน อัมสเตอร์ดัมปกปิดอดีตของตัวเองและเข้าหาบิลลีในฐานะเด็กหนุ่มธรรมดา ท่ามกลางการต่อสู้ระหว่างแก๊งเล็กแก๊งน้อยด้านนอก บิลลีสอนให้อัมสเตอร์ดัมใช้อาวุธ และอัมสเตอร์ดัมเองก็เรียนรู้การมี ‘พ่อ’ ในชีวิตเป็นครั้งแรก และความสัมพันธ์เช่นนี้เองที่ยิ่งทำให้การล้างแค้นของเด็กหนุ่มยากเย็นขึ้น
กราแฮมรับบทสมทบในฐานะ แชง หนึ่งในชาวแก๊งที่พร้อมปะทะตลอดเวลา และแม้จะได้เจอกับคนทำหนังในดวงใจ แต่กราแฮมก็ไม่ใช่คนจ๋อง เขาเดินไปบอกสกอร์เซซีว่า ตัวละครของเขานั้นควรจะเลี้ยงหมา ทั้งยังเล่าให้สกอร์เซซีฟังว่า เขาโตมากับเรื่องชวนขนพองสยองเกล้าอย่างพ่อค้าปลาแถวบ้าน ขู่จะฉีกแก้มเด็กๆ ที่ชอบขโมยปลาจากร้านด้วยเบ็ด! และหลังจากรับฟังความเห็น รวมทั้งเรื่องพ่อค้าปลาชวนสยอง สกอร์เซซีก็เห็นด้วยว่าตัวละครของกราแฮมควรเลี้ยงหมาจริงๆ
และอีกครั้งที่หนังเรื่องนี้ทำให้กราแฮมได้เจอกับยอดนักแสดงในใจอย่างเดย์-ลูอิสด้วย “ตอนเข้ากองถ่าย ผมนั่งบนเก้าอี้แต่งหน้า แล้วเดเนียลก็โผล่เข้ามาทั้งที่แต่งตัวแบบเต็มยศแล้ว” เขาบอก “ผมไม่มีวันลืมเรื่องนี้เลย เขามองตรงเข้ามายังกระจก วางมือบนบ่าผม แล้วบอกว่า ‘นับแต่นี้ ผมจะเรียกคุณว่าแชง และคุณเรียกผมว่าบิลล์นะ’ และผมก็ตอบไปว่า ‘ได้เลย บิลล์!’ และนั่นละครับ พวกเราอินกับบทแบบสุดๆ”
หากแต่เรื่องที่ส่งให้กราแฮมติดลมบนสุดๆ คือ This Is England (2006) โคตรหนังอังกฤษจ๋าของ เชน แมโดวส์ (Shane Meadows) ที่ประสบความสำเร็จขนาดว่า มีซีรีส์ฉายตามออกมาอีกในไม่กี่ปีให้หลัง โดยหนังเล่าถึงประเทศอังกฤษช่วงปลายยุค 80s ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ใต้การทำของ มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ (Margaret Hilda Thatcher) นายกรัฐมนตรีขวาจัดที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับชนชั้นแรงงานในอังกฤษ โดยหนังเล่าเรื่องของ ชอว์น (โธมัส เทอร์กูส -ผู้แจ้งเกิดจากบทนี้เต็มๆ) เด็กชายวัย 12 ปีที่ใช้ชีวิตเคว้งคว้างไปวันๆ กระทั่งเมื่อเขาได้เจอกับ คอมโบ (กราแฮม) หัวหน้าแก๊งชาตินิยมที่ค่อยๆ หล่อหลอม ‘ความเป็นอังกฤษ’ แบบที่เขาเข้าใจให้เด็กชาย ที่แนบชิดมาเป็นหนึ่งเดียวกับการเหยียดเชื้อชาติและความรุนแรงด้วย
ตัวกราแฮมเองก็เป็นหนึ่งในคนที่เติบโตมาในยุค 80s “จำได้ว่าเห็นสัญลักษณ์พรรค National Front (พรรคขวาจัด) เต็มไปหมด แล้วตอนนั้นคนว่างงานเพียบ หลายคนหันไปเป็นอาชญากรหรือเล่นยาเฮโรอีน คนปล้นรถ ขโมยรถหรูๆ ทุบประตูโรงพยาบาล และแม้สถานการณ์จะเลวร้ายสุดขีด เด็กๆ ก็หาทางเล่นสนุกกันได้” เขาเล่า “ผมเองหมกมุ่นอยู่กับวง Steel Pulse และเพลงของ เดสมอนด์ เด็กเกอร์ (Desmond Dekker) นักดนตรีชาวจาไมก้า แล้วมาเจอการเต้นเบรกแดนซ์โดยกลุ่ม Grandmaster Flash วันๆ ของผมเลยหมดไปกับการหมุนอยู่บนพื้นน่ะ”
“บทคอมโบน่ะเปลี่ยนชีวิตผมไปเลย เป็นบทประเภทที่ผมรอคอยมาเป็นปีๆ และในฐานะนักแสดง เราก็ย่อมอยากท้าทายตัวเองอยู่แล้ว และพอมีคนให้โอกาสคุณในการสวมบทบาทเป็นตัวละครแบบนี้ ก็ถือได้ว่าเป็นของขวัญสุดพิเศษเลยล่ะ” กราแฮมบอก “ผมเคยเล่นใน Snatch และ Gangs of New York กับเรื่องอื่นๆ มาบ้างแล้วก็จริง แต่การได้รับบทผิดชอบต่อบทบาทแบบนี้ ได้มีโอกาสในการแสดงออกถึงความเป็นตัวเอง และได้ร่วมงานกับคนเจ๋งๆ อย่างชอนที่เชื่อมั่นในตัวผมเหลือเกิน ก็ถือเป็นเรื่องยอดเยี่ยมไปเลยครับ”
“คอมโบเป็นตัวละครที่ซับซ้อนครับ เขาสละเสรีภาพส่วนตัวเพื่อให้ลอเรน ตัวละครที่เป็นแฟนสาว ได้มีชีวิตที่ดี เป็นความรักในแบบที่ไม่ต้องร้องขออะไร และเขาก็รู้ด้วยว่าเธอไม่เคยรักเขาเลย เขาเคยรักเธอมากนะ แต่เอาเข้าจริง ชีวิตมันมีสิ่งที่ลึกลงไปกว่านั้น แทบจะเรียกได้ว่า รักที่เขามอบให้เธอน่ะอยู่ในขั้นจิตวิญญาณทีเดียว”
กราแฮมยังปรากฏตัวใน Peaky Blinders (2013-2022) ยอดซีรีส์ที่ว่าด้วยอาชญากรรม, Boiling Point (2021) หนังฉายชีวิตชวนสติแตกของคนครัว รวมทั้งได้กลับมาร่วมงานกับสกอร์เซซีอีกครั้ง แถมคราวนี้กับไอดอลของเขาอย่าง โรเบิร์ต เดอ นีโร (Robert de Niro) และอัล ปาชิโน (Al Pacino) ใน The Irishman (2019)
“บางที เวลาผมเห็นนักแสดงที่งานชุกมากๆ ผมก็เคยคิดสงสัยในใจว่า ‘หมอนี่อยู่ทุกที่เลยแฮะ ไอ้หนุ่มนี่ อะไรของมันวะ ไม่กะให้คนอื่นเขาได้งานบ้างเลยรึไง’ แต่นั่นแหละ บางปีผมก็เป็นไอ้หมอนั่นที่ว่า” เขาบอกอย่างอารมณ์ดี
Tags: People Also Watch, This Is England, Adolescence, สตีเฟน เกรแฮม, Snatch, Gangs of New York