มองผ่านวิวฟายน์เดอร์ของกล้อง รอยยิ้มของเขาไม่ต่างไปจากเจ็ดปีก่อน หรือ 18 ปีก่อนสักน้อยนิด

18 ปีก่อน เมื่อภาพยนตร์เรื่อง เรื่องตลก 69 (2542, อายุ 37 ปี) ยืนยันว่า ฝัน บ้า คาราโอเกะ (2540, อายุ 35 ปี) ของเขาไม่ได้ฟลุก ผู้กำกับโฆษณาคนหนึ่งก้าวเข้ามาทำงานภาพยนตร์และได้ปลุกกระแสหนังไทยขึ้นมาอีกรอบ

ในโมงยามซึ่งพลังการสร้างสรรค์ของวัยหนุ่มปรี่ล้น เป็นเอกมีไอเดียการเล่าเรื่องและภาพผุดขึ้นมาในสมองตลอดเวลา เขาบอกว่าวันไหนไม่มีไอเดีย วันนั้นเขานอนไม่หลับ

ผลงานถัดจากนั้นคือ มนต์รักทรานซิสเตอร์ (2544, อายุ 39 ปี) ที่ตอกย้ำสไตล์การเล่าเรื่องของเป็นเอก “ช่วงนั้นเราอยากให้โลกเห็นว่าเราเจ๋งแค่ไหน พอทำได้ดี ก็มีความมั่นใจ ‘มึงดูกูๆ’” เขาพูดพร้อมรอยยิ้มกว้าง ดวงตาเป็นประกาย มันเป็นความท้าทายของวัยหนุ่มที่ทะเยอทะยานและอยากให้โลกยินชื่อ

เจ็ดปีก่อน เมื่อย่างเข้าสู่วัย 40 ของชีวิต ความห่ามของเขาค่อยๆ ลดระดับลง พัฒนาเป็นความสนใจภายใน คำถามเกี่ยวกับความตาย ท่ามกลางบรรยากาศความหดหู่หม่นหมองจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง และดูเหมือนในช่วงเวลาสิบปีจากนั้นจะเป็นการทดลองความสามารถทางภาพยนตร์ของเขาที่จะบันทึกอารมณ์ ความรู้สึก และบรรยากาศลงในแผ่นฟิล์ม เป็นเอกครุ่นคิดเรื่องส่วนตัวมากขึ้น สนใจเรื่องเล่าน้อยลง บางคนบอกว่ามันเป็นช่วงที่ผลงานของเขาดูยากและน่าเบื่อ เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล (2546, อายุ 41 ปี) คำพิพากษาของมหาสมุทร (2549, อายุ 44 ปี) พลอย (2550, อายุ 45 ปี) นางไม้ (2552, อายุ 47 ปี) ฝนตกขึ้นฟ้า (2554, อายุ 49 ปี) กระนั้นผลงานของเขาอยู่ใน A-list ของเทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศสม่ำเสมอ ตลอดสิบปีที่หนังซึ่งเล่าเรื่องความสนใจภายในของเขาสร้างชื่อไปทั่วโลก จากนั้นชีวิตของเขาก็เปลี่ยน เมื่อเปลี่ยนความคิด ปัญหาที่เคยมีก็ถูกสะสาง ทั้งด้วยกาลเวลาและวิธีการแก้ปัญหาของเขา เป็นเอกบอกว่าเขาไม่มีความกระตือรือร้นแบบคนหนุ่มอายุ 30 และไม่มีความหมกมุ่นของชีวิตในวัย 40 วันเวลาพ้นผ่านไปพร้อมๆ กับอายุเดินหน้าสู่ปีที่ 50

ความสนใจสภาพสังคมและชีวิตของชนชั้นกลางในเมืองเป็นประเด็นที่อยู่ภายใต้รูปแบบที่ฉูดฉาดของภาพยนตร์แบบเป็นเอก วิกฤตการเมืองที่คาราคาซัง ย้ำความแตกแยกเอาไว้ กลายเป็นแผลที่ลามไปทั่วประเทศ เบียดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งให้กลายเป็นอดีต การชุมนุมประท้วงทางการเมืองบนถนน กระตุ้นให้เขาเรียนรู้ประวัติศาสตร์การเมืองไทยเพิ่มเติม เมื่อประเมินว่าวิกฤตคราวนี้อาจจะอยู่กับเขาชั่วชีวิต เขาเริ่มอ่านหนังสือประวัติศาสตร์การเมือง และทำวิจัยเป็นปี จากนั้นใช้ภาพยนตร์เป็นเครื่องมือในการพูดคุยกับผู้รู้ทั้งหลาย โดยถักทอบทสนทนาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมือง กลายเป็นภาพยนตร์เชิงสารคดี ประชาธิป’ไทย (2556, อายุ 51 ปี) ผู้เชี่ยวชาญการเมืองบางคนบอกว่ามันเป็นเรื่องเล่าการเมืองไทยฉบับประถมฯ ผู้ไม่รู้รอบเรื่องการเมืองสามารถเรียนรู้ความขัดแย้งที่สั่งสมมานานปีภายในเวลาสองชั่วโมงผ่านการสนทนาของหลากหลายบุคคล ผู้ดูบางคนบอกหนังสั้นเกินไป แต่นั่นก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้วกับการเรียนรู้และการเผยแพร่ความรู้ด้านการเมืองของเขา

วันนี้เป็นการถ่ายภาพเป็นเอกที่ผมเรียกเขาว่า ‘พี่ต้อม’ เป็นครั้งที่สาม พิเศษหน่อยตรงที่เขานัดผมที่บ้าน แทนที่จะเป็นออฟฟิศเหมือนสองครั้งที่ผ่านมา อพาร์ตเมนต์ของเขามีเลย์เอาต์กว้างโล่งปลอดโปร่ง รู้สึกสบาย เป็นระเบียบเรียบร้อย บรรยากาศเหมาะทั้งการทำงานสร้างสรรค์และพักความคิดในเวลาเดียวกัน มีเหล้าหลากชนิดอยู่บนโต๊ะข้างและชั้นวาง รวมไปถึงหนังสือทั่วทุกมุมในบ้านที่วางเรียงซ้อนกันอย่างเป็นระเบียบ พี่ต้อมบอกว่าเขาตื่นมาอ่านหนังสือทุกเช้า หลังต้มกาแฟ ปิ้งขนมปัง ในโลกส่วนตัวของพี่ต้อม นอกจากหญิงสาวแล้วยังมีเปเป้ – หมาลาบราดอร์สีช็อกโกแลตตัวหนึ่งซึ่งนอนอยู่ไม่ห่าง

เรานั่งคุยกันในช่วงเช้าบนโต๊ะริมหน้าต่างกับผลไม้หนึ่งจาน และกาแฟอีกหลายแก้ว แม้รอยยิ้มและแววตาของพี่ต้อมจะใสกระจ่างคล้ายเดิม แต่น้ำเสียงและความครุ่นคิดของเขาไม่เหมือนเดิม อาจเพราะเขาเพิ่งกลับจากการตระเวนเดินทางและโปรโมตภาพยนตร์เรื่องใหม่ ซึ่งเขาบอกว่าไม่สนุก โลกมันเปลี่ยนไปหมด เขารู้สึกผูกพันกับบรรยากาศแบบนี้น้อยลง และไม่รู้ว่ามันคืออะไร อาจเป็นไปได้ว่าความสนใจเขาอาจจะน้อยลงจากสิ่งเดิมที่วนเวียนซ้ำกันในรอบ 20 ปี แต่การเดินทางโปรโมตหนังตามเทศกาลภาพยนตร์ต่างๆ ถือเป็นส่วนหนึ่งของงานภาพยนตร์ ซึ่งนอกจากจะกำกับฯ แล้วต้องปิดการขายให้ได้ด้วย พี่ต้อมบอกว่าเขารู้สึกอยากกลับบ้านมากกว่าครั้งไหนๆ ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในเทศกาลภาพยนตร์ยังมีข้อดีอยู่บ้าง เขาได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ และควรจะทำในการเข้าร่วมเทศกาลฯ นั่นคือการตื่นเช้าไปเข้าคิวดูภาพยนตร์ เขาเลือกจะมีความสุขกับความเรียบง่ายแบบนี้

ในช่วงแรกของโปรดักชั่น Samui Song (ไม่มีสมุยสำหรับเธอ, 2561) พี่ต้อมไม่ค่อยมีความสุขกับการทำหนังเหมือนที่ผ่านมา อาจเป็นเพราะภาระความรับผิดชอบแบบ professional บีบให้การทำงานของเขาไม่เป็นไปตามธรรมชาติอย่างที่เคยเป็น เงินทุนจากต่างประเทศทำให้มีผู้ร่วมทำงานในฐานะโปรดิวเซอร์หลายคน ซึ่งทำให้การทำภาพยนตร์ที่เคยทำเพราะความสนุกและด้วยความสนใจส่วนตัวมาตลอดกลับกลายเป็นความทุกข์

ผมกำลังสงสัยว่าเป็นเพราะเวลาของชีวิตที่มาถึงวัย 55 ปีหรือเปล่าที่ทำให้เขาครุ่นคิดมากขึ้น หันมาใส่ใจกับความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น นิ่งขึ้น และเหนื่อยหน่ายกับการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งต่างๆ ความพยายามเหล่านี้คล้ายเป็นสิ่งที่เกินจำเป็น

“การทำหนังมันแพง แล้วถ้าเรายืนยันว่าจะทำหนังวิธีนี้ก็ต้องหาเงินจากต่างประเทศ หลายประเทศ ทำให้มีโปรดิวเซอร์หลายคน ความสุขในการทำงานมันหายไป เพราะเราต้องมาต่อสู้เรื่องที่เราไม่เก่ง ทุกคนฉลาดกว่าเราหมด มีความรู้เรื่องหนังมากกว่าเราหมดเลย แต่คนทำหนังคือเราไง เราไม่สามารถไปดีเบตคอมเมนต์เขาได้ เราเห็นแต่ภาพ เห็นความ flow ของการเล่าเรื่อง ทุกคนแม่งหวังดีไง แต่ว่ากูทำไม่ได้ กูไม่ได้มี sense นั้น แล้วมันแบบเหมือนโดน rape จากคนที่พยายามจะช่วยเรา ขณะเมื่อก่อนทำกับไฟว์สตาร์ไม่มีใครมายุ่งกับเรา ไม่ต้องมีคนมาบังคับเรา มันก็ออกมาดีเท่าที่มันดี แต่มันมี sensibility ของเราอยู่ในนั้น พอเรามาทำหนังแบบ old school ในเวลานี้ แต่ financial มันไม่มีให้ เราก็ยากขึ้น มันพาเราไปสู่ภาวะ part of a team ซึ่งยากมากสำหรับเรา เราแม่ง personal ตลอด เราไม่มีเหตุผล เรามีแต่ “มึง เชื่อกูเหอะ” แต่มันทำแบบนี้กับ professional ไม่ได้ เราถวิลหาการทำงานด้วยทุน 5 ล้านบาท แบบ เรื่องตลก 69 เราเข้ามาทำตั้งแต่ day one เมื่อ 20 ปีก่อน ด้วยความสนใจ มันเป็นตัวเราจริงๆ เรามีความสุขมาก”

แล้วพี่บาลานซ์ความเป็นมืออาชีพกับความเป็นส่วนตัวยังไง

“scale down ลง แล้วความสุขก็จะกลับมา” เขาตอบราวกับว่าครุ่นคิดเรื่องนี้ไว้นานแล้ว และพิจารณามันอย่างถี่ถ้วน

“หนัง สมุยฯ มีช่วงนึงที่ crisis เลย depress มาก หาทางออกไม่ได้ ตัดกี่เวอร์ชั่นก็ไม่ชอบ แล้วมันมีงานก้อนอื่นๆ อีกที่ต้องทำ ตันไปหมด solution ของงานครีเอทีฟ มันไม่ได้มาจากการนั่งคิด เบรนสตอร์ม มันมาจากไหนก็ไม่รู้ ในภาวะไหนก็ไม่รู้ ปัญหาบางอย่างมันต้องทิ้งไว้ มันจะ solve ตัวของมันเอง บางทีพอถึงเวลาที่เราลืมมัน หรือเมื่อเวลาผ่านไป เราจะคิดหาวิธีจัดการกับมันได้ หรือบางทีอยู่ๆ มันก็มา ตอนอ่านหนังสือ ตอนอยู่ในห้องน้ำ หรือตอนชงกาแฟ แต่คนที่มาจากโลก professional พอเขาเห็น problem มันต้อง solve ไง”

มันมีผลทำให้พี่ต้องเปลี่ยนวิธีทำงานไหม

“วิธีทำหนังของเราไม่ได้คิดว่าจะพูดเรื่องอะไร ธีมอะไร แล้วก็ไปสร้างตามคอนเซ็ปต์ เราทำแบบนี้ไม่เป็น บางทีเราเห็นเป็นภาพ ผสมกับ obsession ส่วนตัว พอมีอะไรไปสะกิด ก็จะเกิดสคริปต์เรื่องใหม่ ตอนเขียนบท เราก็เอาของเหล่านี้มากองบนโต๊ะ เพลงบางเพลง เสียง ภาพ มากองไว้ เกี่ยวกันบ้างไม่เกี่ยวกันบ้าง แล้วเราก็ค่อยๆ ปะติดปะต่อเรื่อง แล้วพวกไอเดียมันก็ emerge ขึ้นมาเองหลังจากมันเสร็จแล้ว มันอาจจะ reverse กับวิธีทำหนังแบบ professional สำหรับเรา มันไม่เคยเป็นแบบนั้น ถ้ามีความเป็น professional เราอาจจะไม่ทำหนังแบบที่เราทำ เราก็อาจจะไม่ใช่คนแบบนี้ ความเป็นมือสมัครเล่นมันเหมาะกับเรา You do something because you want to have fun. เราเอ็นจอยการทำหนัง เราเคยลองเข้าไปอยู่ใน process แบบ professional แต่เราไม่สามารถ เราไม่มีความสุข เราเป็น part of a team ไม่ได้ในกองถ่ายฯ เราคนเดียวที่เป็น amateur ส่วนคนอื่นที่ทำงานอยู่รอบๆ ตัวเราเป็น professional หมดเลย เขารู้ว่าเราไว้วางใจในเรื่องอะไรได้บ้าง เรื่องไหนต้องช่วยเราจัดการ เราไม่เคยเปลี่ยนวิธีทำ เราทำได้วิธีเดียวคือวิธีกู แต่บรรยากาศการทำหนังมันเปลี่ยนไป เราไม่มีความสุข มันเกิดจากปัจจัยภายนอก จนวันหนึ่งเราอีเมลไปบอกทุกคนว่าปล่อยกูไว้ อย่ามายุ่งกับกู แล้วนั่นแหละ ความสุขในการทำหนังมันกลับมา”

นาทีนั้น สมุยฯ กลับมาอยู่ในมือของเขาอีกครั้ง เขาทำงานในแบบที่เขาต้องการ สมุยฯ เป็น สมุยฯ อย่างที่มันควรจะเป็น

เมื่อขึ้นไปบนอพาร์ตเมนต์ของพี่ต้อม ผมชอบบรรยากาศที่ผ่อนคลาย สงบ เหมือนฉากในภาพยนตร์ญี่ปุ่น ก่อนนั่งลงคุยกัน ผมขออนุญาตเดินดูรอบๆ ผมเล็งไว้ 2-3 มุม และคิดในใจว่าพี่ต้อมนั่งอยู่ตรงนี้คงดี เมื่อถึงเวลาถ่ายภาพเช่นทุกครั้งที่รอยยิ้มเมื่อตอนนั่งคุยกันหายไปจากใบหน้าเหมือนไม่เคยมีอยู่ พี่เขาคงไม่ชอบอยู่หน้ากล้องเท่าไร ผมนึกถึงรอยยิ้มที่เคยบันทึกไว้เมื่อพบกันสองครั้งที่ผ่านมา ระหว่างนั้นเราคุยกันเรื่องความสนใจอื่นๆ เรื่องการทำงานของผม เรื่องกล้อง ฟิล์มขาวดำ งานภาพพิมพ์ และการย้ายออกจากกรุงเทพฯ รอยยิ้มแบบเป็นเอกก็ปรากฏบนใบหน้าเหมือนอยู่ตรงนั้นเสมอมา

ย้อนกลับไปที่โต๊ะที่เรานั่งคุยกัน โดยมีเปเป้นั่งอยู่ใต้โต๊ะคอยเอาเนื้อตัวอุ่นๆ มาทับขาบอกถึงการมีอยู่ของมัน ในเรื่องที่คุยกัน ผมสนใจเรื่องการทำงานแบบโอลด์สคูลเป็นพิเศษ พี่ต้อมบอกว่าหนังเรื่อง สมุยฯ ใช้เงินจำนวนมากกว่าทุกเรื่องที่ผ่านมา ทีมงานทุกคนล้วนเป็นยอดฝีมือ ทุกคนทำงานด้วยความประณีต พิถีพิถัน และให้เวลากับมันเหมือนช่างทำรองเท้าชาวอิตาเลียน ที่ปีหนึ่งๆ ไม่รู้ผลิตได้สักกี่คู่ แต่ถึงจะน้อย – มันเป็นความภาคภูมิใจ ก่อนหน้านี้เขาก็ทำงานแบบโอลด์สคูล แต่ด้วยเงินทุนที่ไม่ได้เป็นจำนวนมากขนาดนี้ ด้วยเงื่อนไขการทำงานที่ผ่านมา ทำให้เกิดสไตล์แบบเป็นเอกและการเล่าเรื่องบางแบบ ซึ่งเขาค่อนข้างพอใจ ถัดจากนี้เขาไม่คิดว่าจะสามารถทำงานแบบนี้ได้อีก อาจจะต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานเล่าเรื่อง แต่น้ำเสียงคงเหมือนเดิม

สมุยฯ – หนังโอลด์สคูลเรื่องล่าสุดของเป็นเอกซึ่งใช้เวลาราวห้าปีเรื่องนี้ ยังคงพูดเรื่องที่วนเวียนอยู่ในโลกของเขา ความสัมพันธ์ ผู้หญิง ฆาตกรรม ประเด็นทางสังคม และน้ำเสียงแบบเป็นเอก พี่ต้อมเล่าว่า สมุยฯ มีโลกของมันเอง เขาไม่ได้คิดเรื่องร่วมสมัย ไม่มีอารมณ์นั้นเลย เหมือนเรื่องที่ผ่านมาที่เขาสร้างความจริงของภาพยนตร์ขึ้นมาใหม่โดยไม่ได้อิงความเป็นจริงของยุคสมัย แต่ถึงอย่างนั้น สิ่งที่เขาพูดในภาพยนตร์นั้นช่างเจ็บแสบ จะหัวเราะก็หัวเราะไม่ออก จะยอมรับก็ขัดเขินกับความจริงที่เกิดขึ้น

“เราว่าเราไม่สามารถทำงานแบบนี้ได้อีกแล้ว เพราะหาทุนมาทำแบบนี้ไม่ได้แล้ว เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องสุดท้าย เพราะเดี๋ยวนี้คนเข้าโรงหนังน้อยลง มีความกดดันเมื่อทำหนังเสร็จแล้ว ต้องการคนดูเท่าไร ไม่เหมาะกับการทำหนังในอนาคตของเราแล้ว ต้องเปลี่ยนวิธีทำ ทำยังไงก็ได้ให้มันเบากว่านี้ในแง่ปฏิบัติการ ซึ่ง look ก็จะเปลี่ยน วิธีทำก็จะเปลี่ยน ผลที่ออกมาก็จะเปลี่ยนไป ยกเว้นคุณเป็น Christopher Nolan ที่ยืนยันว่าจะทำงานแบบที่คุณเป็น แต่ในโลกนี้มี Nolan กี่คน เรายอมรับว่าการโปรดิวซ์แบบนี้เราก็เบื่อ ความงามของมัน look ของมัน เราก็เบื่อ เราต้อง move on ต่อไป มันก็พอดีต่อวาระของมัน

สิ่งที่เขาพูดทำให้ผมนึกถึงการเรียนรู้ชีวิตและการทำงานในยุคสมัยที่ผมเป็นวัยรุ่น ตอนนั้นคำที่นิยมใช้กันในงานสร้างสรรค์ไม่ใช่คำว่า ‘ต่อยอด’ แต่เป็นคำว่า ‘ตกผลึก’ ซึ่งผมเข้าใจว่าหมายถึงการค้นหาทำความเข้าใจตัวเอง ฝึกฝนด้วยความอดทน จนพบทางใหม่ๆ ที่เป็นตัวของตัวเองและสอดคล้องกับชีวิต มันเป็นความสัมพันธ์กันระหว่างวิธีการมองโลก วิชาชีพ และความเป็นตัวของตัวเอง กระบวนการทางความคิดและการฝึกฝนจะใช้เวลานาน ช้า และบางทีในชีวิตอาจไม่มีการตกผลึกเลยก็ได้ แต่เมื่อตกผลึกแล้ว มันคล้ายการบรรลุเป้าหมายของชีวิตที่สอดคล้องกับการทำงาน ทั้งสองอย่างประสานเป็นเนื้อเดียวกัน

 

 

เป็นเอก รัตนเรือง | ผู้กำกับภาพยนตร์

Medium Format Camera 6 x 6 | 6 x 9

Black and White Negative Film

Fact Box

เป็นเอก รัตนเรือง ผู้กำกับโฆษณาเป็นอาชีพ และกำกับภาพยนตร์เป็นงานส่วนตัว

เขาได้รับรางวัลศิลปาธร สาขาภาพยนตร์ ปี 2547 และได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Légion D’Honneur สาธารณรัฐฝรั่งเศส 2014

ผลงานภาพยนตร์ 11 เรื่องในรอบ 20 ปี : ฝัน บ้า คาราโอเกะ (Fun Bar Karaoke, 2540) เรื่องตลก 69 (6ixtynin9, 2542) มนต์รักทรานซิสเตอร์ (Transistor Love Story, 2544) เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล (Last Life in the Universe, 2546) คำพิพากษาของมหาสมุทร (Invisible Wave, 2549) พลอย (2550) นางไม้ (Nymph, 2552) ฝนตกขึ้นฟ้า (Head Shot, 2554) ประชาธิป’ไทย (Paradoxocracy, 2556) แรงดึงดูด (2557, ฉายเฉพาะทางทีวีช่อง True Thai Film) ไม่มีสมุยสำหรับเธอ (Samui Song, 2561)

Tags: , ,