ในระบอบประชาธิปไตย ‘สภาผู้แทนราษฎร’ ถือเป็นอีกหนึ่งสถาบันทางการเมืองที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้ไม่น้อยไปกว่า ‘ฝ่ายบริหาร’ และถือเป็นสถาบันทางการเมืองที่มาจากการเลือกของประชาชน 100% ที่สามารถสะท้อนความคิดและเจตจำนงผ่านพรรคการเมืองได้
มาวันนี้ เวลาของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 26 ได้ล่วงเลยมาแล้วกว่า 550 วันหรือคิดเป็น 1 ปีครึ่งพอดิบพอดี ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมไปไม่น้อย เช่น การผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่ได้เปิดประตูแห่งความเป็นไปได้ ให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถใช้ชีวิตคู่กันเฉกเช่นคู่รักทั่วไปเสียที และทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศที่ 2 ของทวีปต่อจากไต้หวันที่รองรับสิทธิแห่งรักนี้
อย่างไรก็ตามในปี 2567 ที่ผ่านมา สภาฯ แห่งนี้ก็เต็มไปด้วยความปั่นป่วนเช่นเดียวกัน เมื่อเกิดการพลิกขั้วเปลี่ยนข้างของรัฐบาล หรือการถอนร่างกฎหมายหลายฉบับจนถูกสื่อมวลชนตั้งฉายาว่า ‘เหลี่ยม (จน) ชิน’ ทั้งการที่พรรคแกนนำรัฐบาลอย่างพรรคเพื่อไทย ‘เขี่ย’ พรรคพลังประชารัฐ พรรคของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ออกมาเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านกับพรรคประชาชน และเทียบเชิญพรรคประชาธิปัตย์ที่ครั้งหนึ่งเป็น ‘ไม้เบื่อไม้เมา’ เข้าร่วมเป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรี
ทั้งนี้หากมองข้ามเกมการเมืองออกไป อีกหนึ่งความน่าสนใจของสภาฯ ชุดนี้คือ มี ส.ส.จำนวน 268 คน จาก 500 คนเป็น ส.ส.หน้าใหม่ หากพูดให้เห็นภาพอย่างง่ายคือ ‘เกินครึ่ง’ ของจำนวน ส.ส.นั้นไม่เคยทำงานการเมืองมาก่อน ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นผลโดยตรงจากชัยชนะของพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566
โดยหนึ่งใน ส.ส.หน้าใหม่ที่มาพูดคุยกับเราในวันนี้คือ ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคประชาชน ที่หลายคนคงคุ้นหน้าค่าตากันเป็นอย่างดี เพราะครั้งหนึ่งเมื่อปี 2562 ได้ลงแข่งขันในสนามการเลือกตั้งเช่นเดียวกันในนามพรรคประชาธิปัตย์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ก่อนจะย้ายสังกัดมายังพรรคก้าวไกลเมื่อปี 2565 ในฐานะผู้จัดการการรณรงค์สื่อสารนโยบายพรรค และได้รับเลือกตั้งเป็นปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 11 ในปี 2566
เพื่อเป็นการเริ่มศักราชใหม่ของสภาฯ ชุดที่ 26 ในปี 2568 The Momentum ได้ชวนพริษฐ์มานั่งบายๆ รีแคปสภาฯ ตลอดปี 2567 และค้นหาคำตอบว่า ทำไม ‘สัปปายะสภาสถาน’ ถึงกลายเป็น Place แห่งความทรงจำแห่งปี สถานที่ที่เป็นทั้ง Past และ Present ของเขา
‘Place of Change’
พริษฐ์เริ่มบทสนทนาระบุถึงสาเหตุที่เขาได้เลือก ‘สภา’ ให้เป็นพื้นที่แห่งความทรงจำในปี 2567 ว่า 2567 เป็นปีแรกที่ได้ทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนราษฎรแบบ 1 ปีเต็ม เพราะในปี 2566 ทำได้แค่ครึ่งปีเท่านั้น เนื่องจากสภาฯ ชุดล่าสุดนี้เปิดครั้งแรก เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2566 อีกทั้งเขาคิดว่า สภาฯ มีความสำคัญต่อประเทศในหลายมิติ
“ผมคิดว่า สภาผู้แทนราษฎรเป็นสถานที่ที่บังคับให้คนที่เห็นต่างต้องมาคุยกัน ตอนนี้เวลาเราเล่นโซเชียลมีเดีย (Social Media) อัลกอริทึม (Algorithm) มันฉลาดมาก จนหลายครั้งเราเจอแต่เนื้อหาที่ตรงกับความคิดเห็น หรือความสนใจของเรา
“แต่พอเป็นสภาผู้แทนราษฎร ในเมื่อทั้ง 500 คนมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งประชาชนย่อมมีชุดความคิดที่แตกต่างหลากหลาย มันก็เลยเป็นสถานที่ที่บังคับให้คนที่เห็นต่างกันมาถกเถียงกัน แลกเปลี่ยนกัน และหาข้อสรุปร่วมกัน”
พริษฐ์ยังระบุถึงอีกสาเหตุที่เขาชอบสภาฯ นั่นเป็นเพราะ สภาฯ เป็นที่รวมตัวกันของ ส.ส.พรรคประชาชนกว่า 150 คน เพราะตนเชื่อว่า การขับเคลื่อนทางการเมืองไม่สามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียวแน่นอน
“ในมุมหนึ่งก็เป็นสภาวะที่ดีของจิตใจเหมือนกันที่ทุกวันพุธ-วันพฤหัสบดี เราจะได้เจอเพื่อนร่วมเดินทางของเรา ในแต่ละสัปดาห์จะมีประเด็นอะไรที่ได้ต้องเรียนรู้จากกันและกันบ้าง มันทำให้ผมรู้สึกว่า สภาฯ เป็นเหมือนสถานที่พักใจของผม” โฆษกพรรคประชาชนกล่าว
เมื่อถามว่า งานการเมืองนั้นแตกต่างจากที่คุณคิดหรือไม่
“ไม่ได้มีอะไรที่ถึงขั้นแตกต่างจากที่คาดคิดไว้” ส.ส.พรรคประชาชนให้ตอบคำถามสั้นๆ
“ผมรู้ว่างานการเมืองไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะผลักดันความสำเร็จได้ภายใน 1-2 วัน แต่มันต้องอาศัยเวลา อาศัยความมุ่งมั่นในการผลักดัน
“งานการเมืองมันไม่ได้มีวันหยุด เพราะปัญหาประชาชนไม่มีวันหยุด เพราะฉะนั้นเวลาเราเข้ามาทำงาน เราก็ต้องบริหารพลังของตัวเองให้เรายืนระยะตรงนี้ได้”
เขากล่าวต่อว่า ต้องตระหนักอยู่เสมอว่า เรามีเวลาเพียง 4 ปีเท่านั้น เพราะฉะนั้นต้องใช้ทุกวินาทีให้คุ้มค่าที่สุด เพราะไม่รู้ว่าการเลือกตั้งถัดไปจะได้รับการประเมินจากประชาชนให้กลับเข้ามาสู่สภาแห่งนี้หรือไม่
อีกเหตุผลหนึ่งที่เขาเล่าให้ฟังว่า การทำงานในฐานะนักการเมืองนั้นไม่ได้แตกต่างจากความคิดแรกเริ่มคือ ‘การถูกวิพากษ์วิจารณ์’ โดย ส.ส.คนนี้ระบุว่า เป็นเรื่องที่นักการเมืองทุกคนต้องตระหนักอยู่เสมอว่า เป็นเรื่องปกติและถือเป็นเรื่องที่ดีเสียด้วยซ้ำที่ประชาชนเสนอความเห็นที่แตกต่างไปจากเรา
“เพราะต้องยอมรับว่าการตัดสินใจของนักการเมือง ท้ายที่สุดมันส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน คุณจะยกมือสนับสนุนการแก้ไขกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งหรือไม่ คุณจะนำประเด็นปัญหาอะไรมาสะท้อนถึงฝ่ายบริหารในสภาฯ สุดท้ายมันส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตประชาชนทั้งนั้น” เขาเล่า
คำถามต่อมาคือ แล้วคุณรับมือกับความเห็นต่างในสภาฯ อย่างไร
พริษฐ์ตอบว่า ต้องทำให้ความเห็นนิ่งก่อน กล่าวคือต้องตกผลึกกับตัวเองก่อนหรือความคิดของพรรคก่อนว่า มีจุดยืนต่อประเด็นดังกล่าวเป็นอย่างไร รวมถึงมีเหตุผลหลักการเบื้องหลังอย่างไร และหากมีข้อโต้แย้ง ตัวเขาหรือพรรคจะมีคำตอบมีคำอธิบายเช่นไร
“เมื่อตกผลึกแล้ว มันจะทำให้เราสามารถสื่อสารความคิดของเรากับคนอื่นได้ชัดเจนขึ้น และสิ่งที่สำคัญเมื่อเราสื่อสารออกไปแล้วคือ ‘การรับฟัง’ ว่าเขามีความคิดเห็นอย่างไรต่อ เพื่อจะได้รู้ว่ามีจุดร่วมอย่างไรบ้าง จุดที่ต่างคืออะไร และนำตรงนั้นมาเป็นฐานข้อมูลในการดูว่า เราสามารถหาฉันทามติในเรื่องใดได้บ้าง”
หากมองย้อนกลับไปตลอดการทำงานมากว่า 1 ปีครึ่งของพรรคประชาชนในฐานะ ‘ฝ่ายค้าน’ หนึ่งในบทบาทที่พรรคทำคือ การเสนอร่างกฎหมายหลายฉบับ แต่หากมองไปที่ตัวเลข ส.ส.ในมือนั้น กลับมีเพียง 150 เสียง ซึ่งไม่เพียงพอต่อการผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรตามระบอบประชาธิปไตย คำถามคือ ทำไมต้องเล่นบทเช่นนั้น
พริษฐ์ตอบคำถามว่า นั่นคือ บทบาทของ ‘ฝ่ายค้านเชิงรุก’
“ผมคุยกับเจ้าหน้าที่สภาหลายคน เขาบอกว่า สมัยก่อนไม่ได้มีพรรคฝ่ายค้านเสนอกฎหมายเยอะแบบนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นรัฐบาลเสนอเข้ามา
“หลายคนถามว่า เป็นฝ่ายค้านเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งแล้วจะเสนอทำไม ต้องบอกว่าเราไม่ได้ไร้เดียงสา เรารู้ดีถึงคณิตศาสตร์การเมืองว่า กฎหมายเราจะผ่านต้องได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลด้วย
“แต่ผมคิดว่า การเสนอของเราหวังวัตถุประสงค์ 3 อย่างนั้นคือ L-A-W ตรงตามตัวสะกดของคำว่ากฎหมาย”
โฆษกพรรคประชาชนเริ่มอธิบายถึงวัตถุประสงค์ที่ 1 คือ ‘L’ หรือ Legislative Change กล่าวคือ เสนอร่างกฎหมายเพื่อหวังเปลี่ยนกฎหมายจริงๆ เพราะพรรคประชาชนเชื่อว่า หากนำเสนอร่างกฎหมายแล้วฝ่ายรัฐบาลเห็นชอบ หรือเป็นประเด็นที่สังคมเห็นชอบ จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ พร้อมยกตัวอย่างกรณี ‘กฎหมายไม่ตีเด็ก’ ที่แม้ไม่ได้มีร่างของฝ่ายรัฐบาลเข้ามาประกบ แต่ก็สามารถผ่านการพิจารณาทั้ง 3 วาระของสภาฯ ไปได้
“ความจริงในบรรดา 20 กว่าร่างที่มีการลงมติในวาระ 1 ไปแล้ว มีร่างที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ มากกว่าร่างที่สภาฯ ปัดตกด้วยซ้ำ อันนี้ถือเป็นหลักฐานอย่างหนึ่งที่บอกว่าถึงแม้ฝ่ายค้านเสนอกฎหมาย ใช่ว่าจะถูกปัดตกเสมอไป” พริษฐ์แย้ง
ขณะที่วัตถุประสงค์ที่ 2 คือ ‘A’ หรือ Agenda Setting พริษฐ์ให้คำอธิบายว่า เมื่อพรรคเสนอร่างกฎหมายประเด็นใดประเด็นหนึ่ง จะเป็นการดึงให้รัฐบาลมาพูดคุยในประเด็นนั้นๆ เพราะพรรคก็ไม่ทางรู้ว่า รัฐบาลมีความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวอย่างไร
แต่พอมีการเสนอเป็นร่างกฎหมาย เมื่อถึงวาระที่สภาฯ ต้องมีการพิจารณาและลงมติ ถึงจุดนั้นรัฐบาลก็ต้องมีคำตอบต่อปัญหาดังกล่าว
ดังนั้นการเสนอร่างกฎหมายของฝ่ายค้านจึงเป็นการกำหนดวาระของสังคมไปในตัว เขาเล่า
สำหรับวัตถุประสงค์ที่ 3 คือ ‘W’ หรือ Winning Hearts and Minds คือ เสนอร่างกฎหมายเพื่อเอาชนะใจของประชาชน ทั้งนี้หากร่างกฎหมายที่ยื่นเข้าไปนั้นไม่ผ่านการพิจารณาของสภาฯ แต่พรรคได้ใช้พื้นที่ดังกล่าวเพื่อสื่อสารความคิดกับสังคม และหวังว่าสังคมจะเห็นด้วยกับแนวทางของพรรค
“แม้วันนี้เสียงของพรรคประชาชนจะยังมีไม่พอ แต่ถ้าประชาชนนอกสภาฯ เห็นกับวาระเรามากขึ้น เราก็หวังว่าการเลือกตั้งครั้งถัดไปคนจะรู้สึกว่า ต้องเติม ส.ส.พรรคประชาชนให้เข้าไปในสภาฯ มากขึ้น กฎหมายถึงจะได้ผ่าน”
พริษฐ์ยังได้ยกตัวอย่าง 2 กฎหมายสำคัญอย่าง ‘สมรสเท่าเทียม’ และ ‘สุราก้าวหน้า’ ว่าเป็นตัวอย่างกฎหมายที่ผลิดอกออกผลว่า ประชาชนเห็นด้วยกับแนวทางของพรรคก้าวไกลสมัยนั้น จึงทำให้การเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 สังคมตอบรับกับวาระดังกล่าว และกลายเป็นฉันทามติร่วมกันของหลายพรรคในฝั่งรัฐบาลและฝ่ายค้าน
“ที่ผ่านมาคนอาจจะคุ้นเคยกับบทบาทฝ่ายค้านมุมเดียวคือ การตรวจสอบ เวลาเราคิดถึงฝ่ายค้าน เราจะคิดถึงบทบาทการตั้งกระทู้ถามสดนายกฯ ถามรัฐมนตรี หรือใช้กลไกกรรมาธิการตรวจสอบว่าโครงการของรัฐบาลมีอะไรที่ไม่ชอบมาพากลหรือไม่
“แต่บทบาทที่พรรคอยากจะเพิ่มเข้าไปคือ บทบาทฝ่ายค้านเชิงรุก คือการพยายามที่ไม่รอให้รัฐบาลทำก่อน ออกนโยบายอะไรมาแล้วก็ให้ไปตรวจสอบ แต่พยายามทำให้ฝ่ายค้านมีบทบาทในการกำหนดวาระสังคมด้วยเช่นกัน ผลักดันการเปลี่ยนแปลงได้โดยที่ไม่ต้องรอให้รัฐบาลตั้งต้น ซึ่งผมคิดว่ารูปธรรมอย่างหนึ่งคือ การเสนอร่างกฎหมาย” โฆษกพรรคประชาชนว่า
‘Place of (flawed) Democracy’
จากการจัดอันดับของสถาบัน The Economist Intelligence Unit (EIU) เมื่อปี 2023 จะพบว่า ดัชนีความเป็นประชาธิปไตย (Democracy Index) ของประเทศไทยอยู่ที่ 63 จาก 167 ประเทศ นับว่ายังห่างไกลจากความเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ
ย้อนกลับมาที่ตัวของพริษฐ์ ส.ส.คนนี้มีอีกบทบาทหนึ่งที่หลายคนอาจไม่คุ้นหูคือ การเป็นประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน หนึ่งในคณะกรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎรที่แม้แต่เจ้าตัวยังออกปากแซวว่า เป็นคณะกรรมาธิการฯ ที่มีชื่อที่ยาวเหยียด อยากจะเปลี่ยนชื่อในเร็ววัน
“เป้าหมายของผมคือ ใช้กลไกของคณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้เพื่อยกระดับประชาธิปไตยบกพร่อง ให้เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ” พริษฐ์บอกกับเราถึงเป้าหมายของการนั่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ
ประธานคณะกรรมาธิการฯ ระบุต่อว่า เมื่อโจทย์เป็นเช่นนั้น ต้องมาดูว่ากลไกใดที่สามารถใช้ผลักดันการแก้ไขอะไรได้บ้าง เช่น การแก้กฎหมายหรือจัดทำข้อเสนอแนวนโยบายให้ฝ่ายบริหาร โดยเขาได้แบ่งออกเป็น 5 โจทย์ย่อย คือ
- ทำให้รัฐธรรมนูญและสถาบันทางการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญ มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ผ่านการจัดทำรายงานเพื่อชี้ให้เห็นว่า การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องผ่านกระบวนการที่ชอบธรรมมากที่สุดคือ การมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน รวมถึงข้อเสนอการศึกษาขอบเขตอำนาจและที่มาของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ให้มีความยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น
- ส่งเสริมการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เพิ่มอำนาจให้กับท้องถิ่นในทุกระดับ เพื่ออำนาจความสะดวกให้ประชาชนได้ง่ายมากขึ้น
“ทั้งนี้รวมถึงการจัดทำการแก้พระราชบัญญัติกรุงเทพมหานคร (พ.ร.บ. กทม.) ด้วย เพราะถึงแม้ กทม. จะมีผู้บริหารสูงสุดมาจากการเลือกตั้งของประชาชนก็จริง แต่เราเห็นว่าผู้ว่าฯ กทม. ก็ยังไม่ได้มีอำนาจในการแก้ไขปัญหาทั้งหมด เมื่อเปรียบเทียบกับผู้บริหารเมืองอื่นๆ ในประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก” ส.ส.พรรคประชาชนกล่าว
3. ทำข้อเสนอส่งเสริมวัฒนธรรมประชาธิปไตย ทั้งการเปิดเผยข้อมูลรัฐ ให้มีความโปร่งใส ทำให้ประชาชนมีกลไกป้องกันการทุจริต รวมถึงมีข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปสื่อมวลชนเพื่อคุ้มครองเสรีภาพสื่อ
4. ส่งเสริมกระบวนการการมีส่วนร่วมอย่างเสมอภาคสำหรับทุกคน ไม่ว่าเพศใด อายุเท่าไหร่ หรือมีข้อจำกัดใดๆ ทางร่างกาย
5. คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ผ่านการจัดทำร่างแก้ไข พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพการชุมนุมโดยสันติ มีการจัดทำชุดกฎหมายที่มีการคุ้มครองเสรีภาพการแสดงออกมากขึ้น
“5 หัวข้อที่เราให้ความสำคัญ ซึ่งรูปแบบการทำงานของเราฟังดูจะตกใจว่า ทำไมเยอะจัง แต่รูปแบบการทำงานของเราจะมี ส.ส. 15 คนมาจากต่างพรรคการเมือง เราไม่ได้มองว่าอยากให้งานทั้งหมดขับเคลื่อนด้วย ส.ส. 15 คนเท่านั้น
“แต่เราใช้กรรมาธิการเป็นแพลตฟอร์มคือ ตั้งคณะทำงานเชิงประเด็นขึ้นมา มีเป้าหมายที่ชัด จะแก้ไขปัญหาอะไร เป้าหมายที่คาดหวังภายใน 3 เดือน 6 เดือน 1 ปีเป็นอย่างไร
“พอเราใช้กรรมาธิการเป็นแพลตฟอร์ม ให้ประชาชนนอกสภาทั้งนักวิชาการและภาคประชาสังคมมาทำงานร่วมกับเรา มันก็ทำให้การทำงานขับเคลื่อนได้รวดเร็วขึ้น” พริษฐ์เล่า
การทำงานในคณะนี้เป็นอย่างไรบ้าง ช่วยรีวิวให้ฟังได้หรือไม่ เราถามต่อ
“คณะกรรมาธิการฯ ก็เหมือนเป็นห้องย่อของการประชุมสภา เป็นการฝึกเราเหมือนกันในฐานะประธาน ในการแสวงหาความร่วมมือของแต่ละพรรคที่มีจุดยืนแตกต่างกันบ้าง ผลงานทั้งหมดไม่ได้เป็นผลงานของประธานหรือกรรมาธิการจากพรรคใดพรรคหนึ่ง เป็นผลงานร่วมกันของทุกพรรค
“อีกจุดที่น่าสนใจ เป็นเกร็ดเล็กน้อยได้คือ คณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ น่าจะเป็นคณะที่มี 14 ส.ส. หน้าใหม่ อีก 1 คนเป็น ส.ส.เก่า ในมุมหนึ่งทุกคนอาจจะไม่ได้มีประสบการณ์ในสภามาก่อน แต่มันก็เป็นโอกาสที่จะเซ็ตมาตรฐานอะไรใหม่ๆ เพราะไม่ได้ยึดกรอบการทำงานในอดีต”
‘Place of Promises’
พอมาถึงปี 2568 ซึ่งนับว่าเป็น ‘กลางเทอม’ ของสภาชุดที่ 26 การทำงานของพรรคประชาชนในฐานะฝ่ายค้าน พริษฐ์ระบุว่า โฟกัสหลักยังเป็นการเสนอร่างกฎหมายเช่นเคย เพื่อทำให้สังคมเห็นว่าฝ่ายค้านก็สามารถเสนอผลักดันกฎหมายที่สำเร็จได้
“ที่ผ่านมามีจุดสำเร็จหลายอย่างที่เราภาคภูมิใจ เช่น กฎหมายไม่ตีเด็ก เราค่อนข้างรู้สึกดีใจเป็นพิเศษ เพราะเป็นกฎหมายที่ฝ่ายค้านเสนอ ไม่มีร่างของรัฐบาลมาประกบ และผ่านความเห็นชอบไปได้
“ผมคิดว่ายังมีภารกิจผลักดันกฎหมายสำคัญๆ อีกเยอะ เช่น พ.ร.บ.ระเบียบราชการกลาโหม การปฏิรูปกองทัพ กฎหมายผลักดันกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่แทนที่ฉบับปี 2542”
ขณะที่กฎหมายใหญ่ของประเทศอย่าง ‘รัฐธรรมนูญ’ ส.ส.พรรคประชาชนให้ความเห็นว่า หากยังเดินหน้าตามแผนของรัฐบาลที่จะมีการจัดทำประชามติทั้งหมด 3 ครั้ง นั้นไม่น่าจะทันต่อการเลือกตั้งทั่วไปปี 2570
“หนทางเดียวที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันการเลือกตั้งได้คือ การลดประชามติจาก 3 ครั้งเหลือ 2 ครั้ง ซึ่งต้องอาศัยการแสวงหาความร่วมมือจากหลายฝ่าย แต่ผมไม่อยากให้เราโฟกัสแค่เรื่องความเร็วอย่างเดียว เราต้องโฟกัสเรื่องของกระบวนการที่ชอบธรรมทางประชาธิปไตยด้วย
“ในมุมมองของพรรคคือ ควรมาจากการทำโดย สสร.ที่มาจากการเลือกตั้ง 100% เราเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถูกจัดทำจาก สสร. 100% จะมีตัวแทนของทุกชุดความคิดเข้าไปอยู่ในนั้น มันก็จะสร้างบทสนทนาระหว่างคนที่เห็นต่างกัน และเป็นการแสวงหาฉันทามติใหม่ เพื่อออกแบบระบบการเมืองที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง
“ใช่อยู่ที่ว่า ความเร็วในการมีฉบับใหม่มาแทนที่นั้นสำคัญ แต่ต้องถามด้วยว่าฉบับใหม่มีกระบวนการเช่นไร ถ้าฉบับใหม่ยังถูกเขียนโดยคนเดิมที่เขียนรัฐธรรมนูญ 60 นั้นก็ไม่อาจถูกเรียกได้ว่าความสำเร็จได้” ส.ส.พรรคประชาชนว่า
สุดท้ายนี้หากให้สรุปคำจำกัดความสั้นๆ ที่มีต่อ ‘สภาผู้แทนราษฎร’ จะให้คำนิยามว่าอะไร เราเลือกถามโฆษกพรรคประชาชนก่อนจะแยกย้ายกันไป
พริษฐ์นิ่งคิดไปชั่วครู่ ก่อนจะให้คำตอบกับเราว่า
“สภาฯ เป็นพื้นที่ที่ผมพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงตามที่สัญญาไว้กับประชาชน” ส.ส.พรรคประชาชนกล่าวสั้นๆ
“สภาฯ เป็นพื้นที่ที่ผมเอาความหวัง ความต้องการของประชาชน และคำสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน มาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
“คุณสมบัติที่สำคัญของนักการเมือง ไม่ว่าจะมาจากพรรคการเมืองใดคือ การรักษาคำพูดที่ให้ไว้กับประชาชน
“ดังนั้นแน่นอน วันนี้เราไม่ได้เป็นรัฐบาล ไม่ได้มีอำนาจในฝ่ายบริหารที่สามารถผลักดันนโยบายได้ แต่อะไรที่เราใช้กลไกสภาฯ ทำได้ เราต้องทำเต็มที่” พริษฐ์กล่าวกับเราทิ้งท้าย
Fact Box
- พริษฐ์ขับเคลื่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตั้งแต่ก่อนการเป็น ส.ส.ในนามพรรคก้าวไกล โดยเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า (CONLAB) และร่วมมือกับ iLaw, คณะก้าวหน้า และพรรคก้าวไกล ณ เวลานั้น ในนามกลุ่ม Re-Solution เพื่อล่ารายชื่อเพื่อเข้าเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
- เวลาว่างหลังจากการทำงานแสนเหนื่อยล้า พริษฐ์เลือกที่จะใช้เวลาเล่นฟุตบอลอยู่ที่สนามใกล้ๆ กับที่ทำการพรรคประชาชน หรือเลือกที่จะดูกีฬาที่เขาโปรดปรานอย่าง ‘ฟุตบอล’ โดยเขาถือว่าเป็น ‘เด็กหงส์’ เดนตายที่เชียร์แต่สโมสรลิเวอร์พูลมาโดยตลอด