ภาวัช อครเปรมากูน ก็เป็นหนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้เข้าใจและมองเห็นโอกาสของประชาคมอาเซียนมากนัก แต่ระหว่างที่เรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขามีโอกาสได้เป็นตัวแทนเยาวชนไทยในโครงการผู้นำเยาวชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Young Southeast Asian Leaders Initiative – YSEALI) ของรัฐบาลสหรัฐฯ และไปใช้ชีวิตอยู่สหรัฐฯ เป็นเวลา 5 สัปดาห์

หลังจากกลับมาภาวัชนำประสบการณ์ที่ได้มาทำโครงการ Young ASEAN Leader Policy Initiative (YALPI) ของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ  ซึ่งเป็นโครงการที่จัดขึ้นโดยเด็กรัฐศาสตร์เพื่อให้เยาวชนในภูมิภาคอาเซียน 10 ประเทศ มาถกเถียงปัญหาของอาเซียนร่วมกัน และเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา

จากสองโครงการที่ภาวัชเข้าไปมีส่วนร่วม ทำให้เขาตระหนักดีว่า ความเป็น ‘อาเซียน’ มีความสำคัญต่อ ประเทศไทยอย่างไร และในฐานะคนรุ่นใหม่ที่มองเห็นโอกาสมากมายที่เกิดจากการรวมตัวของประเทศในกลุ่มอาเซียน

จุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณสนใจเรื่องอาเซียนเกิดขึ้นได้อย่างไร

ก่อนอื่นต้องเล่าย้อนไปก่อนว่าสมัยตอนเรียนปี 3 มีโอกาสไปเป็นหนึ่งในทีมจัดงาน Youth Forum ของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (Thailand Institute of Justice -TIJ) ที่พยายามผลักดันเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายของสหประชาชาติเข้ากับการพัฒนาระบบยุติธรรมและการป้องกันอาญชากรรมในหมู่เยาวชนในอาเซียน โดยงานจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เป็นเวลา 6 วัน

เป็นความรู้สึกที่ดีมากตอนจัดงาน เพราะผมได้ใกล้ชิดกับผู้แทนเยาวชนอีกหลายประเทศ แล้วบรรยากาศมีพลัง ทุกคนมีของ ทุกคนต่างเป็นผู้นำในชุมชนหรือสังคมของเขา ไม่มิติใดก็มิติหนึ่ง มันจึงสะท้อนมาที่ตัวผมว่า แม้ว่าเราจะเป็นเยาวชนเพียงตัวเล็กๆ แต่เราก็สามารถสร้างสรรค์บางสิ่งบางอย่างที่มีคุณค่าให้สังคมแห่งนี้ได้เช่นกัน

หลังจากนั้นผมเลยคิดว่าจะลองพยายามเปิดโอกาสให้ตัวเอง จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่มารู้จักกับโครงการ YSEALI (Young Southeast Asian Leaders Initiative) ซึ่งผมได้เป็นตัวแทนเยาวชนไทยไปที่เมืองโอมาฮา รัฐเนบราสกา สหรัฐฯ เพื่อไปเรียนรู้ภาคประชาชนสังคมที่นั่นว่ามีบทบาทอย่างไรในการขับเคลื่อนสังคม เป็นระยะเวลาเดือนครึ่ง

นอกจากนี้ยังโอกาสไปเรียนที่ University of Nebraska at Omaha เขาสอนวิชาเกี่ยวกับความเป็นผู้นำและการคลี่คลายความขัดแย้ง สำหรับผมมองว่าสองวิชานี้แยกออกจากกันไม่ได้ เพราะการเป็นผู้นำจำเป็นต้องทำงานกับคนหมู่มาก จึงเป็นเรื่องปกติที่จะต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้งและความไม่ลงรอยกัน ในฐานะผู้นำ เราจะมีทางออกอย่างไรให้กับทีมของเราหรือเราจะแก้ปัญหาแต่ละปัญหาอย่างไร

การไปอยู่และไปเรียนที่นั่น ทำให้ผมเริ่มเชื่อว่าในฐานะเยาวชนเราก็สามารถสร้างอิมแพค โดยเป็นผู้นำของชุมชนและสังคมในวิถีทางของตัวเองได้เช่นกัน การไปทำหน้าที่ตรงนั้นเป็นการเพิ่มประสบการณ์ เพิ่มความรู้ เพื่อให้เราได้เก็บเกี่ยวนำสิ่งเหล่านั้นมาต่อยอดในเวทีและชุมชนของเรา

ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตเลยไหม กับการได้เป็นตัวแทนเยาวชนไทย และได้ไปสหรัฐฯ

แน่นอนครับ เป็นสิ่งที่ทำให้ผมตัดสินใจกลับมาทำโครงการของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ชื่อว่า Young ASEAN Leders Policy Initiative (YALPI) คือตอนนั้นไฟแรงมาก อยากเอาความรู้และประสบการณ์ที่ได้มาทำโครงการอะไรสักอย่างของตัวเอง พอดีที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ มีโครงการ YALPI ซึ่งเป็นโครงการสืบเนื่องจากปีก่อนหน้านี้ แล้วเป็นเวทีแรกๆ สำหรับเด็กเรียนรัฐศาสตร์ในอาเซียนที่จะมาถกเถียงปัญหาร่วมกันของภูมิภาคโดยใช้กรอบการมองแบบรัฐศาสตร์ แต่ต่อมาปีที่ผมจัด โครงการเริ่มขยายกรอบการรับสมัครมากขึ้น ไม่ให้เฉพาะเจาะจงอยู่เพียงแค่เด็กรัฐศาสตร์เพียงอย่างเดียว แต่เปิดรับทุกกลุ่ม เพราะถือว่าเยาวชนไม่ว่าจะมาจากกลุ่มไหนๆ ต่างร่วมกันเผชิญปัญหาของภูมิภาคด้วยกันทั้งสิ้น

ตอนแรกคิดหนักเหมือนกันว่าจะทำงานนี้ดีไหม เพราะการทำหน้าที่เป็นประธานงานที่ใหญ่ขนาดนี้ ทีมงานกว่า 50 ชีวิตไม่ใช่เรื่องง่าย แล้วรุ่นพี่ก็ทำไว้ดีมาก เกือบถอดใจยอมแพ้แล้วด้วยซ้ำ แต่เราก็ถามตัวเองว่า “ถ้าหากมองย้อนกลับมาในอีก 10 ปีข้างหน้า เราจะเคารพการตัดสินใจของตัวเองไหม ที่ยอมแพ้ในครั้งนี้ ผมตอบได้เลยว่า เสียใจแน่นอน” เลยจึงตัดสินใจทำแล้วก็คิดว่า “ถ้าทำแล้วต้องทำมันให้ดีที่สุด อย่างน้อยต้องดีเท่า หรือต้องมีอะไรแปลกใหม่จากปีที่แล้ว”

ผมถือคติอย่างหนึ่งว่า “ถ้าหากเราทำอะไรแล้ว เราต้องสามารถริเริ่มสิ่งใหม่ให้กับตัวงานนั้นได้ เราจะผสมผสานความเป็นเราเข้ากับตัวงานเหล่านั้นได้อย่างไร และที่สำคัญอะไรคือ Legacy ของเราที่ฝากไว้ในงานชิ้นนั้น”

ท้ายที่สุดเราค้นพบว่า สิ่งสำคัญสำหรับโครงการ YALPI คือเราจะทำอย่างไรให้เยาวชนที่เข้าร่วมรับรู้และเข้าใจศักยภาพของตัวเองว่า แม้ว่าจะเป็นแค่เยาวชนก็ตาม และสามารถลุกขึ้นมาสร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้นได้เช่นกัน แค่คุณกล้าลุกขึ้นมาทำบางอย่างก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว ซึ่งมั่นสะท้อนออกมาในคำขวัญของงานที่ว่า ‘Igniting the Spirit of Youth’

มุมมองต่ออาเซียนทั้งก่อนและหลังเข้าร่วมกิจกรรมเปลี่ยนไปอย่างไร

ก่อนหน้านี้พูดกันว่า อาเซียนเป็นโอกาส เรายังไม่เข้าใจว่ามันคือโอกาสตรงไหน เพราะเราไม่ได้เข้ามาอยู่ตรงนี้ พอมาคลุกคลีจริงๆ เห็นเลยว่าโอกาสมีอยู่เยอะมาก หลายคนคนชอบสบประมาทอาเซียนว่ามีไปก็เท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับเรา แต่ผมว่าถ้าไม่มีอาเซียน หลายเวทีในภูมิภาคนี้และสำหรับเยาวชน มันจะไม่เยอะและเป็นระบบระเบียบมากขนาดนี้ หลายเวทีเกิดได้เพราะอาเซียน อย่างน้อยที่สุดคุณได้เครือข่ายระหว่างกัน ถ้าหากไม่มีแพลตฟอร์มของอาเซียน โอกาสตรงนี้คงเกิดยากหรือเกิดขึ้นได้น้อยกว่านี้

แต่ว่าการนำผลผลิตหรือนโยบายจากงานนั้นไปใช้ มันเป็นอีกเรื่องว่าสำเร็จหรือเปล่า ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะขนาดจะผลักดันนโยบายในประเทศยังยากเลย แล้วความร่วมมือ 10  ประเทศยิ่งยากเข้าไปใหญ่

ผมมองว่าเครือข่ายเยาวชนเป็นสิ่งสำคัญ ใครๆ ก็พูดกันว่า ‘คุณภาพสังคมเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับคุณภาพของคน และเยาวชนคืออนาคตของประเทศชาติ’ แต่อยากให้มองมากกว่านั้นคือ เครือข่ายของเยาวชนที่สร้างไว้ในวันนี้ เป็นพื้นฐานความไว้ใจระหว่างประเทศในอนาคต ซึ่งเครือช่ายเยาวชนที่สร้างไว้ตั้งแต่วันนี้ เหมือนการหว่านเมล็ดเอาไว้ สักวันหนึ่งเมื่อเราโตขึ้น ผมเชื่อว่าผู้นำเยาวชนในวันนี้เขาจะโตไปเป็นผู้นำประเทศของเขา การที่ได้รู้จักกันตั้งแต่วันนี้ มันคือการปลูกฝังความไว้ใจเพื่อความร่วมมือของอาเซียนในอนาคต

สังคมเพื่อนที่ได้จากเครือข่ายอาเซียนเป็นอย่างไร อะไรคือความแตกต่างระหว่างเรากับเยาวชนคนอื่นๆ

ตอนโครงการ YSEALI ผมไปอยู่กับเพื่อนอาเซียนอีก 21 คน จาก 10 ชาติในอาเซียน การอยู่ด้วยกันตลอดระยะเวลากว่าเกือบ 2 เดือน ทำให้ซึมซับวัฒนธรรมและลักษณะของคนแต่ละชาติว่าเขามีวิถีชีวิต วิธีคิด ต่อเรื่องราวต่างๆ เป็นอย่างไร แม้ว่าจะมีลักษณะบางอย่างที่พอเดาได้ว่าคนชาตินี้มีลักษณะอย่างไร แต่มันก็ไม่ใช่ทั้งหมด

ผมได้เรียนรู้ว่าการลดการ Stereotype คนอื่นในการอยู่รวมกันเป็นสิ่งสำคัญ คนเราไม่ควรไปตัดสินคนอื่นด้วยกรอบ ความคิด หรือมุมมองของเราเพียงอย่างเดียว เพราะแน่นอนว่าคนเราเติบโตมาในสังคมที่มีความเชื่อและการหล่อหลอมที่แตกต่างกัน ผมเริ่มเรียนรู้ว่า  การมองคนอื่นหรือการตัดสินใจคนอื่นในทางใดทางหนึ่งมันมักจะไปไม่ไกลกว่าพื้นที่มุมมอง ทัศนคติ และความคิดของเราเอง การตัดสินคนอื่นมันไม่ได้ทำให้เข้าใจเห็นคนอื่นได้มากนัก ดังนั้น ฉะนั้นในขั้นแรก ควรเปิดใจ ลองฟังก่อน ว่าทำไมเขาถึงมองเรื่องนั้นแบบนั้น ทำไมมองเรื่องนี้แบบนี้ เพื่อให้อย่างน้อย ได้มีพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ผมมองสิ่งนี้คือพื้นฐานที่สำคัญของการต่อยอดความร่วมมือภายในภูมิภาคอาเซียนในอนาคต

โดยพื้นฐานเยาวชนส่วนมากก็เหมือนกัน ถ้าจะแตกต่างกันบ้างก็คงเป็นเรื่องของ การตระหนักรู้ในพลังของตนว่า ทุกคนมีพลังในการสร้างและขับเคลื่อนสังคมให้ดีขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แม้ว่าช่องทางเหล่านั้นอาจไม่ได้มีมาก แต่มันก็ยังพอมีช่องทางอยู่บ้าง

การตระหนักว่าเรามีพลังหรือ ‘มีของ’ เป็นสิ่งสำคัญ เพราะมันจะเป็นจุดเชื่อมให้เรากล้าลองทำอะไรสักอย่าง อาจไม่ใช่เริ่มต้นจากการคิดทำเพื่อคนอื่น อาจทำเพื่อตนเองในสิ่งที่เราทำแล้วมีความสุข พอเรามีความสุข รู้ว่าทำได้ เราจะเห็นคุณค่าของมัน แล้วค่อยๆ หาเพื่อนร่วมงานที่เห็นคุณค่างานคล้ายๆ เรา เพื่อขยายไปสู่ระดับที่ใหญ่ขึ้น

ในฐานะเยาวชน มีความคาดหวังอะไรกับอาเซียนในอนาคตบ้าง

ถ้ามองให้เรียบง่ายที่สุด อนาคตของประเทศหรือภูมิภาคจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพของเยาวชนในวันนี้ ภาครัฐจึงควรจะให้ความสำคัญกับการศึกษา ส่งเสริมเยาวชนให้รู้จักคิดเป็น ทำเป็น มากกว่าแนวทางการศึกษาแบบเดิมที่มักจำกัดอยู่เพียงแค่ในตำราและห้องเรียน อีกส่วนซึ่งเป็นประเด็นสำคัญต่อประชาคมอาเซียนในระยะยาวคือ เยาวชนในฐานะกลุ่มหรือ ‘เครือข่ายเยาวชน’ การจะผลักดันการแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่งในภูมิภาคไม่มีทางทำได้ถ้าหากปราศจากความร่วมมือจากหลายภาคส่วน การสร้างเครือข่ายเยาวชนจึงเป็นสิ่งที่ควรได้รับการสนับสนุนและเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้เข้าไปมีส่วนร่วม ซึ่งตอกย้ำถึงแนวทางของอาเซียนที่พยายามจะเปลี่ยนวิถีการมองแบบเดิมที่เอารัฐเป็นศูนย์กลาง (State-Centric) มาเป็นประชาชนเป็นศูนย์กลาง (People-Center) มากขึ้น

ท้ายที่สุดแล้ว การจะสร้างประชาคมอาเซียนที่เข้มแข็ง ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐเองและภาคประชาชนซึ่งในที่นี้คือ ‘เยาวชน’ จะต้องทำงานสอดรับและประสานกัน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายให้ดำเนินไปได้อย่างเป็นองคาพยพ และการสร้างเครือข่ายเยาวชนในอาเซียนให้แน่นแฟ้นกันตั้งแต่วันนี้คือพื้นฐานของการสร้างความไว้ใจระหว่างประเทศในอนาคต อีกนัยหนึ่งคือ ความไว้ใจ ความเข้าใจ และการเรียนรู้ซึ่งกันและกันตอนนี้จะเป็นพื้นฐานของความร่วมมือระดับภูมิภาคในอีก 10 ปี 20 ปี หรือ 30 ปีข้างหน้า เพราะความร่วมมือระหว่างประเทศจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าหากไม่ได้มีความไว้ใจอย่างน้อยระดับหนึ่งเป็นพื้นฐาน

ในฐานะเยาวชน มองเห็นโอกาสด้านไหนบ้างในการเป็นสมาชิกประชาคมอาเซียน

เรื่องแรกคืออาเซียนเป็นโอกาสสำหรับเยาวชนที่จะได้เพิ่มขีดความสามารถตัวเอง เมื่อก่อนโอกาสของเยาวชนส่วนใหญ่มันถูกจำกัดอยู่เพียงแค่ภายในประเทศ ซึ่งเรียกร้องความรู้และทักษะจำนวนหนึ่ง แต่วันนี้เมื่อความร่วมมือของอาเซียนมีมากขึ้นผ่าน

ประวัติศาสตร์อันยาวนานมากว่าครึ่งศตวรรษ  มันทำให้เกิดเวทีความร่วมมือของภูมิภาคในระดับย่อยๆ เพิ่มขึ้นอีกมากมายและหลายเวทีก็เปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมซึ่งเวทีระดับที่สูงขึ้นเหล่านี้ก็เรียกร้องความรู้และทักษะที่มากตามไปด้วย

พูดง่ายๆ คือว่าเมื่อประตูบานใหญ่เปิดขึ้นแล้ว สิ่งสำคัญคือเราจะเตรียมตัวอย่างไรที่จะเพิ่มโอกาสเหล่านั้นเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเอง สังคม ประเทศ ภูมิภาค และประชาคมโลกมากที่สุด เรื่องต่อมาคือ อาเซียนเป็นโอกาสสำหรับเยาวชนที่จะได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันทั้งในแง่องค์ความรู้ การทำงาน ไปจนถึงความแตกต่างด้านสังคมและวัฒนธรรม เยาวชนไทยอาจคุ้นชินกับองค์ความรู้ แนวทางการทำงานในรูปแบบหนึ่ง แต่เมื่อประตูอาเซียนได้เปิดออก เราจะได้เห็นองค์ความรู้ แนวทางการทำงานในรูปแบบใหม่ ซึ่งหลายครั้งมันเป็นสิ่งจำเป็นที่เราจะต้องมอง ‘เพื่อนบ้าน’ เพื่อให้เห็น ‘ตัวเรา’ ว่ามีพื้นที่ตรงไหนที่ยังพัฒนาต่อไปได้ การเป็น ‘เยาวชนที่ตื่นตัว’ เป็นสิ่งสำคัญในยุคนี้เพราะในท้ายที่จะสุดแล้ว ถ้าหากเยาวชนในภูมิภาคเข้มแข็งก็จะกลายเป็นกลไกส่วนสำคัญในการพัฒนาเพื่อตอบสนองต่อโลกที่แปรเปลี่ยนอย่างรวดเร็วได้ต่อไป

เรื่องของอาเซียนอาจอยู่ใกล้ตัวกว่าที่คิด สำหรับเยาวชนที่อยากหาความรู้เกี่ยวกับอาเซียน สามารถหาความรู้เพิ่มเติมจากห้องสมุดของโรงเรียนต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการ ‘1 จังหวัด  1  โรงเรียน 1 ห้องสมุดอาเซียน เพื่อประชาชนและเยาวชนไทย’ ซึ่งเป็นโครงการที่กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ จัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียนในสังคมไทยมาตั้งแต่ปี 2557 ปัจจุบันมีห้องสมุดอาเซียน จำนวน 44 แห่งทั่วประเทศ และมีแผนการจะขยายให้มีห้องสมุดอาเซียนในทุกจังหวัดในอนาคต

Fact Box

  • สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน  (Association of  Southeast  Asian  Nations  - ASEAN)  ก่อตั้งขึ้นโดยปฏิญญากรุงเทพ  (Bangkok  Declaration)  หรือปฏิญญาอาเซียน  (ASEAN  Declaration)  เมื่อวันที่  8  สิงหาคม  2510 โดยผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันการก่อตั้งอาเซียน คือ พันเอก (พิเศษ) ดร. ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยในขณะนั้น   โดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือของประเทศสมาชิกในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของประชาชน ปัจจุบันมีประเทศสมาชิก 10  ประเทศ และมีประชากรในภูมิภาครวมกันกว่า 600 ล้านคน
  • อาเซียนมีความร่วมมือด้านการศึกษาในภูมิภาค โดยมีการจัดตั้ง ASEAN University Network (AUN)  เพื่อการเพิ่มคุณภาพการศึกษา และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยในอาเซียน โดยมีความร่วมมือในการทำวิจัย ทุนการศึกษา และโครงการนักศึกษาแลกเปลี่ยน ปัจจุบัน มีสมาชิก จำนวน 30 สถาบันจากทุกประเทศอาเซียน สมาชิกที่มาจากประเทศไทย มีจำนวน 5 สถาบัน ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.aunsec.org/

 

Tags: , , , ,