เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา กระแสโลกออนไลน์ต่อสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 กลับมาร้อนระอุอีกครั้ง หลัง ‘ชุบ นกแก้ว’ ช่างภาพและนักแต่งภาพ ผู้กวาดรางวัลด้านงานโฆษณาระดับโลกมาแล้วนักต่อนัก โพสต์รูปภาพตัดต่อที่มีรูปปั้นยักษ์สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นละอองผ่านทางสื่อเฟซบุ๊ก

หลังการเผยแพร่ผลงานชิ้นดังกล่าว มีผู้กดไลค์ไม่น้อยกว่า 1.6 หมื่นคน และแชร์ต่ออีกกว่า 2 หมื่นครั้ง ขณะที่การแสดงความคิดเห็นนั้นหลากหลาย จำนวนมากชื่นชอบ เห็นว่าสะท้อนปัญหาออกมาได้ดี แต่บางส่วนก็แสดงความเป็นห่วงว่า จะกลายเป็นประเด็นดราม่า เนื่องจากเห็นว่ารูปปั้นยักษ์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และส่งผลลบต่อภาพลักษณ์ของประเทศชาติ

จนท้ายที่สุด ‘ชุบ นกแก้ว’ เจ้าของผลงานต้องประกาศ ขอให้หยุดแชร์ชุดภาพดังกล่าว เนื่องจากมีการฟ้องร้องว่า ผลงานของเขา ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงกับสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ วัดคู่บ้านคู่เมือง และประเทศ แต่ท้ายที่สุด เรื่องราวก็จบลงด้วยดี เมื่อทางผู้แจ้งความ ‘เข้าใจผิด’ ว่า เจ้าของผลงานนำหน้ากากป้องกันฝุ่นไปสวมใสรูปปั้นจริงๆ

แต่ไม่ใช่ทุกกรณีที่โชคดีแบบนั้น ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นปี 2560 ก็มีการดำเนินคดีจากการกระทำที่คล้ายกัน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้มอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีกับเพจเฟซบุ๊กชื่อ “City Life Chiang Mai” ที่โพสต์ภาพอนุสาวรีย์อดีตพระมหากษัตริย์ล้านนาสามพระองค์ สัญลักษณ์ประจำเมือง โดยมีหน้ากากสวมปิดใบหน้าเพื่อสื่อสารประเด็นอากาศเป็นพิษในเมืองเชียงใหม่ คล้ายกับกรณีรูปปั้นยักษ์สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น โดยอ้างว่า การเผยแพร่ภาพดังกล่าวเป็นการกระทำที่ ‘ไม่เหมาะสม’

การเสียดสี เป็นมากกว่าการ ‘กวนน้ำให้ขุ่น’

ในประวัติศาสตร์การเสียดสีล้อเลียนดำรงอยู่คู่กับสังคมมาโดยตลอด ในฐานะเครื่องมือสะท้อนการต่อต้าน ประท้วง หรือวิพากษ์วิจารณ์โครงสร้าง อำนาจ หรือเรื่องเล่าบางอย่างที่กำลังครอบงำหรือกดขี่สังคม รวมถึงเป็นการเปิดเผยความจริงอีกด้าน

ยกตัวอย่างเช่น การตัดต่อภาพรูปปั้นยักษ์สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นละอองของ ‘ชุบ นกแก้ว’ แม้ว่าเจ้าของผลงานจะตั้งใจสื่อว่า ผลงานของเขาใช้ยักษ์ในฐานะตัวแทนของเทพที่ยังต้องพยายามป้องกันตัวเองจากฝุ่น แล้วตั้งคำถามกับมาที่คนธรรมดาว่าทำไมถึงไม่ดูแลตัวเอง แต่ในขณะเดียวกัน ผลงานภาพของ ‘ชุบ’ ยังสะท้อนภาพของยักษ๋ในฐานะสัญลักษณ์ประจำกรุงเทพฯ และสะท้อนถึงสถานที่ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเทียวชื่อดัง แต่กลับถูกปกคลุมไปด้วยมลพิษจนไม่หลงเหลือมนต์เสน่ห์ของเมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

แม้แต่ในระดับโลกก็มีศิลปินอย่าง Banksy ศิลปินกราฟิตีที่ทำผลงานในเชิงวิพากษ์วิจารณ์สังคมได้อย่างแหลมคม เช่น ผลงาน Napalm Girl ที่หยิบเอาภาพเด็กสาวชาวเวียดนามเนื้อตัวล้อนจ้อนกำลังวิ่งหนีระเบิดในสงครามเวียดนาม มาประกบคู่กับตัวการ์ตูนมิกกี้เมาส์ของดิสนีย์ และโรนัลด์ แมคโดนัลด์ สัญลักษณ์ประจำร้านอาหารฟาสต์ฟูดชื่อดัง เพื่อจะสื่อถึงความร้ายแรงของสงครามแบบใหม่ในคราบทุนนิยม

หรืออย่างในพื้นที่ออนไลน์ก็มี เพจ ‘ไข่แมวX’ ที่รวมผลงานของนักวาดการ์ตูนล้อเลียนการเมือง ที่หยิบเอาประเด็นหรือสถานการณ์การเมืองในประเทศไทยมาหยอกล้อได้อย่างสนุกสนาน หรือ อย่างเพจ ‘คาราโอเกะชั้นใต้ดิน’ ที่มักหยิบจับเอาภาพข่าวหรือภาพเห็นการณ์ต่างๆ มาเชื่อมโยงกับเนื้อเพลงในรูปแบบคาราโอเกะเพื่อสื่อสารเย้าแหย่ หรือวิพากษ์วิจารณ์เรื่องราวต่างๆ

ดังนั้น ภาพลักษณ์ของการเสียดสีในบางครั้งจึงเป็นมากกว่า ‘การกวนน้ำให้ขุ่น’ แต่หมายถึงการสะท้อนมุมมอง เรื่องเล่าของปัญหา หรือวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาสังคมที่ห่อหุ้มไปด้วยความสนุกและการจิกกัดปัญหาได้อย่างแยบยล

กฎหมายไทยตีกรอบการเสียดสีให้มีความเสี่ยงสูง

แม้ในยุคปัจจุบัน ผลงานศิลปะในเชิงเสียดสีวิพากษ์วิจารณ์ สามารถนำเสนอได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ภาพวาด ภาพถ่าย กราฟิตี หรือ มีม (meme) ภาพตัดต่อล้อเลียนในสื่อออนไลน์ แต่ในสังคมไทย การพยายามนำเสนอผลงานหรือเนื้อหาในลักษณะการวิพากษ์วิจารณ์หรือสะท้อนปัญหากลับได้ผลลัพธ์เป็นการตั้งข้อหาดำเนินคดี ไม่ใช่การหยิบประเด็นไปแก้ปัญหา

กฎหมายหนึ่งที่สามารถปรับใช้ได้กับการเสียดสี คือ ‘ประมวลกฎหมายอาญา’ เกี่ยวกับ การดูหมิ่น ซึ่งหมายถึงการแสดงกิริยาวาจาดูถูกเหยียดหยาม หรือ หมิ่นประมาท ที่หมายถึง การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม อันประการจะทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง แต่กฎหมายดังกล่าวยังเปิดช่องให้การกระทำบางอย่างสามารถทำได้ ในกรณีที่เป็น การแสดงความเห็นโดยสุจริต หรือการติชมด้วยความความเป็นธรรม หรือเป็นประโยชน์สาธารณะ บุคคลนั้นไม่ถือว่ากระทำความผิด หรือ ไม่ต้องรับผิดในการกระทำนั้น

อีกทั้ง ยังมีกฎหมายอีกหนึ่งฉบับที่นิยมใช้กันมากในกรณีการทำภาพเสียดสีล้อเลียน คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 16 ที่เจาะจงไปที่การกระทำผิดประเภท ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลง รูปภาพทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่ทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

แต่ที่น่ากลัวไปกว่านั้น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 ก็เป็นอีกหนึ่งมาตราที่ถูกนำใช้ในฐานะเดียวกับกฎหมายหมิ่นประมาท และเป็นกฎหมายที่ถูกนำมาใช้จำกัดการแสดงความคิดเห็นในเชิงวิพากษ์วิจารณ์บนโลกออนไลน์

ยกตัวอย่างเช่น มาตรา 14( 2) ระบุว่า ผู้ใด นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า บทนิยามของคำที่ขีดเส้นใต้ดังกล่าวสามารถตีความได้อย่างกว้างขวาง และประชาชนทั่วไปไม่สามารถรู้ได้ว่า การกระทำแบบใดจะสร้างความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ รวมถึงไม่ทราบว่าขอบเขตแบบไหนถึงจะนับเป็นความเสียหายภายใต้บทนิยามเหล่านี้ และที่สำคัญ กฎหมายไม่มีเหตุในการยกเว้นโทษสำหรับการติชมโดยสุจริตหรือเป็นประโยชน์สาธารณะ และมีโทษสูงกว่ากฎหมายหมิ่นประมาทหลายเท่าตัว

ที่ผ่านมามีคนถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) อย่างน้อย 44 ราย อาทิ คดีแปดแอดมินเพจ ‘เรารักพล.อ. ประยุทธ์’ ที่ถูกกล่าวหาว่า รับจ้างทำเพจเฟซบุ๊ก “เรารักพล.อ.ประยุทธ์” ที่มีเนื้อหาเป็นภัยต่อ ‘ความมั่นคงของรัฐ’ เนื่องจากมีการล้อเลียนผสมกับการวิพากษ์วิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. และนายกรัฐมนตรี รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์การบริหารประเทศของรัฐบาล

แน่นอนว่า สังคมอาจจะไม่เห็นด้วยกับการนิยามให้การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือผู้นำรัฐบาลเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ แต่บรรทัดฐานการตีความของเจ้าหน้าที่รัฐในยุคคสช. ได้ทำให้การล้อเลียนผู้นำประเทศกลายเป็นสิ่งที่มีความเสี่ยงสูง ทั้งที่มันต้องเป็นเรื่องปกติในสังคมที่มีรัฐธรรมนูญระบุว่าปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย

 

เครดิตภาพ: Chub Nokkaew

Tags: , ,