มีข้อสังเกตที่น่าสนใจอยู่ 2 ประการ 

ประการแรก ปีนี้ดูเป็นปีที่น่าตื่นตาตื่นใจของหนังจากประเทศออสเตรเลีย ไล่มาตั้งแต่การมาเยือนของมหากาพย์หนัง Furiosa: A Mad Max Saga (2024) ของผู้กำกับสัญชาติออสซี่อย่าง จอร์จ มิลเลอร์ (George Miller) ผู้ขนทัพนักแสดงออสซี่มากหน้าหลายตามาร่วมแดนคนเถื่อนในทะเลทราย ทั้ง คริส แฮมสเวิร์ธ (Chris Hemsworth), อัลลา บราวนีย์ (Alyla Browne) และชาร์ลี ฟราเซอร์ (Charlee Fraser) ทั้งตัวละครยังสนทนากันด้วยสำเนียงออสเตรเลียนจ๋า 

สมกับที่แฮมสเวิร์ธกล่าวไว้ว่า “คนอเมริกันมีแฟรนไชส์ Star Wars คนอังกฤษมี Harry Potter เราชาวออสเตรเลียก็มี Mad Max นี่แหละ”

รวมทั้ง Audrey (2024) หนังชวนหัวเราะร่าน้ำตานองของ นาตาลี ไบลีย์ (Natalie Bailey) คนทำหนังจากสหราชอาณาจักร-ออสเตรเลีย ว่าด้วยคุณแม่ดีเด่นที่ทำทุกทางเพื่อให้ตัวเองยังมีสถานะเป็น ‘คุณแม่ดีเด่น’ แม้สถานการณ์รอบตัวจะวายป่วงถึงเพียงไหน หนังเพิ่งเข้าฉายที่เทศกาลหนังเซาต์บายเซาต์เวสต์ (SXSW Film Festival) และเข้าชิงสาขา Grand Jury Award ด้วย

ประการที่ 2 หนังออสเตรเลียดูจะ ‘ไปได้สวย’ ในฌ็องเฮอร์เรอร์ พิสูจน์จากเรื่องล่าสุดอย่าง Late Night with the Devil (2023) หนังร่วมทุนสร้าง 3 สัญชาติ (ออสเตรเลีบ-สหรัฐอเมริกา-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) ของสองพี่น้องคนทำหนังชาวออสซี่อย่างพี่น้องแคร์เนส (โคลิน แคร์นส์ และคาเมรอน แคร์นส์) ว่าด้วย Night Owls with Jack Delroy รายการโทรทัศน์ที่ออกฉายปี 1977 แจ็ก (แสดงโดย เดวิด แดสต์มัลแชน) ผู้ดำเนินรายการที่ดิ้นรนทำทุกทางเพื่อให้รายการของตัวเองยังมีที่ยืนในช่อง เขาจึงเชิญร่างทรงลึกลับให้มาทำพิธีสนทนากับวิญญาณในห้องส่ง ซึ่งในแรกเริ่ม ทุกคนก็พินิจว่าคำทำนายของร่างทรงเป็นเรื่องเพ้อพก กระทั่งเมื่อเวลาล่วงไปค่อนรายการ คำทำนายที่ดูหว่านแหกลับดูเหมือนจะสื่อความหมายมายังแจ็กโดยตรง มิหนำซ้ำร่างทรงที่ว่ายังอาเจียนออกมาเป็นเลือดคาตาคนดูทางบ้าน

หากแต่แจ็กก็ยังดึงดันจะถ่ายทำรายการต่อไป เขาเชิญ จูน (แสดงโดย ลอรา กอร์ดอน) นักจิตวิทยาที่รับอุปการะ ลิลี (แสดงโดย อิงกริด ทอเรลลี) เด็กหญิงที่เผชิญโศกนาฏกรรมเลวร้ายในอดีตและเชื่อว่ามีสิ่งลึกลับสิงสู่ในเนื้อตัวเธอตลอดเวลา เพื่อจะเรียกเรตติง แจ็กให้จูนสนทนากับสิ่งลึกลับในตัวของลิลี โดยมี คาร์ไมเคิล (แสดงโดย เอียน บลิสส์) นักล่าท้าผีชื่อดังคอยจับตาดูอย่างใกล้ชิด และพวกเขาไม่ได้รู้แม้สักนิดว่า มันกลายเป็นหนทางในการพาทั้งแจ็กและคนดูไปสู่ความรุนแรงอันไม่อาจควบคุม

หนังใช้ไวยากรณ์เล่าเรื่องแบบรายการโทรทัศน์ กล่าวคือถ่ายทำด้วยสัดส่วน 1.33 : 1 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใช้สำหรับฉายทางโทรทัศน์ (โดยเฉพาะในยุคก่อน) และตัดต่อด้วยจังหวะเดียวกันกับรายการทอล์กโชว์ขนหัวลุก คั่นกลางด้วยภาพขาวดำที่ถ่ายด้วยภาษาภาพยนตร์เมื่อกล้องรับหน้าแจ็กที่เครียดเขม็งกับความสยดสยองที่เกิดขึ้นในสตูดิโอ แต่ก็ยังเห็นโอกาสทางการเงินและเรตติงมหาศาลตรงหน้า ความลึกลับและชวนขนหัวลุกที่ปรากฏในรายการ Night Owls with Jack Delroy ไม่เพียงแต่ตราตรึงคนดูในหนัง แต่ยังตรึงสายตาคนดูภาพยนตร์ข้างนอกด้วย ความลี้ลับและการปะทะกันระหว่างความเชื่อกับวิทยาศาสตร์กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญของการเรียกเรตติง ซึ่งว่าไปแล้วก็อาจเทียบเคียงได้กับ ‘ยอดไลก์ยอดแชร์’ รวมทั้ง ‘ยอดคนดู’ ของการสตรีมมิงในยุคสมัยนี้ ที่ถึงที่สุดแล้ว ตัวเลขเป็นฝ่ายมีชัยเหนือความกลัวและศีลธรรมทางวิชาชีพใดๆ

อย่างไรก็ดี ความเชื่อเกี่ยวกับจิตวิญญาณและสิ่งลี้ลับเติบโตขึ้นมากในยุค 70s โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ฉากหนึ่งที่ตัวละครรำพึงว่า เราล้วนอยากเชื่อว่ามีสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่ามนุษย์คอยจับตาดูเราอยู่ ฉากสั้นๆ นี้สะท้อนถึงความหวาดหวั่นและสิ้นหวังของชาวอเมริกันหลังแพ้สงครามเวียดนาม ความพ่ายแพ้ทำให้พวกเขาตระหนักได้ว่า ความเป็นอเมริกันชนหาได้ยิ่งใหญ่ไปกว่าใคร ความเคว้งคว้างทำให้พวกเขาควานหาสิ่งยึดเหนี่ยวแห่งใหม่ และการเข้ามาของทุนนิยม (อันหมายถึงเงิน ตัวเลข และเรตติง) ก็สอดรับกับความเชื่อลี้ลับทั้งพลังงาน จิตวิทยา และไสยศาสตร์ต่างๆ รวมทั้งทฤษฎีสมคบคิดมากมาย ตัวละครทั้งมวลก็ตกเป็นเหยื่อของบาดแผลทางสังคมนี้

หนังยังเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นหนังธริลเลอร์ ฉีกเลือดฉีกเนื้อมากกว่าจะกลายเป็นหนังเฮอร์เรอร์หลอนหลอกให้ชวนสยอง ซึ่งน่าเสียดายเพราะด้านหนึ่งก็อาจเป็นเกิดจากการที่คนทำหนังหาทางลงและคำอธิบายให้หนังในองก์ท้ายไม่ได้ การสาดเลือดและความรุนแรงจึงเป็นทางออกเดียวที่พอจะดูสมเหตุสมผลอยู่บ้าง

กระนั้น ก็น่าสนใจตำแหน่งแห่งที่ของหนังออสเตรเลียที่มีต่อความเป็นเฮอร์เรอร์ สตีเฟน เอ รัสเซลล์ (Stephen A Russell) เคยสำรวจท่าทีนี้ไว้ในบทความ Why the bloody hell are Australians so good at making scary movies? นิค โคซากิส (Nick Kozakis) คนทำหนังชาวออสเตรเลียที่ปีที่ผ่านมาเพิ่งจะปล่อยหนังสยองขวัญอย่าง Godless: The Eastfield Exorcism (2023) ให้ความเห็นไว้ว่า

“คนทำหนังเฮอร์เรอร์ชาวออสเตรเลียไม่ได้เน้นทำหนังโฉ่งฉ่าง เป็นไปได้ว่าพวกเราได้รับอิทธิพลมาจากหนังยุค Ozploitation (หมายถึงหนังเฮอร์เรอร์ทุนต่ำ เป็นที่นิยมในออสเตรเลียยุค 70s-80s) จำพวก Turkey Shoot (1982), Patrick (1978) และ Mad Max (1979)” เขาบอก “เราโตมากับเรื่องพวกนี้ และมันก็อยู่ในวิธีการทำหนังของพวกเรา ซึ่งถึงที่สุดก็ส่งผลสะเทือนไปให้คนดูได้รับรู้ด้วย”

ขณะที่ แซลลี คริสตี (Sally Christie) นักวิจารณ์ภาพยนตร์ชาวออสเตรเลียให้ความเห็นว่า “ประเทศของเราแยกตัวออกมาโดดเดี่ยว ทั้งยังมีประวัติศาสตร์อันชวนเจ็บปวดซึ่งถูกนำมาสำรวจในโลกภาพยนตร์แล้วอย่างแหลมคม แต่สิ่งที่ฉันชอบในหนังเฮอร์เรอร์ของออสเตรเลียมากที่สุดคือการที่หนังของเรามันข้ามฌ็องไปมา ก้าวผ่านคำนิยามเก่าๆ และสำรวจประเด็นใหม่ๆ ไม่ว่าจะเรื่องทางเพศและความเหลื่อมล้ำทางสังคมน่ะ”

ปีที่ผ่านมา Talk to Me (2022) เพิ่งทำเงินถล่มทลายไปที่ 92.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (จากทุนสร้างเพียง 4.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ว่าด้วยเรื่องของ มีอา (แสดงโดย โซฟี ไวล์ด) เด็กสาวที่เผชิญโศกนาฏกรรมรุนแรงจากการสูญเสียแม่ เธอกับเพื่อนบังเอิญไปเจอว่ามี ‘มือผี’ ของร่างทรงที่เป็นสื่อกลางให้คนที่จับมือกับมันได้ข้ามพรมแดนไปยังโลกคนตาย และสนทนากับวิญญาณของผู้ที่จากไป (เงื่อนไขคือพวกเขาต่างเลือกไม่ได้ว่าจะเจอวิญญาณของใคร) มีอากับเพื่อนๆ จึงเล่นสนุกเนื่องจากพวกเธอเจอวิญญาณของคนที่จมน้ำ วิญญาณคนที่ตายไปเนิ่นนาน และไร้เรื่องเล่ากระทั่งเมื่อ ไรลีย์ (แสดงโดย โจ เบิร์ด) เด็กหนุ่มที่เป็นน้องชายเพื่อนสนิทของมีอาไปเจอกับ ‘ใคร’ อีกฝั่งที่มีอาเชื่อว่า เป็นแม่ของเธอ ทว่าเรื่องกลับชวนขนหัวลุก เมื่อดูเหมือนใครที่ว่าจะไม่ออกไปจากร่างของไรลีย์เสียที

มองจากคนที่ใช้ชีวิตอยู่กับความเชื่อเรื่องร่างทรงในย่านเอเชียอุษาคเนย์แล้ว Talk to Me อาจไม่ได้นำเสนอประเด็นใหม่นัก หากแต่ความน่าสนใจคือ หนังข้ามจากการเป็นหนังเฮอร์เรอร์ไปสู่การเป็นหนังธริลเลอร์อย่างแยบยล เมื่อตัวละครเริ่มทำร้ายตัวเองจนตกอยู่ในสภาวะยับเยินในนามของผู้มาสิงสู่ แต่พ้นไปจากนั้น หนังยังนำเสนอประเด็นของความยับเยินทางสภาพจิตใจที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น หากแต่สภาพนี้นี่เองที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการบดขยี้ตัวละครลงช้าๆ

The Babadook (2014) หนังร่วมทุนสร้างสองสัญชาติ (ออสเตรเลีย-แคนาดา) ของ เจนนิเฟอร์ เคนต์ (Jennifer Kent) ก็สำรวจถึงสภาวะจิตใจอันไม่มั่นคงผ่าน ‘ความกลัว’ เช่นกัน หนังเล่าเรื่องของ เอมิเลีย (เอสซี ดาวิส) แม่เลี้ยงเดี่ยวที่เลี้ยง ซามูเอล (แสดงโดย โนอาห์ ไวส์แมน) ลูกชายวัย 6 ขวบของเธอเพียงลำพังหลังสามีประสบอุบัติเหตุตายระหว่างที่เขาเดินทางมาหาเธอที่ห้องคลอดเมื่อหลายปีก่อน

เอมิเลียพยายามดูแลซามูเอลอย่างสุดความสามารถ หนังฉายให้เห็นความโรยราและเหนื่อยล้าของเธอแทบตลอดทั้งเรื่อง วันหนึ่ง ซามูเอล อ่านนิทาน The Babadook และเชื่อว่าจะมีปีศาจมาจับเขาจริงๆ เดิมทีเอมิเลียมองมันเป็นเรื่องเหลวไหลและเป็นจินตนาการของเด็ก กระทั่งเมื่อเธอค่อยๆ พบว่า แท้จริงแล้วเธออาจไม่ได้อยู่บ้านหลังนี้เพียงลำพังกับลูกชายก็เป็นได้

เจนนิเฟอร์ เคนต์ ไม่ได้โหมประโคมฉาก Jump-scared อย่างที่ภาษาหนังเฮอร์เรอร์เป็นกัน หากแต่เธอชวนคนดูตั้งคำถามไปกับสองแม่ลูกว่า เจ้าปีศาจบาบาดุคนั้นมีจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงจินตนาการของคนที่เหนื่อยล้าและกดดันจากการใช้ชีวิตในฐานะกันแน่ หนังฉายให้เห็นความวิปลาสของเอมิเลียที่ค่อยๆ ทวีคูณขึ้นเมื่อเธอเริ่มนอนไม่หลับ กับการฟาดฟันระหว่างเธอกับลูกชายซึ่งดูก้าวร้าวและต่อต้านเธอขึ้นมา

The Babadook ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นหนังที่ฉายให้เห็นความโดดเดี่ยวและแตกสลายของตัวละคร ซึ่งเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวได้เป็นอย่างดี มากไปกว่านั้น ตัวบาบาดุคยังถูกแทนค่าและถูกตีความว่า เป็นความเครียดเขม็ง เป็นปีศาจที่เอมิเลียสร้างขึ้นมาเองจากบาดแผลต่างๆ ในอดีต ทับซ้อนด้วย

เช่นเดียวกับ The Invisible Man (2020) ของผู้กำกับเลือดออสซี่ ลีห์ แวนเนลล์ (Leigh Whannell) ดัดแปลงมาจากนิยายชื่อเดียวกันของ เอช จี เวลลส์ ( H. G. Wells) ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 1897 เล่าเรื่องของ เซซิเลีย (แสดงโดย อลิซาเบธ มอสส์) หญิงสาวที่เลิกรากับ เอเดรียน (แสดงโดย โอลิเวอร์ แจ็กสัน-โคเฮน) คนรักผู้เป็นนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง ทว่าจู่ๆ เธอก็ได้ข่าวว่า เอเดรียนปลิดชีพตัวเอง และในความฉงนสงสัยนั้น เธอก็รู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกจับตามองโดยคนที่เธอไม่อาจ ‘มองเห็นได้’

หนังฉายให้เห็นตั้งแต่ต้นเรื่องว่า ระหว่างที่คบหากับเอเดรียน เซซิเลียใช้ชีวิตด้วยความหวาดระแวงตลอดเวลา เนื่องมาจากนิสัยเจ้าบงการของเขา การหลบหนีออกมาจากคฤหาสน์หลังงามนั้นทำให้เธออยู่ห่างจากเขาก็จริง หากแต่ก็ไม่ได้ทำให้เธอโล่งใจได้กี่มากน้อยเพราะเธอเชื่อว่าเอเดรียนจะตามรังควานเธอ

หากแต่ข่าวก็สะพัดไปว่าเอเดรียนปลิดชีพตัวเองลงอย่างเป็นปริศนา ทิ้งมรดกจำนวนมหาศาลให้เป็นของเธอ แต่แทนที่เซซิเลียจะยินดี เธอกลับพบว่า นี่เป็นเพียงโหมโรงแรกของความพินาศอื่นๆ ในชีวิตเท่านั้น ทั้งเธอยังยืนยันกับคนรอบตัวว่า 

เธอถูก ‘มนุษย์ล่องหน’ จับตามองอยู่ 

และมนุษย์ที่ว่านั้นคืออดีตสามีที่ตายจากไปแล้ว แน่นอนว่าเธอถูกพินิจว่าเพ้อเจ้อ สุดท้ายเซซิเลียถูกปล่อยให้โดดเดี่ยว เธอต้องดิ้นรนกระเสือกกระสนอยู่กับความหวาดระแวงและพยายามหาหลักฐานมายืนยันว่า มีมนุษย์ล่องหนไล่ล่าเธออยู่จริงๆ

สิ่งที่ทำให้ The Invisible Man ได้รับคำวิจารณ์แง่บวกคือภาษาภาพยนตร์ที่ฉายให้เห็น ‘สายตา’ ที่ตัวละครถูกจับจ้องตลอดทั้งเรื่อง มากไปกว่านั้น หนังยังชำแหละให้เห็นสังคมที่พร้อมจะหันหลังให้เหยื่อ ไม่มีใครเชื่อว่าเธอถูก ‘ไล่ล่า’ โดยชายที่อ้างว่าตายไปแล้ว ไม่มีใครอยากเชื่อเธอที่กลายเป็นมหาเศรษฐีชั่วข้ามคืนอันเป็นผลประโยชน์มาจากการตายของสามี เซซิเลียจึงถูกปล่อยให้โดดเดี่ยวอยู่ในห้วงความคิดตัวเอง มีเพียงตัวเธอเท่านั้นที่เผชิญหน้ากับการถูกคุกคามของผู้ชายโดยแทบไม่อาจตอบโต้อะไรกลับไปได้

อย่างไรก็ดี ปี 2024 นี้ดูจะยังมีหนังออสเตรเลีย (ทั้งที่เป็นหนังเฮอร์เรอร์และไม่ใช่หนังเฮอร์เรอร์) น่าจับตาอีกหลายเรื่อง และน่าสนใจว่า คนทำหนังชาวออสซี่จะพาคนดูไปสำรวจแง่มุมดำมืดของชีวิตและจิตใจของมนุษย์ผ่านหนังฌ็องไหนและแบบใดได้บ้างอีก

Tags: , , , , ,