ไข้ ไอ เจ็บคอ หรือว่า “กูติดโควิด-19 ยังวะ?”
แต่ไข้ หรือรู้สึกตัวร้อน เป็นอาการไม่จำเพาะกับโรคใดโรคหนึ่ง อาจเกิดจากสาเหตุอะไรก็ได้ เช่น อากาศร้อนก็อาจทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นได้ ส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อ แต่ก็ไม่เจาะจงว่าจะต้องติดเชื้อในทางเดินหายใจเท่านั้น เช่น ไส้ติ่งอักเสบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบก็มีอาการไข้ได้
ส่วนไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล เป็นอาการของทางเดินหายใจส่วนบน อาจเกิดจากภูมิแพ้ หรือการติดเชื้อก็ได้ ซึ่งการติดเชื้อก็มีทั้งแบคทีเรีย และไวรัส โดยแบคทีเรียมักทำให้มีอาการเจ็บคอ ส่วนไวรัสมักจะทำให้มีอาการไอ และน้ำมูกไหล โดยส่วนใหญ่แล้วที่เราเป็นหวัดกันจะเกิดจากเชื้อไวรัสกันมากกว่า
ไวรัสที่เป็นสาเหตุก็มีหลายชนิด เช่น ไวรัสไรโน (rhinovirus, rhino-แปลว่าจมูก) ไวรัสอะดิโน (adenovirus) ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (influenza virus) ไวรัสโคโรนา (coronavirus) ซึ่งถึงแม้ชุดตรวจที่ตรวจหาเชื้อก่อโรคในทางเดินหายใจที่พบบ่อย (RP33) ก็จะตรวจหาไวรัสได้ถึง 21 ชนิด แต่ก็ยังมีมากกว่านี้อีก
ดังนั้นการที่เราเป็นไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหลก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะป่วยเป็นโควิด-19
กลุ่มเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโควิด-19
ผู้ป่วยรายที่ 1 🡪 ผู้ป่วยรายที่ 2 จะติดต่อกันก็ต่อเมื่อผู้สัมผัสสูดหายใจเอาละอองน้ำมูกน้ำลายหรือเสมหะของผู้ป่วยรายที่ 1 เข้าไป หรือเอามือไปสัมผัสละอองฯ ของผู้ป่วยรายที่ 1 ที่ตกอยู่ตามสิ่งของแล้วนำมาป้ายตา จมูก ปากในช่วง 14 วันที่ผ่านมา ดังนั้นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโควิด-19 จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่มที่มีโอกาสได้รับเชื้อในชุมชน ได้แก่ (1) ผู้ที่เดินทางมาจากหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่เกิดโรค รวมถึงผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศทุกเที่ยวบิน ทุกช่องทาง (2) ผู้ที่ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยว เช่น พนักงานขับรถ, สถานที่แออัด เช่น พนักงานสถานบันเทิง, หรือติดต่อกับคนจำนวนมาก (3) ผู้ที่เข้าไปในสถานที่ชุมชนหรือสถานที่ที่มีการรวมกลุ่มคน เช่น ตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า รถโดยสารสาธารณะ หรือ (4) ผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน ทั้งนี้เป็นเกณฑ์ที่เพิ่งปรับปรุงใหม่ บางข้ออาจต้องติดตามรายละเอียดจากเว็บไซต์กรมควบคุมโรคเพิ่มเติม
- กลุ่มที่มีโอกาสได้รับเชื้อในโรงพยาบาล ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้กับทั้งบุคลากรทางการแพทย์ เช่น แพทย์ พยาบาล และทั้งผู้ป่วยรายอื่น รวมถึงญาติที่เข้าไปรับบริการในช่วงที่ผู้ป่วยยังไม่ถูกแยกโรค ดังนั้นในช่วงนี้ทุกโรงพยาบาลจึงจำกัดทางเข้าออกเพื่อคัดกรองผู้มีอาการ เลื่อนนัดผู้ป่วยที่ไม่จำเป็น และจำกัดจำนวนญาติที่เข้ามาเยี่ยมไข้
หากคน 2 กลุ่มนี้มีอาการไข้ + อาการทางระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ ไอ เจ็บคอ น้ำมูก หรือหายใจหอบเหนื่อยก็จะจัดเป็น “ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค” (PUI) ต้องรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลตามสิทธิการรักษา ทั้งสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) สิทธิประกันสังคม และสิทธิเบิกจ่ายตรง (ราชการ) เพื่อตรวจวินิจฉัย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ผู้สัมผัสแบบไหนถึงมีความเสี่ยงสูง
ผู้ป่วยรายที่ 1 🡪 ผู้สัมผัสคนที่ 1, 2, 3, … แต่ละคนไม่ได้มีความเสี่ยงเท่ากัน
โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) จะนับใครเป็นผู้สัมผัสก็ต่อเมื่อ (1) พูดคุยต่อหน้ากับผู้ป่วยในระยะ 1 เมตรเป็นเวลานานกว่า 15 นาที (2) สัมผัสทางกายโดยตรงกับผู้ป่วย (3) ดูแลผู้ป่วยโดยตรง โดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันตัวที่เหมาะสม หรือ (4) สถานการณ์อื่นที่แต่ละประเทศกำหนด ในช่วงระหว่าง 2 วันก่อนหน้า และ 14 วันหลังจากผู้ป่วยเริ่มมีอาการ
ส่วนในประเทศไทยจะแบ่งผู้สัมผัสออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง และผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงต่ำ โดยผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง ประกอบด้วย
(1) ผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกับผู้ป่วย
(2) ผู้ที่พูดคุยกับผู้ป่วยในระยะ 1 เมตรนานกว่า 5 นาที หรือถูกไอจามรดโดยไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย
(3) ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ปิด ไม่มีการถ่ายเทอากาศ เช่น ในรถปรับอากาศ ห้องปรับอากาศ และอยู่ห่างจากผู้ป่วยไม่เกิน 1 เมตร นานกว่า 15 นาที โดยไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย แต่ถ้าผู้ที่ร่วมเดินทางโดยเครื่องบินกับผู้ป่วย จะนับผู้โดยสารที่นั่งใกล้ผู้ป่วยในแถวเดียวกัน และ 2 แถวหน้า-หลัง = 5 แถว พนักงานบริการบนเครื่องบินในโซนเดียวกัน และผู้ที่ร่วมกลุ่มเดินทางเดียวกัน เช่น กลุ่มทัวร์เดียวกัน
ผู้ที่มีกิจกรรมร่วมกับผู้ป่วยที่ไม่เข้าเกณฑ์นี้จะจัดเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงต่ำ
การปฏิบัติตัวของผู้สัมผัสใกล้ชิด
ผู้ป่วยรายที่ 1 🡪 ผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง จะต้องแยกตัวอยู่ที่บ้าน (home quarantine) หลีกเลี่ยงการพูดคุยหรือใกล้ชิดกับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรัง ไม่รับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น แยกของใช้ส่วนตัว ล้างมือบ่อยๆ วัดไข้ตนเองทุกวันเป็นระยะเวลา 14 วัน นับจากวันที่สัมผัสผู้ป่วยวันสุดท้าย
ผู้ป่วยรายที่ 1 🡪 ผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงต่ำ สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ แต่หลีกเลี่ยงการเดินทางไปในสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก และสังเกตอาการตนเอง (self-monitoring) จนครบ 14 วันนับจากวันที่สัมผัสผู้ป่วยวันสุดท้าย ซึ่งหากผู้สัมผัสทั้ง 2 แบบมีอาการไข้ + ไอ เจ็บคอ น้ำมูก หรือหายใจหอบเหนื่อย จะต้องไปพบแพทย์ทันที
ถ้าสงสัยว่าจะป่วยเป็นโควิด-19 จะต้องนึกย้อนกลับไปว่าในช่วง 14 วันที่ผ่านมา “มีโอกาสได้รับเชื้อมาจากไหน?” หากมีประวัติเสี่ยงข้อใดข้อหนึ่งใน 4 ข้อ ซึ่งสรุปได้ว่า เดินทางกลับมาหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง, ประกอบอาชีพเสี่ยง, เข้าไปในสถานที่เสี่ยง, หรือสัมผัสกับผู้ป่วย จะต้องไปพบแพทย์ พร้อมทั้งแจ้งประวัติเสี่ยงนั้นๆ หากแพทย์พิจารณาว่าเข้าเกณฑ์ผู้ป่วย PUI จะได้รับการตรวจโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
แต่ถ้าไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง และมีอาการเพียงเล็กน้อย สามารถสังเกตอาการที่บ้านก่อนได้ หาก 2-3 วันไม่ดีขึ้นหรืออาการแย่ลงจึงไปแพทย์อีกที
Fact Box
- การตรวจวินิจฉัยโควิด-19 ในอเมริกา ปัจจุบัน (ปรับปรุงล่าสุด 14 มี.ค. 63) แพทย์สามารถใช้ดุลยพินิจในการส่งตรวจได้ หากผู้ป่วยมีอาการที่เข้าได้กับโควิด-19 โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีไข้ และ/หรือ อาการระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน เช่น ไอ หายใจเหนื่อย และมีการจัดลำดับความสำคัญ (priority) ในการตรวจ ดังนี้
กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยที่นอนรักษาในโรงพยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ที่มีอาการ
กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยในสถานดูแลระยะยาว อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป มีโรคประจำตัว หรือเจ้าหน้าที่กู้ชีพที่มีอาการ
กลุ่มที่ 3 ผู้ที่ทำงานในสถานที่เสี่ยงที่มีอาการ ผู้ที่ไม่เข้าเกณฑ์ข้างต้น แต่มีอาการ
และกลุ่มที่ไม่จัดลำดับความสำคัญ (non-priority) คือผู้ที่ไม่มีอาการ