ที่จริงแล้ว ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของการทำหนังในอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีใต้ ภาพยนตร์ฌ็องเฮอร์เรอร์หรือเขย่าขวัญ ถือเป็นอีกหนึ่งฌ็องที่โดดเด่นและประสบความสำเร็จมายาวนาน ยิ่งกับ Exhuma (2024) หนังบล็อกบัสเตอร์ลำดับล่าสุดที่ทำเงินไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 88 ล้านเหรียญฯ ยิ่งตอกย้ำถึงความสำเร็จ 

สิ่งที่น่าสนใจคือ ขณะที่หนังเฮอร์เรอร์ส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะของอเมริกา) มักเน้นอยู่จังหวะ Jump Scare หรือทำให้คนดูตกใจด้วยวิชวลและซาวนด์ประกอบ แต่หนังเฮอร์เรอร์ของเกาหลีใต้มักสำรวจไปยังความหลอนหลอกเจ็บปวดที่ตัวละครต้องเผชิญอย่างเงียบเชียบเสียมากกว่า และนี่ก็เป็นสิ่งที่ปรากฏใน Exhuma หนังยาวลำดับที่สามของผู้กำกับ จาง แจฮยอน (Jang Jae-hyun) เช่นกัน

ทั้งนี้ ตัวหนังว่าด้วยเรื่องของคู่หูร่างทรง ฮวาริม (แสดงโดย คิม โกอึน) กับ บงกิล (แสดงโดย อี โดฮยอน) ที่ได้รับการว่าจ้างจากมหาเศรษฐีชาวเกาหลีใต้-อเมริกัน ให้ปัดเป่าสิ่งที่มารังควานเขากับลูกน้อย โดยเขาเชื่อว่าเสียงกรีดร้องที่เขาได้ยินซ้ำๆ หรือการที่ลูกเขาร้องไห้ตลอดเวลานั้น เป็นเพราะปู่ที่ตายจากไปนานแล้วตามมาหลอกหลอน ทางเดียวที่จะแก้ไขได้คือการย้ายสุสานของปู่ให้ไปอยู่ในทำเลที่ดีกว่าเดิม 

เหตุนี้ฮวาริมกับบงกิลจึงต้องขอความช่วยเหลือจาก ซังด็อก (แสดงโดย ชเว มินซิก) ซินแสผู้เชี่ยวชาญเรื่องที่ทางมงคลกับ ยองกึน (แสดงโดย ยู แฮจิน) สัปเหร่อคู่บุญที่คอยทำหน้าที่จัดการศพที่ถูกขุดขึ้นมาชำระล้าง

หนังขับเน้นบรรยากาศความแปลกประหลาดและขนหัวลุกตั้งแต่ที่ตัวละครเข้าไปสำรวจสุสานของผู้ว่าจ้าง กล่าวคือมันตั้งอยู่ในทำเลห่างไกลและรกร้างโดดเดี่ยว ผิดธรรมเนียมปฏิบัติของตระกูลเศรษฐีที่มักสร้างสุสานบนพื้นที่โล่งกว้างและชุ่มชื้น (อันจะเห็นได้จากฉากที่ทั้งซังด็อกและยองกึนทำพิธีให้บ้านคนรวยครอบครัวอื่น) แต่หลุมศพเจ้ากรรมนั้นกลับดูผิดที่ผิดทาง

และเมื่อพวกเขาลงแรงขุดขึ้นมาจากหลุมเพื่อนำไปเผา ก็ต้องเผชิญปัญหาใหญ่ เมื่อมีคนงัดโลงหวังสมบัติที่เชื่อกันว่าลูกหลานมักใส่แนบเข้าไปในโลงด้วย ทำให้ ‘ผี’ ในโลงที่ถูกผนึกไว้ออกมาตามล้างแค้นลูกหลานที่บังอาจทอดทิ้งเขาไว้ในหลุมศพไม่เป็นมงคล

ผีใน Exhuma ไม่ได้ปรากฏตัวเป็นรูปเป็นร่างเหมือนผีปีศาจในหนังอเมริกันหรือแม้แต่ผีไทย ผู้กำกับ จาง แจฮยอน บอกเล่าถึงตัวผีผ่านเงาสะท้อน ผีที่หลุดมาจากหลุมเป็นผีที่แค้นเคือง มูมมาม และหวังทำลายล้างโคตรเหง้าของตัวเอง ทั้งวิธีการสังหารของมันก็ชวนให้สยดสยอง เพราะเหยื่อล้วนแล้วแต่ตายด้วยสภาพน่าอนาถ 

ทว่าสิ่งที่น่าสนใจคือ หนังยังคงเล่าเรื่องความเจ็บปวดของตัวละครผ่านสภาพจิตใจบิดเบี้ยว ตัวละครลูกหลานต้องจมอยู่กับความรู้สึกผิดที่ปู่เป็นคนขายชาติให้ญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลก ที่แม้จะยังผลให้พวกเขาร่ำรวยมหาศาล แต่ก็ต้องถูกตราหน้าจากคนในชาติเสียจนสบตาตัวเองลำบาก และสิ่งนี้เองที่กัดกินตัวละครในตระกูล ตั้งแต่ก่อนที่ร่างของปู่จะถูกขุดขึ้นมาจากหลุมเสียอีก

หนังยังพาสำรวจประเด็นเรื่องชาติและสงคราม เมื่อตัวละครพบว่าข้างใต้โลงมหาเศรษฐีนั้นยังมีโลงศพขนาดใหญ่ที่ถูกฝังไว้เป็นแนวตั้ง กระทั่งเมื่อพวกเขาขุดขึ้นมาก็พบว่ามันเป็นโลงของทหารญี่ปุ่นที่ถูกทำพิธีตอกหมุดเหล็ก เพื่อกันไม่ให้ความเจริญเข้ามาสู่เกาหลีใต้ ตัวละครจึงต้องรับมือกับผีญี่ปุ่นที่มีเนื้อหนัง สังหารคนได้ 

ความอำมหิตและยากจะรับมือของมันนั้นทำให้ตัวละครไม่เพียงแต่บาดเจ็บในเชิงร่างกาย แต่ยังบาดเจ็บทางจิตใจหนักหน่วง ซึ่งถึงที่สุด การต่อสู้ระหว่างพวกเขากับผีญี่ปุ่นก็ได้พาหนังไปสู่ประเด็นที่ใหญ่กว่านั้น อย่างเรื่องบาดแผลทางประวัติศาสตร์และชาตินิยม

อย่างไรก็ดี Exhuma ถูกนำมาเทียบเคียงกับ The Wailing (2016) อยู่เนืองๆ ในแง่ของบรรยากาศหลอนหลอกและยะเยือก ทั้งนี้ The Wailing ซึ่งกำกับโดย นา ฮงจิน (Na Hong-jin) ถือเป็นหนังขวัญใจนักวิจารณ์ และถูกยกย่องว่าเป็นหนึ่งในหนังที่ ‘เป็นธงชัยสำคัญ’ ของบรรดาหนังเฮอร์เรอร์สัญชาติเกาหลี เพราะการตั้งคำถามสำคัญอย่างความเป็นมนุษย์กับปีศาจผ่านเรื่องราวของคนในหมู่บ้านเล็กๆ ที่อยู่อย่างสุขสงบมายาวนาน 

แต่แล้วอยู่ๆ ผู้คนในหมู่บ้านก็ป่วยด้วยโรคประหลาดที่ปรากฏทั้งอาการทางกายคือเป็นตุ่มแดงทั้งตัว และทางจิต เมื่อพวกเขาคลุ้มคลั่งไล่สังหารคนในครอบครัวและคนใกล้เคียงด้วยความโหดเหี้ยม ทำให้คนที่ยังเหลืออยู่พุ่งเป้าหาสาเหตุไปยัง ชายชาวญี่ปุ่น (แสดงโดย จุน คูนิมุระ) ที่เข้ามาอยู่อาศัยในหมู่บ้านเงียบๆ พร้อมหมาหนึ่งตัว จงกู (แสดงโดย ควัก โดวอน) นายตำรวจประจำหมู่บ้านจึงออกสืบเรื่องนี้ 

หนังฉายให้เห็นความล่าช้างุ่มง่ามของจงกู ซึ่งเป็นเสมือนภาพแทนของหน่วยงานราชการที่เทอะทะไม่ทันการ จงกูมักมีท่าทีละล้าละลัง และแทบไม่กระตือรือร้นจะปฏิบัติหน้าที่ กระทั่งเมื่อ ฮโยจิน (แสดงโดย คิม ฮวานฮี) ลูกสาวของเขาเริ่มมีพฤติกรรมประหลาดอย่างการกรีดร้องทุรนทุราย และกินอาหารมากผิดปกติ ทำให้จงกูเริ่มคล้อยตามความเห็นของชาวบ้านว่า ความเฮี้ยนเหล่านี้ล้วนมีที่มาจากชายชาวญี่ปุ่นผู้ไม่สุงสิงกับใคร

นา ฮงจิน โหมกระพือความหลอนหลอกด้วยบรรยากาศชวนหายใจไม่ทั่วท้องตลอดทั้งเรื่อง ไม่ว่าจะหญิงลึกลับที่มักปรากฏตัวในสภาพเปลือยกาย, สภาพการตายอันชวนสยดสยองของคนในหมู่บ้าน รวมทั้งเรื่องความเชื่อไสยศาสตร์ที่หาคำตอบไม่ได้ ทำให้ชาวบ้านต้องเรียก อิลกวัง (แสดงโดย ฮวาง จองมิน) หมอผีให้มาปัดเป่ารังควาน และอิลกวังก็ยืนยันว่า ศัตรูที่แท้จริงของหายนะครั้งนี้มาจากชายชาวญี่ปุ่นคนดังกล่าว

หากแต่ The Wailing ก็ไม่ได้มอบคำตอบให้คนดูชัดเจน สิ่งที่หนังมอบไว้ให้คือความรู้สึกกระอักกระอ่วนใจที่ต้องเฝ้ามองมนุษย์ห้ำหั่นต่อกัน ด้วยความเชื่อที่ว่า ‘อีกฝ่ายนั้นเป็นอื่น’ ยิ่งตัวละครเริ่มใช้ความรุนแรงหนักข้อ ยิ่งเห็นสภาพของการออกล่าและความดำมืดในใจมนุษย์ที่เพียรหา ‘แพะบูชายัญ’ เพื่อสร้างคำตอบให้ตัวเองสบายใจ 

หากว่าจะมีสักอย่างที่ The Wailing แข็งแกร่งกว่า Exhuma นั้น คือสายตาและทัศนคติที่คนทำหนังมีต่อปมประเด็นความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ระหว่างเกาหลีและญี่ปุ่น และคนที่ต้องรับบาปจากบาดแผลดังกล่าวก็เป็นคนตัวเล็กตัวน้อยของแต่ละฝ่ายเท่านั้น

หนังอีกเรื่องที่อ้างถึงตำนานเก่าแก่และไสยศาสตร์ของเกาหลีใต้คือ The Mimic (2017) โดยผู้กำกับ ฮอ จอง (Huh Jung) เล่าเรื่องผ่าน อียอน (แสดงโดย ยัม จุงอา) และ มินโฮ (แสดงโดย พัค ฮยอกควอน) คู่รักที่กระเสือกกระสนใช้ชีวิตหลังลูกชายของพวกเขาหายตัวไปอย่างลึกลับเมื่อห้าปีก่อน

เพื่อจะสร้างชีวิตใหม่ขึ้นอีกครั้ง พวกเขากับ จุนฮี (แสดงโดย ยูซุล บัง) ลูกสาวคนเล็ก จึงย้ายครอบครัวไปอยู่กับคุณยายของบ้านที่เริ่มเลอะเลือนในชนบทติดกับป่า ซึ่งดูจะเป็นต้นธารของเรื่องชวนพิศวงมากมาย ทั้งคุณยายที่อ้างว่าได้ยินเสียงน้องสาวตัวเองเพรียกกระซิบมาจากป่า หรือเด็กสองคนที่ปรากฏตัวขึ้นมาอย่างลึกลับ และเป็นผู้ที่พาอียอนไปเจอประตูลึกลับบานหนึ่ง ซึ่งพวกเขาพบว่าหลังบานประตูนั้นมีหญิงพิการเสียชีวิตอยู่ หากแต่นี่ไม่ใช่ความสยดสยองสุดท้ายที่ครอบครัวอียอนต้องเจอ

อียอนพบว่า เด็กหญิงที่ปรากฏตัวในป่าโผล่มาหน้าบ้านเธอและเรียกเธอว่า ‘แม่’ ด้วยเสียงเดียวกับจุนฮี ทั้งยังยืนกรานว่าเธอเองก็ชื่อจุนฮีเหมือนกัน ขณะที่มินโฮผู้เป็นสามีนั้นเฝ้ามองพฤติกรรมของภรรยาด้วยความเป็นห่วงแกมหวาดระแวง เขาเชื่อว่าอียอนยังมีปัญหาทางจิต และทำใจจากการหายตัวไปของลูกชายไม่ได้ พร้อมกันกับที่คุณยายเริ่มออกเดินตามเสียง ‘น้องสาว’ ที่เธออ้างว่าได้ยินจากป่าและหายตัวไปอีกคน 

อียอนจึงดิ้นรนหาคำตอบต่อเรื่องลึกลับนี้ และได้ความว่า ก่อนหน้านี้เคยมีหมอผีอาศัยอยู่ในป่า เขาแทบไม่สุงสิงกับใครในหมู่บ้านและถูกพิจารณาเป็นคนนอกอยู่เนืองๆ เขาวาดฝันอยากรับใช้ภูตผีในป่า โดยขอพลังอำนาจจากเทพเสือจางซานแห่งหุบเขา แลกกับการทุบตีลูกสาวตัวเอง และกลายเป็นต้องตกอยู่ในวังวนแห่งนรก เมื่อทั้งเขาและลูกสาวต้อง ‘เลียนแบบ’ มนุษย์ เพื่อล่อเหยื่อและนำมาสังเวยทวยเทพ

The Mimic ถูกพูดถึงอย่างมากในฐานะที่นำเอาตำนานเก่าแก่ของเกาหลีมาใช้เล่าเรื่อง กับบรรยากาศเยียบเย็นชวนขนหัวลุกของชนบทกับป่ากว้าง ตลอดจนภาวะที่ ‘แยกไม่ออก’ ระหว่างความจริงกับความเท็จ ตัวละครยังคงเจ็บปวดจากอดีตและจากความทรงจำของลูกชายตัวเอง นำมาสู่การดิ้นรนต่อสู้กับ ‘ภาพที่ปรากฏ’ ตรงหน้าว่า เป็นเพียงภาพฝันที่พวกเขากล่อมเกลาตัวเอง หรือเป็นภาพหลอกที่ผีในป่ากำลังล่อลวงพวกเขากันแน่

สุดท้าย หนังที่เราจะไม่กล่าวถึงคงไม่ได้คือ The Medium (2021) หรือ ‘ร่างทรง’ หนังร่วมทุนสร้างระหว่างไทย-เกาหลีใต้ กำกับโดย บรรจง ปิสัญธนะกูล และได้นา ฮงจินมาเป็นโปรดิวเซอร์ให้

หนังสำรวจความเชื่อว่าด้วยร่างทรงที่เชื่อมโยงระหว่างคนตายกับคนเป็นในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งแถบอีสาน ผ่านการถ่ายทำแบบสารคดี ป้านิ่ม (แสดงโดย สวนีย์ อุทุมมา) เป็นร่างทรงของ ‘ย่าบาหยัน’ ซึ่งสืบทอดตำแหน่งผ่านสมาชิกผู้หญิงของครอบครัวเท่านั้น เชื่อกันว่า มิ้ง (แสดงโดย นริลญา กุลมงคลเพชร) หลานสาวของบ้านน่าจะถูกย่าบาหยันเลือกให้เป็นร่างทรงคนต่อไป เนื่องจากเธอมีพฤติกรรมแปลกประหลาด เช่น มองเห็นวิญญาณคนตายและมีอาการป่วยไข้หนักหนาสาหัส หากแต่สิ่งที่ทำให้ทุกคนขวัญผวาคือพฤติกรรมทางเพศของมิ้ง ที่รุนแรงและชวนประหลาดมากขึ้นเรื่อยๆ หนักหนากว่านั้น เธอเองจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าหลับนอนกับใครมาบ้าง

พฤติกรรมเช่นนี้ทำให้สมาชิกในบ้านจึงเริ่มตั้งคำถามว่า แท้จริงแล้วสิ่งที่อยู่ในร่างมิ้งอาจไม่ใช่ย่าบาหยัน แต่เป็นวิญญาณอื่นที่เข้ามาสวมรอย ทุกคนจึงพยายามหาทางปัดเป่าอันตรายออกจากตัวมิ้ง หากแต่กลับยิ่งทำให้เรื่องราวซับซ้อน เมื่อสิ่งที่อยู่ในร่างมิ้งเริ่มแข็งกล้าขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกันกับที่ความลับของตระกูลมิ้งค่อยๆ ถูกลอกเปลือกออก เผยให้เห็นอดีตอันชวนสยดสยองและแสนเศร้าที่เป็นเสมือนต้นธารของความแค้นทั้งมวล

สิ่งที่ทำให้ ‘ร่างทรง’ ต่างไปจากหนังเฮอร์เรอร์เรื่องอื่นๆ ในเกาหลีใต้ คือการหยิบเอาความเชื่อของอุษาคเนย์มาสำรวจและเล่าเรื่อง ทั้งความเป็นหญิง ความเป็นแม่ และการที่มนุษย์ไม่อาจเป็นเจ้าของเนื้อตัวของตนได้โดยสมบูรณ์แบบ ร่างกายเป็นเพียงเปลือกของวิญญาณซึ่งเปลี่ยนแปลงเป็นใครก็ย่อมได้ ตลอดจนการจับจ้องไปยังช่วงเวลาของความเป็นหญิงผ่านประจำเดือน (ที่เป็นทั้งจุดที่ทำให้มิ้งอ่อนแอและเป็นไข้ และเป็นทั้งจุดที่ถูกพิจารณาว่าเป็น ‘ของต่ำ’ ด้วย) และเราอาจจะตีความได้ว่า ภาวะการมีประจำเดือนรุนแรงของมิ้ง อาจเป็นเสมือนการต่อสู้-ตอบโต้ต่อการเข้ามาครอบครองร่างกายของวิญญาณไม่มีที่มาที่ไปในเรื่องก็ได้

ทั้งนี้ องก์สุดท้ายของหนังก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีกลิ่นความเป็นเฮอร์เรอร์เกาหลีพอสมควร โดยเฉพาะการบอกเล่าถึงความสยดสยองของเรือนร่างที่ถูกล้างแค้น, ฝูงผีดิบหรือคนที่ไม่มีสติและไม่ได้เป็นเจ้าของเนื้อตัวของตัวเองอีกต่อไป

จะว่าไปแล้ว เกาหลีใต้ก็มีหนังเฮอร์เรอร์อีกมากมายมหาศาล หากแต่ก็มีไม่มากนัก ที่หยิบเอาเรื่องความเชื่อ-ไสยศาสตร์และตำนานปรัมปรามาขยับขยายให้กลายเป็นหนังเขย่าขวัญ ซึ่งหากเล่าเรื่องได้แม่นยำมากพอ มันย่อมสร้างแรงสะเทือนแสนยะเยือกไปยังคนดูที่แม้ไม่มีพื้นหลังด้านความเชื่อดังกล่าว ให้ขนลุกขนชันได้

Tags: , , , , , , ,