รางวัลโนเบล สันติภาพปีนี้มอบให้กับเดนิส มุเคจิ (Denis Mukwege) และนาเดีย มูราด (Nadia Murad)สำหรับความพยายามเพื่อหยุดยั้งความรุนแรงทางเพศที่ถูกใช้เป็นอาวุธในสงคราม และความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธ
ประธานคณะกรรมการรางวัลโนเบล สันติภาพกล่าวว่า “เจตนารมณ์ของการมอบรางวัลในปีนี้เพื่อต้องการส่งสารว่า “ผู้หญิงซึ่งมีจำนวนครึ่งหนึ่งของประชากรโลกถูกใช้เป็นอาวุธของสงคราม พวกเธอต้องการการคุ้มครอง และผู้กระทำต้องรับผิดชอบและถูกลงโทษจากการกระทำของพวกเขา” ทั้งมุเคจิและมูราดได้รับเลือกจากผู้เข้าชิงโนเบลสันติภาพในปีนี้ 331 คน
เดนิส มุเคจิ เป็นสูตินรีแพทย์ซึ่งอุทิศตัวเองเพื่อให้ความช่วยเหลือและปกป้องเหยื่อจากความรุนแรงทางเพศ เขาเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นหนึ่งเดียวกันทั้งระดับชาติและนานาชาติในการหยุดความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นในสงคราม และความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธ เขาช่วยเหลือเหยื่อจากความรุนแรงทางเพศในคองโกด้วยการก่อตั้งโรงพยาบาลปันซีขึ้นในปี 2008 มุเคจิและเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลได้รักษาผู้ป่วยที่เป็นเหยื่อของความรุนแรงทางเพศนับพันคน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากสงครามกลางเมืองของคองโก
ที่โรงพยาบาลของมุเคจิ ผู้หญิงชาวคองโกจำนวนมากต้องเข้ารับการรักษาอาการทะลุระหว่างกระเพาะปัสสาวะและช่องคลอด ซึ่งเป็นผลจากการถูกข่มขืน และได้รับคำปรึกษาและรักษาผลกระทบทางจิตใจจากประสบการณ์ที่พวกเธอได้รับ เขาเป็นนักบุญของเหยื่อความรุนแรงทางเพศในประเทศคองโก การผ่าตัดของเขากลายเป็นที่พึ่งและความหวังของผู้หญิงหลายพันคน ผลจากการทำงานของเขาทำให้มุเคจิได้รับการขนานนามว่า “ชายผู้ซ่อมแซมผู้หญิง”
มุเคจิประณามการนิรโทษกรรมให้กับการข่มขืนหมู่ และวิจารณ์รัฐบาลคองโกและประเทศอื่นๆ ที่ไม่ทำอะไรเพื่อหยุดการใช้ความรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิง ในฐานะที่เป็นยุทธวิธีและอาวุธสงคราม
ส่วน นาเดีย มูราด เป็นประจักษ์พยานของการถูกล่วงละเมิดทางเพศในสงคราม เธอเป็นชาวยาซิดี ชนกลุ่มน้อยในอิรักที่ถูกไอซิสจับตัวไปพร้อมกับชาวยาซิดีหลายร้อยคนเมื่อสิงหาคม 2014 และถูกข่มขืนซ้ำๆ และยังถูกละเมิดด้านอื่นๆ
หลังจากทุกข์ทรมานนาน 3 เดือน มูราดหลบหนีออกมาได้ และเปิดเผยความทุกข์ทรมานของเธอ ในปี 2016 มูราดที่อายุเพียง 23 ปี ได้รับแต่งตั้งให้เป็นทูตกิตติมศักดิ์ผู้รอดชีวิตจากการใช้ยาเสพติดและอาชญากรรมความรุนแรงจากองค์การสหประชาชาติ
คณะกรรมการบอกว่า เธอแสดงให้เห็นถึง “ความกล้าหาญอันประมาณมิได้ในการเล่าประสบการณ์ความทุกข์ของเธอ” โดยไม่ยอมรับกฎทางสังคมที่เรียกร้องให้ผู้หญิงต้องเงียบเสียงและละอายจากการถูกล่วงละเมิด
ตอนที่ให้การกับสภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกา ปี 2016 มูราดบอกเล่ารายละเอียดเรื่องที่เธอและผู้หญิงชาวยาซิดีหลายพันคนถูกบังคับให้เป็นทาสและถูกข่มขืนจากไอซิส เธอเล่าว่าพี่ชาย 6 คนและแม่ของเธอถูกไอซิสฆ่าทีละวัน
ปัจจุบันมูราดอายุ 25 ปี เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลที่อายุน้อยที่สุดเป็นอันดับสอง รองจากมาลาลา ยูซาฟไซ เด็กหญิงชาวปากีสถานที่รณรงค์ด้านสิทธิผู้หญิง
การล่วงละเมิดเป็นระบบและเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ทางการทหาร และถูกใช้เป็นอาวุธที่ไอซิสใช้เพื่อต่อสู้กับชาวยาซืดีและกลุ่มศาสนาอื่นๆ
ปีนี้ครบรอบ 1 ทศวรรษที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติผ่านมติ 1820 ในปี 2008 ที่กำหนดให้การใช้ความรุนแรงทางเพศเป็นอาวุธสงครามเป็นอาชญากรรมสงคราม และคุกคามสันติภาพและความมั่นคงของนานาชาติ คณะกรรมการโนเบลระบุว่า โลกที่มีสันติสุขเกิดขึ้นได้จากการตระหนักถึงสิทธิพื้นฐานและความปลอดภัยของผู้หญิง และการปกป้องผู้หญิงในสงครามเท่านั้น
ที่มา:
- https://www.theguardian.com/world/live/2018/oct/05/nobel-peace-prize-2018-live-updates
- https://old.nobelprize.org/pea-press.pdf
- https://edition.cnn.com/world/live-news/nobel-peace-prize-2018-intl-dle/index.html