ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่สตาร์ตอัปของคนไทยจะไประดับโลก แต่ เป้-นัตวิไล อุทุมพฤกษ์พร ได้ทำให้เราเห็นแล้วว่ามันเป็นไปได้
นัตวิไลเป็นผู้ประกอบการไทยที่ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งใน Forbes 30 Under 30 ในยุโรป ซึ่งนิตยสารฟอร์บสจัดอันดับบุคคลซึ่งอายุไม่เกิน 30 ปีแต่มีผลงานเป็นแนวหน้าในธุรกิจต่างๆ ในยุโรป นัตวิไลเป็นผู้ก่อตั้ง ‘Trik’ สตาร์ตอัปที่ใช้โดรนถ่ายภาพสามมิติเพื่อดูแลอาคารและสิ่งของ ปัจจุบันเธออาศัยอยู่ในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ด้วยวีซ่า Tier 1 (Exceptional Talent)
ผู้เขียนได้ไปฟังทอล์กของนัตวิไลซึ่งจัดโดยสามัคคีสมาคม และประทับใจในความกล้า และเปี่ยมพลัง รวมทั้งความอึดของเธอ เราจึงขอสัมภาษณ์เกี่ยวกับชีวิต ทัศนคติ ความท้าทาย ในการริเริ่มสตาร์ตอัป
ล้มลุกคลุกคลาน 20 ล้านอย่าง
“พ่อฉันเป็นเจ้าของธุรกิจ แล้วพ่อก็บอกตลอดว่า อยากให้ฉันทำธุรกิจด้วยเพราะคิดว่าฉันทำได้ แต่ฉันเห็นพ่อทำแล้ว ไม่คิดว่าจะทำได้ ฉันไม่เคยอยากเป็นผู้ประกอบการเลย”
นัตวิไลเรียนปริญญาตรีคณะวิศวกรรม ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นเข้าทำงานที่บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโครเลียม จำกัด (ปตท. สผ.) ในปี 2554 จึงได้เห็นนวัตกรรมและสนใจเรียนรู้เพิ่มเติมที่สหราชอาณาจักร นัตวิไลจึงไปเรียนคอร์สเกี่ยวกับการออกแบบนวัตกรรม (MA(RCA)/MSc Global Innovation Design) ในปี 2556 ซึ่งถือเป็นรุ่นแรกที่อิมพีเรียลคอลเลจ ลอนดอน โดยคอร์สนี้ผสมผสานทั้งงานวิศวกรรม การออกแบบ และการบริหารธุรกิจ และเป็นหลักสูตรที่ให้ไปเรียนที่นิวยอร์กครึ่งปี โตเกียวครึ่งปี และลอนดอนหนึ่งปี ซึ่งทำให้มีโอกาสสร้างความเข้าใจวัฒนธรรมและสิ่งที่ประเทศต่างๆ เน้นให้ความสนใจเป็นการเฉพาะ
เช่น นัตวิไลพบว่า สหรัฐอเมริกาจะเน้นไปทางการออกแบบผลิตภัณฑ์ คิดไอเดีย การสร้างแบรนด์ การนำเสนองาน ส่วนญี่ปุ่นจะสนใจเรื่องเทคโนโลยีทันสมัย ส่วนอังกฤษเน้นที่การสร้างนวัตกรรม จับแพะชนแกะยังไงให้ได้ไอเดียใหม่ๆ
เธอเล่าว่า พอเรียนจบจากอังกฤษ ก็มีงานที่ ปตท. สผ. รออยู่ และพ่อแม่อยากให้กลับเมืองไทยไปแต่งงาน แต่เธอได้ offer จากบริษัทไมโครซอฟต์ ซึ่งเป็นตัวเลือกที่ทำให้คิดหนัก
เมื่อเธอได้มีโอกาสเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ Entrepreneur First ซึ่งเป็นโมเดลที่คอยเปิดพื้นที่และให้โอกาสคนที่อยากริเริ่มก่อตั้งธุรกิจของตัวเอง หรือที่เรียกกันว่า accelerator พ่อของเธอจึงสนับสนุนให้อยู่อังกฤษต่อ เพราะมองว่าเป็นโอกาสที่จะได้ลองเป็นผู้ประกอบการ ถึงแม้จะต้องแลกกับการใช้ทุน ปตท. สผ. ก็ตาม เธอบอกว่า พ่อมองว่า การใช้ทุนและเข้า accelerator คล้ายกับการส่งเรียนปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ แต่มีโอกาสได้ลงมือทำจริง
หลังจากตัดสินใจเช่นนี้ ชีวิตนัตวิไลก็ไม่ง่ายนัก เธอบอกว่า “ล้มลุกคลุกคลาน 20 ล้านอย่าง” ที่สำคัญ ผู้ร่วมก่อตั้งสตาร์ตอัปของเธอก็ถอนตัวอีกด้วย ทำให้พ่อแม่สนับสนุนให้กลับไทย แต่นัตวิไลยังคิดอยากลองดูอีกสักตั้ง
ปรากฏว่าหลังจากนั้น เธอก็เริ่มได้รับรางวัลต่างๆ ได้เจอโค้ชที่คอยให้กำลังใจ และได้รับเงินทุนห้าแสนปอนด์ (คิดเป็นเงินไทยราว 21 ล้านบาท) โดยสามแสนปอนด์เป็นเงินสนับสนุนจาก Innovate UK อีกหนึ่งแสนห้าหมื่นปอนด์จาก angel investor สองคน และอีกแปดหมื่นปอนด์เป็นเงินรางวัลจาก Royal Academy of Engineering และ Geovation)
ต้องเชื่อก่อนว่ามีความหวัง
“สองปีที่มาอยู่อังกฤษมันสอนให้ฉันเชื่อว่าฉันทำได้ ตอนอยู่เมืองไทยตอนเด็กๆ เราก็มีความฝัน อยากทำโน่นทำนี่ แต่มี reality check ค่อนข้างสูง รู้สึกว่ามันทำจริงไม่ได้หรอก คนเรามันก็ฝันไปอย่างนั้นแหละ” นัตวิไลเล่าถึงมุมมองต่อโอกาสและความฝัน
เธอเล่าว่า วันแรกที่เริ่มเรียน อาจารย์ให้คิด billion dollar idea หรือโปรเจ็กพันล้านดอลลาร์ เล็กกว่านั้นไม่ต้องคิด ตอนแรก นัตวิไลคิดอยากได้ portable wheel หรือล้อพกพา เพื่อจะได้ไม่ต้องหิ้วของ แต่พอจบวัน ความคิดถูกพัฒนาจนเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง กลายเป็น physical cloud storage system ปลอดภัยกว่า ไม่ต้องพกติดตัว เผื่อฉุกเฉิน อีกอย่างที่อาจารย์ให้คิดคือถ้ามีเงินหนึ่งล้านปอนด์จะทำอย่างไร แก้ปัญหาอย่างไร เป็นการจุดประกายนักศึกษาให้กล้าคิดใหญ่
“ถ้าเราอยู่ในพื้นที่ที่ทุกคนเชื่อว่าทำได้ แล้วมีเราคนเดียวที่คิดว่าเราทำไม่ได้ เราจะรู้สึกว่าเราผิดปกติหรือเปล่า อยู่เมืองไทยทุกคนเชื่อว่าทำไม่ได้ อยู่ที่นี่รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องปกติ ทำไมจะเป็นซัคเคอร์เบิร์กคนต่อไปไม่ได้ล่ะ มันไม่มีเหตุผลอะไรเลย ทำให้เราเชื่อ พอเราเชื่อเราก็จะคิดใหญ่ได้มากขึ้น”
เมื่อกล้าคิดใหญ่จึงกล้าสร้างนวัตกรรม ไม่คิดเพียงแก้ปัญหาที่มีวันนี้ แต่คิดไปถึงการเปลี่ยนวิถีชีวิตคนที่ใช้สิ่งที่สร้าง
ความท้าทายของหญิงไทยในต่างแดน
ความท้าทายแรกคือการหาทีม นัตวิไลเป็นผู้ก่อตั้งเดี่ยว ไม่มี co-founder เธอเล่าว่า ตอนแรกคิดว่าจะให้เวลาตัวเองหนึ่งปีในการหาผู้ร่วมก่อตั้ง แต่ก็พบว่า หลายคนที่พูดอวดว่าทำสิ่งต่างๆ ได้ แต่ปรากฏว่าจริงๆ ทำไม่ได้ วันหนึ่งเมนทอร์แนะนำว่า ถ้าทำเองได้ก็ควรทำเองเลย แต่สุดท้ายก็เจอคนจีนซึ่งทัศนคติดี มีความสามารถ
อย่างไรก็ดี ด้วยความเป็นคนต่างชาติ ก็มีปัญหาเรื่องวีซ่า แม้จะเป็นไอเดียที่ได้รับรางวัล แต่ก็ยังเจอปัญหาว่า มหาวิทยาลัยไม่สปอนเซอร์วีซ่าเพราะไอเดียไม่ผ่าน เนื่องจากกรรมการที่มหาวิทยาลัยเน้นแผนเชิงธุรกิจมากกว่าด้านเทคโนโลยี ทำให้เธอต้องมองหารางวัลและเงินสนับสนุน โดยสมัครหว่านแหไปทุกรายการที่มีเงินและชื่อเสียงเป็นสิ่งตอบแทน เป็นช่วงเวลาที่แต่ละเดือนจะต้องคิดว่าเดือนหน้าจะได้อยู่อังกฤษต่อหรือไม่ และในที่สุดก็มีคนแนะนำวีซ่าประเภท Tier 1 (Exceptional Talent) สำหรับคนที่ค่อนข้างเป็นที่รู้จักในอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งวีซ่าประเภทนี้อนุญาตให้ผู้ถืออยู่ในประเทศได้ถึงห้าปี และหลังจากห้าปีก็สามารถสมัครเป็นผู้พักอาศัยในประเทศได้
ความท้าทายหนักอีกอย่างมาจากความเป็นผู้หญิง เธอเล่าว่าในประสบการณ์ของเธอนั้น ตอนอยู่เมืองไทย ความเป็นผู้หญิงไม่ได้ลิมิตเธอเลย แต่ที่อังกฤษเหยียดเพศหญิงมาก เพื่อนๆ โดนตั้งคำถามตลอดว่า เป็นผู้หญิงจะเก่งเลขเก่งวิทย์ได้อย่างไร มีคนถามเธอว่า “เทคโนโลยีของสตาร์ตอัปทำเองจริงหรือ เป็นคนคิดจริงหรือ หน้าตาดี ไม่น่าใช่นะ”
นอกจากนี้ นักลงทุนและลูกค้าก็จีบผู้ประกอบการหญิงเป็นว่าเล่น ในขณะที่นักลงทุนไทยจะไม่ค่อยกล้า แต่นักลงทุนที่อังกฤษไม่แคร์ เธอเคยนัดประชุมกับลูกค้าแล้วกลายเป็นเดทโดยไม่คาดคิด เธอมีเทคนิคป้องกันคนเข้ามายุ่งในทางที่ไม่เหมาะสม โดยการใส่แหวนไว้ที่นิ้วกลาง และจะเปลี่ยนไปใส่นิ้วนางเมื่อรู้สึกว่ามีคนที่ไม่น่าไว้ใจเข้ามา
“อยู่ที่นี่เป็นผู้หญิงต้องระวังตัวเยอะ ต้องสตรอง ต้องกล้าตัด จนกลับไทยอาจดู aggressive ไปหน่อยด้วยซ้ำ ที่นี่ต้องกล้าแสดงออก ฝึกการปฏิเสธนานมาก”
สภาพแวดล้อมและการสนับสนุน
นัตวิไลอธิบายว่า รัฐบาลอังกฤษสนับสนุนผู้ประกอบการและนักลงทุนดีมาก รัฐบาลสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนลงทุนในสตาร์ตอัปเพื่อส่งเสริมการสร้างงานและนวัตกรรม ถ้าลงทุนในสตาร์ตอัป แล้วสตาร์ตอัปไม่ประสบความสำเร็จ ก็ยังสามารคเคลมเงินลงทุนคืนบางส่วนได้โดยการหักภาษี อีกส่วนคือเงินทุนวิจัย ประเทศอังกฤษมีเด็กจบปริญญาเอกจำนวนมาก แต่ชอบทิ้ง ไม่มีแรงจูงใจให้ทำต่อ รัฐจึงสนับสนุนให้ทำเป็นธุรกิจ
ข้อดีอีกอย่างของสภาพแวดล้อมที่อังกฤษ คือ ทุกคนอยากเป็นเมนทอร์ อยากเป็นที่ปรึกษา เพราะเป็นสิ่งที่เอาไปอวดได้ กลายเป็นการสร้างคอมมิวนิตี้ที่ใครๆ ก็อยากนำความรู้ นำเงินของตัวเองมาช่วย ในด้านนี้ นัตวิไลมองว่า เมืองไทยก็ทำได้ แต่ตอนนี้หลายคนยังหวงความรู้ หวงเครือข่าย ช่วยเหลือเฉพาะคนรู้จัก สังคมที่ไทย เรื่องเน็ตเวิร์คแข็งแรงกว่า เป็นส่วนตัวมากกว่า แต่เธอมองว่าถ้าประเทศไทยเปลี่ยนวิธีคิด จะทำให้เกิดคอมมิวนิตี้ที่ดีกว่าของกอังกฤษด้วยซ้ำ
Trik สตาร์ตอัปของคุณเป้ ใช้โดรนถ่ายภาพสามมิติเพื่อดูแลอาคารและสิ่งของ
เธอเริ่มก่อตั้ง Trik ในปี 2558
“แต่ก่อนฉันทำงานเกี่ยวกับน้ำมันและเชื้อเพลิง แต่ละครั้งต้องปีนไปดูข้างบน ตามมุม มุดเข้าไปในแทงก์ เพื่อดูว่าปัญหามันคืออะไร การทำงานตรวจบำรุง (inspection) ฉันคิดว่าที่เหนื่อยมากที่สุดคือไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น ที่เหลือคือการเขียนรีพอร์ตง่ายๆ ทำให้ฉันรู้สึกว่าจะดีกว่าไหมถ้าเราสามารถส่งหุ่นยนต์เข้าไปตรวจสอบแทนคน ฉันคิดว่าเป็นปัญหามาตลอด พอมาอยู่ที่นี่ ฉันเริ่มสนใจโดรน ฉันนำปัญหาที่ฉันเคยเจอในที่ทำงานมารวมกับเทคโนโลยีโดรน น่าจะเวิร์ค ก็เลยกลายเป็นไอเดียธุรกิจนี้”
เวลาบินโดรนไปถ่ายรูปรอบอาคาร มันจะนำรูปทั้งหมดมาเปลี่ยนเป็นโมเดลดิจิทัลสามมิติ เป็นการแสกนสามมิติของอาคาร ซูมอินเข้าไปดูแต่ละจุดได้ ปกติเธอจะเขียนเป็นรีพอร์ตในโปรแกรมเวิร์ด ทำให้ตั้งคำถามว่า ทำไมทำรีพอร์ตสามมิติไม่ได้ Trik จึงให้ผู้ใช้เขียนบรรยายกำกับในรีพอร์ตสามมิติได้เลย
นอกจากนั้น Trik สร้างฐานข้อมูลสามมิติ เก็บรูปภาพ รูปวาด ข้อมูลความกว้างความยาวความสูง แผนที่แต่ละรูปลงโมเดลสามมิติ นอกจากจะช่วยเรื่องการตรวจสอบอาคารและสิ่งของแล้ว ยังช่วยเรื่องเกี่ยวกับการประกันภัยของอาคารและสิ่งของด้วย เพราะเวลาถ่ายภาพอาคารและสิ่งของ จะมีบางมุมที่มองไม่เห็น แต่ Trik สามารถแสกนได้ทั้งหมด
นัตวิไลมองว่า อีกเหตุผลที่ฐานข้อมูลสามมิติเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นก็คือ คนใช้เทคโนโลยี AR/VR แล้วมากมาย แต่ยังไม่มี data base ในอนาคตคนอาจใช้ฐานข้อมูลสามมิตินี้เก็บ AR/VR แล้วค้นหาได้ด้วย
บริษัทมี MVP (Minimum Viable Product) ตั้งแต่ปีที่แล้ว อยู่ในช่วงการทดลองใช้งานกับบริษัทก่อสร้างและเครือข่ายรถระบบราง ส่วนบริษัทประกัน เช่น AIG กำลังจะเข้ามาลองใช้ Trik เดือนหน้า วางแผนเปิดตัวเดือนกันยายน
กลุ่มเป้าหมายของ Trik มีสองกลุ่ม คือ บริษัทผู้ให้บริการโดรน (drone operator) และบริษัทวิศวกรรม ที่ทำเกี่ยวกับการก่อสร้าง ตรวจสอบ และปรับปรุงอาคาร ซึ่งถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก แต่นอกจากอาคารแล้ว Trik ยังสามารถแสกนถนน รถ และรถไฟ
นัตวิไลเป็นผู้หญิงไทยที่คิดใหญ่ และลงมือทำจริง อีกทั้งยังต่อสู้เพื่อนำนวัตกรรมที่เธอสร้างมาทำให้เกิดประโยชน์ ความสำเร็จของเธอน่าจะช่วยเป็นกำลังใจให้คนที่กล้าคิดใหญ่ ให้เกิดแรงบันดาลใจในทางทดลองและเริ่มต้นความฝันได้
Tags: นัตวิไล อุทุมพฤกษ์พร, Trik