หลังจากลุ้นมาเป็นปี ว่าสรุปแล้วประเทศไทยจะยอมยกเลิกและจำกัดการใช้สารพิษ 3 ชนิดสำคัญในการเกษตรหรือไม่ สารเคมี 3 ชนิดนั้นได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเสต

ปี 2560 ประเทศไทยนำเข้าสารทั้งสามชนิดเพื่อใช้ในเกษตรกรรมรวมกันเฉลี่ยปีละกว่า 7 หมื่นตัน แบ่งเป็น พาราควอตกว่า 30,000 ตัน ไกลโฟเสต ประมาณ 35,000 ตัน และคลอร์ไพริฟอส ประมาณ 2,000 ตัน

วันที่ 23 พฤษภาคม คณะกรรมการวัตถุอันตรายชี้ขาดแล้วว่า ‘ไม่ยกเลิก’ การใช้สารเคมีพาราควอต คลอร์ไฟริฟอส และไกลโฟเซต แต่ให้จำกัดการใช้ โดยจะให้กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปออกมาตรการควบคุมภายใน 2 เดือน ทั้งการนำเข้า การซื้อ การใช้ของเกษตรกร รวมถึงต้องอบรมให้ความรู้กับเกษตรกรเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย

นายสมบูรณ์ ยินดียั่งยืน รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อพิจารณายกเลิกและจำกัดการใช้สารเคมีทางการเกษตรทั้ง 3 ชนิดให้เหตุผลว่า ที่สั่งไม่ยกเลิกการใช้สารเคมีเหล่านี้ เพราะข้อมูลผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพยังไม่เพียงพอ

ทั้งนี้เห็นว่ายังไม่จำเป็นต้องแก้ไขพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย เพราะสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ยังจัดกลุ่มสารเคมีประเภทที่ 3 ที่มีการจำกัดปริมาณการใช้อยู่แล้ว

ผลการพิจารณาครั้งนี้ มีผลต่อทั้งเกษตรกร ธุรกิจนำเข้าสารเคมี ไปจนถึงสุขภาพของประชาชน และเป็นประเด็นถกเถียงระหว่างผู้มีส่วนได้เสียฝ่ายต่างๆ ที่มีข้อกังวลด้านสุขภาพและต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร ที่สำคัญ ยังเป็นช่วงเวลาที่บางบริษัทนำเข้าสารเคมีที่ขึ้นบัญชีเป็นวัตถุอันตรายเหล่านี้ต้องต่อทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม

บริษัทเอกชนผู้นำเข้าและจำหน่ายสารเคมี ซึ่งมียอดขายมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านบาทต่อปีพยายามชี้ให้เห็นว่า พาราควอตปลอดภัยและช่วยประหยัดต้นทุนแก่เกษตรกร ตรงกันข้ามกับเครือข่ายด้านสุขภาพ ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานสาธารณสุขของรัฐ และเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ที่ออกมาโต้แย้ง ผลการศึกษามากมายแสดงให้เห็นถึงอันตรายจากการใช้พาราควอต ยิ่งไปกว่านั้น พาราควอตยังถูกแบนในประเทศต่างๆ กว่า 50 ประเทศ รวมถึงประเทศผู้ผลิตด้วย

 

ความเดิมตอนที่แล้ว เกี่ยวกับพาราควอตในประเทศไทย

ที่มาของการพิจารณาชี้ขาดครั้งนี้ เริ่มต้นจากวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2560 มีมติของคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ประกอบด้วยกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งนักวิชาการ ให้ยกเลิกการใช้สารเคมี 2 ชนิด คือ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ซึ่งถูกกำหนดเป็นวัตถุอันตราย และระหว่างนี้จะไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนเพิ่ม ไม่ต่ออายุทะเบียน (โดยปกติจะต่อ 6 ปี/ครั้ง) และจำกัดการใช้สารไกลโฟเสตอย่างเข้มงวด

แต่ต่อมาในพฤศจิกายน 2560 กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อทะเบียนใบอนุญาตให้สามารถใช้สารเคมีพาราควอตต่อไปอีก 6 ปีแก่ 3 บริษัท ได้แก่ ซินเจนทา 3 รายการ เอเลฟองเต้ 1 รายการ และ ดาว อโกรไซแอนส์ 1 รายการ ด้วยเหตุผลว่า ปัจจุบันยังไม่มีมติแบนสารพาราควอต หากไม่ต่อทะเบียนให้บริษัท หน่วยงานภาครัฐอาจถูกฟ้องร้องได้  นอกจากนี้ ยังได้ยื่นให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย ตามพ.ร.บ.วัตถุอันตราย 2535 ที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานเป็นผู้พิจารณาว่าจะแบนสารพิษนี้หรือไม่

ธันวาคม 2560  มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตราย พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซตขึ้นมาเพื่อหาข้อเท็จจริงว่าควรพิจารณาให้ยกเลิกพาราควอตหรือไม่ แต่มีข้อสังเกตว่า สัดส่วนของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ ชุดนี้ที่มี 12 คน มีตัวแทนจากกระทรวงเกษตรฯ และอดีตข้าราชการกระทรวงเกษตร 4 คน และมาจากผู้แสดงจุดยืนสนับสนุนกระทรวงเกษตรฯ อีก 4 คน

มีข้อสังเกตด้วยว่า กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอย่างน้อย 3 คนในคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทค้าสารพิษอันตรายทั้ง 3 ชนิด

หลังจากนั้นในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2561 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงพาณิชย์หารือร่วมกันอีกครั้ง ทั้งนี้ ทั้งสามกระทรวงยังยืนยันตามมติของคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ เมื่อ 5 เมษายน 2560

จนกระทั่งวันที่ 24 เมษายน 2561 มีการประชุมของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ แต่ยังไม่มีการเปิดเผยมติที่ประชุมต่อสาธารณะ และมีข้อสรุปว่าให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาชี้ขาดอีกครั้ง แต่ก็มีข้อสังเกตด้วยว่า กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอย่างน้อย 3 คนในคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทค้าสารพิษอันตรายทั้ง 3 ชนิด

 

พาราควอต สารเคมีกำจัดวัชพืชที่มีพิษรุนแรง

พาราควอตเป็นสารเคมีที่เกิดจากการสังเคราะห์โดยบริษัทเชฟรอน เมื่อปี 1882 แต่บริษัทไอซีไอ (Imperial Chemical Industries) ในสหราชอาณาจักร เป็นผู้ค้นพบคุณสมบัติกำจัดวัชพืชในปี 1955 ก่อนที่จะเริ่มผลิตและจำหน่ายเป็นยากำจัดวัชพืชในปี 1962 ภายใต้ชื่อทางการค้าว่า กรัมม็อกโซน (Gramoxone)

ประสิทธิภาพของพาราควอตทำให้เกษตรกรนิยมใช้ เพราะสามารถกำจัดวัชพืชได้รวดเร็ว ด้วยการทำลายคลอโรฟิลล์ที่อยู่ในพืช โดยต้องละลายพาราควอตในของเหลว แต่เนื่องจากพาราควอตละลายน้ำได้ดี จึงปนเปื้อนในแหล่งน้ำได้ง่ายๆ หากคนได้รับพาราควอตเข้าไปแม้ในปริมาณเพียงเล็กน้อยก็อาจเสียชีวิตได้ เพราะพาราควอตมีความเป็นพิษเฉียบพลันสูง มีผลร้ายแรงต่ออวัยวะสำคัญต่างๆ ของร่างกาย ทั้งตับ ไต หัวใจและระบบทางเดินหายใจ แม้รับเข้าไปเพียงเล็กน้อยประมาณมากกว่า 1 ช้อนชาเล็กน้อย (6.15 ซีซี) ก็อาจทำให้เสียชีวิตได้

นอกจากนี้ แม้ความเป็นพิษจะหมดไปเมื่อสัมผัสดิน แต่พาราควอตยังตกค้างอยู่ในดินอีกหลายปี สถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ระบุว่า จากการตรวจสอบการปนเปื้อนสารของสารพิษบนพื้นที่ต้นแม่น้ำน่านในช่วงฤดูเพาะปลูก พบว่า จากตัวอย่างน้ำผิวดิน 65 ตัวอย่าง พบพาราควอตปนเปื้อน 64 ตัวอย่าง ส่วนน้ำใต้ดิน จากตัวอย่าง 15 แห่ง พบพาราควอต 13 แห่ง สารที่ตกค้างยังสามารถแพร่กระจายต่อไปยังพืช สัตว์ และแหล่งน้ำอื่นๆ ได้

ประสิทธิภาพของพาราควอตทำให้เกษตรกรนิยมใช้ เพราะสามารถกำจัดวัชพืชได้รวดเร็ว ด้วยการทำลายคลอโรฟิลล์ที่อยู่ในพืช

พาราควอตกับการฆ่าตัวตาย

ไม่เพียงใช้กำจัดวัชพืช พาราควอตยังถูกใช้เพื่อเป้าหมายอื่นๆ อีก ช่วงทศวรรษ 1970 รัฐบาลสหรัฐอเมริกาให้ทุนสนับสนุนทางการเม็กซิโก ให้พ่นพาราควอตในไร่กัญชา เพื่อทำลายกัญชาที่จะส่งขายมายังสหรัฐอเมริกา ต่อมา สารเคมีชนิดนี้ก็แพร่มาที่สหรัฐอเมริกา

ส่วนในญี่ปุ่น ราวทศวรรษ 1980 พาราควอตเป็นสารพิษที่ใช้ฆ่าตัวตาย การดื่มพาราควอตเพื่อปลิดชีวิตตัวเองเป็นปรากฏการณ์ที่พบได้ทั่วโลก โดยเมื่อปี 2017 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน และมหาวิทยาลัยบริสทอล สหราชอาณาจักร เผยแพร่ผลศึกษาการเสียชีวิตจากการใช้สารเคมีในการเกษตรระหว่างปี 2010-2014 ทั่วโลกจำนวน 110,000-170,000 คน พบว่ามีการใช้สารเคมีเพื่อฆ่าตัวตาย 14-20% ของการฆ่าตัวตายทั่วโลก

ในประเทศไทย ข้อมูลจากศูนย์พิษวิทยาโรงพยาบาลรามาธิบดี และข้อมูลสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค ระบุว่า ในปี 2560 พบว่ามีการนำพาราควอตไปใช้ฆ่าตัวตาย 111 ครั้ง

น่าสนใจว่า ในหลายประเทศ เมื่อรัฐบาลแบนพาราควอต ก็มีอัตราการฆ่าตัวตายลดลง เช่น ในศรีลังกา ที่ค่อยๆ ห้ามพาราควอตมาตั้งแต่ปี 2008-2011 ก็พบว่าหลังจากนั้น เมื่อศึกษาข้อมูลช่วงปี 2011-2015 อัตราฆ่าตัวตายด้วยสารเคมีในการเกษตรของทั้งประเทศลดลงถึง 51%

เช่นเดียวกับที่เกาหลีใต้ที่ห้ามใช้พาราควอดตั้งแต่ปี 2011 ทำให้มีอัตราการฆ่าตัวตายลดลง 37%  ส่วนที่ไต้หวัน มีผู้เสียชีวิตจากการใช้พาราควอตมากกว่า 1,500 คนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เกือบ 60% เป็นการใช้พาราควอตที่เก็บอยู่ในบ้าน

ส่วนในประเทศไทย ข้อมูลจากศูนย์พิษวิทยาโรงพยาบาลรามาธิบดี และข้อมูลสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค ระบุว่า ในปี 2560 พบว่ามีการนำพาราควอตไปใช้ฆ่าตัวตาย 111 ครั้ง

 

ผลกระทบต่อสุขภาพเฉียบพลันและสะสม

จนถึงตอนนี้ ก็ยังไม่มียาถอนพิษพาราควอต เกษตรกรที่ใช้พาราควอตต้องป้องกันตัวเองให้ถูกวิธี ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้ผลิตและจำหน่ายพาราควอตพยายามย้ำว่า ถ้าใช้ถูกวิธีก็จะปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีอุปกรณ์ป้องกันที่ดี แต่ก็มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ สหภาพยุโรปมีรายงานว่า การสัมผัสพาราควอตจากการใช้เครื่องพ่นแบบสะพายหลัง มีความเสี่ยงสูงมากกว่าระดับมาตรฐาน (AOEL) 60 เท่า และหากไม่ได้สวมอุปกรณ์ป้องกัน ก็จะเสี่ยงสูงกว่า 100 เท่า

ที่ผ่านมา เกษตรกรหลายประเทศสัมผัสกับพาราควอตจนเกิดสภาวะเป็นพิษร้ายแรง เช่น ผิวหนังแตก แสบไหม้ตามมือและขา ตาบอด จนถึงขั้นเสียชีวิต

เช่น ปี 1993 เกษตรกรชาวสวีเดนเสียชีวิตภายในหนึ่งสัปดาห์หลังจากการฉีดพ่นสารละลายพาราควอตที่มีความเข้มข้น 0.5% นาน 3.5 ชั่วโมงด้วยเครื่องสะพายหลังที่รั่วซึม ชาวอินโดนีเซียอายุ 26 ปี มีอาการไหม้ที่หน้าเพราะโดนละอองสารละลายพาราควอตเข้าที่ใบหน้าจากการเปิดถัง เกษตรกรไร่อ้อยชาวไทยมีอาการชาตามนิ้วมือนิ้วเท้า เกิดบาดแผลลุกลาม จนทำให้เนื้อส่วนนั้นตายและต้องตัดทิ้ง

นอกจากพิษเฉียบพลันแล้ว พาราควอตยังกระทบต่อสุขภาพระยะยาว มีงานวิจัยจำนวนมากที่ยืนยันว่า พาราควอตสัมพันธ์กับการเกิดโรคพาร์กินสัน เช่นในปี 2011 สถาบันพาร์กินสันและสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ศึกษาเกษตรกรที่ใช้พาราควอตและคนที่อยู่ใกล้กับพื้นที่ที่มีการพ่นพาราควอตในไอโอวาและนอร์ธแคโรไลนา พบว่า ผู้ที่ใช้พาราควอตหรือยาฆ่าแมลงโรเทโนน มีแนวโน้มจะเป็นโรคพาร์กินสันมากกว่าปกติ 2.5 เท่า ขณะที่บริษัท ซินเจนทา โต้ว่างานวิจัยเหล่านี้ยังมีข้อมูลไม่มากพอที่จะวิเคราะห์ความสัมพันธ์ อีกทั้งโรคพาร์กินสันยังเกิดได้จากหลายสาเหตุ

ผู้ที่ใช้พาราควอตหรือยาฆ่าแมลงโรเทโนน มีแนวโน้มจะเป็นโรคพาร์กินสันมากกว่าปกติ 2.5 เท่า ขณะที่บริษัท ซินเจนทา โต้ว่างานวิจัยเหล่านี้ยังมีข้อมูลไม่มากพอที่จะวิเคราะห์ความสัมพันธ์ อีกทั้งโรคพาร์กินสันยังเกิดได้จากหลายสาเหตุ

 

หลายประเทศแบนพาราควอต บางประเทศเข้มงวดมาก

ไม่ว่าเกษตรกรอาจจะป้องกันความเสี่ยงได้ หรือยังไม่รู้แน่ชัดว่าพาราควอตก่อให้เกิดโรคพาร์กินสันโดยตรงหรือไม่ แต่หลายประเทศทั่วโลกก็ยกเลิกการใช้พาราควอตแล้ว รวมถึงสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นประเทศที่โรงงานผลิตพาราควอตตั้งอยู่ และในสหภาพยุโรป รวมทั้ง สวิตเซอร์แลนด์ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัท ซินเจนทา เจ้าของโรงงาน ผู้ผลิต และจำหน่ายพาราควอตรายใหญ่ที่สุดในโลกตั้งแต่ปี 1989

พาราควอตถูกห้ามใช้แล้วใน 53 ประเทศ รวมทั้งจีน ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตขนาดใหญ่ที่สุด

การแบนพาราควอตในสหภาพยุโรปเริ่มตั้งแต่ปี 1983 ที่สวีเดน ตามด้วยประเทศอื่นๆ เช่น ฟินแลนด์ซึ่งยกเลิกในปี 1986 ด้วยเหตุผลว่าพาราควอตมีความเป็นพิษสูงแม้จะได้รับในปริมาณน้อย และส่งผลให้เสียชีวิตได้ ส่วนเดนมาร์กยกเลิกในปี 1995 เนื่องจากพาราควอตตกค้างในดินได้นานและมีพิษร้ายแรง ทำให้กระต่ายที่กินหรือเดินบนหญ้าที่มีพาราควอตปนเปื้อนอาจเสียชีวิตได้

ปัจจุบันพาราควอตถูกห้ามใช้แล้วใน 53 ประเทศ รวมทั้งจีน ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตขนาดใหญ่ที่สุด แต่ก็ยกเลิกการใช้พาราควอตตั้งแต่ปี 2014 ที่มีประกาศกระทรวงเกษตรระบุว่า ห้ามใช้พาราควอตสูตรน้ำ เพื่อคุ้มครองสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชน และยุติการการจำหน่ายและใช้โดยสิ้นเชิงในปี 2016 ส่วนประเทศที่ยังอนุญาตให้ใช้อยู่ ก็ต้องมีมาตรการควบคุมที่เข้มงวดมาก เช่น สหรัฐอเมริกา ทั้งผู้ใช้และผู้จำหน่ายต้องได้รับอนุญาต ห้ามใช้ในพื้นที่สาธารณะ เช่น สวนสาธารณะ ต้องใช้เครื่องจักรฉีดพ่นเท่านั้น

 

อ้างอิง

Tags: , , , , ,