น่าจะเป็นธรรมเนียมของทุกปี ที่เมื่อใกล้ถึงวันวาเลนไทน์แล้ว ก็จะมีบทความแนะนำหนังรักโรแมนติกจำนวนมหาศาลรอคิวให้เข้าไปอ่าน เป็นนัยว่าเผื่อหนังเหล่านี้จะเป็นตัวเลือกสำหรับการพักผ่อนหน้าจอโทรทัศน์ในบ้านในวันแห่งความรัก

สิ่งที่น่าสนใจใน ‘ธรรมเนียม’ นี้คือ เราไม่ค่อยเห็นหนังโรแมนติกที่สร้างขึ้นในทศวรรษหลังๆ เท่าไรนัก สำนักข่าว Reuters สำรวจความรุ่งเรืองของหนังโรแมนติก-คอเมดีหรือหนัง ‘รอมคอม’ และพบว่า ช่วงเวลาที่หนังฌ็องนี้เฟื่องฟูที่สุดคือ ช่วงทศวรรษ 1980-1990 ก่อนจะจางหายไปจากความสนใจของสตูดิโอช่วงต้นปี 2000 โอเวน กลีเบอร์แมน (Owen Gleiberman) นักวิจารณ์ภาพยนตร์ชาวอเมริกันเคยเขียนบทวิเคราะห์ถึงการจางหายไปของหนังฌ็องโรแมนติกไว้ในเว็บไซต์ Variety ว่า ความรุ่งเรืองและร่วงโรยของหนังรอมคอม แนบชิดเป็นหนึ่งเดียวกันกับการประสบความสำเร็จในบ็อกซ์ออฟฟิศ 

“หนังรอมคอมไม่ได้เป็นแค่รูปแบบการเล่าเรื่องหรือเป็นแค่แฟชั่นเท่านั้น แต่มันเป็นเรื่องธุรกิจด้วย หนังพวกนี้ถูกสร้างขึ้น เพราะมันส่งผลต่อบ็อกซ์ออฟฟิศ แต่ความสำเร็จของหนังเหล่านี้มีความหมายพิเศษมากไปกว่านั้น นับตั้งแต่ฮอลลีวูด-ยุคหลังความรุ่งเรืองของสตูดิโอ พิจารณาว่า หนังแนวนี้ได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่คนดูผู้หญิง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่ เมื่อหนังในยุคนั้นส่วนใหญ่ที่เป็นหนัง ‘แฟนบอย’ หรือเน้นการใช้สเปเชียลเอฟเฟกต์สมุ่งขายกลุ่มคนดูวัยรุ่นชายหรือกลุ่มคนดูชายในภาพรวม 

กลีเบอร์แมนเสนอว่า แม้ที่ผ่านมาหนังรอมคอมจะทำเงินได้ดีจากการฉายโรง แต่สิ่งที่ทำให้มันค่อยๆ จางหายไปคือ ความสนใจของกลุ่มคนดูที่เปลี่ยนไป สิ่งที่หนังรอมคอมนำเสนอนั้นไม่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตหรือทัศนคติของคนรุ่นใหม่ๆ อีกต่อไปแล้ว

“หนังฌ็องนี้เล่นอยู่กับประเด็นความอ่อนไหวและไม่มั่นใจของความเป็นเพศหญิงมาเนิ่นนานเหลือเกิน ขณะที่สิ่งที่เรียกร้องจากยุคสมัยนี้คือ หนังที่สามารถเล่นกับประเด็นวิถีชีวิต ซึ่งสอดคล้องกับความมั่นใจของผู้คนบนโลกดิจิทัล”

เช่นเดียวกับที่ จาซลีน กอนซาเลซ (Jazlyn Gonzales) วิเคราะห์ไว้ในเว็บไซต์ statepress ว่า ด้านหนึ่งแล้วหนังรอมคอมเป็นหนังที่ใช้ทุนสร้างไม่สูงนัก ค่าเฉลี่ยของทุนสร้างหนังในฌ็องนี้อยู่ที่ 5-50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ช่วงหนึ่งสตูดิโอนิยมผลิตหนังรอมคอมที่มีแนวโน้มว่า หากประสบความสำเร็จ มันจะกวาดรายได้กลับมาหลายเท่า

กอนซาเลซเสนอว่า มนต์เสน่ห์อย่างหนึ่งของหนังรอมคอมคือ มันสร้างอยู่บนความเชื่อเรื่องโลกแฟนตาซีของความสัมพันธ์ และมันเริ่มไม่ ‘ทำงาน’ กับคนดู เมื่อการออกเดตของคนสมัยนี้แตกต่างไปจากเดิม 

“โซเชียลมีเดียและการนัดเดตทางออนไลน์ทำให้หลายคนรู้สึกว่า ความรักเป็นสิ่งที่คำนวณได้ มันไม่มีพื้นที่ให้โอกาสหรือความบังเอิญ ไม่มีความพิศวงในความโรแมนติกหลงเหลืออีกต่อไป”

นอกจากนี้ประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบมาพิจารณาคือ การขาด ‘ดาวดัง’ ประจำฌ็องรอมคอม หากว่าเมื่อก่อน จูเลีย โรเบิร์ตส์ (Julia Roberts), แซนดรา บูลล็อก (Sandra Bullock), ฮิวจ์ แกรนต์ (Hugh Grant), แมตทิว แม็กคอนาเฮย์ (Matthew McConaughey) ฯลฯ คือนักแสดงแม่เหล็กของหนังแนวนี้ ก็ดูเหมือนว่าฮอลลีวูดไม่อาจปั้นนักแสดงรุ่นใหม่ๆ สำหรับหนังโรแมนติกได้อีกแล้ว รวมทั้งการจะทำหนังรอมคอมเองก็เป็นเรื่องท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการจะสร้างหนังโรแมนติกคอเมดีที่ประสบความสำเร็จนั้น จะมากจะน้อยก็ต้องมีสูตรเล่าเปี่ยมเสน่ห์ รวมถึงอาศัยเคมีมหาศาลของเหล่านักแสดงนำด้วย โดย Reuters เสนอว่า หนังรอมคอมช่วงยุค 80s ล้วนมีนักแสดงเปี่ยมเสน่ห์

หนึ่งในหนังที่ใช้ศักยภาพของนักแสดงได้เต็มที่ที่สุดของหนังฌ็องนี้คือ When Harry Met Sally… (1989)

ทั้งนี้ When Harry Met Sally… กำกับโดย ร็อบ ไรเนอร์ (Rob Reiner) ที่ทำเงินไปทั้งสิ้น 92 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากทุนสร้าง 16 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยหนังเล่าถึงความสัมพันธ์อันยืดยาวของหนุ่มสาว 2 คนคือ แฮร์รี (บิลลี คริสตัล) กับแซลลี (เม็ก ไรอัน) จำต้องเดินทางไปยังนิวยอร์กบนรถคันเดียวกัน สานสัมพันธ์ผ่านบทสนทนาก่อนจะห่างหายกันไป และหวนกลับมาพบกันอีกครั้งในอีก 5 ปีถัดมา เพื่อจะพบว่าพวกเขาทุ่มเถียงกันอย่างหนักจนเหม็นหน้ากัน ก่อนจะหวนกลับมาเจอกันอีกครั้งและกลายเป็นเพื่อนสนิท อันเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่มากกว่าเพื่อนหลังจากนั้น

สิ่งที่ทำให้ When Harry Met Sally… ยึดครองหัวใจคนดูได้เป็นจำนวนมาก ทั้งยังขึ้นหิ้งหนังรอมคอมในตำนานนั้น ด้านหนึ่งเพราะมันถ่ายทอดความสัมพันธ์ของชายหญิงคู่หนึ่งได้อย่างเปี่ยมเสน่ห์ เหนืออื่นใดคือบทสนทนาระหว่างทั้งคู่ ที่ท้าทายคนดูให้พินิจถึงความรักในแง่มุมหลากหลาย ตลอดจนฉากจำอันแสนตราตรึงในร้านอาหารที่แซลลีแสดงท่า ‘แกล้ง’ ทำเป็นเสร็จสมอารมณ์หมายของผู้หญิง หรืออันที่จริงก็อาจกล่าวได้ว่า หนังขับเคลื่อนด้วยไดอะล็อกอันแหลมคมเป็นหลักเสียด้วยซ้ำ และมันก็หาได้เพ้อฝันจนจับต้องไม่ได้จริง หากแต่มันวางอยู่บนเส้นของความเป็นไปได้ที่พูดถึงความเป็นเพื่อนระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง และพัฒนาการของความสัมพันธ์ที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน 

อย่างไรก็ดี ความมหัศจรรย์อีกประการหนึ่งของหนังคือ เคมีระหว่างคริสตัลกับไรอัน ที่ถ่ายทอดระยะความสัมพันธ์ทั้งห่างไกลและแนบชิดตัวละครในทุกช่วงเวลาได้อย่างลงตัว

ถัดจากนั้นอาจจะกล่าวได้ว่ายุค 1990 ถือเป็นช่วงเวลาทองของหนังรอมคอม เช่นกันกับที่แจ้งเกิดนักแสดงดังประจำหนังฌ็องนี้อย่างโรเบิร์ตส์, แกรนต์, เกียร์ และหนังที่เป็นเสมือน ‘หัวเรือ’ แห่งความฟุ้งฝันเหล่านี้คือ Pretty Woman (1990) หรือในชื่อไทยคือ ‘ผู้หญิงบานฉ่ำ’ กำกับโดยเจ้าพ่อหนังรักอย่าง แกร์รีย์ มาร์แชลล์ (Garry Marshall) 

เล่าถึงความสัมพันธ์ข้ามคืนระหว่าง เอ็ดวาร์ด (เกียร์) มหาเศรษฐีรูปหล่อที่บังเอิญหลงทางจนได้เจอกับวิเวียน (โรเบิร์ตส์) สาวขายบริการที่อาสาขับรถพาเขามาส่งถึงโรงแรมที่พัก ด้วยคารมและอารมณ์ขันของวิเวียน เอ็ดวาร์ดตัดสินใจจ้างเธออยู่เป็นเพื่อนหนึ่งคืน เพื่อจะพบว่าแท้จริงแล้ววิเวียนเป็นคนช่างคิด เปี่ยมเสน่ห์และลุ่มลึกจนเขาจ้างให้เธออยู่เป็นเพื่อน ร่วมออกงานสังคมตลอดทั้งสัปดาห์ในราคา 3,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ 

หนังยังฉายภาพชวนฝันผ่านการเปลี่ยนแปลงตัวเองของวิเวียน จากสาวข้างถนนเป็นสาวไฮโซ เพื่อเข้าสังคมกับเอ็ดวาร์ด เธอหาซื้อเสื้อผ้าและแต่งเนื้อแต่งตัวให้ดูดีเพียบพร้อม (แถมยังมีฉากตอกหน้าพนักงานขายที่เมินเธอเมื่อครั้งแรกที่เจอด้วย!) ทั้งยังเรียนวิธีการเข้าสังคมและมารยาทการใช้ช้อนส้อมบนโต๊ะอาหาร และเมื่อ 7 วันล่วงพ้น หนังชวนพาคนดูนั่งรถไฟเหาะทางอารมณ์ ด้วยการย้ำให้วิเวียนเห็นถึงความแตกต่างระหว่างเธอกับชายหนุ่ม จนเธอตัดสินใจแยกตัวออกมาจากเขา และปลอบประโลมคนดูอีกครั้งด้วยการให้เขาตามตัวเธอ เพื่อจะบอกว่าเธอคือรักเดียวที่เขามี

Pretty Woman เต็มไปด้วยฉากจำมากมาย ทั้งฉากที่เอ็ดวาร์ดหยอกวิเวียนด้วยการปิดกล่องเพชรใส่มือของเธอ, ฉากช็อปปิงอันแสนจะสะใจ หรือฉากจบสุดโรแมนติก และมันทำเงินไปทั้งสิ้น 460 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากทุนเพียง 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แจ้งเกิดโรเบิร์ตส์ที่เวลานั้นอายุเพียง 21 ปีให้กลายเป็นดาวรุ่งของอุตสาหกรรมฮอลลีวูด และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงนำหญิงยอดเยี่ยมของเวทีออสการ์ ทั้งยังปักหมุดให้เธอเป็น ‘สาวรอมคอม’ ที่คนรักมากที่สุดของยุคสมัยด้วย

และอีกทศวรรษต่อมา เธอยังสร้างปรากฏการณ์ในหนังของ โรเจอร์ มิเชลล์ (Roger Michell) อย่าง Notting Hill (1999) ซึ่งคำว่า ‘ฉ่ำ’ ก็ได้กลายเป็นจุดขายของโรเบิร์ตส์ไปแล้ว พิสูจน์จากชื่อไทยของหนังคือ ‘รักบานฉ่ำที่น็อตติ้งฮิลล์’ ที่อาจจะถือเป็นด้านกลับของ Pretty Woman เพราะมันว่าด้วยความ ‘ดอกฟ้ากับหมาวัด’ เมื่อแอนนา (โรเบิร์ตส์) นักแสดงดังจากฮอลลีวูดเดินเข้าไปซื้อหนังสือในร้านเล็กๆ รักบานฉ่ำที่น็อตติ้งฮิลล์ของวิลเลียม (ฮิวจ์ แกรนต์) และจับพลัดจับผลูทำน้ำผลไม้หกรดเธอ จนชวนให้เธอมาเปลี่ยนเสื้อที่แฟลตของเขา ที่นั่นเธอจูบเขาก่อนจะจากมา 

หลังจากนั้นแอนนากับวิลเลียมมีโอกาสได้พบกันอีกหลายครั้ง แม้วิลเลียมจะต้องปรับตัวกับการถูกจับจ้องด้วยสำนักข่าวจำนวนมาก แต่ความสัมพันธ์ของทั้งคู่พัฒนาอย่างแน่นแฟ้นมั่นคง เขากับเพื่อนๆ ผู้เป็นมิตรกลายเป็นที่พักใจของแอนนาที่ใช้ชีวิตตึงเครียดจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์ 

แต่ทั้งคู่ก็ยังต้องรับมือกับความวุ่นวายและความหนักใจที่เกิดจากความสัมพันธ์ จนวิลเลียมตัดสินใจแยกตัวออกห่างจากเธอ นำมาสู่ฉากอันแสนตราตรึงของหนัง เมื่อแอนนาปรากฏตัวที่ร้านหนังสือของวิลเลียม ถามเขาว่าจะรักเธอได้ไหมทั้งน้ำตา ก่อนที่อีกไม่นานหลังจากนั้น ทั้งสองจะปรับความเข้าใจและแต่งงานกัน กับฉากจบที่เขานั่งอ่านหนังสือในสวนสาธารณะ มีเธอที่ท้องแก่นอนหนุนตักพร้อมเพลง She โดย ชาร์ลส์ อัสนาวูร์ (Charles Aznavour)

ในแง่ภาษาภาพยนตร์ Notting Hill ยังถูกพูดถึงอย่างมากจากฉาก ‘สี่ฤดู’ เมื่อวิลเลียมแยกจากแอนนา และต้องใช้ชีวิตลำพังเหงาๆ ในลอนดอน มิเชลล์ ผู้กำกับถ่ายทอดความยาวนานและช่วงเวลาของชายหนุ่มผ่านฉากสั้นๆ เมื่อวิลเลียมเดินผ่านย่านที่เขาอยู่ โดยฉากหลังของหนังไล่เปลี่ยนไปตามฤดูกาล 

รวมทั้งยังมีฉากน่าจดจำอีกมหาศาล ทั้งมุกตลกเอาตัวรอดของวิลเลียม ที่ได้เข้าไปสัมภาษณ์แอนนาด้วยการสวมรอยเป็นนักข่าวจากนิตยสารเกี่ยวกับม้าแข่ง (เป็นที่มาของคำถามแห้งๆ สุดเฝื่อนว่า “ในหนังมีม้าไหมครับ”) หรือบทสนทนาของแอนนาท่ามกลางกลุ่มเพื่อนของวิลเลียม ที่ทำให้เห็นความเปราะบางของเธอในฐานะมนุษย์คนหนึ่งลึกลงไปจากภาพความเป็นดาวดัง

หลังจากนั้นในยุค 2000 ก็อาจจะถือได้ว่า เป็นยุคทองของหนังรอมคอมรสชาติใหม่ๆ กล่าวคือมันไม่ได้มุ้งเน้นความฟุ้งฝันเป็นหลักเพียงอย่างเดียวแล้ว หากแต่มันยังพูดถึงมิติอื่นของตัวละคร ไม่ว่าจะการต้องดิ้นรน กระเสือกกระสนมีชีวิตในเมืองใหญ่, การกล้ำกลืนตื่นไปทำงานทั้งที่ยังไม่พร้อม หรือความติดขัดประดามีอันเป็นสิ่งที่คนดูเชื่อมโยงตัวเองด้วยได้ 

อีกหลายเรื่องก็ฉายให้เห็นความไม่สมบูรณ์แบบของความรักและความสัมพันธ์ หรือการเดินถอยออกมาในภาวะยินดี อันจะเห็นได้จาก Love Actually (2003) หนึ่งในหนังรอมคอมของ ริชาร์ด เคอร์ติส (Richard Curtis) ที่ถือว่าประสบความสำเร็จมากที่สุดเรื่องหนึ่งของยุคสมัย และเปิดตัวอย่างอลังการด้วยการรวมดาวนักแสดงแถวหน้าชาวอังกฤษในเวลานั้นจำนวนมหาศาล

หนังเล่าเรื่องคู่รักและความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นกลางกรุงนิวยอร์กในช่วงคริสต์มาส ทั้งนักดนตรีกับผู้จัดการที่ข้ามผ่านช่วงเวลาเฮงซวยมาด้วยกัน, หญิงสาวที่เพิ่งแต่งงาน ผู้ยืนอ่านป้ายข้อความที่เพื่อนรักของสามีเธอส่งให้อยู่หน้าประตูบ้าน, นักเขียนอาภัพกับแม่บ้านสาวชาวโปรตุเกสที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ และเขาเองก็พูดภาษาของเธอไม่ได้เช่นกัน, เมียที่แอบเห็นผัวซื้อของขวัญวันคริสต์มาส แต่กลับพบว่าเขาไม่ได้ซื้อมาให้เธอ, ความสัมพันธ์สุดเพ้อระหว่างนายกฯ กับพนักงานสาว, ไอ้หนูที่เพิ่งจะหัดรัก ฯลฯ 

หนังยังมีกิมมิกเล็กๆ อย่างการที่ตัวละครล้วนข้องเกี่ยวหรือปรากฏตัวในอีกเส้นเรื่องไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เคอร์ติสเขียนบทขึ้นมาด้วยความตั้งใจจะให้แต่ละเรื่องเป็นหนังแยก หากแต่ก็เปลี่ยนใจในเวลาต่อมา และมุ่งทำหนังที่ว่าด้วย ‘ความรักและความหมายของความรัก’ เป็นหลัก สิ่งที่ทำให้ Love Actually ครองใจผู้คนจำนวนมหาศาลจนถึงทุกวันนี้คือ การที่มันชวนสำรวจความหมายของความรักไปจนถึงการไม่รักได้อย่างอ่อนโยน หมดจด และคมคาย 

ทั้งยังมีฉากจำตลอดกาลอย่างฉาก To me, you are perfect. หรือฉากที่ตัวละครอัดอั้นต่อความรู้สึกของการแอบรักแฟนเพื่อน พร้อมเพลง Here with Me ของ Dido ดังขึ้น หรือบทสนทนาระหว่างเด็กชายที่ปรึกษาปัญหาหัวใจกับผู้ใหญ่บนม้านั่ง (“มันมีอะไรแย่ไปกว่าความทุกข์จากการตกอยู่ในห้วงรักอีกเหรอครับ”) หรือเมื่อนักเขียนหนุ่มพูดภาษาโปรตุเกสเพี้ยนๆ เพื่อขอหญิงสาวแต่งงาน และอีกหลายฉาก หลายเส้นเรื่องที่ชวนคนดูสำรวจภาวะของความรักกับความสัมพันธ์

ที่รับไม้ต่อมาหลังจากนั้นคือ Hitch (2005) หนังรอมคอมอารมณ์ดีอีกเรื่องที่ได้เสน่ห์ล้นเหลือของ วิลล์ สมิท (Will Smith) กับอีวา เมนเดส (Eva Mendes) มารับบทนำในหนังที่ว่าด้วยพ่อสื่อชื่อ ฮิตช์ (สมิท) ผู้ไม่เชื่อในความรักและคิดว่าความสัมพันธ์นั้นเป็นเรื่องคำนวณได้ หน้าที่ของเขาคือดึงเสน่ห์จากผู้ชายกลางๆ ออกมาให้เตะตาสาวสวยและออกมาได้ผลทุกครั้งไป แต่เรื่องเริ่มวุ่นวายเมื่อซารา (เมนเดส) คอลัมนิสต์สาวเข้ามาในชีวิตเขา และเธอดันทำให้ความเชื่อ กฎเกณฑ์ตลอดจนมายากลเกี่ยวกับความรักของเขาไม่ได้ผลโดยสิ้นเชิง

Hitch ทำเงินไปทั้งสิ้น 371 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และหนังเกือบทั้งเรื่องก็ขับเคลื่อนไปด้วยเสน่ห์อันล้นเหลือของสมิทกับเมนเดส ทั้งมันยังเป็นหนังรอมคอมที่นำแสดงโดยนักแสดงชายผิวดำกับนักแสดงหญิงลาติน่า ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นนักในหนังรอมคอมที่ทำรายได้บนบ็อกซ์ออฟฟิศ ซึ่งหลายต่อหลายเรื่องนั้นมักเล่าเรื่องของคนขาวเป็นหลัก

อย่างไรก็ดีพ้นไปจากนี้ดูเหมือนว่า ความรุ่งโรจน์ของหนังรอมคอมจะจืดจางลงอย่างเห็นได้ชัด แน่นอนว่ายังมีหนังรอมคอมออกฉายอยู่ แต่มันก็ไม่ได้อยู่ในสถานะทำเงินอย่างเป็นบ้าเป็นหลังเท่าเมื่อก่อนอีกแล้ว (โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับทุนสร้าง) สก็อตต์ เมสโลว (Scott Meslow) นักวิจารณ์ภาพยนตร์และนักเขียนหนังสือ From Hollywood with Love: The Rise and Fall (and Rise Again) of the Romantic Comedy (2022) ให้สัมภาษณ์ BBC ว่า วัฒนธรรมการทำหนังของฮอลลีวูดเองก็เปลี่ยนไปด้วย เพราะแม้กลุ่มคนดูหนังรอมคอมจะยังมีอยู่ แต่การทำหนังด้วยงบประมาณระดับกลางๆ ก็ไม่ค่อยปรากฏให้เห็นแล้ว 

ถึงจุดหนึ่งฮอลลีวูดทุ่มทุนสร้างหนังบล็อกบัสเตอร์ด้วยเงิน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และหวังได้กำไรกลับมาหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (รวมทั้งพหุจักรวาลแยกด้วย) หรือไม่ก็ไปสร้างหนังส่งเข้าชิงออสการ์ ดังนั้นหนังรอมคอมจึงถูกลดค่าลงมหาศาลในตลาดการทำหนัง

หนังที่ถูกจับตาว่า จะเป็นหัวเรือของรอมคอมในยุคใหม่คือ Anyone But You (2023) กำกับโดย วิลล์ กลัก (Will Gluck) ดัดแปลงมาจาก Much Ado About Nothing บทประพันธ์ของ วิลเลียม เช็กสเปียร์ (William Shakespeare) อย่างหลวมๆ โดยที่ก็อาจจะเรียกได้ว่าใช้พลังนักแสดงนำดึงคนดูเป็นแรงหลัก เบียทริซ (ซิดนีย์ สวีนีย์) ออกเดตกับเบน (เกลน โพเวลล์) ช่วงสั้นๆ ก่อนจะเข้าใจผิดกันใหญ่โตจนกลายเป็นความบาดหมาง 

6 เดือนหลังจากนั้นทั้งคู่วนมาเจอกันอีกทีในงานแต่งสุดหรูของญาติ ที่ดันมีแฟนเก่าของทั้งเบียทริซและเบนมาร่วมด้วย ทั้งคู่จึงวางแผนว่า คบกันเพื่อทำให้เหล่าแฟนเก่าหึงหวง และเพื่อหยุดไม่ให้คนอื่นๆ ในงานเซ้าซี้ถึงความสัมพันธ์ที่พังทลายลงไปแล้ว เพื่อจะพบว่าแผนการนี้นำมาซึ่งความวายป่วงสุดขีด นับตั้งแต่นาทีแรกที่พวกเขาต้องแสร้งทำเป็นคู่รักกัน

หนังใช้พลังดาราของทั้งสวีนีย์และโพเวลล์ได้เต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเคมีเฉพาะตัวของโพเวลล์ที่อาจกล่าวได้ว่า เขาสามารถเป็นนักแสดงรอมคอมแถวหน้าได้ไม่ยาก มากไปกว่านั้นหนังยังถูกจับตามองตั้งแต่ก่อนออกฉาย เมื่อมีภาพนิ่งของนักแสดงนำทั้งสองในชุดว่ายน้ำหลุดออกมาให้ดูอยู่เป็นระยะ กระทั่งว่าช่วงเดินสายโปรโมตหนัง ก็มีข่าวลือซุบซิบว่า ทั้งสวีนีย์และโพเวลล์ออกเดตกันอยู่ (ซึ่งไม่เป็นความจริง) 

อย่างไรก็ตามหนังประสบความสำเร็จด้วยรายได้ 220 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ​ (จากทุนสร้าง 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) พร้อมคำวิจารณ์ระดับกลาง ในแง่ที่ว่าพล็อตหรือการเดินเรื่องไม่หวือหวานัก หากแต่มันก็เป็นหนังที่พาคนดูกลับไปยังรากฐานเดิมของความเป็นหนังรอมคอมคือ มอบความสบายใจและรื่นรมย์ให้อย่างเต็มที่

สำหรับเมสโลว ความสำเร็จของ Anyone But You เกิดขึ้นจากการที่มันจับกลุ่มคนดูเจนซี (Gen Z) อันเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อุตสาหกรรมฮอลลีวูดไม่เคยพิจารณาว่า เป็นฐานคนดูสำคัญของหนังรอมคอมมาก่อน

ว่าไปแล้วโจทย์ใหญ่ของฮอลลีวูดจึงอาจจะเป็นเรื่องของการพิจารณาหวนกลับมาทำหนังทุนกลางๆ ที่หากทำเงินได้ไม่มากนักก็อาจไม่เจ็บตัวหนัก แต่ถ้าทำรายได้ทะลุยอดก็ถือเป็นกำไรใหญ่อย่างหนังรอมคอมอีกครั้ง โดยที่ก็อาจวางอยู่บนความท้าทาย ในการสร้างเส้นเรื่องที่ตรงกับความสนใจของคนดูยุคใหม่ เพราะก็มีความเป็นไปได้อีกเช่นกันว่า สูตรสำเร็จของหนังรอมคอมแบบเก่าๆ อาจไม่ใช่คำตอบหรือสิ่งที่คนดูยุคนี้ต้องการอีกต่อไปแล้ว เว้นเสียแต่ว่าองค์ประกอบอื่นๆ ของหนังส่งอย่างที่เกิดขึ้นกับ Anyone But You

Tags: , , , , , , , , , ,