ในฐานะนักเรียนแฟชั่น เราคิดว่านี่ไม่ใช่เป็นวงการที่ใส่ใจเรื่องศีลธรรมมากนัก โดยเฉพาะเรื่อง PC  (Political Correctness) หรือความถูกต้องทางการเมือง

อย่างที่เราเข้าใจกันง่ายๆ PC ก็คือความระมัดระวังเพื่อที่จะไม่ให้สิ่งที่เราสื่อสารหรือทำลงนั้นไป offend หรือ ‘ทำร้าย’ ใครอื่น ซึ่งทุกวันนี้แทบจะเรียกได้ว่าเป็นกฏกลายๆ ของการอยู่ร่วมกับคนในสังคมไปแล้ว แต่เหตุใดเล่าเราจึงบอกว่าแฟชั่นไม่ใช่วงการที่สนใจเรื่องอย่าง PC มากเท่าไหร่นัก คงต้องขอย้อนไปที่เหตุการณ์หนึ่งซึ่งน่าจะสะท้อนความนึกคิดบางอย่างในวงการแฟชั่นได้เป็นอย่างดี

จำลองเหตุการณ์กึ่งสมมุติที่เกิดขึ้น ณ สถาบันแฟชั่นชื่อดัง ปี 2017, เมืองมิลาน, ประเทศอิตาลี

“….รู้สึกยังไงหลังจากดูวีดีโอนี้”

อาจารย์ผู้สอนวิชา Editorial Styling ผู้มีอาชีพแฟชั่นไดเรคเตอร์ของนิตยสารแฟชั่นหัวอินเตอร์ชื่อดังที่มีสาขาอยู่ทั่วโลกถามขึ้นในห้องเลคเชอร์ บนจอเป็นวีดีโอแฟชั่นภาพขาวดำของคอลเลคชั่นชุดบุรุษจากแบรนด์อิตาเลียนแบรนด์หนึ่งที่เข้าใจยากยิ่งกว่าภาพยนตร์ เฟรนช์ นิว เวฟ ของฟรองซัว ทรุฟโฟต์ เคล้าเสียงเพลงเบสต่ำกระหึ่มเหมือนพายุ

“ก็ดีนะคะ ภาพสวย สร้างมู้ดที่เหมาะกับคอลเลคชั่นของแบรนด์”

“อาฮะ เธอคนนั้นล่ะ”

“ผมชอบมันนะ มันเท่ แล้วก็ดูมีความมัสคิวลีน เป็นสูทที่ดูแข็งแกร่งดี”

อาจารย์เอียงคอแล้วมองบนเล็กน้อยด้วยจริต “ก็โอเค แต่แบบ ฉันอยากรู้ว่าพวกเธอ ‘รู้สึก’ ยังไงตอนที่ดู ไม่ใช่ว่า ‘ชอบ’ หรือ ‘ไม่ชอบ’ มันตรงไหน”

มีความเงียบงันเกิดขึ้นในห้องราวๆ 5 วินาที

พวกเราเป็นนักศึกษาแฟชั่นระดับปริญญาโท หลายคนเป็นเด็กต่างชาติที่ไม่ได้มาจากเมืองหลวงแห่งแฟชั่นทั้ง 4 (ปารีส มิลาน ลอนดอน และนิวยอร์ก) และทุกคนต้องการเป็นส่วนหนึ่งของวงการนี้ เราไม่ต้องการทำให้อาจารย์ผู้ซึ่งทำงานในสายอาชีพนี้รู้สึกไม่พอใจ แต่ในขณะเดียวกัน พวกเราก็ไม่รู้จริงๆ ว่าพูดอะไรผิดไป

“วิจารณ์ได้เลย ไม่ต้องเกรงใจ นี่ไม่ใช่ผลงานฉัน เอาใหม่!”

“…ก็…….อึดอัดค่ะ” นักศึกษาหญิงที่มาจากอเมริกาใต้กล่าว

“ทำไมถึงอึดอัด” อาจารย์ถามกลับ

“บรรยากาศในหนัง มันผิดธรรมชาติไปหมด”

“โอเค ดี ดีขึ้น ตรงไหนผิดธรรมชาติบ้าง”

“การเดินของนายแบบค่ะ มันไม่ใช่การก้าวแบบมนุษย์ปกติ มันเดินหนึ่งก้าว แล้วก็หยุด อีกก้าว แล้วก็หยุด”

“….การจัดแสงก็มีส่วน พอแสงเงามันมี contrast สูงแล้วมันดูมีความน่ากลัว” เพื่อนชาวจีนกล่าว

“น่ากลัว พูดได้ดี มีอะไรอีก”

“นายแบบไม่แสดงสีหน้าเลยแม้แต่นิดเดียว ดูเหมือนไม่ใช่มนุษย์” นักศึกษาชายพูดขึ้นโดยเลือกใช้คำว่า ‘inhuman’

อาจารย์ปิดวีดีโอนั้นลง

“คิดว่าทำไมดีไซเนอร์ถึงอยากจะเชื่อมโยงแบรนด์ของตัวเองเข้ากับคำเหล่านั้นผ่านทางวีดีโอนี้ล่ะ ‘น่ากลัว’ บ้างล่ะ ‘อมนุษย์’ บ้างล่ะ การเอาผู้คนมาใช้เป็นเพียงเบี้ย เป็นเพียงแค่พร็อพ เป็นวัตถุ ไม่ได้มีความนึกคิดหรือจิตใจ พวกนี้ไม่ใช่เรื่องที่ ‘ดี’ เลยถูกมั้ย….”

“พวกเธอบางคนอาจจะกำลังเข้าใจผิด คิดว่าแฟชั่นเป็นเรื่องของความสวยงาม ความถูกต้อง ความเพอร์เฟ็กต์ ไม่เอาแบบนั้น ฉันได้ยินพวกเธอลังเลและเลือกเรียบเรียงคำพูดที่สวยงาม ไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้นในห้องนี้” อาจารย์กล่าวทิ้งท้าย

พวกเราในคลาสมาจากหลากหลายเชื้อชาติ หลายวัฒนธรรม ทั้งเอเชีย ยุโรป และอเมริกัน ในฐานะอาจารย์เธอจึงมีเรื่องที่อยากขอทุกคนในคลาส เพื่อให้ทุกคนสามารถเรียนรู้ ฝึกฝนและสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ นั่นคืออาจารย์ขอให้เราเลิกพูดถึงแต่เรื่องดีๆ เรื่องความสวยงาม เรื่องภาพฝันภาพมายาที่จะทุกคนมีความสุข “ในห้องนี้ไม่ต้องเกรงใจกัน ขอห้ามไม่ให้คิดงานที่จะส่งฉันผ่านฟิลเตอร์ของความ PC”

อาจเหมือนเช่นที่ผู้บริหารของ Victoria’s Secret เคยกล่าวไว้ตอนที่มีดราม่าแรงๆ เมื่อปลายปี 2018 ว่าเขาไม่จำเป็นจะต้อง include นางแบบ transgender เข้าไปในโชว์ เพราะนี่คือโลกแฟนตาซีในช่วงเวลาสั้นๆ ซึ่งนั่นทำให้กลุ่ม LGBTQ+ ไม่พอใจเป็นอย่างมากจนต้องออกมาขอโทษภายหลัง

หรือเหมือนที่ คารีน รอตเฟล์ด ต้องออกจากการเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Vogue Paris เพราะแฟชั่นเซ็ตที่นำนางแบบเด็กหญิงวัยไม่น่าเกินสิบขวบมาแต่งหน้าแต่งตัวและมองจิกกล้องอย่างยั่วยวน และเกิดเป็นประเด็นเรื่องความปลอดภัยของเด็กในวงการบันเทิง

หรืออีกเรื่องร้อนฉ่าในวงการอย่าง #DGTheGreatShow ซึ่งโดนถอดฟ้าแลบด้วยเหตุการณ์หมิ่นชาวจีน แต่เอาเข้าจริงสำหรับคนที่ติดตามวงการนี้มาพอสมควรก็คงจะรู้แหละว่าอิตาสองคนนี้คือคู่ที่ไร้ความ PC ที่สุดในโลกแฟชั่น ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตามแต่

ซึ่ง fun fact— สถาบันแฟชั่นที่เราจบมาตามตัวอย่างกึ่งสมมติด้านบนนั้น เป็นหนึ่งในสถาบันที่ครึ่งหนึ่งของแบรนด์ Dolce&Gabbana จบมาเช่นกัน

อีกหนึ่งแฟชั่นเซ็ตของ Dolce&Gabbana ที่ต้องการตีตลาดจีน แต่กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าดูเหยียดชาวจีน ก่อนที่จะมีดราม่าเรื่องวิดีโอสาวหมวยกินพิซซ่า

อันที่จริงก็ไม่สามารถเหมารวมได้ว่าการสอนในลักษณะนี้เป็นดีเอ็นเอของสถาบันหรือไม่ เพราะอาจารย์ผู้มาเป็นวิทยากรในวิชานั้นเองก็ไม่ได้เป็นอาจารย์ประจำ หรือจะบอกว่าเป็นลักษณะของคนในประเทศนั้นก็อาจจะไม่ถูกต้องนัก แต่ส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่นั่นตามที่ประสบมากับตัวก็เรียกได้ว่าไม่ใช่สังคมที่ PC เสียเท่าไหร่เลย

หนึ่งในสิ่งที่เราคิดตกผลึกเอาเอง อาจเป็นเพราะวงการแฟชั่น ด้วยตัวมันเองแล้วมีลักษณะพิเศษบางอย่างที่ไม่ได้อิงกับชีวิตจริงมากจนเกินไป แฟชั่นคือศิลปะแขนงที่ผสมผสานปัจจัยการใช้ชีวิตและจินตนาการเข้าด้วยกันอย่างลึกล้ำจนแยกได้ยาก

ที่สำคัญ อาจเป็นเพราะวัฒนธรรมและสังคมที่หล่อหลอมโลกแฟชั่นมานั้น ขับเคลื่อนไปด้วยความขบถและเดินอยู่บนเส้นสีเทาที่ไม่มีถูกผิด ดังนั้น การทำสิ่งที่ขัดกับ norm ของสังคม ได้กลายเป็นเหมือนส่วนสำคัญของโลกแฟชั่นไปเสียแล้ว หากการที่โคโค่ ชาแนล ปลุกกระแสให้สาวๆ ลุกขึ้นสวมกางเกงแสล็คอย่างเท่าเทียมกับผู้ชาย (ซึ่งถ้ามองในบริบทของตอนนี้มันก็เข้าทำนองของความ PC น่ะนะ) ขัดกับ norm สังคมที่ว่าผู้หญิงต้องเรียบร้อยอ่อนหวาน การไม่ PC ในบางครั้งก็เป็นการแหก norm ที่ว่าทุกคนควร PC ซึ่งบางทีก็กลายเป็นเรื่องเหยียดในเหยียดอย่างที่มีการถกเถียงกันอยู่ตลอดมา

และทั้งหมดทั้งมวล ภาพต่างๆ ที่สร้างขึ้นมาก็เป็นเพียงมายาที่นำมาประกบกับสินค้าเท่านั้น โดยความสวยงามนั้นอยู่ที่การตีความและความชอบส่วนตัวของผู้บริโภคล้วนๆ เสียมากกว่า

แฟชั่นเซ็ตโดยช่างภาพ Tim Walker ที่มักถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการใช้วัฒนธรรมอื่นมาเป็นเพียง ‘พร็อพ’ โดยไม่ได้เห็นคุณค่าของมันอย่างถ่องแท้

ย้อนกลับไปที่คลาสแฟชั่นในมิลาน เพื่อนคนหนึ่งที่มาจากนิวยอร์ก และเติบโตในปารีส ถึงกับกุมขมับ เมื่อเหล่าเด็กที่โตมาด้วยหัวคิดแบบลิเบอรัลยุคมิลเลนเนียลหลายๆ คนในห้องเรียนให้ความสำคัญกับความ PC และพยายามอ้อมค้อมเพื่อที่จะไม่ offend กัน โดยเฉพาะในสภาพแวดล้อมที่ทุกคนมาจากต่างถิ่น การที่จู่ๆ อาจารย์ในห้องมาบอกให้โยนความ PC ทิ้งไปมันทำให้หลายคนรู้สึกเครียดจนฝ่ามือเปียก

แต่อาจารย์ของเราก็ได้ให้คำสอนที่ติดตรึงในใจเราเอาไว้ ว่า ณ ตอนนี้ ที่ๆ เราอยู่ไม่ใช่โลกแห่งความเป็นจริง เพราะฉะนั้นจงเรียนรู้จากความผิดพลาดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในพื้นที่ปิดนี้ การที่มัวแต่มากลัวว่าสิ่งที่เราคิดมันจะ offend ใครมั้ย โดยเฉพาะในห้องเรียนนี้ที่เป็นเหมือนสนามเด็กเล่นขนาดใหญ่ของความคิดนั้น จะให้โทษ และปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ของเรา จนไฟมันมอดไปก่อนที่เราจะได้ลงไปในวงการจริงๆ เสียอีก

ดังนั้นพื้นที่อย่างในห้องเรียนแฟชั่นจึงเปิดโอกาสให้เราได้พูดกันอย่างตรงไปตรงมา ถึงทัศนคติที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดพื้นที่ถกเถียงกันโดยใช้แฟชั่นเป็นสื่อกลาง เราเห็นความต่างของสิ่งที่วัฒนธรรมหนึ่งมองว่า ‘สวย’ และ ‘แพง’ ซึ่งขัดแย้งกับความ ‘คูล’ ของอีกวัฒนธรรมหนึ่ง ซึ่งกิจกรรมที่แสดงให้เห็นชัดที่สุดก็คือ การสร้างมู้ดบอร์ดนั่นเอง

การทำมู้ดบอร์ดกลุ่มจะใช้เวลาเกิน 6 ชั่วโมงเสมอ เมื่อเราเลือกภาพจากพินเทอเรสต์ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เช่น การที่เราพูดถึงคู่รักที่เต้นรำอย่าง ‘โรแมนติก’ เราอาจจะเลือกภาพคู่แต่งงานวอลซ์กันในชุดขาว แต่เพื่อนต่างชาติส่งภาพซัลซ่าสไตล์ละตินมา ซึ่งมู้ดสากลอย่างความรักและความโรแมนติกได้ถูกแปลออกมาต่างกันด้วยความต่างทางวัฒนธรรม จุดเล็กๆ เหล่านี้เกิดขึ้นเป็นร้อยๆ จุด จนกว่าทุกคนจะสามารถเกลาภาพในหัวให้เข้ากับแบรนด์ได้เป็นหนึ่งเดียว ซึ่งอาจารย์ของเราจะเป็นคนหยิบทุกภาพทุกจุดขึ้นมาอธิบายและสื่อความหมายในมุมมองของ ‘ลูกค้า’ ซึ่งในทางธุรกิจ ตลาด default ของเราคือชาวยุโรป

นั่นคือตัวอย่างหนึ่งในวิธีคิดของโลกแฟชั่นในฐานะ ‘ธุรกิจ’ เมื่อแต่ละแบรนด์มีจุดยืนชัดเจนว่าลูกค้าคือใคร ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกหากบางทีวิธีการนำเสนอภาพบางภาพออกไป จะแคร์บางประเด็นน้อยกว่า (หรือกระทั่งไม่แคร์เลย) ไม่ว่าจะโดยรู้หรือไม่รู้ตัว และความสนุกก็ยิ่งเพิ่มเมื่อพรมแดนในโลกเริ่มเลือน ผู้รับสารทางแฟชั่นไม่ได้มีแต่ชาวยุโรปหรือในหัวเมืองใหญ่ ความท้าทายของวงการแฟชั่นจึงเป็นการจัดวางน้ำเสียงและที่ทางของตัวเอง ว่าจะเลือก PC มากน้อยแค่ไหน หรือไม่ PC ไปเลย เน้นมุ่งไปที่ความคูล-ขบถ-งดงามหรือใดๆ ก็ตามกันลูกเดียว และการวิพากษ์วิจารณ์จากผู้คนหลากหลายมุมโลกที่มีต่อแฟชั่นชิ้นนั้นๆ ก็สะท้อนวัฒนธรรมและค่านิยมบางอย่างได้น่าสนใจไม่แพ้กัน

อย่างการวิพากษ์วิจารณ์กันไปมาในคลาสเรียนครั้งนั้น สุดท้ายแม้เราจะฟังไม่ออกว่ายัยเด็กสเปนขี้จุ๊มันนินทาเราไวปานฟ้าแลบยังไงบ้าง แต่การได้สามารถเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันคนจากหลายวัฒนธรรม กลับทำให้เราเลือกที่จะระวังคำพูดคำจา เพราะเราเรียนรู้และมี respect ให้กับผู้คนที่อยู่ร่วมสังคมกับเราจริงๆ แม้ในคลาสเราตั้งใจแล้วว่าจะไม่ PC กันเลยก็ตาม

ภาพประกอบ: ภาพจากแฟชั่นเซ็ตโดยช่างภาพ Tim Walker ที่ถ่ายในเมียนมาร์ และถูกวิจารณ์เรื่องการไม่ PC อย่างรุนแรงเมื่อปี 2014

Tags: ,