จะว่าไป เรื่องราวของ ‘บ้านผีสิง’ ดูจะเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันกับโลกภาพยนตร์มาช้านาน นับตั้งแต่ The House of the Devil (1896) ของ ฌอร์ฌ เมเลียส (Georges Méliès) คนทำหนังชาวฝรั่งเศสที่กล่าวกันว่า เป็นหนังในฌ็องเฮอร์เรอร์เรื่องแรกของโลก ตัวหนังมีความยาวเพียง 3 นาที เล่าเรื่องสิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติในปราสาทแห่งหนึ่ง และไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ตัวหนังได้สร้าง ‘ภาพจำ’ ของสิ่งที่กลายมาเป็นภาพแทนของความเขย่าขวัญอย่างค้างคาว ปีศาจ แวมไพร์ และแม่มด
สำหรับคนดูหนัง เรื่องที่ว่าด้วยบ้านผีสิง หรือวิญญาณที่ยังสิงสถิตอยู่ในพื้นที่แห่งเดิมถือเป็นเรื่องที่พบเจอได้สามัญในภาพยนตร์ จะหลอกหลอนเล็กน้อยด้วยเสียงหรือการขยับข้าวของ ไปจนถึงระดับทำลายล้างมุ่งเอาชีวิต ก็ถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของหนังตระกูลนี้ คอลิน ดิกกี (Colin Dickey) ผู้เขียนหนังสือ Ghostland: An American History in Haunted Places (2016) แสดงความเห็นไว้น่าสนใจว่า ความนิยมของบ้านผีสิงในเรื่องเล่านั้นสะท้อนความหวาดหวั่น และเคร่งเครียดของสังคมได้เป็นอย่างดี
“บ้านเป็นภาพแทนของความปลอดภัย เป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จในอุดมคติของชาวอเมริกันและความร่ำรวย มั่งคั่งด้วย” ดิกกีกล่าว “ดังนั้นบ้านที่ถูกสิงจึงเป็นเสมือนการกลับด้านความเชื่อที่ว่าทั้งหมด สถานที่ซึ่งควรจะเป็นพื้นที่ปลอดภัย อบอุ่นและต้อนรับทุกคน กลายเป็นสถานที่ชวนขนหัวลุกและคุกคามอย่างยิ่ง”
The Cursed Land (2024) หรือแดนสาป หนังโดย ภาณุ อารี ชวนสำรวจความหวาดหวั่นและความไม่ปลอดภัยของมนุษย์ในบ้านหลังหนึ่ง ผ่านเรื่องราวของ มิตร (แสดงโดย อนันดา เอเวอริ่งแฮม) กับ เมย์ (แสดงโดย เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ) สองพ่อลูกที่ต้องย้ายเข้าไปอยู่ในเขตหนองจอก หลังครอบครัวเพิ่งสูญเสียสมาชิกคนสำคัญ ทั้งคู่จึงกลายเป็นเพื่อนบ้านคนใหม่ของชุมชนมุสลิม
ขณะที่เมย์ดูไปกันได้ดีกับสังคมโดยรอบ มิตรที่มีอาการเครียดและโศกเศร้าจากโศกนาฏกรรมในอดีตก็เริ่มแว่วเสียงประหลาดในบ้านที่เขากับลูกเพิ่งย้ายเข้าไปอยู่ เขาดึงยันต์ต่างๆ ที่แปะไว้ในบ้านทิ้งและสร้างศาลพระภูมิขึ้นแทน ท่ามกลางสายตาตื่นตะลึงของ ฮีม (แสดงโดย บรอนต์ ปาลาเร่) เพื่อนบ้านที่เฝ้ามองดูมิตรอยู่ห่างๆ ก่อนที่ทุกอย่างจะเริ่มเลวร้ายลง เมื่อมิตรเริ่มเห็นภาพหลอนและทำร้ายตัวเอง
แดนสาปไม่ได้เป็นแค่หนัง ‘บ้านผีสิง’ หากแต่มันชวนสำรวจประเด็นทางสังคมการเมืองอย่างแยบคาย ทั้งพื้นที่ของการอยู่ร่วมกันของชาวไทยพุทธและชาวมุสลิม ประวัติศาสตร์อัตลักษณ์ ไปจนถึงความเชื่อเรื่องการสร้างบ้านทับสุสาน โดยเฉพาะประเด็น ‘ความเป็นอื่น’ ไม่ว่าจะตัวละครสองพ่อลูกที่รู้สึกว่า พวกเขาไม่ได้เป็นหนึ่งเดียวกับชุมชน ยิ่งกับมิตรที่เลือกจะใช้ชีวิตโดยไม่ปรับตัวยิ่งรู้สึกว่า ตัวเองแปลกแยกจากคนอื่นมากขึ้นทุกที หรือตัวฮีมเองที่เคยไปใช้ชีวิตในภาคใต้ และถูกเพื่อนในชุมชนมองว่าเขาเพี้ยนไปจากเดิม สอดรับกับบริบททางการเมืองที่หนังใส่เข้ามาในช่วงเวลานั้น กล่าวคือความเป็นอื่นและความรู้สึกแปลกแยกเกิดขึ้น ไม่ว่าจะกระทั่งกับคนไทยพุทธหรือมุสลิมด้วยกัน
มิหนำซ้ำ ‘ผี’ ในบ้านหลังที่สองพ่อลูกเข้าไปอยู่ ก็ไม่ได้เป็นผีในความหมายที่คนไทยพุทธเข้าใจ หากแต่เป็นญิน หรือสิ่งชั่วร้ายตามความเชื่อของมุสลิมที่แปรสภาพ-แปรเปลี่ยนรูปลักษณ์เป็นอะไรก็ได้ มุ่งเข้าครอบงำจิตใจที่อ่อนแอบอบช้ำ จึงเลี่ยงไม่ได้เลยที่มิตรจะกลายเป็นเหยื่ออันโอชะของญินที่สิงสู่อยู่ในบ้านหลังดังกล่าว
หนังเฮอร์เรอร์สัญชาติไทยที่ว่าด้วยเรื่องบ้านที่ถูกสิงสู่อีกเรื่อง ที่สำรวจประเด็นทางสังคมไว้แยบคายคือ ลัดดาแลนด์ (2011) โดย โสภณ ศักดาพิศิษฏ์ ที่ทำเงินไปทั้งสิ้น 116 ล้านบาท (นับเฉพาะรายได้ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และเชียงใหม่) กับวลีที่กลายเป็นมีมดังทุกวันนี้อย่าง “กูไม่ออก! ถ้าออกแล้วกูจะเอาอะไรแดก!” จากตัวละคร ธีร์ (แสดงโดย สหรัถ สังคปรีชา) หัวหน้าครอบครัวชนชั้นกลางที่หวังอยากซื้อบ้านให้ลูกเมียสักหลัง
เขาถูกชวนให้ไปทำงานในเชียงใหม่ ซึ่งทำให้เขามีโอกาสซื้อบ้านเป็นของตัวเองได้ในที่สุด ท่ามกลางสายตาเป็นกังวลของ ป่าน (แสดงโดย ปิยธิดา วรมุสิก) เมียที่ฝ่าฟันอุปสรรคหลายอย่าง รวมทั้งการกีดกันจากแม่ของเธอที่มองว่าธีร์ไม่เอาไหน เพื่อมีชีวิตคู่กับเขา และท่าทีต่อต้านของ แนน (แสดงโดย สุทัตตา อุดมศิลป์) ลูกสาววัยรุ่นที่รู้สึกว่าพ่อทำให้ชีวิตของเธอย่ำแย่ลง เพราะต้องย้ายโรงเรียนมาอยู่เชียงใหม่กับ นัท (แสดงโดย อธิพิชญ์ ชุติวัฒน์ขจรชัย) ลูกชายคนเล็กวัยกำลังซน
ความหลอนหลอกของหนังก็เรื่องหนึ่ง แต่ประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ การที่หนังชวนคนดูสำรวจภาวะง่อนแง่นของชนชั้นกลางไทย รวมถึงภาระของการเป็นหัวหน้าครอบครัวและแอกของความเป็น ‘ผู้นำ’ ที่ดีตามขนบ จะพบว่ธีร์ถูกแม่ของป่านดูถูกหยามเหยียดมายาวนานว่า เป็นผู้นำครอบครัวที่ไม่มีปัญญาซื้อบ้านให้ครอบครัวตัวเองอยู่
ด้านหนึ่ง บ้านในหนังจึงเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของความมั่นคง ความมั่งคั่ง และสถานะทางชนชั้นบางอย่างที่ปัจเจกถูกกำหนดให้ครอบครอง และยิ่งผลักให้ธีร์ต้องดิ้นรนหารายได้มหาศาลเพื่อกู้ซื้อบ้าน ส่งผลให้เขาลงเอยที่การมาทำการตลาดให้บริษัท ที่ไม่ชวนให้เชื่อถือแม้แต่นิด และค่อยๆ แตกสลาย กลายเป็นพนักงานร้านประจำที่บีบให้เขาเกลียดชังตัวเองอย่างที่สุด
หรือกระทั่งความสัมพันธ์ของคนข้างบ้าน ที่ก็บาดเจ็บจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ จนต้องมาขอยืมเงินป่าน กลายเป็นชนวนร้าวให้สองผัวเมีย เพราะการเงินก็ตึงมือด้วยกันทั้งบ้าน ด้านหนึ่งลัดดาแลนด์ จึงเป็นหนังที่ฉายถึงความรันทดของชนชั้นกลาง ที่ต้องใช้ชีวิตตามบรรทัดฐานที่สังคมกำหนด แม้เศรษฐกิจจะไม่เอื้อจนพังทลายทั้งครอบครัวและชีวิตตัวเอง
ถ้าพูดถึงหนังที่ว่าด้วยบ้านผีสิง การไม่เอ่ยถึง The Conjuring (2013) ก็ดูจะเป็นเรื่องผิดบาป เพราะนี่คือต้นธารของจักรวาล Conjuring ที่ทำเงินให้ฮอลลีวูดมหาศาลในอีกหลายปีให้หลัง และเป็นหนึ่งในหนังทำเงินที่มากที่สุดของ เจมส์ วาน (James Wan) ด้วยการทำรายได้ไปทั้งสิ้น 319 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (จากทุนสร้าง 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ดัดแปลงมาจากเรื่องราวของสองผัวเมียวอร์เรน นักปราบวิญญาณชื่อดังของอเมริกา
หนังเล่าเรื่องบ้านประหลาดหลังหนึ่งในรัฐโรดไอแลนด์ ที่ผู้เข้าไปพักอาศัยมักเจอเหตุการณ์ชวนสยอง ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ อย่างเสียงดังในห้องว่าง ห้องใต้ดินที่ขังคนไว้ไม่ให้ออก ไปจนถึงสิ่งลึกลับที่โจมตีมนุษย์จนได้รับบาดเจ็บ และใช้ชีวิตอย่างปกติสุขไม่ได้ ลอร์เรน (แสดงโดย เวรา ฟาร์มิกา) และเอ็ด (แสดงโดย แพทริค วิลสัน) วอร์เรนจึงถูกจ้างให้มาช่วยสืบสวน หาต้นสายปลายเหตุของความเฮี้ยนคลั่งที่เกิดขึ้นในบ้านหลังนี้
โดยผัวเมียวอร์เรนพบว่า ก่อนหน้านี้ในปี 1863 บ้านเป็นของหญิงคนหนึ่งที่ชื่อว่า บาธชีบา ซึ่งถูกชาวเมืองกล่าวหาว่า นับถือซาตานและเป็นแม่มด เธอสังหารลูกน้อยวัย 1 สัปดาห์ของตัวเองให้ปีศาจ และฆ่าตัวตายตามตอนตี 3 ของเช้าอีกวัน (เป็นเหตุให้นาฬิกาทุกเรือนในบ้านหยุดไว้ที่เวลานี้ตลอดกาล) และสาปแช่งให้ใครก็ตามที่เข้ามาพักอาศัยในบ้านแห่งนี้ ต้องพบเจอกับความโศกเศร้า และความตายอันแปลกประหลาดเช่นเดียวกันกับเธอ
บาธชีบาจึงสิงสู่อยู่ในบ้านและเข้าสิงผู้ย้ายมาใหม่อยู่เรื่อยๆ ก่อให้เกิดคดีฆาตกรรมหรือฆ่าตัวตายลึกลับติดต่อกันจนคนทนอยู่กันไม่ได้ ปลายทางของเรื่องนี้จึงเป็นการ ‘ปราบผี’ โดยสองผัวเมียวอร์เรน โดยได้รับการสนับสนุนจากคริสตจักรที่เห็นว่า วิญญาณของหญิงบูชาซาตานที่วนเวียนทำร้ายผู้คนนั้นเป็นสิ่งที่ต้องกำจัด
ภายหลังประสบความสำเร็จมหาศาล The Conjuring ขยับขยายเป็นแฟรนไชส์ใหญ่ ที่มีทั้งผีนางชี, ตุ๊กตาที่ถูกสิง ไปจนถึงปีศาจและสิ่งเหนือธรรมชาติทั้งปวง
พ้นไปจากภาพยนตร์คนแสดง โลกแอนิเมชันก็เคยหยิบเอาเรื่องขนหัวลุกของบ้านที่ถูกสิงมาเล่าเรื่อง และกลายเป็นหนึ่งในแอนิเมชันชวนหัวใจสลายมากที่สุดเรื่องหนึ่งอย่าง Monster House (2006) หนังเรื่องแรกของ กิล คีแนน (Gil Kenan) ก่อนที่ในเวลาต่อมาเขาจะไปสร้างชื่อต่อจาก City of Ember (2008) และ Poltergeist (2015) เล่าเรื่องสุดวายป่วงของ ดีเจ (พากย์เสียงโดย มิตเชล มัสโซ) เด็กชายวัย 12 ขวบ ที่มักจินตนาการว่า บ้านเก่าซ่อมซอตรงข้ามบ้านของเขา มีเรื่องลึกลับอันตรายซ่อนอยู่ เพราะปู่ เน็บเบอร์แคร็กเกอร์ (พากย์เสียงโดย สตีฟ บุสเซมี) เจ้าของบ้านหลังดังกล่าวไม่ยอมให้ใครเข้าไปใกล้ มิหนำซ้ำยังทำตัวน่าสงสัยเสียเหลือเกิน
ดีเจจึงคิดขึ้นมาได้ว่า การที่เน็บเบอร์แคร็กเกอร์ไม่ยอมให้ใครเข้าใกล้บ้าน เพราะอีกฝ่ายเก็บงำความลับไว้อยู่ และค่อยๆ ปะติดปะต่อเรื่องราวจนพบเงื่อนงำน่าสงสัยว่า เป็นไปได้อย่างไรที่เน็บเบอร์แคร็กเกอร์จะอยู่ในบ้านหลังใหญ่ขนาดนั้นเพียงลำพัง และหากเขาอยู่คนเดียวจริง เมียของเขาหายไปไหน เป็นไปได้หรือไม่ว่า เน็บเบอร์แคร็กเกอร์พลั้งมือทำร้ายเมียและต้องซุกซ่อนเธอไว้ในบ้าน!
ความคิดเตลิดเปิดเปิงฟุ้งซ่านฝังในหัวของดีเจนานหลายวัน กระทั่งเขาสบโอกาสช่วงวันฮาโลวีน พาเพื่อนรักบุกเข้าไปยังบ้านของเน็บเบอร์แคร็กเกอร์ และพบว่าบ้านทั้งหลังมีชีวิตจริง! เพราะมันกลืนกินสรรพสิ่งถ้วนหน้าไม่เว้นแม้แต่สิ่งมีชีวิต พวกเขาจึงพยายามล่อให้บ้านกินอาหารจนแน่น และสำรวจจนพบความลับว่า มันเป็นที่สิงสถิตของคอนสแตนซ์ หญิงร่างยักษ์ที่ถูกคณะละครสัตว์พามาโชว์ตัวเมื่อหลายสิบปีก่อน
เน็บเบอร์แคร็กเกอร์ตกหลุมรักเธออย่างถอนตัวไม่ขึ้น และพาเธอหลบหนีออกมาเพื่ออยู่กินด้วยกัน หากแต่ร่างกายใหญ่โตของเธอก็กลายเป็นเป้าให้ผู้คนล้อเลียนรังแก และลงเอยด้วยโศกนาฏกรรมเมื่อเธอประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตในบ้านระหว่างที่ยังสร้างไม่เสร็จ ร่างของเธอจึงถูกฝังอยู่ที่นั่นชั่วนิจนิรันดร์ กลายเป็นวิญญาณที่มีอำนาจเหนือบ้านและยังกินทุกสิ่งอย่างต่อเนื่อง
อันที่จริง Monster House ถือเป็นเรื่องดราม่าชวนเศร้า และเรื่องราวก็อาจจะเกินกำลังเด็กๆ ไปสักนิด (ไม่ว่าจะเรื่องความตายอันชวนสยองของคอนสแตนซ์เองก็ดี ไอเดียที่ว่าบ้านสามารถกลืนกินมนุษย์ได้ก็ดี หรือแม้แต่เรื่องการปลดปล่อยให้ดวงวิญญาณไปสู่สุคติก็ดี) แต่มันก็เป็นแอนิเมชันที่เล่าเรื่องได้แปลกใหม่ มีหัวใจ และเหนืออื่นใดคือชวนขนหัวลุก แม้แต่ในสายตาของผู้ใหญ่เอง ยิ่งขับเน้นว่า บ้านสามารถกลายเป็นสถานที่ซึ่งกัดกินและกักขังทั้งมนุษย์และคนตายไว้ได้ แม้เวลาล่วงผ่านไปแล้วหลายปี
Tags: หนังบ้านผีสิง, The Cursed Land, แดนสาป, Monster House, หนังผี, ลัดดาแลนด์, บ้านผีสิง, People Also Watch, บ้านผีสิงในหนัง