ภาพยนตร์ในวังวนแห่งการประหัตประหารและความเกลียดชัง

เมื่อความโกรธของคนชายขอบถูกผลักดันสู่จุดเดือด People Also Watch สัปดาห์นี้จะพาย้อนกลับไปสำรวจเรื่องราวของ La Haine (1995) ภาพยนตร์ที่เปล่งเสียงให้ความโกรธเกรี้ยวของคนชายขอบในฝรั่งเศสยุค 90s และยังส่งอิทธิพลต่อโลกภาพยนตร์มาจนถึงทุกวันนี้ ผ่านสายตาและฝีมือการกำกับของ มาติเยอ คาสโซวิตซ์ (Mathieu Kassovitz) ผู้สร้างงานที่ทั้งกล้าหาญและจริงใจต่อความไม่เป็นธรรมในสังคม

La Haine ไม่เพียงแต่เปล่งเสียงของผู้ถูกทำให้เงียบในสังคม หากยังใช้ภาษาภาพยนตร์อย่างบรรจง สร้างภาพที่ติดตาและบาดใจจนถึงวันนี้ เช่น ฉากไร้เงาสะท้อนหน้า แวงซองต์ กัสเซล หรือกล้องที่ซูมเข้าแต่ดอลลี่ออก ถ่ายทอดความแปลกแยกของตัวละครอย่างแหลมคม

ใครที่หลงใหลหนังว่าด้วยคนหนุ่มกับความรู้สึกแปลกแยกต่อสังคม อาจอยากดูต่อกับ Short Sharp Shock (1998) หนังเยอรมันของ ฟาติห์ อคิน หรือ Trainspotting (1996) ของ แดนนี บอยล์ ที่สะท้อนความโกรธ ชิงชัง และไร้ที่ไปในโลกใบนี้ได้อย่างเจ็บปวดไม่แพ้กัน

La Haine (1995) หนังขาวดำที่ว่ากันว่าเป็นหนึ่งในหนังที่ปฏิวัติวงการหนังฝรั่งเศสยุค 90s เพิ่งมาเข้าฉายในโรงภาพยนตร์บ้านเราที่ House Samyan เมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา และก็อาจเป็นครั้งแรกของหลายๆ คนที่ได้ดูหนังเรื่องนี้บนจอภาพยนตร์ขนาดใหญ่ ตระหนักถึงประเด็นอันแหลมคมและภาษาภาพยนตร์ของหนังที่ทรงพลัง นับตั้งแต่วันแรกที่ออกฉายจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ La Haine นับเป็นงานกำกับเรื่องที่ 2 และเป็นหนังแจ้งเกิดของ มาติเยอ คาสโซวิตซ์ คนทำหนังชาวฝรั่งเศสที่ก่อนหน้านี้เพิ่งเคยกำกับหนังยาวเพียงเรื่องเดียวคือ Métisse (1993) ที่ว่าด้วยเรื่องการสำรวจประเด็นแหลมคมของสาวคนหนึ่งที่ตั้งท้อง และไม่รู้ว่าใครเป็นพ่อของเด็กกันแน่ ระหว่างหนุ่มมุสลิมผิวดำผู้ร่ำรวยกับชายชาวยิวผู้ยากจน และใน La Haine เขาก็ยังจับจ้องไปยังประเด็นเรื่องเชื้อชาติและความเชื่ออีกครั้ง ในท่วงท่าที่ ‘หนักมือ’ กว่ามาก โดยหนังเล่าถึงช่วงเวลาที่เกิดจลาจลและการประท้วงรุนแรงในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

เมื่อเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่เข้าร่วมการชุมนุม ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายร่างกายจนบาดเจ็บสาหัส สร้างความคับแค้นใจให้แก่เพื่อนของเขาอย่าง วินซ์ (แวงซองต์ กัสเซล) หนุ่มเลือดร้อนชาวยิว, อูแบร์ (อูแบร์ กูนเด) เด็กหนุ่มผิวดำที่หวังอยากไปมีชีวิตที่ดีกว่าที่อื่น และซาอิด (ซาอิด ทักมาอูอิ) เพื่อนชาวมุสลิมซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวประสานระหว่างวินซ์กับอูแบร์อยู่กลายๆ

เรื่องเริ่มโกลาหลเมื่อวินซ์เก็บปืนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทำหล่นระหว่างการประท้วง เขาตั้งใจจะใช้ปืนกระบอกนี้ยิงตำรวจทิ้ง หากว่าเพื่อนเขาที่ถูกทำร้ายเสียชีวิต ท่ามกลางการคัดค้านอย่างหนักจากอูแบร์ และขณะที่พวกเขาออกเดินทางเข้ามายังตัวเมืองปารีส สถานการณ์ก็เลวร้ายลงเมื่ออูแบร์กับซาอิดถูกตำรวจจับกุมวินซ์ที่หนีรอดไปได้หวนกลับมาหาเพื่อนๆ ที่กลับไม่ทันรถไฟเที่ยวสุดท้าย และต้องแกร่วอยู่กลางเมืองปารีส เพื่อรอรถไฟขบวนแรกสุดของเช้าวันใหม่ ซึ่งการอยู่ในปารีสนี่เองที่ทำให้พวกเขาได้กลับมาพูดคุยกันอีกครั้ง พร้อมกันกับที่เป็นประจักษ์พยานวงจรความรุนแรงและความเกลียดชังที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคม

หากพูดถึงในแง่หนังที่ว่าด้วยคนหนุ่มกับสภาวะแปลกแยกต่อสังคม ที่ใกล้เคียงกับ La Haine ไม่น้อยคือ Short Sharp Shock (1998) หนังสัญชาติเยอรมันของผู้กำกับชาวตุรกี-เยอรมันอย่าง ฟาติห์ อคิน ที่ประเดิมการทำหนังยาวด้วยการเล่าเรื่องของชายหนุ่ม 3 คนในวังวนแห่งความรุนแรงในเมืองฮัมบูร์ก กาเบรียล (เมห์เมด เคอร์ตูลุส) เป็นชายชาวเติร์กที่เพิ่งพ้นโทษจากคุกมาหมาดๆ และหวังอยากสร้างชีวิตใหม่ แต่เพื่อนรักของเขา บ็อบบี (อเล็กซานดาร์ โจวาโนวิช) ซึ่งเป็นชาวเซอร์เบียกลับฝักใฝ่เข้าหามาเฟียชาวอัลบาเนีย ขณะที่ คอสตา (อดัม โบอัสดูโคส) เพื่อนชาวกรีกทำงานลักเล็กขโมยน้อยไปวันๆ 

หนังฉายให้เห็นมิตรภาพของชายหนุ่มทั้งสามที่ไม่ใช่คนเยอรมัน พวกเขาเป็นอื่นที่เมืองแห่งนี้และเกาะกลุ่มกันใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อย ไม่ว่าจะเดินแกร่วในตัวเมือง นั่งเอ้อระเหยดื่มเบียร์หรือตะลุยดูหนังอเมริกัน สิ่งที่เป็นตัวแปรคือการที่บ็อบบีพยายามเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในกลุ่มของผู้มีอิทธิพล ด้วยความเชื่อว่า สถานะนี้จะพาเขาหลุดพ้นจากสายตาเหยียดหยามและชีวิตเน่าเฟะได้ ขณะที่กาเบรียลไม่ได้หวังอะไรมากไปกว่ามีงานสุจริตเลี้ยงชีพไปวันๆ และเรื่องราวยังวุ่นวายมากขึ้น เมื่อคอสตาเกิดชอบพอน้องสาวเขาขึ้นมา ส่วนเขาดันไปตกหลุมรักแฟนของบ็อบบีที่ถูกพ่อหนุ่มเซอร์เบียร์ทำร้ายร่างกายรายวันจนเขาทนดูไม่ได้ และปลายทางของเรื่องราวทั้งหมดนี้ก็หนีไม่พ้นความรุนแรงและการประหัตประหารกันอย่างถึงที่สุดเท่านั้น

แน่นอนว่า ด้านหนึ่งแล้ว Short Sharp Shock ก็มาจากส่วนเสี้ยวชีวิตของอคินในฐานะผู้อพยพที่ใช้ชีวิตอยู่ในเยอรมนีด้วย “พ่อแม่ผมมาอยู่เยอรมนีช่วงปี 1960s และผมเกิดในยุค 70s ผมโตมาจนอายุได้สัก 20 ปี ก็ยังไม่แน่ใจว่ามองตัวเองเป็นคนเยอรมันไหม มันไม่เหมือนว่าคุณเกิดที่อเมริกาแล้วคุณก็มองตัวเองเป็นคนอเมริกันน่ะ

“ผมใช้ชีวิตในเยอรมนีโดยที่ก็ตระหนักอยู่เรื่อยๆ ว่า มีคนไม่ชอบใจผม แค่เพราะหน้าตาผมเป็นแบบนี้ มีผมสีดำ ดวงตาสีเข้ม และครอบครัวก็มาจากตุรกี” เขาบอก “เรื่องนี้แหละที่ส่งผลต่อผมเรื่อยมา”

ในแง่ของการเป็นคนหนุ่มสาวที่ชิงชังสังคม Trainspotting (1996) หนังชิงรางวัลเขียนบทยอดเยี่ยมของ แดนนี บอยล์ ก็ตอบโจทย์อยู่ไม่น้อย พร้อมวลีที่กลายเป็นประโยคเด็ดของหนังอย่าง “Choose Life” และส้วมที่โสโครกที่สุดในสกอตแลนด์ ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในภาพจำของหนัง แม้เวลาจะล่วงผ่านไปแล้วกว่าทศวรรษ

มาร์ก (ยวน แม็กเกรเกอร์) เป็นหนุ่มติดเฮโรอีนที่ใช้ชีวิตเขละขละกับเพื่อนสนิท แดเนียล (ยวน เบรมเมอร์) หนุ่มจ๋อยที่ทุกอย่างบีบให้เขาต้องไปสมัครงานเป็นชิ้นเป็นอัน แม้ใจจะไม่อยาก, ไซมอน (จอนนี ลี มิลเลอร์) ชายเจ้าเสน่ห์ที่เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้ และฟรานซิส (โรเบิร์ต คาร์ลไล) หัวโจกที่พร้อมใช้ความรุนแรงตลอดเวลา หนังดำเนินไปโดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่การพยายามกลับเนื้อกลับตัวของหนุ่มๆ, การหักดิบเลิกยาที่ทำให้พวกเขาเห็นภาพหลอนสารพัด และพร้อมกันนั้นก็แนบมากับความรู้สึกสิ้นหวัง รันทดต่อการมีชีวิต อันจะเห็นได้จากประโยคกลางเรื่องที่มาร์กตะโกนขึ้นมาอย่างเหลืออด

“เป็นคนสก็อตต์แม่งห่วยแตกโว้ย! เราแม่งอยู่จุดต่ำที่สุดของที่สุดแล้ว เป็นกากเดนของโลก เป็นไอ้ตัวน่าสมเพช น่ารังเกียจสุดๆ เท่าที่เคยมีมาในอารยธรรมนี้เลย! พวกเราบางคนแม่งเกลียดคนอังกฤษ แต่กูไม่เกลียดแม่งหรอกนะ พวกแม่งแค่ทำตัวเวรตะไล แต่พวกเรานี่สิ พวกเราแม่งอยู่ภายใต้อาณานิคมของไอ้พวกนั้นนะเว้ย แค่จะอยู่ภายใต้อาณานิคมคนที่มันเจ๋งกว่านี้แม่งยังทำกันไม่ได้เลย”

Trainspotting ตามสำนวนอังกฤษแล้วหมายถึง คนที่ใช้เวลาอย่างเปล่าดายโดยปราศจากจุดหมายใดๆ “มันมาจากกิจกรรมเก่าแก่ของคนอังกฤษนะ โคตรไร้จุดหมาย คือแม่งแค่ไปนั่งจ้องรถไฟเล่นๆ จดหมายเลขรถไฟที่แล่นผ่านหน้าตัวเองแล้วส่งให้คนอื่นๆ ที่ยืนอยู่คนละสถานี ทีนี้ก็จะรู้ว่ารถไปแต่ละขบวนแล่นไปถึงจุดไหนในอังกฤษบ้าง” บอยล์เล่า “มันเป็นกิจกรรมที่ไม่เกิดประโยชน์อะไรหรอก เพราะพวกเขาก็ไม่ได้ทำงานให้สถานีรถไฟ มันแค่เป็นกิจกรรมของคนหมกมุ่นกับรถไฟน่ะ และฉายภาพชายหนุ่มที่พยายามแก้ไขเปลี่ยนแปลงบางอย่าง กับโลกอันโกลาหลซึ่งพวกเราเข้าใจได้น้อยลงทุกทีๆ”

นอกเหนือจากนั้น Trainspotting ยังถูกพูดถึงในแง่กระบวนการถ่ายทำและการฉายให้เห็นภาพเพ้อฝันของคนคลั่งยา ทั้งฉากที่มาร์กรู้สึกเหมือนตัวเองค่อยๆ จมดิ่งหายลงไปในพรมหลังฉีดยาเข้าเส้น, อาการเสียสติและเห็นตัวเองมุดโถชักโครก กระทั่งภาพหลอนของเด็กทารกที่ติดตาเขาเรื่อยมา

“ผมว่า Trainspotting ไม่ได้ทำให้เฮโรอีนดูเท่น่ะ และนี่แหละเป็นสิ่งที่ทำให้หลายคนไม่พอใจ เพราะพวกเขาไม่อยากรับรู้ว่ายาเสพติดไม่ได้เป็นสิ่งที่ชวนพึงใจขนาดนั้น” แม็กเกรเกอร์บอก “แน่ล่ะว่าเฮโรอีนทำให้คุณรู้สึกดีได้ และหนังก็ฉายความสุขที่เกิดจากเฮโรอีนให้ดูด้วย พร้อมกันนี้เราก็แสดงให้ดูอีกเหมือนกันว่า ถ้าคุณเสพติดแล้วจะเป็นยังไง หรือเมื่อคุณตายแล้วมันจะเกิดอะไรขึ้นตามมา

“แต่ผมไม่ได้คิดว่าคนเสพเฮโรอีนเป็นคนชั่วช้าอะไร พวกเขามีปัญหาและเลือกทางออกด้วยเฮโรอีนแทน อย่างที่เห็นในหนัง บางคนก็มาจากบ้านที่สุดแสนจะชวนหดหู่ ไม่เคยได้รู้สึกมีหวังหรือมีอนาคตรอพวกเขา เช่นเดียวกันกับพ่อแม่ของพวกเขา ปู่ย่าตายายของพวกเขาที่ก็ไม่เคยมีหวังเหมือนกันนั่นแหละ”

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจหากมองในแง่ว่า ตัวละครตกอยู่ใน ‘วังวนแห่งความเกลียดชัง’ คือ American History X (1998) หนังสุดเดือนของ โทนี เคน ที่ส่ง เอ็ดวาร์ด นอร์ตัน เข้าชิงออสการ์สาขานำชายยอดเยี่ยมจากการรับบทเป็น ดีเร็ก หนุ่มคลั่งชาติที่สมาทานแนวคิดนีโอนาซี และพยายามทำตัวเป็นพี่ชายตัวอย่างให้ แดนนี (เอ็ดวาร์ด เฟอร์ลอง) น้องชายที่เทิดทูนเขายิ่งกว่าอะไร พ่อแม่ทั้งสองเป็นนักดับเพลิงที่ถูกพ่อค้ายาผิวดำยิงระหว่างปฏิบัติหน้าที่ และเป็นสาเหตุสำคัญให้ดีเร็กผันตัวไปอยู่ในกลุ่มหัวรุนแรง เชิดชูคนขาว (White Supremacist) ที่นำเขาไปสู่การสร้างความเกลียดชังผู้คนรอบตัว ไปจนถึงสุดรุนแรงที่สุดอย่างการฆ่าผู้อื่นที่ทำให้เขาลงเอยในคุก ทำให้เขาเป็นประจักษ์พยานแห่งความรุนแรงสุดขั้วที่ปรากฏข้างใน

อย่างไรก็ดีแม้หนังจะจับจ้องไปยังชีวิตของดีเร็กเป็นหลัก หากแต่สิ่งที่เป็นใจกลางของหนังคือแดนนี น้องชายผู้รอให้พี่ซึ่งเป็น ‘วีรบุรุษ’ ของเขาออกมาจากคุกอย่างใจจดใจจ่อ ระหว่างนั้นแดนนีก็สมาทานแนวคิดเดียวกันกับพี่ (แม้จะไม่ดุเดือดเท่าด้วยนิสัยส่วนตัว) วาดหวังว่า เมื่อพี่ชายออกมาจากคุกแล้วพวกเขาจะอยู่ร่วมในลัทธินีโอนาซีด้วยกัน หากแต่เขากลับพบว่า เมื่อดีเร็กออกจากคุกนั้น พี่ชายกลับเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ไม่เพียงแต่ถอนตัวออกจากวิธีคิดเชิดชูคนขาว หากแต่เขายังตั้งใจจะไม่สานต่อความเกลียดชังอีกต่อไปแล้วด้วย

เดวิด แม็กเคนนา ผู้เขียนบทหนังเล่าถึงที่มาที่ไปของโปรเจกต์ American History X ว่า “ผมโตมาโดยเห็นคนที่อยู่ในลัทธิคลั่งสุดโต่งมากมาย และนี่แหละที่ทำให้ผมสนใจอยากสำรวจโลกที่ขับเคลื่อนไปด้วยความเกลียดชัง ประเด็นที่ผมอยากถ่ายทอดในบทนี้คือ คนเราไม่ได้เกิดมาเหยียดผิวหากแต่มันเกิดขึ้นผ่านสิ่งแวดล้อมและผู้คนที่อยู่รอบๆ ตัวคุณ และคำถามที่กระตุกใจผมมากๆ คือว่า ทำไมคนเราจึงเกลียดชังกัน และความเกลียดชังมันนำไปสู่อะไรได้บ้าง และสารตั้งต้นสำหรับผมคือ ความเกลียดชังนั้นมันเกิดขึ้นตั้งแต่ในครอบครัวแล้ว”

อย่างไรก็ดี American History X เป็นหนังยาวเรื่องแรกของเคน และถูกตัดต่อใหม่โดยสตูดิโอ New Line Cinema ที่ยังผลให้เคนโกรธจัด “ผมรู้ตัวแหละว่าเป็นคนทำหนังหน้าใหม่ แต่ก็อยากมีเสรีภาพและได้รับความเคารพแบบที่ สแตนลีย์ คูบริก มีเหมือนกันนะ” 

หลังจากนั้นเรื่องก็ยุ่งมากขึ้นกว่าเดิม เพราะนอร์ตันเข้าไปมีบทบาทในการตัดต่อร่วมกันกับเคน ผลคือพวกเขาทะเลาะกันระดับสตูดิโอแทบแตก มีรายงานว่าเคนโกรธจัดจนชกผนังเปรี้ยงใหญ่จนต้องถูกส่งตัวไปเย็บแผล ภายหลังเขาออกมาให้สัมภาษณ์อย่างโกรธจัดว่า “ถ้าผมได้ทำหนังตามความต้องการของตัวเอง มันคงออกมาดีมากๆ ไปแล้ว แต่หนังแบบที่ผมอยากให้เป็นมันไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาไงล่ะเว้ย! เพราะอะไรรู้ไหม เพราะว่าไอ้เอ็ดวาร์ด นอร์ตัน ไอ้นักแสดงคนนั้น โปรดิวเซอร์อนุญาตให้มันมาตัดต่อร่วมกันกับผม มันเลยใส่ฉากที่มันได้แสดงเข้าไปในหนังเยอะกว่าที่มีในบท แล้วตัดความจริงใจที่หนังมีออกจนหมด!”

ข้อพิพาทระหว่างเคนกับนอร์ตันกับสตูดิโอยืดเยื้อไปอีกหลายสัปดาห์ และแม้หนังจะไม่ถูกใจเขานัก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันสำรวจภาวะแห่งความเกลียดชังได้อย่างหมดจด โดยเฉพาะในแง่ของการฉายภาพการส่งต่อความรุนแรงและความเกลียดชัง ซึ่งไม่สร้างอะไรอื่นขึ้นมานอกเหนือจากความรุนแรงและความเกลียดชังครั้งใหม่เท่านั้น

อย่างไรก็ดีอาจจะกล่าวได้อย่างหยาบๆ ว่า จุดร่วมของหนังเหล่านี้พ้นไปเสียจากการเป็นหนังยุค 90s แล้วคือ การพูดถึงเรื่องคนตัวเล็กตัวน้อยที่ชิงชังกับชีวิต หากแต่ในภาพใหญ่กว่านั้น ใช่หรือไม่ว่า มันฉายภาพการใช้ชีวิตอยู่ในวังวนแห่งความรุนแรงและความเกลียดชัง ไม่ว่าที่ตัวละครมีต่อรัฐ ต่อสังคม หรือแม้กระทั่งต่อตัวเอง โดยที่พวกเขาไม่มีทางออกอื่นใด นอกเหนือไปเสียจากการใช้กำลังเข้าประหัตประหารกันเท่านั้น

Tags: , , , , , , ,