กลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เพิ่งครบรอบ 30 ปีที่หนัง Pulp Fiction (1994) ออกฉาย โดยมันเป็นหนังเรื่องแรกที่ส่งให้ เควนติน ทารันติโน (Quentin Tarantino) มีชื่อเสียงเป็นวงกว้างหลังหนังชิงออสการ์ 7 สาขา รวมทั้งสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และคว้ารางวัลเขียนบทยอดเยี่ยมมาครอง แจ้งเกิดทารันติโนวัย 30 ปีให้กลายเป็นคนเขียนบท-คนทำหนังหน้าใหม่ของฮอลลีวูด
อย่างไรก็ดี ปี 1994 เป็นหนึ่งในปีที่หลายคนนิยามว่าเป็น ‘ปีทอง’ ของภาพยนตร์ฮอลลีวูดและอาจจะภาพยนตร์โลก วัดในแง่ความเดือดดาลของเวทีรางวัลใหญ่ๆ ทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป หลายคนวิเคราะห์ว่าความคึกคักของอุตสาหกรรมภาพยนตร์มาจากผู้เล่นหน้าใหม่ๆ เยอะขึ้น ตลอดจนความสุกงอมของเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ อันเป็นเทศกาลภาพยนตร์นอกกระแสที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา และเป็นเวทีสำคัญในการแจ้งเกิดผู้กำกับหน้าใหม่ๆ ในการขยับขยายไปสู่ความสนใจของคนดูหนังกระแสหลัก
แอนโธนี เบรนซ์นิกัน (Anthony Breznican) นักเขียนอาวุโสจากนิตยสาร Entertainment Weekly ให้ความเห็นว่า 1994 เป็นปีที่หนังทั้งฟอร์มเล็กและฟอร์มใหญ่พากันผลักเขตแดนของการเล่าเรื่องมากมาย รวมทั้งการถือกำเนิดขึ้นของเหล่าเทศกาลหนังและนายทุนที่พร้อมให้เงินสนับสนุนคนทำหนังหน้าใหม่ๆ โดยจำเป็นต้องพึ่งพิงหรือมีวิธีคิดแบบสตูดิโอหนัง
“คนแบบเควนติน ทารันติโนที่หนังเรื่องก่อนของเขาอย่าง Reservoir Dogs (1992) ทำเงินแบบจวนตัว ถึงได้ยังมีทุนกลับมาทำ Pulp Fiction (1992) ไงล่ะ
“ปีนั้นเรามีคนทำหนังอย่าง เควิน สมิธ (Kevin Smith) ที่เป็นพนักงานร้านสะดวกซื้อในนิวเจอร์ซี เอาเงินสะสมจากการประมูลหนังสือคอมิกของตัวเองมาทำหนังขาวดำ (หมายถึงเรื่อง Clerks, 1994) ที่ตอนปล่อยออกมาแรกๆ ก็ใช่ว่าหนังจะทำเงินได้เท่าไหร่หรอก แค่มันประสบความสำเร็จมหาศาลตอนวางจำหน่ายในรูปแบบวิดีโอ เรียกว่าโดนใจพวกคนดูสามัญทั้งหลายทั้งปวง ทั้งชายทั้งหญิง และมันทำให้คนทั้งอเมริกาที่ได้ดูเรื่องนี้เกิดความคิดว่า ‘กูก็ไม่มีเส้นสายอะไรที่ฮอลลีวูดหรอก แต่กูมีกล้องวิดีโอที่จะทำให้กูได้เข้าไปอยู่ในฮอลลีวูดได้โว้ย’ อะไรแบบนั้นน่ะ”
Pulp Fiction ถือเป็นหนึ่งในหนังที่เป็น ‘ภาพแทน’ ของหนังฮอลลีวูดในปี 1994 และถือเป็นปรากฏการณ์สำคัญของโลกภาพยนตร์ โดยเฉพาะการเขียนบทอันเหนือชั้นและคมคาย หนังแบ่งออกเป็น 7 บท ว่าด้วยเส้นเรื่องสามเส้นกับตัวละครที่ข้องเกี่ยวกันอย่างหลวมๆ ของ พัมกิน (แสดงโดย ทิม รอต) กับฮันนี (แสดงโดย อแมนดา พลัมเมอร์) คู่รักนักปล้นที่วางแผนจะปล้นร้านอาหาร อีกด้านหนึ่ง วินเซนต์ เวกา (แสดงโดย จอห์น ทราโวลตา) กับจูลส์ วิลล์ฟิลด์ (แสดงโดย ซามูเอล แอล. แจ็กสัน) มือปืนที่ถูก วอลเลซ (แสดงโดย วิง ราเมซ) เจ้าพ่อว่าจ้างให้ทำภารกิจลับพร้อมให้พา มีอา (แสดงโดย อูมา เธอร์แมน) เมียรักของเขาไปเที่ยวพักผ่อน พร้อมกันนี้ บุตช์ (แสดงโดย บรูซ วิลลิส) ที่รับว่าจ้างจากวอลเลซก็ดันไปก่อเรื่องให้ผิดใจเจ้าพ่อเข้า เลยเตรียมตัวหนีหัวซุกหัวซุนเพื่อจะพบว่า ชะตาชีวิตพาเขาไปเจอวอลเลซในสถานที่สุดเหวอ เส้นเรื่องของตัวละครต่างมาบรรจบกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ความเยี่ยมยอดของหนังคือการที่มันแบ่งวิธีเล่าเรื่องออกเป็น 7 บท โดยเริ่มต้นที่ร้านอาหารก่อนจะวนกลับมาที่ร้านอาหารอีกครั้ง วิธีเล่าเรื่องเช่นนี้ทำให้คนดูในยุคนั้น ‘ตื่นตูม’ กันมากๆ ว่าอะไรเกิดขึ้นก่อนและหลัง กระทั่งว่า อะไรที่เกิดขึ้นคู่ขนานกันไปบ้าง ทั้งมันยังไม่ประนีประนอมความรุนแรง, สไตล์จัดจ้าน, ไดอะล็อกเฉียบคมที่ตัวละครเถียงกันตั้งแต่เรื่องพระเจ้าไปยันเบอร์เกอร์ (และทำให้คนดูรู้ว่า ถ้าบทมันคมจริง แค่มันเถียงกันเรื่องเบอร์เกอร์ก็สนุกได้น่า!) ยังไม่นับท่าเต้นของทราโวลตากับเธอร์แมนบนเวที กับกางเกงเต่อๆ ของเธอที่ทีมคอสตูมไม่ได้ตั้งใจ แต่เป็นเพราะเธอร์แมนสูงถึง 180 เซนติเมตร และพวกเขาไม่มีกางเกงยาวไปกว่านี้
หนังทำเงินไปได้ที่ 213 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากทุนสร้างเพียง 8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เรียกว่ากู้ศรัทธาที่สตูดิโอมีต่อทารันติโน ในทางกลับกันหนังอีกเรื่องที่เข้าฉายปีเดียวกันและไม่ประสบความสำเร็จขณะลงโรงหนังคือ The Shawshank Redemption (1994) โดยมันทำเงินได้เพียง 73 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากทุนสร้าง 25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ถือเป็นหนังที่เข้าและออกโรงไปเงียบๆ จนถือว่าเป็นหนังหน้าตาสุ่มเสี่ยงที่สตูดิโอจะไม่อยากลงเงินด้วยอีก กระนั้นชีวิตใหม่ของมันก็ถือกำเนิดไม่นานหลังจากนั้น กล่าวคือเมื่อหนังปล่อยให้เช่าในรูปแบบวิดีโอ และปรากฏว่ายอดคนเช่าพุ่งไปที่ 3.2 แสนครั้งในปี 1995 และกลายเป็นหนังที่มียอดผู้เช่าสูงที่สุดของปี ยังผลให้หนังถูกกลับมาพูดถึงและถูกวิจารณ์อย่างจริงจัง จนถึงตอนนี้มันยังติดอันดับหนึ่งในรายชื่อหนังที่ดีที่สุดของหลายๆ สำนักอยู่
หนังดัดแปลงมาจาก Rita Hayworth and Shawshank Redemption นวนิยายขนาดสั้นในปี 1982 ของ สตีเฟน คิง (Stephen King) โดยหนังเล่าถึง แอนดี (แสดงโดย ทิม ร็อบบินส์) นายธนาคารที่ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตด้วยข้อหาฆาตกรรมภรรยากับชู้รักในเรือนจำ เขาเจอกับเรด (แสดงโดย มอร์แกน ฟรีแมน) นักโทษผิวดำที่ติดคุกมากว่าสองทศวรรษผู้หยิบยื่นไมตรีให้เขา หนังฉายให้เห็นความรุนแรงและแห้งแล้งในเรือนจำที่ผลักให้คนข้างในเกลียดชังทั้งตัวเองและคนรอบข้าง โดยแอนดีเป็นไม่กี่คนที่ยังพยายามให้ทุกคนเข้าถึงความรื่นรมย์กับเป็นมนุษย์เล็กๆ น้อยๆ เท่าที่เขาจะพอทำให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการลักลอบเปิดเพลง รวมทั้งการดื่มเบียร์เย็นๆ หลังทำงานเสร็จ
จะว่าไปสิ่งที่ทำให้หนัง The Shawshank Redemption ถูกพูดถึงอย่างมากก็อาจเป็นเรื่องที่ว่า มันเชิดชูความเป็นมนุษย์อย่างที่สุด ฉากที่หลายคนน่าจะจำได้ดี และเป็นฉากที่ทำให้เพื่อนร่วมห้องขังมองแอนดีใหม่คือ เมื่อเขากับทำความสะอาดดาดฟ้าจนเหงื่อโทรมตัว แลกกับการที่ทุกคนได้จิบเบียร์เย็นๆ หลังงานจบ หรืออีกด้านคือการที่มันพูดถึงความเลวร้ายของการถูกจองจำ เมื่อปู่บรูคส์ นักโทษชั้นดีที่จำคุกมานานที่สุดได้รับการปล่อยตัวในบั้นปลายชีวิต และเขาพบว่า โลกข้างนอกไม่ใช่โลกที่เขารู้จักหรือจะใช้ชีวิตได้อีกต่อไปแล้ว และเหนือสิ่งอื่นใดคือ การที่หนังพูดถึงการมีชีวิตกับความหวังได้งดงามมากที่สุดเรื่องหนึ่ง
ทั้ง Pulp Fiction และ The Shawshank Redemption ต่างเข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมด้วยกันทั้งคู่ หากแต่ก็พ่ายให้ Forrest Gump (1994) หนังที่เข้าชิงออสการ์ 13 สาขาและคว้ากลับบ้านมาได้หกสาขา รวมทั้งสาขานำชายโดย ทอม แฮงส์ (Tom Hanks) ผู้รับบทเป็น ฟอร์เรส กัมป์ ชายที่มีสติปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ หนังเปิดมาด้วยฉากขนนกถูกลมพัดปลิวอยู่กลางอากาศ โรยเกลื่อนลงที่ปลายเท้าของกัมป์ ผู้สวมเสื้อเชิ้ตลายหมากรุกสีฟ้ากับสูท ซึ่งนั่งบนม้านั่ง เขาเล่าเรื่องของตัวเองให้คนแปลกหน้าที่นั่งรอรถประจำทางด้วยกันอยู่ข้างๆ คนแล้วคนเล่า ก่อนหนังจะตัดสลับช่วงเวลาที่เขายังเด็ก ซึ่งถูกพิจารณาว่า มีพัฒนาการช้าและร่างกายไม่สมประกอบ กัมป์ต้องสวมเครื่องช่วยเดินแต่เด็ก และด้วยลักษณะทั้งปวงที่กล่าวมานี้ เขาจึงถูกเด็กๆ ร่วมชั้นเรียน (ซึ่งแม่เขาหาทางให้เขาเข้าเรียนด้วยการแลกกับการมีเพศสัมพันธ์กับผู้อำนวยการ) กลั่นแกล้งรังแกอยู่เนืองๆ จะมีก็เพียง เจนนี (แสดงโดย โรบิน ไรต์) เพื่อนสาวที่มีปัญหาครอบครัวคอยปกป้องดูแล
และจากเหตุวิ่งหนีเอาตัวรอดจากเพื่อนร่วมชั้นเรียนนี่เองที่ทำให้ผู้คนพบว่า กัมป์นั้นวิ่งเร็วมาก ส่งผลให้เขาได้รับทุนนักกีฬาให้ศึกษาในมหาวิทยาลัยอลาบามา (แม้กัมป์จะไม่เข้าใจเกมเลยก็ตาม) ก่อนจะเข้าประจำการในกองทัพและถูกส่งไปรบที่เวียดนาม และกลับมาในฐานะวีรบุรุษที่ทำให้เขามีชื่อเสียงระดับประเทศ พร้อมกันกับที่ชีวิตของเจนนี เพื่อนวัยเด็กเพียงคนเดียวของเขาตกต่ำลงเรื่อยๆ นาฏกรรมความรักที่เกิดขึ้นระหว่างทั้งสอง ทำให้กัมป์ออกวิ่งข้ามรัฐที่ทำให้เขามีชื่อเสียงและผู้ติดตามมหาศาล และในอีกหลายปีต่อมา หลังความสำเร็จมากมายในชีวิตที่เขาเองไม่เข้าใจนัก กัมป์ได้รับจดหมายจากเจนนีและออกเดินทางตามหาเธออีกครั้ง เริ่มจากป้ายรถเมล์อันเป็นที่ซึ่งเขาเล่าเรื่องชีวิตตัวเองให้คนแปลกหน้ามากมายฟัง
หนังกำกับโดย โรเบิร์ต ซีเม็กคิส (Robert Zemeckis) ดัดแปลงมาจากนิยายชื่อเดียวกันในปี 1986 ของ วินสตัน กรูม (Winston Groom) ความโดดเด่นของ Forrest Gump อยู่ที่การที่มันเป็นหนังที่ให้ภาพการเมืองสหรัฐฯ ยุค 70s อย่างเข้มข้น ทั้งบรรยากาศสงครามเย็น, การพยายามจะสานสัมพันธ์กับจีนที่ถือธงขั้วการเมืองอีกขั้วหนึ่ง, เหล่าหนุ่มสาวยุคบุปผาชน และการที่หนังผนวกเอาเส้นเรื่องชีวิตของกัมป์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมกระแสหลัก ไม่ว่าจะเป็นนักดนตรีหนุ่มที่ชื่อ เอลวิส เพรสลีย์ (Elvis Presley) เห็นท่าเต้นจากไม้ดามขาของกัมป์ในวัยเด็กแล้วเอาไปพัฒนาเป็นท่าเต้นของตัวเอง, ได้ไปเจอ จอห์น เอฟ. เคเนดี (John F. Kennedy) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ, ได้เจอนักร้องหนุ่มจากเกาะอังกฤษที่ชื่อ จอห์น เลนนอน (John Lennon) และเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้เลนนอนกลับไปเขียนเพลง Imagine (บวกกับการใช้เทคโนโลยีตัดแปะแฮงค์สกับฟุตเตจเก่าของรายการที่เลนนอนไปออก ก็ถือว่าเป็นที่ฮือฮาสำหรับคนในยุค 90s มากพอสมควร) ตลอดจนลงทุนกับบริษัทเล็กจิ๋วที่ชื่อ Apple Inc. และกลายเป็นมหาเศรษฐีในเวลาต่อมา
อย่างไรก็ดี ในอีกหลายปีให้หลัง Forrest Gump ถูกนำกลับมาอ่านใหม่ในแง่ที่ว่า หนังกำลังส่งสารให้คนทำตัวเหมือนกัมป์ หรือก็คือก้มหน้าก้มตาเดินไปตามสิ่งที่ชะตากรรมนำพาเช่นเดียวกับขนนก เป็นในสิ่งที่รัฐอยากให้เป็น ทำในสิ่งที่รัฐอยากให้ทำ อย่างกัมป์ที่แท้จริงแล้วชีวิตแนบสนิทเป็นหนึ่งเดียวกับรัฐอเมริกามาโดยตลอด ทั้งการเป็นนักกีฬาอเมริกันฟุตบอลและได้พบเคนเนดี ตลอดจนการเป็นทหารที่เข้าประจำการในสงครามเวียดนาม เขามีชีวิตที่ดีและง่ายดายก็จากการทำตามที่รัฐบอก ขณะที่เจนนีซึ่งขัดขืน ต่อต้านรัฐกลับมีชีวิตที่ยากไร้และทุกข์ระทม
ด้านหนึ่งนักวิจารณ์รุ่นหลังๆ จึงพินิจว่า Forrest Gump กำลังบอกให้คนเชื่องและว่าง่าย อย่าดื้อดึง อย่าขบถ (แต่พร้อมกันนี้ ก็ไม่ได้แปลว่าหนังไม่มีคุณค่าในเชิงศิลปะของการเล่าเรื่อง หรือคุณค่าในแง่นี้ถูกลดทอนแต่อย่างใด) ทั้งนี้เซมเม็กคิส, แฮงค์สและไรต์จะกลับมาร่วมงานกันอีกครั้งใน Here (2024) ซึ่งจะเข้าฉายเร็วๆ นี้
ฝั่งยุโรปเอง คริสซ์ตอฟ เคียสลอฟสกี คนทำหนังชาวโปแลนด์ก็ปล่อยหนังปิดจบไตรภาค Three Colours อย่าง Three Colours: White (1994) กับ Three Colours: Red (1994) ตามหลังเรื่องแรกคือ Three Colours: Blue (1993) และ Red ซึ่งเป็นหนังปิดส่งเคียสลอฟสกีชิงออสการ์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมและเขียนบทยอดเยี่ยม โดยเคียสลอฟสกีหยิบเอาสีธงชาติฝรั่งเศสทั้ง 3 สีกับคำขวัญประจำชาติฝรั่งเศสคือ ‘เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ’ (Liberté, Égalité, Fraternité) มาขยายเป็นธีมของหนัง และ Red เล่าเรื่องของ วาเลนทีน (แสดงโดย ไอรีน จาคอบ) นักศึกษาและนางแบบสาวที่ดันไปขับรถชนหมาของ โจเซฟ (ฌ็อง-หลุยส์ ทรินติญ็อง) ผู้พิพากษาจอมฉุนเฉียวที่มีงานอดิเรกเป็นการแอบฟังเพื่อนข้างบ้านคุยโทรศัพท์ ในอีกทางหนึ่ง ออกุส (แสดงโดย ฌ็อง ปิแอร์-ลอริต) นักศึกษาที่กำลังจะไปสอบเป็นผู้พิพากษาก็ดันจับพลัดจับผลูมาข้องเกี่ยวกับวาเลนทีน
จะว่าไป Red ดูเป็นหนังที่ประนีประนอมและอ่อนโยนมากที่สุดใน 3 เรื่อง ชีวิตของตัวละครทาบทับกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เรื่องราวในชีวิต, ผู้คนที่ผ่านพบ, หนังสือที่อ่าน, เพลงที่ฟัง, ถนนที่เดิน ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ยึดโยงเราเป็นหนึ่งเดียวกันกับเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ อันเป็นวิธีที่เคียสลอฟสกีตีความความหมายของคำว่าภราดรภาพ และแก่นแกนหลักของผลกระทบที่ตามมาจากการกระทำของพวกเขา การที่เธอขับรถชนหมาทำให้เธอได้มาเจอผู้พิพากษาขี้หงุดหงิด, การดักฟังเพื่อนบ้านของเขา ซึ่งแน่นอนว่าผิดกฎหมาย ยังผลให้เกิดแรงกระเพื่อมอะไรตามมาบ้าง ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่มันจะเป็นหนึ่งในหนังที่ทารันติโนเอ่ยปากชมเชยความแยบคายของการเขียนบทตั้งแต่หนังออกฉายใหม่ๆ
ทั้งในขวบปีเดียวกันนี้ ยังมีหนังร่วมทุนสร้างสองสัญชาติ (ฝรั่งเศส-สหรัฐอเมริกา) เข้าฉายและยังเป็นหนังแจ้งเกิดของ นาตาลี พอร์ตแมน (Natalie Portman) Léon: The Professional (1994) คือหนังของ ลุก เบซง (Luc Besson) ว่าด้วยพล็อตสุดเก๋าของ ลีออง (แสดงโดย ฌ็อง เรโน) มือสังหารเชื้อสายอิตาลี-อเมริกันที่มีงานอดิเรกประคบประหงมดูแลต้นไม้ ใช้ชีวิตสุขสงบจนกระทั่ง มาธิลดา (พอร์ตแมน) เด็กหญิงวัย 12 ปีที่อาศัยในห้องพักข้างๆ มาขอความช่วยเหลือหลังจากครอบครัวของเธอถูกสังหารโหดทั้งบ้าน และหวังอยากให้เขาฝึกเธอให้เป็นมือสังหารเพื่อที่เธอจะได้กลับไปล้างแค้น นอร์แมน (แสดงโดย แกรี โอลด์แมน) ชายที่ฆ่าบ้านเธอยกครัว
หนังทั้งเรื่องเป็นเหมือนไอเดียที่เบซงเอาหนังเรื่องก่อนของเขาอย่าง La Femme Nikita (1990) มาขยับขยายเสียใหม่ ให้เป็นเรื่องของนักฆ่ากับเด็กหญิง ด้านหนึ่งมันจึงเป็นเหมือนหนังข้ามพ้นวัยกลายๆ ของตัวละครมาธิลดา บวกกับสไตล์การกำกับและวางภาพแบบยุโรปของเบซง ทำให้มันสร้างความฮือฮาไม่น้อยเมื่อเข้าฉายที่อเมริกาซึ่งภาษาภาพยนตร์โครมครามกว่ามาก ยังไม่ต้องพูดถึงเส้นเรื่องที่ว่าด้วยมือสังหาร แต่หนังกลับพูดถึงความเป็นมนุษย์, การเติบโตและการมีความรักได้อย่างมีหัวใจ
ฟากเอเชีย หนังที่ถูกพูดถึงบ่อยที่สุดเรื่องหนึ่งของปี 1994 น่าจะหนีไม่พ้น Chungking Express (1994) หนังสัญชาติฮ่องกงโดย หว่อง กาไว (Wong Kar-wai) หนังแบ่งเรื่องออกเป็นสองส่วนใหญ่ๆ ส่วนแรกคือนายตำรวจ 223 (แสดงโดย ทาเคชิ คาเนชิโระ) ชายคนเศร้าที่ถูกคนรักบอกเลิกในวันที่ 1 เมษายน เขาหวังว่าเธอจะแค่เล่นมุกตลกโกหกในวัน ‘เมษาหน้าโง่’ จึงเพียรซื้อสับปะรดกระป๋องที่จะหมดอายุในเดือนถัดมาหรือวันที่ 1 พฤษภาคม เพราะคนรักของเขาชอบสับปะรดกระป๋องและวันที่ 1 พฤษภาคมก็เป็นวันเกิดของเธอพอดี และในโมงยามแห่งความเศร้าสร้อย เขาเจอผู้หญิงสวมวิกผมสีบลอนด์วิ่งหนีใครบางคนไปตามถนน และลงเอยที่เธอนอนหลับด้วยความเหนื่อยอ่อนในโรงแรม ทิ้งให้นายตำรวจนั่งดูหนังเก่าๆ กับเธอในห้อง
อีกเส้นเรื่องหนึ่ง หนังเล่าเรื่องของนายตำรวจ 663 (แสดงโดย เหลียง เฉาเหว่ย) ที่เพิ่งเลิกรากับแฟนสาว ขณะที่เด็กสาวแถวที่พัก (แสดงโดย เฟย์ หว่อง) แอบลอบมองเขาอยู่ห่างๆ และคอยแอบลักลอบเข้าไปในห้องของเขาเงียบๆ เพื่อทำความสะอาดให้ นายตำรวจ 663 พยายามชวนเธอออกเดต หากแต่เธอไม่ปรากฏตัว มีเพียงญาติของเธอมาบอกเขาว่าหญิงสาวออกเดินทางไปที่แคลิฟอร์เนียร์ ทิ้งแค่กระดาษบอร์ดดิงพาสส์กับวันที่ในอีกหนึ่งปีข้างหน้าเท่านั้น
ความโดดเด่นของ Chungking Express ไม่ได้อยู่แค่ที่ความโรแมนติกแบบเหงาๆ ตามสไตล์ของหว่อง ผู้คนตัวเล็กตัวน้อยในเมืองใหญ่ แววตาเศร้าสร้อยโดดเดี่ยวและความสัมพันธ์อันบอบบาง แต่มันยังถูกชื่นชมในแง่ภาษาภาพยนตร์ ทั้งงานภาพโดย คริสโตเฟอร์ ดอยล์ (Christopher Doyle) ที่การจับภาพตัวละครด้วยความเร็วจนภาพเบลอ, การใช้แสงนีออนและแสงไฟประดาจากตัวเมือง เพื่อขับเน้นความเป็นเมืองใหญ่และความโดดเดี่ยวอันเป็นภาวะที่ตัวละครเผชิญ รวมทั้งการถ่ายภาพแบบแฮนด์เฮลที่ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหว ไม่นิ่งอยู่ตลอดเวลาอันเป็นธรรมชาติของตัวเมือง และไดอะล็อกอันคมคายจากหว่องเอง
ทารันติโน (อีกแล้วจ้า) รักหนังมากจนพยายามให้หนังมาเข้าฉายที่อเมริกา โดยเขาบอกว่าฉากโปรดของเขาคือฉากที่เฟย์ หว่อง เต้นอยู่ในอะพาร์ตเมนต์ “โทษทีนะ แต่ผมคิดว่าคงเป็นไปไม่ได้แล้วที่ผมจะฟัง California Dreamin’ โดยไม่เห็นภาพเฟย์ หว่องเต้นน่ะ โคตรสุดยอด ผมบอกเลย ไม่มีใครดูหนังเรื่องนี้แล้วไม่รักเธอหรอกน่ะ!”
Tags: People Also Watch, Chungking Express, 1994, Leon, Three Colours, The Shawshank Redemption, Forrest Gump, Pulp Fiction