เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (4 พฤศจิกายน ตามเวลาท้องถิ่น) ไมค์ ปอมปีโอ รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ แถลงว่า รัฐบาลได้แจ้งต่อสหประชาชาติอย่างเป็นทางการแล้วว่า สหรัฐอเมริกาจะถอนตัวออกจาก “ความตกลงปารีส 2015” ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกของกระบวนการที่จะกินเวลาหนึ่งปี ในการออกจากข้อตกลงระดับโลกเพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ
สหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นประเทศเดียวที่ออกจากข้อตกลงนี้ ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่มาจากการที่ทรัมป์ให้สัญญาว่า จะส่งเสริมอุตสาหกรรมน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน
คำแถลงของปอมปีโอ ระบุว่า การลดมลภาวะตามความตกลงปารีสเป็นภาระทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรมต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ส่งจดหมายถึง อันโตนีโอ กูแตเรส เลขาธิการสหประชาชาติ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการที่กินระยะเวลาหนึ่งปี ที่จะครบกำหนดใน 1 วันหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2020
ขณะที่ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ระบุในแถลงการณ์ในการเยือนประเทศจีนว่า “เราตระหนักถึงสิ่งนี้ และมันเป็นสิ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสและจีนในด้านสภาพอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นเรื่องสำคัญยิ่งขึ้น” โดยมาครง และ สี จิ้นผิง จะลงนามข้อตกลงด้านสภาพภูมิอากาศระหว่างการเยือนปักกิ่งในวันพุธนี้ ซึ่งมาครงแถลงว่า เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสำคัญอย่างยิ่งยวดของความตกลงปารีส
เกือบ 200 ประเทศ ที่ลงนามในความตกลงปารีส โดยแต่ละประเทศจะกำหนดเป้าหมายของตัวเองในการจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ
การลงนามในความตกลงปารีสของสหรัฐฯ เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลบารัค โอบามา ที่ให้พันธสัญญาว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 26-28% ภายในปี 2030 เทียบกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2005
ทรัมป์รณรงค์การถอนตัวจากข้อตกลงปารีส เขาบอกว่ามันทำลายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ขณะที่ปล่อยให้ประเทศผู้ผลิตมลพิษรายใหญ่อย่างจีนเพิ่มการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่างไรก็ดี ระเบียบของสหประชาชาติกำหนดให้ต้องรอจนกว่าจะถึงวันจันทร์ จึงจะสามารถยื่นเอกสารถอนตัวได้
ทรัมป์ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากทั้งในสหรัฐฯ และทั่วโลกต่อเจตนาที่จะถอนตัวออกจากความตกลงปารีส ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มีการเเดินขบวนของประชาชนนับล้านคนในทั่วมุมโลก เรียกร้องให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ
จากความเคลื่อนไหวของรัฐบาลทรัมป์ที่เป็นไปอย่างนี้ ทำให้กลุ่มสิ่งแวดล้อมจับตาดูการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า และมีความหวังว่า อเมริกันชนจะไม่เลือกทรัมป์เข้ามาดำเนินนโยบายที่ไม่คำนึงถึงสภาวะอากาศโลกและสุขภาพของประชาชน
ที่มา:
- https://www.aljazeera.com/news/2019/11/tells-quitting-paris-climate-agreement-191104204531394.html
- https://www.nytimes.com/2019/11/04/climate/trump-paris-agreement-climate.html
- https://www.vox.com/energy-and-environment/2019/11/4/20948612/paris-climate-agreement-withdrawal-trump-exit
ภาพ: REUTERS/Yuri Gripas
Tags: ก๊าซเรือนกระจก, โดนัลด์ ทรัมป์, โลกร้อน, ข้อตกลงปารีส, สภาพอากาศเปลี่ยน