เครื่องบินโจมตีกระหน่ำยิงอย่างหนักหน่วงนานนับชั่วโมง ทิ้งระเบิดไปทั้งสิ้น 1,430 ลูก ทั้งแบบแพและแบบเดี่ยว ทุกอย่างดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ฝูงบินกระจายอยู่ทั่วท้องฟ้า ที่น่าแปลกและเลวร้ายก็คือ ในช่วงที่ฝูงบินบุกโจมตีอยู่นั้น แทบไม่มีการตอบโต้ใดๆ จากภาคพื้นดินเลย
นั่นคือเหตุการณ์ในเช้าวันที่ 7 ธ.ค. 1941 ซึ่งญี่ปุ่นบุกโจมตี เพิร์ล ฮาร์เบอร์อย่างที่ไม่มีใครคาดคิด ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ตัดสินใจตอบโต้โดยประกาศทำสงครามกับญี่ปุ่นทันที
หลายสัปดาห์ต่อมา ในคืนของวันที่ 24 ล่วงเข้าวันที่ 25 ก.พ. 1942 ความสับสนกังวลเกี่ยวกับสงครามแพร่กระจายไปถึงลอส แองเจลีส กองทัพอากาศของสหรัฐฯ ส่งสัญญาณเตือนภัยในเวลา 22.23 น. สงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังรุกคืบถึงสหรัฐอเมริกา
อย่างน้อยมันก็สร้างความหวาดหวั่นทั้งในสมองและจิตใจของพลเมืองและทหาร แม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว ญี่ปุ่นไม่ได้บุกโจมตี รายงานข่าวว่ามีเครื่องบินรบของฝ่ายศัตรูนับร้อยลำ บินด้วยความเร็ว 200 ไมล์ต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนเข้าใกล้ลอส แองเจลีสนั้นไม่เป็นความจริง แต่มันกลับทำให้ผู้คนทั้งเมืองผวา แตกตื่น โกลาหล ถึงขั้นเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ และทำให้อย่างน้อยใครคนหนึ่งต้องเสียชีวิต เพราะหัวใจวาย
เหตุการณ์ประหลาดที่เกิดขึ้นนำไปสู่ความขัดแย้งเล็กๆ ระหว่างหน่วยงานรัฐ กองทัพเรือ และกระทรวงสงคราม ที่ตอบโต้กันเองถึงเรื่องว่า มีเครื่องบินรบของศัตรูจริงหรือไม่ ในขณะที่กองทัพเรือยอมรับว่าตัดสินใจเปิดสัญญาณเตือนภัยเร็วเกินไป ข้างฝ่ายเฮนรี สทิมสัน (Henry Stimson) เจ้ากระทรวงสงครามก็ยอมรับว่าน่าจะมีเครื่องบินรบมากถึง 5 ลำบินล่วงล้ำเข้ามา เหตุการณ์โกลาหลจึงเกิดขึ้น หนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทม์ส รายงานความกลัวเกินเหตุของเจ้าหน้าที่ระดับสูง พร้อมตั้งคำถามว่า “ถ้าหากเกิดการโจมตีทางอากาศเกิดขึ้นจริงจะเป็นอย่างไร?”
ภาพการสกัดกั้นการโจมตีทางอากาศของข้าศึกที่นึกไปเอง นัยว่ากองทัพสหรัฐฯ กระหน่ำยิงบอลลูนตรวจวัดสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกของคนในชาติได้ว่า นั่นคือความรู้สึกไม่ปลอดภัย หวาดกลัว และคลุ้มคลั่ง
การโจมตีจริงซึ่งเกิดขึ้นที่เพิร์ล ฮาร์เบอร์ในวันที่ 7 ธ.ค. 1941 นั้น ญี่ปุ่นสามารถทำให้มหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาสูญเสียความมั่นใจในตัวเอง ชาวอเมริกันหลายคนต้องลนลานหาแผนที่โลก มองหาตำแหน่งที่ตั้งของเพิร์ล ฮาร์เบอร์ จุดเล็กๆ บนพื้นที่หมู่เกาะฮาวาย ที่ซึ่งทหารของชาติตนเองต้องเสียชีวิตกว่า 2,400 คน และคอยติดตามฟังข่าวของศัตรูที่นับวันจะขยายแสนยานุภาพเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กองทัพญี่ปุ่นไม่เพียงแต่จะยึดครองเกาะกวม ฮ่องกง มานิลา และสิงคโปร์ได้เท่านั้น หากยังส่อเค้าจะแผ่อำนาจไปทั่วภูมิภาคแปซิฟิก
การโจมตีนครนิวยอร์กของผู้ก่อการร้ายเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2001 หกทศวรรษต่อมา ภาพความพ่ายแพ้ที่ เพิร์ล ฮาร์เบอร์ ก็ผุดขึ้นในความทรงจำของคนในชาติ ชาวอเมริกัน-ในสภาพช็อคและไม่พอใจ ต่างแสดงออกถึงความรักชาติ ฮึกเหิม หวาดระแวง และเหยียดเชื้อชาติขึ้นมาทันที
เพิร์ล ฮาร์เบอร์ทำให้ทุกอย่างพลิกเปลี่ยน ชาวอเมริกันที่แต่ก่อนเคยตอบแบบสอบถาม กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมสงคราม กลับเปลี่ยนความคิด เป็นเห็นชอบกับการทำศึกกับชนชาติแปลกหน้าและห่างไกล ขณะเดียวกันก็พร้อมใจจะเชื่อว่า มีความเป็นไปได้ที่ญี่ปุ่นจะเคลื่อนทัพมาถึงชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา
คนทั้งประเทศจึงพร้อมที่จะรับมือกับสงคราม โดยเฉพาะในรัฐแคลิฟอร์เนีย กองทัพสหรัฐฯ ย้ายฐานไปตั้งมั่นที่ชายฝั่ง และฝึกซ้อมรับมือภาวะฉุกเฉิน เด็กๆ เร่ขายแสตมป์รักชาติ ทหารอาสาสมัครเปิดอบรมหลักสูตรการดับเพลิงจากการโจมตีเป็นความรู้ให้กับประชาชน มีการแจกจ่ายหน้ากากกันพิษ และทาสีทับบานกระจกหน้าต่าง เพื่อว่าทั้งเมืองจะมืดสลัวในยามค่ำคืน ใครที่ยังไม่รู้สึกปลอดภัยเพียงพอ ก็จะขุดสนามหญ้าในเขตบ้านเป็นหลุมหลบภัย
แม้กระทั่งฮอลลีวูดก็ยังเข้าร่วมกิจกรรมการปกป้องตนเอง และร่วมแรงกันทำในสิ่งที่ถนัด เพื่อหลอกล่ออำพรางเครื่องบินรบของญี่ปุ่นจากการโจมตี บรรดาครีเอทีฟของสตูดิโอต่างๆ พากันออกแบบสร้างโรงเก็บเครื่องบินรบของทหารอเมริกันขนาดใหญ่ขึ้นบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันตก
ช่างทำฉาก ช่างวาด และอาร์ตไดเรกเตอร์ใส่ใจในรายละเอียดถึงขนาดสร้างเมืองจำลองขึ้น มีรถยนต์ทำจากยางปลอมอย่างละเอียดแม้กระทั่งราวตากผ้า มีการทาสีทับรันเวย์และลานจอดเครื่องบินด้วยสีเขียวและสีดำ หากมองจากด้านบนลงมาจะมองเห็นคล้ายสนามเบสบอล และบ้านเรือนเป็นแนวยาว ทว่าทั้งหมดนั้นท้ายที่สุดแล้วก็ไม่มีประโยชน์อันใด
ไม่กี่สัปดาห์หลังเหตุการณ์ร้ายที่เพิร์ล ฮาร์เบอร์ ชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกาก็พร้อมรับมือ และแล้วมันก็เป็นจริงตามคาด ญี่ปุ่นบุก เพียงแต่แตกต่างจากภาพที่ชาวอเมริกันมโนในฝันร้ายของตนเอง
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 1942 มีเรือดำน้ำ I-17 ของญี่ปุ่นโผล่ขึ้นที่ชายฝั่งของรัฐแคลิฟอร์เนีย มีการยิงโจมตีที่โรงงานน้ำตาลใกล้เมืองซานตา บาร์บาราเพียงไม่กี่นัด ท่าเรือ เครน และโรงสูบน้ำได้รับความเสียหาย ก่อนเรือดำน้ำจะมุดหายไปอีกครั้ง ความเสียหายครั้งนั้นคิดเป็นมูลค่าไม่กี่ร้อยดอลลาร์ แต่ความตื่นกลัวทำให้ราคาที่ดินบริเวณนั้นตกต่ำถึงขีดสุด
สี่เดือนต่อมาเกิดเหตุการณ์คล้ายกัน เรือดำน้ำของญี่ปุ่นบุกโจมตีฐานทัพฟอร์ต สตีเวนส์ ที่บริเวณปากแม่น้ำโคลัมเบีย รีเวอร์ ในรัฐโอเรกอน ทำให้ระบบโทรศัพท์เป็นอัมพาต และสนามเบสบอลได้รับความเสียหาย แต่ความตื่นกลัวนั้นหนักหนากว่าความเสียหายเช่นกัน
ความกลัวและเกลียดชังญี่ปุ่นของชาวอเมริกันเริ่มแพร่กระจาย มันส่งผลถึงชาวอเมริกันที่มีเชื้อสายญี่ปุ่นด้วย หลังจากการโจมตีที่เพิร์ล ฮาร์เบอร์คนกลุ่มนี้ตกเป็นผู้ต้องสงสัยและระแวง เหมือนเช่นชาวอเมริกันเชื้อสายมุสลิมหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน
“ผมเห็นด้วยกับการผลักดันคนญี่ปุ่นแถบชายฝั่งตะวันตกให้ไปอาศัยในที่ที่ห่างไกลจากชุมชนของเรา” เฮนรี แม็คเลอมอร์ (Henry McLemore) นักเขียนคอลัมน์หนังสือพิมพ์ ส่งเสียงเรียกร้องในเดือนมกราคม 1942 “ผมหมายถึงสถานที่รกร้างห่างไกลด้วยนะ กวาดต้อนพวกเขา ส่งพวกเขาไปอยู่ในที่แบบนั้น ให้อดอยาก เจ็บป่วย และหิวตายไปเลย โดยส่วนตัวแล้วผมเกลียดคนญี่ปุ่น ทั้งหมดนั่นเลย”
ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา ประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ ตอบสนองด้วย ‘คำสั่งหมายเลข 9066’ ยินยอมให้กองทัพจัดสร้างเขตกักกันขึ้น เพื่อใช้เป็นค่ายอพยพชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่น ทั้งหมด 120,000 คน-ส่วนใหญ่ถือครองบัตรประจำตัวประชาชนอเมริกัน-ถูกส่งตัวจากชายฝั่งตะวันตกไปยัง War Relocation Center ศูนย์ย้ายถิ่นฐานสงครามที่ออกแบบสร้างแบบลวกๆ ผู้คนเหล่านี้ต้องใช้ชีวิตอยู่ในเรือนไม้สับปะรังเคนานนับปี เป็นบ้านถูกบังคับให้อยู่ที่พวกเขาเรียกว่า ‘ค่ายกักกัน’ ส่วนบ้านที่เคยอยู่นั้น พวกเขาต้องขายไปในราคาที่ต่ำมาก
เป็นเวลาถึง 46 ปี กว่าที่สหรัฐอเมริกาจะกล่าวคำขอโทษอย่างเป็นทางการ ต่อปฏิกิริยาเกินจริงที่มีต่อเหตุการณ์เพิร์ล ฮาร์เบอร์ และจัดระเบียบเสียใหม่ สภาคองเกรสอธิบายเหตุผลที่แท้จริงของเหตุการณ์ในอดีตครั้งนั้นว่า เป็นการตัดสินจากการเหยียดเชื้อชาติ ความตื่นกลัวสงคราม และความล้มเหลวของผู้นำทางการเมือง
ชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นซึ่งได้รับผลกระทบ ได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาลอเมริกันคนละ 20,000 ดอลลาร์…เกือบครึ่งศตวรรษ หลังจากรอดชีวิตออกจากค่ายกักกัน
Fact Box
การโจมตีเพิร์ล ฮาร์เบอร์ของญี่ปุ่นมีผลสืบเนื่องจากสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 2 จุดเริ่มต้นมาจากการที่จักรวรรดิญี่ปุ่นได้บุกเข้ายึดครองดินแดนแมนจูเรียหลังเกิดกรณีมุกเดน (Mukden) เนื่องจากญี่ปุ่นเล็งเห็นผลประโยชน์ในดินแดนแมนจูเรีย หลังจากยึดครองสำเร็จ ได้แต่งตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดให้อยู่ภายใต้การนำของจักรวรรดิญี่ปุ่น โดยมีจักรพรรดิปูยี (จักรพรรดิองค์สุดท้ายของราชวงศ์ชิง) ให้ไปเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และเป็นจักรพรรดิแห่งแมนจูเรียได้แต่เพียงในนามเท่านั้น เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่พอใจแก่สาธารณรัฐจีนเป็นอย่างมาก จึงไปร้องเรียนขอความช่วยเหลือจากสันนิบาตชาติ จากนั้นมีการไต่สวนและลงความเห็นว่า จักรวรรดิญี่ปุ่นเป็นฝ่ายผิดและเป็นผู้รุกราน จึงออกแถลงการณ์ลิตตัน เพื่อประณามการกระทำของญีปุ่น และออกคำสั่งให้ญี่ปุ่นถอนกองทัพออกจากดินแดนแมนจูเรีย ทำให้ญี่ปุ่นไม่พอใจ พร้อมประกาศถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสันนิบาตชาติ
เหตุเพราะสันนิบาตชาติไม่สามารถทำอะไรญี่ปุ่นได้ ทำให้จีนผิดหวัง และญี่ปุ่นก็เริ่มฮึกเหิม คิดจะยึดครองจีนต่อไปโดยไม่มีชาติใดมาขัดขวาง และแล้วจักรวรรดิญี่ปุ่นได้ส่งกองทัพเข้าไปรุกรานจีนอย่างเต็มตัว ฝ่ายจีนแม้พยายามต้านทานอย่างเต็มกำลัง แต่ก็ไม่อาจต้านกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นได้ ทำให้จีนต้องสูญเสียดินแดนให้กับญี่ปุ่น เช่น ปักกิ่ง เป่ยผิง เทียนจิน... ขณะเดียวกันเมืองนานกิงก็ถูกกองทัพญี่ปุ่นเข้ายึดครอง และสังหารหมู่ชาวจีน สร้างความโกรธแค้นให้กับชาวจีนอย่างมาก จึงคิดที่จะหันไปพึ่งสหรัฐอเมริกาที่สามารถถ่วงดุลอำนาจของจักรวรรดิญี่ปุ่นได้ จีนแจ้งขอความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ทันที แม้ว่าขณะนั้นสหรัฐฯ จะพยายามทำตัวเป็นกลาง ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสงคราม แต่เมื่อจีนขอมาก็ยอมให้ความช่วยเหลือจีนอย่างเต็มที่
ประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ ออกประกาศยุติการส่งออกสินค้า อย่างเช่น น้ำมัน เหล็ก เป็นต้น ไปยังญี่ปุ่น ทำให้ญี่ปุ่นขาดปัจจัยในการบำรุงกองทัพ โดยเฉพาะน้ำมัน ส่งผลให้การบุกยึดจีนต่อไปต้องหยุดชะงัก จักรวรรดิญี่ปุ่นพยายามส่งทูตไปเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อขอให้ส่งน้ำมันต่อ แต่สหรัฐฯ ยื่นเงื่อนไขโดยให้ญี่ปุ่นยุติการยึดครองจีน และถอนกำลังออกจากอินโดจีนไป ทำให้ญี่ปุ่นไม่พอใจ จึงตัดสินใจบุกโจมตีอ่าวเพิร์ล ฮาร์เบอร์ ในบริเวณหมู่เกาะฮาวาย อันเป็นฐานทัพเรือของสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นแปซิฟิก เพื่อเปิดเส้นทางการขยายอำนาจของตน
การโจมตีเพิร์ล ฮาร์เบอร์ครั้งนั้นเป็นใบเบิกทางให้สหรัฐฯ เข้าสู่สนามรบในสงครามโลกครั้งที่ 2