วันนี้ ‘คนกราบหมา’ (1997) หนังตลกร้ายขันขื่นของ สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ กลับมาเข้าฉายในโรงภาพยนตร์อีกครั้ง หลังต้องโทษห้ามฉายจากกองเซนเซอร์อยู่ 25 ปีเต็ม ในด้านหนึ่ง แม้จะดูเป็นเรื่องน่ายินดี ที่เขตแดนในการแสดงออกของคนทำหนังในไทยดูจะ ‘ขยับขยาย’ มาไกลกว่าที่เคย แต่การที่หนังเรื่องหนึ่งถูกตัดสินชะตากรรมโดยคนไม่กี่คน จนไม่ได้ออกไปมีชีวิตในโรงภาพยนตร์หรือในความทรงจำของคนดูที่ไหนอยู่นานกว่า 2 ทศวรรษ ก็ยังเป็นเรื่องชวนเจ็บช้ำทั้งสำหรับคนทำหนังและสำหรับคนดูอยู่ไม่น้อย

เหตุที่ ‘คนกราบหมา’ โดนแบนนั้นก็ด้วยข้อหา ‘หมิ่นทุกศาสนา’ ตัวหนังฉายพฤติกรรมชวนเหวอของสาวกลัทธิ เช่น ก้มลงกินอาหารจากชามโดยไม่ใช้ช้อนส้อม, กราบไหว้สุนัข, สนทนากันโดยการเห่า (หรืออย่างน้อยก็ส่งเสียงเหมือนการเห่า) ตลอดจนการมีภาวะติดสัด ซึ่งต้องใช้คนในลัทธิเข้าไปแก้ รวมทั้งมีฉากสนทนาจากผู้ที่เป็นตัวแทนของวงการสงฆ์ ยิ่งทำให้ตัวหนังถูกพิจารณาว่าเล่าประเด็นร้อนแรง โดยเฉพาะมองจากบริบทสังคมไทยเมื่อ 25 ปีก่อน ซึ่งยังอ่อนไหวต่อความเห็นต่างอยู่มาก

เรื่องเศร้าคือ หากพินิจในแง่มุมปัจจุบัน ท่ามกลางข่าวของผู้นำความเชื่อวัยเยาว์, เจ้าแม่คลื่นพลัง, ร่างทรงและจอมเวทย์ต่างๆ ดูเหมือนว่าสังคมไทยในปัจจุบันก็ยังดูไปไม่พ้นจากอาศรมใน ‘คนกราบหมา’ นัก ทว่าตัวหนังก็ไม่ได้มีน้ำเสียงโจมตีด่าทอความเชื่ออันหลากหลายแต่อย่างใด ตรงกันข้าม มันกลับมีน้ำเสียงเข้าอกเข้าใจและปลอบประโลมความเคว้งคว้าง ไร้หลักยึดของผู้คนในโลกทุนนิยมที่ถูกเร่งเร้าทุกทาง และคายพิษออกมาเป็นการหันหน้ามาศรัทธาบางอย่าง ที่เชื่อว่าจะทำให้เราหลุดพ้นจากความเหน็ดเหนื่อยของชีวิตเช่นนี้

ความเคว้งคว้าง โดดเดี่ยวทางจิตวิญญาณเช่นนี้เอง ที่ทำให้มีลัทธิประหลาดมากมายหลายกลุ่มถือกำเนิดขึ้นทั่วโลก และมีภาพยนตร์ที่บอกเล่าความ ‘คัลต์’ เหล่านี้ไว้มากมาย หนึ่งในนั้นคือ Wild Wild Country (2018) สารคดีความยาว 6 ตอนที่สตรีมมิงทางเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) และถือเป็นหนึ่งในสารคดีที่สำรวจพลวัตความเฮี้ยนของเจ้าลัทธิที่แม่นยำและเดือดดาลที่สุดเรื่องหนึ่ง 

สารคดีสำรวจลัทธิรัชนีศปุรัม (Rajneeshpuram) ที่ก่อตั้งขึ้นโดย ภควัน ศรี รัชนีศ (Bhagwan Shree Rajneesh) นักปรัชญาชาวอินเดียที่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเขาเสนอแนวคิดว่า ความเป็นมนุษย์ถูกสังคม กฎหมาย และกรอบปฏิบัติต่างๆ กดไว้ หนทางที่จะได้ปลดปล่อยจิตวิญญาณออกมาคือการทำสมาธิ เต้นรำ รวมทั้งการเฉลิมฉลองหรือแม้แต่ร่วมรัก 

โดยปี 1981 รัชนีศตั้งสำนักที่รัฐโอไรกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา พร้อมลูกศิษย์นับพันคน เนรมิตพื้นที่ว่างเปล่าให้กลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีสาธารณูปโภคเพียบพร้อม ผู้คนในลัทธิใช้เวลาทำกิจกรรม ไม่ว่าจะสวดมนต์, เต้นรำและกิจกรรมจิปาถะ ที่เสียงดังไปทั่ว กลายเป็นความขัดแย้งกับคนในชุมชนอยู่กลายๆ โดยเฉพาะเมื่อชาวโอไรกอนส่วนใหญ่นับถือคาทอลิก ทำให้พวกเขามองการมาเยือนของรัชนีศและลัทธิรัชนีศปุรัมในฐานะ ‘ผู้เป็นอื่น’ แต่ไม่มีอะไรชวนให้กังวลไปได้มากกว่าพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์กับคนในลัทธิ ซึ่งจากสายตาของชาวคาทอลิกแล้ว นับเป็นเรื่องผิดบาปอย่างยิ่ง

ไม่เพียงแต่สารคดีจะสำรวจความสุดโต่งที่เกิดขึ้นในลัทธิเท่านั้น แต่ยังพาไปสำรวจบรรยากาศเดือดดาลภายนอกด้วย เมื่อทางการโอไรกอนเองก็ไม่พอใจกับการมาเยือนของลัทธิดังกล่าวนัก ยิ่งเมื่อเกิดข้อพิพาทเรื่องความเชื่อด้านศาสนาและลากยาวไปจนการใช้อาวุธ (ทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐและฝ่ายคนในลัทธิ ต่างก็มีอาวุธปืนในครอบครองด้วยกันทั้งคู่) และแม้แต่การวางแผนฆาตกรรมที่ชวนขนลุกขนชันอย่างที่สุด 

Wild Wild Country ยังสำรวจบรรยากาศทางการเมืองสหรัฐฯ ในเวลานั้น ยุคหลังสงครามเย็นและบรรยากาศสิ้นหวังของผู้คน ตลอดจนการคุกคามขยายตัวใหญ่โตของทุนนิยมทำให้ผู้คนรู้สึกสิ้นหวังต่อการมีชีวิต และหนทางเดียวที่จะหลุดพ้นต่อวังวนเช่นนี้ได้ ก็อาจไม่ใช่อะไรอื่นนอกไปเสียจากลัทธิหรือแม้แต่ความเชื่อแปลกหน้าใดๆ 

The End of the World Cult (2007) เป็นสารคดีอีกเรื่องที่บันทึกความเฮี้ยนคลั่งของคนกับความเชื่อไว้ ไมเคิลหรือชื่อจริงๆ คือ เวนย์ เบนต์ อ้างตัวว่า เป็นบุตรของพระเจ้า และก่อตั้งสำนัก Lord Our Righteousness Church ที่นิวเม็กซิโก ประเทศสหรัฐฯ โดยเขายืนยันว่า วันที่ 31 ตุลาคม 2007 คือวันสิ้นโลกตามที่พระเจ้าส่งสารมาถึงเขา 

เรื่องความเชื่อโลกจะแตกก็เรื่องหนึ่ง แต่ที่ทำให้ Lord Our Righteousness Church ถูกวิพากษ์วิจารณ์หนาหู คือพฤติกรรมการร่วมหลับนอนกับหญิงสาวในลัทธิของไมเคิล ก่อนหน้านี้ เขาเป็นบาทหลวงในคริสตจักรเซเวนท์เดย์แอดเวนทิสต์ (Seventh-day Adventist นิกายหนึ่งที่เชื่อว่าเยซูจะกลับมาอีกครั้ง) และออกจากคริสตจักรมาตั้งลัทธิของตัวเองในปี 1987 โดยเขาอ้างว่า พระเจ้าบอกว่าเขาคือเมสสิยาห์ (Messiah) หรือผู้ช่วยให้รอดตามศาสนาคริสต์ นอกจากนี้ ไมเคิลยังให้สัมภาษณ์ว่าตัวเขานั้น “คือกายหยาบของพระเจ้า เป็นทั้งพระเจ้าและมนุษย์รวมกัน”

ไมเคิลอ้างว่า พระเจ้าสั่งให้เขาร่วมหลับนอนกับหญิงสาวที่เป็นสมาชิก รวมทั้งเมียของลูกชายตัวเอง โดยมีฉากหนึ่งที่ไมเคิลพูดหน้าตาเฉยว่า หลับนอนกับหญิงสาวเมื่อไรและอย่างไร โดยกล้องจับไปยังลูกชายของเขาที่นั่งก้มหน้าฟังอยู่ไม่ห่าง พร้อมกันนี้ หนังก็ตามไปสัมภาษณ์หญิงสาวในลัทธิซึ่งส่วนใหญ่แล้วยืนยันว่า เธอมีสัมพันธ์กับไมเคิลด้วยความเต็มใจ สิ่งสำคัญคือหนังลากยาวไปจนถึงปลายปี 2007 และปรากฏว่า โลกไม่แตกดังที่ไมเคิลทำนายไว้ หากแต่ลัทธิก็ยังคงอยู่เช่นนั้น แม้ในเวลาต่อมา คนในลัทธิจะค่อยๆ ห่างหายไปและตัวไมเคิลหรือเวนย์ เบนต์ ถูกจับติดคุกข้อหาลวนลามทางเพศในปี 2008 ในที่สุด

ในแง่หนังฟิกชัน The Sacrament (2013) คือหนังอีกเรื่องที่สำรวจความเฮี้ยนและชวนหดหู่ของการเข้าลัทธิเป็นอย่างดี หนังกำกับโดย ไท เวสต์ (Ti West) เจ้าพ่อหนังชวนเหวอที่เรารักจาก Pearl (2022) และ X (2022) หนังดัดแปลงมาจากเหตุการณ์จริงของการสังหารหมู่โจนส์ทาวน์ (Jonestown Massacre) เมื่อปี 1978 ยังผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 900 ราย หนังว่าด้วยทีมข่าวออกเดินทางไปยังลัทธิประหลาดที่ตั้งในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง เนื่องจาก แคโรลีน น้องสาวที่เพิ่งหายขาดจากการติดต่อของ แพทริก สมาชิกในทีมข่าวเข้าไปอยู่ในลัทธินี้ แพทริกไม่สบายใจนักที่รู้ว่าน้องสาวของเขาหันเหไปหมกมุ่นกับความเชื่อบางอย่างเพราะได้ยินมาว่าในลัทธิเต็มไปด้วยยาประหลาด และคนพฤติกรรมเพี้ยนๆ 

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนข้อสันนิษฐานของแพทริกและทีมงานจะไม่ถูกเสียทีเดียว เมื่อในสังคมในลัทธิดูสุขสงบ ผู้คนใช้ชีวิตกันตามปกติ พวกเขาเล่นกีฬา เล่นดนตรี สังสรรค์ และตื่นไปทำไร่ทำนา อย่างเดียวที่ชวนให้ติดใจทีมข่าวคือการปรากฏตัวของ คุณพ่อ หัวหน้าลัทธิผู้ชวนเลื่อมใสและเป็นที่นับถือของทุกคน หากแต่เหตุการณ์ก็กลับตาลปัตร เมื่อหนึ่งในทีมงานได้รับสารขอความช่วยเหลือจากเด็กสาวที่เป็นใบ้ และนำพวกเขาไปพบกับสมาชิกลัทธิที่หวังหลบหนีออกจากหมู่บ้านแห่งนี้

หากแต่ก็จนปัญญา เนื่องจากคุณพ่อมีการตั้งเวรยามตรวจตราคนเข้าออกแน่นหนา ทั้งยังมีอาวุธครบมือ จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่พวกเขาจะหลบหนีออกจากที่นี่โดยไม่ถูกจับได้เสียก่อน ขณะที่อีกฟากหนึ่ง ทีมงานข่าวก็พบกับข้อเท็จจริงอันชวนช็อก ไม่ว่าจะปัญหาการใช้ความรุนแรง, การคุกคามทางเพศ หรือแม้แต่การฆาตกรรม!

จุดเด่นของ The Sacrament คือลูกล่อลูกชนในการเล่าเรื่องของเวสต์ ที่ใช้ฟาวด์ฟุตเทจเล่าตลอดทั้งเรื่อง จึงยิ่งขับเน้นความสมจริงปนหลอนหลอก และการที่ตัวหนังไม่ได้เน้นภาพหรือฉากการสังหารอันทารุณ หากแต่สำรวจความบิดเบี้ยวและความอ่อนไหวในตัวมนุษย์ที่สยบยอมต่อเจ้าลัทธิอย่าง ‘คุณพ่อ’

ยังมีหนังอีกหลายเรื่องที่สำรวจความคลั่งและความเดือดดาลของการเข้าลัทธิ และไม่ว่าอย่างไร ด้านหนึ่งมันย่อมสะท้อนให้เห็นความเครียดเขม็ง และการหาที่ทางในการปลดปล่อยจิตวิญญาณ การหาหลักยึดของมนุษย์ ซึ่งกับบางกรณี มันอาจฉายออกมาเป็นภาพของความเชื่อสุดขีดคลั่ง ภาพของผู้นำวัยเยาว์ หรือภาพของการอ้างอิงถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่มีใครพิสูจน์ได้ว่ามีตัวตนหรือไม่ ก็เป็นได้

Tags: , , , , , ,