วันนี้ (22 .. 2562) ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ทั้งหมด 26 คน จากคณะกรรมการทั้งหมด 29 คน มีมติเห็นควรห้ามใช้พาราควอต 21 เสียง จำกัดการใช้ 5 เสียงเห็นควรห้ามใช้คลอร์ไพริฟอส 22 เสียง จำกัดการใช้ 4 เสียงและเห็นควรห้ามใช้ไกลโฟเซต19 เสียง จำกัดการใช้ 7 เสียง 

โดยการประชุมครั้งนี้ต่อเนื่องมาจาก การประกาศของหกกระทรวงในเดือนเมษายน 2560 ที่มีมติร่วมกันว่าให้ยกเลิกการใช้สารเคมีสองชนิด รวมถึงพาราควอตที่ใช้กำจัดวัชพืช แต่ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2560 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กลับมีมติอนุญาตให้ต่อใบอนุญาตใช้พาราควอต 6 ปี แก่บริษัท 3 แห่ง ด้วยเหตุผลว่า ปัจจุบันยังไม่มีมติแบนพาราควอต หากไม่ต่อทะเบียนให้บริษัท หน่วยงานภาครัฐอาจถูกฟ้องร้องได้

ความขัดแย้งนี้จึงนำมาสู่การตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ ภายใต้คณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งมีการประชุมและมีข้อสรุปในวันที่ 23 พฤษภาคม มีมติไม่ยกเลิกการใช้พาราควอต คลอร์ไฟริฟอส และไกลโฟเซต เพราะข้อมูลผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพยังไม่เพียงพอ

ตามมาด้วยการประชุมเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2562 เมื่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายก็มีมติอนุญาตให้ใช้สารเคมีอันตรายสำหรับกำจัดวัชพืช 3 รายการ คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต โดยใช้กับพืช 6 ประเภท คือ ยางพารา ปาล์ม มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด และไม้ผลที่ขึ้นทะเบียน ซึ่งก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์และดำเนินการขอให้ยกเลิกการใช้สารเคมีทั้งสามชนิดอย่างต่อเนื่อง 

โดยตัวแทนกลุ่มเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช Thai-PAN (Thailand Pesticide Alert Network) นำทีมเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง 686 องค์กร เพื่อยื่นหนังสือถึงพรรคชาติไทยพัฒนา เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา เพื่อขอทราบจุดยืนของพรรคกรณีการแบนสารเคมี ในฐานะที่นายวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการวัตถุอันตราย 

และในการประชุมในวันที่ 7 ตุลาคม 2562ที่ผ่านมา ของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย คือภาครัฐ ผู้นำเข้าสารเคมี เกษตรกร และผู้บริโภค มีมติ 9 ต่อ 0 เสียง เห็นชอบให้ยกระดับสารเคมีเกษตร 3 ชนิด จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 เพื่อให้ยกเลิกการจำหน่าย และยกเลิกการใช้ในประเทศ เริ่มวันที่ 1 .. 62

ประกอบกับผลการประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันนี้ ที่มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นพ้องห้ามใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด ด้วยการจัดให้เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 โดยมีการมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตร เป็นผู้ดำเนินการยกร่างประกาศกฎกระทรวงว่าด้วยบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย รวมถึงพิจารณาระยะเวลาและความเหมาะสมในการบริหารจัดการวัตถุอันตรายอื่นๆ ที่ยังคงเหลืออยู่ หลังจากประกาศมีผลบังคับใช้ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้อง เช่น เกษตรกร หรือร้านจำหน่าย เป็นต้น โดยให้รับรองมติในที่ประชุม

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมวันนี้ปรากฏว่า มีผู้ชุมนุมกลุ่มเกษตรกรที่ไม่ต้องการให้มีการแบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิด มารอติดตามผลการประชุมประมาณ 500 คน และหลังจากทราบว่า คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติห้ามใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด กลุ่มผู้ชุมนุมได้แสดงความผิดหวัง และจะยื่นฟ้องศาลปกครองขอคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้ยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดนี้ในวันที่ 28 ตุลาคมนี้ และในขณะเดียวกันก็จะรอให้นายกรัฐมนตรีเปิดรับฟังความคิดเห็นใหม่จาก 4 ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอีกด้วย 

อ้างอิง:

https://themomentum.co/paraquat-is-still-being-allowed-in-thailand/ 

https://themomentum.co/paraquat-comes-back-in-thailand/

https://www.bbc.com/thai/thailand-50134830

https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_1722441

 

ภาพ: REUTERS/Soe Zeya Tun

Tags: