ฟาซาดสีดำลักษณะคล้ายหน้าต่างบานเกล็ดแบบโบราณ นำสายตาเราไปยังโฮสเทลอายุไม่ถึงหนึ่งปีหลังซุ้มประตูแพร่งสรรพศาสตร์ บานหน้าต่างแบบนี้หากเป็นแบบดั้งเดิมนิยมทาสีเขียวเพื่อให้เข้ากับย่านสามแพร่ง ย่านเก่าแก่ในเกาะรัตนโกสินทร์ที่บรรยากาศและของกินในย่านนั้นชวนให้เราไปเยือนอยู่บ่อยๆ แต่คราวนี้เราเจาะจงไปเยือน ‘ป้าแพร่ง’ อาร์ตโฮสเทลที่แฝงตัวร่วมอยู่กับชุมชนอย่างลูกหลาน ในการดูแลของ ตาล-ศุภญาลักษณ์ คงเพ็ชร ศิษย์เก่าจากศานตินิเกตัน สถาบันใต้เงาไม้แห่งอินเดีย

ตาลเรียนจบด้านออกแบบ Textile ระหว่างเรียนอยู่ที่นั่นเธอทำงานนำทัวร์เทรกกิ้งขึ้นอันนาปุรณะเบสแคมป์ควบคู่ไปด้วย  อินเดียสอนให้ตาลรู้จักโอนอ่อนต่อธรรมชาติ และเชื่อว่าทุกอย่างเป็นไปได้ อย่างที่คนอินเดียชอบพูดติดปากว่า ‘No problem’

“ตาลวางแพลนไว้แล้วว่าอยากทำโฮสเทลตอนอายุสามสิบ คิดว่าเป็นเรื่องของลำดับขั้น ฮินดูเขาจะมีสอนเรื่องช่วงอายุว่าตอนเป็นเด็กทำอะไร อายุเท่าไรให้มีครอบครัว ทำให้เราได้อิทธิพลบางส่วนมาคืออายุยี่สิบให้ศึกษาหาความรู้ สามสิบทำงานประกอบอาชีพ สี่สิบมีครอบครัว ไปจนสุดท้ายคือออกบวช แต่ตาลยังไม่คิดถึงขั้นนั้นนะ (หัวเราะ)”

ปีนี้ตาลอายุ 31 เทียบดูแล้วก็เท่ากับว่าตอนโฮสเทลหลังนี้เปิดให้บริการเธออายุ 30 ตามแพลน แม้จะไม่ได้ทำงานด้านศิลปะโดยตรงตามที่เล่าเรียนมาจากอินเดีย แต่โฮสเทลหลังนี้ก็รายล้อมด้วยผลงานศิลปะ ทั้งของเพื่อนพ้องน้องพี่และศิลปินโดยอาชีพ ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาจัดวางราวกับเป็นแกลเลอรีทั้งในพื้นที่ส่วนกลางและห้องพักแขก รวมถึงงานศิลปะจากผืนผ้าชิ้นใหญ่ที่ใช้เทคนิคการปักจักรจากเศษผ้าผลงานของตาล  ซึ่งติดตั้งบนผนังบริเวณทางขึ้นระหว่างชั้น

อีกส่วนหนึ่งที่สะดุดใจคือการจัดสรรพื้นที่โฮสเทล ที่หนึ่งในสามของพื้นที่นั้นเธอเลือกที่จะปล่อยโล่งจากพื้นจรดเพดาน แทนที่จะทำเป็นห้องพักซึ่งน่าจะทำรายได้ได้มากกว่าการปล่อยพื้นที่สูญเปล่า

ตาลบอกเหตุผลกับเราว่า “พื้นที่ว่างมันคืออากาศ เราแค่ต้องการอากาศ”

โฮสเทลขนาด 20 เตียงที่เกิดมาจากความชอบนอนบ้านเพื่อน

ตาลเป็นลูกคนเดียว แต่เธอไม่ชอบการนอนคนเดียว จึงมีบ่อยครั้งที่เธอมักไปหมกตัวอยู่ที่หอพักของเพื่อนตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย กระทั่งไปเรียนที่อินเดีย ความชอบไปนอนบ้านเพื่อนก็ไม่เคยหายไปไหน และการไม่ชอบนอนคนเดียวนี้เองเป็นเหตุผลที่ทำให้เธออยากทำโฮสเทล

“ก็คิดว่าถ้ามีโฮสเทลจะมีเพื่อนมานอนบ้าน เราจะไม่ต้องนอนคนเดียว” ตาลยิ้มแล้วเล่าต่อว่าหลังจากเปิดให้บริการเต็มตัว โฮสเทลหลังนี้มีเพื่อนมาเยี่ยมไม่ขาดสาย ทั้งแขกที่มาพักและกลายเป็นเพื่อนใหม่ ไปจนถึงเพื่อนเก่าแก่ที่หลังเรียนจบก็แยกย้าย กระทั่งปัจจุบันก็ได้กลับมาเจอกันโดยมีที่นี่เป็นสถานที่ฟื้นความหลัง

“ตอนแรกคิดว่าจะมีแค่ห้องเดียวด้วยซ้ำ แล้วนอนด้วยกันแปดคน แต่ความที่พื้นที่มันเยอะ จากที่จะทำแปดเตียงตอนนี้ทำไว้ยี่สิบเตียง ทั้งที่จริงตามขนาดของตึกแล้วเราทำได้หกสิบถึงแปดสิบเตียงถ้าสร้างตามมาตรฐานปกติ เพราะส่วนที่เราทุบออกไปราวหนึ่งในสามนั้นไม่ได้ใช้ทำอะไรเลย”

จะมีใครสักกี่คนที่มีความคิดแบบตาล เพราะขนาดของอาคารพาณิชย์ 4 ชั้น มีเพียงชั้น 3 และ 4 เท่านั้นที่เป็นห้องพักสีขาวสะอาดตา โดยมีห้องพักแบบดอร์มห้องละ 8 เตียง 2 ห้อง และห้องพักแบบ 2 เตียงซึ่งเป็นเตียง 2 ชั้นทั้งหมดอีก 2 ห้อง ล็อกเกอร์เก็บของซ่อนตัวเรียบร้อยและกลืนเป็นส่วนหนึ่งของผนัง ส่วนดาดฟ้าที่มองเห็นวิว 360 องศา เป็นพื้นที่ส่วนรวมที่แขกนิยมขึ้นมาหย่อนใจ โดยมียิมเล็กๆ เอาไว้ให้ออกกำลังกายหรือโยคะทั้งยามเช้าและยามเย็น

ชั้นล่างของโฮสเทลเปิดเป็นคาเฟ่เล็กๆ ชื่อว่า ‘I Hate Rubber’ พร้อมมุมต้อนรับ ขณะที่ชั้นลอยคือพื้นที่ส่วนกลางของแขกที่เข้ามาพัก  มีมุมครัว โต๊ะกลางขนาดใหญ่ และมุมส่วนตัวอยู่มากพอ ส่วนชั้น 2 คือห้องน้ำรวมที่การออกแบบ วัสดุ และผลิตภัณฑ์สำหรับแขกนั้น เทียบได้กับโรงแรมมีระดับเลยทีเดียว

“เรื่องบริการจะมาจากตัวตาล ที่เวลาไปพักที่ไหนแล้วเราชอบแบบไหน ไม่ชอบอะไร ด้วยอาชีพเดิมเราทำท่องเที่ยว เราเดินทางเยอะมาก ก็จะเห็นคนเยอะ เห็นโรงแรมหลายแบบ แบบไหนที่เราไม่ชอบเราก็ไม่อยากให้มันเกิดขึ้นที่นี่

“การเป็นโฮสเทล ความหมายมันบอกในตัวอยู่แล้วว่าเราเป็น Host คือเป็นเจ้าบ้าน ลูกค้าเป็นแค่สรรพนามที่เรียก แต่ความเป็นจริงเขาคือคนที่มาพักบ้านเรา แล้วเราจะไม่ใส่ใจเขาได้หรือ และเมื่อย้อนกลับมามองคอนเซ็ปต์ เราไม่ได้ต้องการลูกค้า เราต้องการคนมานอนเป็นเพื่อน เขาอุตส่าห์มานอนเป็นเพื่อนแล้ว เราก็ต้องดูแลเขาให้ในอีกแบบ ที่จริงการมองเขาเป็นลูกค้าแบบ Business Hotel นั้นง่ายกว่าด้วยซ้ำ แต่เราไม่ชอบ ชอบแบบนี้มากกว่า”

เปิดพื้นที่แนวตั้ง เพื่อสร้าง ‘อากาศ’

ทำไมถึงตั้งชื่อว่าป้าแพร่ง? เราถามคำถามนี้แทนใจหลายคนที่เคยเดาคำตอบหลายทิศทาง บ้างก็ว่าเจ้าของคงเป็นสตรีวัยป้า บ้างก็ว่าอาจจะมาจากชื่อย่าน หรือมาจากการคิดชื่อให้แปลกเข้าไว้เพื่อสร้างจุดเด่น กลายเป็นว่าความจริงที่ตาลเฉลย มาจากการที่เธอบันทึกชื่อเจ้าของเดิมคือคุณป้ากรรณิการ์เอาไว้ว่า ป้าแพร่ง และในวันที่เธอต้องคิดชื่อโฮสเทลอยู่นั้น โทรศัพท์ก็ดังขึ้นพร้อมชื่อ ‘ป้าแพร่ง’ ปรากฏขึ้นบนหน้าจอ

“ก็เลยได้ชื่อนี้มา ไม่ได้มีความหมายอะไร”

โครงสร้างอาคารอายุราว 30 ปี ถูกปรับเปลี่ยนขึ้นโดยการออกแบบของทีมสถาปนิก ‘ไอดิน’ ซึ่งตีโจทย์จากตัวตนของตาล ออกมาเป็นอาคารสีขาวตัดดำที่ดูเนี้ยบ สบายตา ขณะที่อีกฝั่งหนึ่งนั้นมีความดิบของปูนที่กะเทาะออกแล้วเปลือยให้เห็นอิฐที่สะท้อนให้เห็นอายุและร่องรอยของตึก ส่วนนั้นแต่เดิมคือห้องหับภายในอาคารที่เจาะทะลุขึ้นจากชั้นล่างจรดเพดาน แล้วเก็บคานเดิมเอาไว้แบบเปลือยเพื่อรักษาโครงสร้างอาคาร และส่วนที่เปิดโล่งนี้เองที่ให้ทำให้อาคารนี้ไม่ดูอึดอัด ขณะเดียวกันก็ให้แสงธรรมชาติส่องเข้ามาในพื้นที่โฮสเทลโดยไม่ต้องเปิดไฟในยามกลางวัน

“ตาลชอบที่ว่าง ไม่อยากอยู่ในตึกที่คับแคบ เมื่อเราได้ที่ที่เป็นตึกแถว ไม่มีที่ว่าง เราก็ต้องสร้างมันขึ้นมาในข้อจำกัดที่เรามี เราไม่อยากเป็นโฮสเทลที่ต้องมานั่งคำนวณว่าจะต้องอัดเตียงเข้าไปให้เต็มที่ จากความตั้งใจเดิมที่คิดจะมีแค่แปดเตียง ตอนนี้มียี่สิบเตียงก็เยอะขึ้นมาตั้งเท่าไรแล้ว คนอาจจะคิดว่ามันจะไม่ได้กำไร แต่ตาลคิดว่ากำไรมันคือความพอใจของเรา และเราอยากทำทุกอย่างให้มันถูกต้องที่สุด อย่างด้านหลังของตึกที่เคยติดกับตึกอีกหลัง เราทุบออกเพื่อให้มีพื้นที่ว่างสองเมตรตามกฎหมาย มีระบบดับเพลิงบนที่สูงที่ถ้าเกิดไฟไหม้เราสามารถยิงน้ำลงไปช่วยดับได้”

ฟาซาดบานเกล็ดสีดำที่ดูเหมือนงานยุคเก่าที่หากเป็นของยุคเดิมจริงๆ นั้นจะต้องทำจากไม้ แต่ในยุคนี้ที่ไม้เป็นของหายาก ภูมิปัญญาของคนรุ่นเก่าจึงถูกนำมาผูกเข้ากับวัสดุทดแทนอย่างเหล็กที่ตีขึ้นทีละแผ่นแล้วเรียงเข้าบานทีละแผ่น ข้อดีของบานเกล็ดแบบนี้คือด้านนอกจะมองเข้ามาไม่เห็นด้านใน ผู้อาศัยจึงยังได้รับความเป็นส่วนตัว ขณะที่เมื่อมองจากด้านในตึก จะเห็นความเคลื่อนไหวภายนอกตึกชัดเจน และยังสามารถปรับองศาของบานเกล็ดให้แสงเข้าได้มากน้อยตามต้องการ

“ตาลว่าถ้าทำเลียนแบบยุคเก่ามันก็ไม่เหมือนเพราะเราเกิดขึ้นในยุคนี้ ดังนั้นเราจึงอยากให้มันเป็นตัวแทนของคนยุคเราด้วย อยากให้ตึกนี้เป็นไอคอนของย่านนี้ในยุคหนึ่ง เมื่อเวลาผ่านไปคนก็รู้ว่าตึกนี้ไม่ได้สร้างยุคเก่านะ แต่สร้างในยุคนี้แหละ”

ขอเป็นส่วนหนึ่งกับชุมชน

ป้าแพร่งเปิดตัวครั้งแรกในช่วงปีที่แล้วที่ชุมชนสามแพร่งจัดงาน สามแพร่ง Facestreet เมื่อเดือนพฤศจิกายน และพื้นที่แห่งนี้ก็ได้เปิดให้เด็กๆ  ได้ใช้ตึกทำกิจกรรม ซึ่งเป็นแนวคิดตั้งแต่แรกเริ่มเช่นกันว่าอยากให้โฮสเทลแห่งนี้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ของชุมชน โดยเปิดให้นักศึกษาและคนทั่วไปได้เข้ามาใช้พื้นที่สำหรับกิจกรรมต่างๆ อาทิ การแสดงผลงาน งานเสวนา

“ตอนไปอยู่อินเดียเราต้องพยายามเป็นเขาเพื่อที่่เราจะได้อยู่ด้วย  ดังนั้นเมื่อมาอยู่ที่นี่เราก็ไม่อยากให้คนรอบข้างมองว่าเราเป็นตัวประหลาดที่มาอยู่ในชุมชนนี้ ช่วงที่ก่อสร้างเรากังวลใจมากว่าทุบตึกจะรบกวนชาวบ้าน เราไปขอโทษก่อนเลย การขอโทษมันง่ายมาก แล้วคนแถบนี้ก็เอ็นดูเราเหมือนเป็นลูกหลาน เขารู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนนี้ด้วยพอสมควร ตาลจำได้ว่าวันแรกที่ติดป้ายว่าเปิด คนกลุ่มแรกที่เข้ากินอาหารในคาเฟ่เราคือชาวบ้านย่านนี้ทั้งหมดเลย”

งานศิลปะชิ้นที่ตาลเป็นเจ้าของจะถูกติดตั้งถาวรหรือปรับเปลี่ยนมุมจัดวาง ส่วนศิลปะของเหล่าศิลปินที่นำมาจัดแสดงจะติดตั้งเป็นวาระและมีการปรับเปลี่ยนหมุนเวียนไปตามโอกาส ผลพลอยได้ที่ตามมาคือทำให้โฮสเทลแห่งนี้มีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาตามงานศิลปะที่จัดแสดง การได้มาพักยังโฮสเทลแห่งนี้จึงไม่ต่างกับการเข้ามาชมแกลเลอรี ที่รายล้อมด้วยงานศิลปะทุกมุมมองสายตาตั้งแต่ตื่นนอน และเป็นเสมือนแกลเลอรีของชุมชนที่สร้างสีสันใหม่ให้กับแพร่งสรรพศาสตร์

“เพราะเมื่อเราวางคอนเซ็ปต์เป็นอาร์ตโฮสเทล เราก็ต้องเป็นศิลปะของชุมชนนี้ไปด้วย”

Fact Box

  • โฮสเทลป้าแพร่ง แพร่งสรรพศาสตร์ แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพฯ โทร. 09-1659-5789 หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.paprank.com และ www.facebook.com/PAPRANK/
Tags: ,