“กินยาอะไรมาบ้าง” หรือไม่ก็ “ไปรักษาที่ไหนมาแล้วหรือยัง” เป็นคำถามที่ผมมักจะถามคนไข้เป็นประจำ ไม่ว่าอาการป่วยนั้นจะเป็นโรคง่ายๆ อย่างไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดหัวก็ตามที

ในตำราการซักประวัติและตรวจร่างกายบอกไว้ว่า การถามถึงการรักษาก่อนหน้าในการป่วยรอบเดียวกันนี้ (present illness) เป็นสิ่งที่หมอควรถามคนไข้อยู่แล้ว ยิ่งถ้าเคยไปหาหมอมาก่อน หมอก็มักจะถามอย่างละเอียดว่าคนไข้ไปหาหมอด้วยอาการอะไร? หมอส่งตรวจอะไรบ้าง? ผลเป็นอย่างไร? วินิจฉัยว่าเป็นอะไร? ให้ยาอะไร? กินแล้วได้ผลเป็นอย่างไรบ้าง?

แต่สำหรับโรคทั่วไปที่เพิ่งป่วยมา 2-3 วัน การถามแบบนี้ก็อาจทำให้เสียเวลา เพราะถึงจะได้คำตอบมาอย่างไร ยาที่หมอจะจ่ายให้ก็ยังเป็นยาตัวเดิมอยู่ดี

ผลได้ : ปรับวิธีใหม่ให้เหมาะสม

ผมมักจะถามคำถามเหล่านี้กับคนไข้กลุ่มที่ป่วยมา 3-4 วันแล้ว เพราะคาดว่าเขาน่าจะซื้อยากินเองแล้วแต่ยังไม่ดีขึ้นเลยมาหาผม ส่วนใหญ่เป็นคนไข้กลุ่มวัยทำงานที่มักจะไม่ยอมลางานเพื่อมาพบหมอเป็นอันขาด เพราะบางบริษัทถ้าลา (ถึงจะลาป่วย) ก็จะไม่ได้รับเงินค่าจ้างหรือถูกตัดเบี้ยขยัน

คนไข้อีกกลุ่ม คือคนไข้ที่ป่วยมาเป็นสัปดาห์แล้ว และไม่น่าจะมาพบผมเป็นคนแรก แต่เคยไปรักษาที่อื่นหรือมาพบหมอคนอื่นในโรงพยาบาลเดียวกันมาแล้ว การถามประวัติการรักษากับกลุ่มหลังนี้จะได้ประโยชน์สูงสุด เพราะสาเหตุของการกินยาหรือได้รับการรักษาแล้วยังไม่หายขาด อาจเป็นได้ตั้งแต่โรคหายแล้วแต่กำลังอยู่ในระยะพักฟื้น หรือโรคเดิมยังอยู่จึงต้องปรับหรือเปลี่ยนยาที่ใช้ หรือโรคเก่าหายแล้วแต่มีโรคใหม่เกิดขึ้นแทน

บางอาการที่ยังไม่ชัดเจนและไม่ได้เป็นรุนแรง หมอคนแรกก็อาจทดลองรักษาไปก่อนตามหลักความน่าจะเป็น ว่าอาการของคนไข้นั้นเป็นอาการที่พบบ่อยในโรคอะไร ก็ให้ยารักษาโรคนั้นๆ สมมติว่าเป็นยา ก. (ในเวชระเบียนมักจะเขียนว่า try treat…) แต่เมื่ออาการยังไม่ดีขึ้น คนไข้ก็จะมาพบหมอคนที่ 2 พอทราบว่าคนไข้กินยา ก. มาแล้ว ก็จะได้เปลี่ยนวิธีการรักษา คือไม่จ่ายยา ก. ซ้ำอีก จะเห็นว่าข้อมูลการรักษาก่อนหน้ามีผลต่อการวางแผนการรักษาต่อ และถ้าเป็นไปได้ คนไข้ควรพกยาที่กินอยู่เดิมติดตัวมาด้วยทุกครั้ง

ส่วนคนไข้ที่ป่วยมาวันแรก เช่น เพิ่งเป็นเมื่อเช้าแล้วรีบมาโรงพยาบาลเลย ความจริงกลุ่มนี้ก็น่าถามคำถามทำนองเดียวกัน เพราะบางคนอาจต้องการมาขอใบรับรองแพทย์เพื่อหยุดงานเพียงอย่างเดียว แต่ไม่กล้าบอกหมอไปตามตรง (เท่าที่ผมถามคนไข้ โรงงานเกือบทุกโรงในเขตอำเภอที่ผมอยู่ ต้องให้พนักงานมาขอใบรับรองแพทย์ประกอบการลาป่วยทุกครั้ง ถึงแม้จะลาไม่เกิน 3 วันตามที่กฎหมายแรงงานระบุไว้ก็ตามที) ถ้าคนไข้มียากินอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายยาเพิ่มให้ซ้ำซ้อน เพราะการรักษาในวันแรกๆ มักเป็นยารักษาตามอาการเพียงอย่างเดียว

“เอาใบรับรองแพทย์อย่างเดียวพอรึเปล่าครับ” บางครั้งผมก็จะถามไปตามตรง ถ้าสังเกตว่าคนไข้ไม่ได้ป่วยหนักมาก

ผลพลอยได้ : เข้าใจอะไรผิดอยู่หรือเปล่า

ผลพลอยได้จากการถามคนไข้ว่ากินยาอะไรหรือไปรักษาที่ไหนมาบ้าง คือการได้รู้พฤติกรรมความเจ็บป่วยของคนไข้ (illness behavior) ว่าเขามีความคิดหรือความเชื่อต่อความเจ็บป่วยอย่างไร (disease vs. illness) ส่งผลให้มีการดูแลตัวเองไรบ้าง (self-care) และที่สำคัญคือ ทำให้ผมได้มีโอกาสแก้ไขความเข้าใจผิดบางอย่างที่ไม่ควรละเลยให้เข้าใจผิดเช่นนั้นต่อไป

  1. การดูแลอาการเจ็บป่วยตัวเอง ผมพบว่าคนไข้แต่ละคนมีความหลากหลายของ ‘ระดับ’ ในการดูแลตัวเอง ตั้งแต่ไม่ได้ดูแลตัวเองเลย หวังจะมาพึ่งพายาของหมอเพียงอย่างเดียว เช่น มีไข้สูง แต่ไม่ได้หาซื้อยากินเองก่อน เรื่อยไปจนถึงดูแลตัวเองอย่างดี ระหว่าง 2 สุดขั้วนี้ มีคนไข้ที่เฝ้าคอยสังเกตอาการตัวเองก่อน “คิดว่าไม่เป็นอะไรมาก” พอ 2-3 วันไม่หายจึงมาโรงพยาบาล บางคนไปขอรับยาจากห้องพยาบาลของโรงงาน บางคนซื้อยากินเองจากร้านขายยา

คนไข้บางรายบอกว่า “ไม่ขอรับยาพาราเซตามอล” เพราะซื้อเป็นกระปุกใหญ่ติดไว้ที่บ้านอยู่แล้ว (ถูกต้องแล้วครับ เพราะยาแก้ปวดลดไข้เป็นยาสามัญประจำบ้าน)

  1. ความเชื่อ หรือมุมมองของคนไข้ต่ออาการเจ็บป่วยของเขาว่าเกิดจากอะไร ต้องรักษาอย่างไร ยกตัวอย่างคนไข้รายหนึ่งมีอาการขาข้างซ้ายบวมแดงร้อนมา 5 วัน ตรวจดูแล้วเห็นว่าเป็นผิวหนังอักเสบติดเชื้อ ถ้าผมไม่ถามอะไรมากก็อาจจ่ายยาฆ่าเชื้อให้กลับไปกินที่บ้านแล้ว แต่วันนั้นผมติดปากถามคำถามที่ว่านี้ขึ้นมา ก็เลยได้รู้ว่าคนไข้ไปรักษากับ “หมอเป่า” มาก่อน เพราะเชื่อว่าอาการนี้เกิดจากอากาศไม่ดี ต้องให้หมอเป่า ปรากฏว่าอาการก็ดีขึ้นด้วย แต่ผ่านไป 2 วันแล้วยังไม่หายขาดจึงมาปรึกษาหมอที่โรงพยาบาล ผมเลยถามเพิ่มว่า “คิดว่าเกิดจากเชื้อโรครึเปล่า” ซึ่งคนไข้เองก็คิดอยู่เหมือนกัน แต่ตอนแรกคิดว่าหมอเป่าจะช่วยเป่าเชื้อโรคให้ออกไปด้วย
  2. ความเข้าใจผิดในการดูแลรักษาตัวเอง ทั้งความรู้เกี่ยวกับสุขอนามัยพื้นฐานและทักษะในการดูแลตัวเองเบื้องต้น ถ้าไม่ได้ถามคำถามนี้กับคนไข้ ผมก็ไม่มีทางรู้เลยว่าคนไข้มีความเข้าใจผิดอยู่ อย่างการกินยาพาราเซตามอลซึ่งเป็นยาสามัญประจำบ้านและประจำโรงพยาบาลด้วย (บางคนล้อหมอว่า ป่วยทีไร เอะอะอะไรก็จ่ายแต่ยาพาราฯ) บางคนยังเข้าใจว่าต้องกินหลังอาหาร หรือถ้ากินตอนท้องว่างแล้วจะกัดกระเพาะ ทั้งที่ความจริงแล้วสามารถกินเวลาปวดหรือมีไข้ได้เลย เพียงเว้นระยะห่างจากรอบก่อนหน้า 4-6 ชั่วโมง ทำให้ตอนมาโรงพยาบาลคนไข้ก็ยังวัดได้ไข้สูงอยู่

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับยาพาราฯ ที่พบบ่อยอีกอย่าง คือพอถามถึงว่า “มีไข้แล้ว ได้กินยาลดไข้มาหรือยัง” จะมีคนไข้หลายคนตอบว่าไม่กล้ากินยามา หรือไม่ได้ให้ลูกกินยามาเพราะกลัวจะวัดอุณหภูมิได้ปกติ แล้วหมอจะไม่เชื่อว่ามีไข้จริงๆ

หรืออย่างกรณีล่าสุดที่ผมเพิ่งเจอมา คือคนไข้มีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน ส่วนใหญ่ก็มักจะกินยาแก้เมารถเมาเรือเม็ดกลมสีเหลืองมาก่อนแล้ว แต่พอถามคนไข้รายนี้ เขากลับเล่าให้ฟังว่ากินยาชื่อ “พอนสแตน” มา (ผู้หญิงน่าจะรู้จักกันดีเพราะเป็นยาแก้ปวดประจำเดือน) เนื่องจากเคยกินมาหลายครั้งแล้วก็หาย แต่ครั้งนี้ไม่หาย ซึ่งตามทฤษฎีแล้วไม่หายแน่นอน เพราะเป็นยาแก้อักเสบ หากคนไข้เลือกใช้ยารักษาตามอาการถูกต้องตั้งแต่แรกก็อาจไม่ต้องเสียเวลามาโรงพยาบาลแล้วก็ได้

ดังนั้นจะเห็นว่าคำถาม “แล้วยังงี้กินยาอะไรมาบ้าง” หรือไม่ก็ “ไปรักษาที่ไหนมาแล้วหรือยัง” ที่หมอถูกสอนให้ถามคนไข้ทุกครั้งอยู่แล้ว นอกจากจะเกิดผลได้ คือช่วยในการวินิจฉัยและการรักษาโรคให้ต่อเนื่องแล้ว ยังมีผลพลอยได้ที่ไม่ใช่แค่การรับรู้หรือเข้าใจภูมิหลังของคนไข้เท่านั้น แต่ยังช่วยแก้ไขวิธีการดูแลตัวเองเบื้องต้นของคนไข้เสียใหม่ เผื่อว่าเจ็บป่วยครั้งต่อไปจะได้ดูแลตัวเองถูกต้องก่อนมาพบหมอ

Tags: , , , ,