นักวิทยาศาสตร์จาก EU’s Copernicus Atmosphere Monitoring Service หรือ CAMS เปิดเผยว่า รูรั่วชั้นโอโซนมีขนาดเล็กลงที่สุดในรอบ 30 ปี โดยพิสูจน์ได้จากการพร่องของก๊าซในชั้นบรรยากาศ และบางส่วนของรูรั่วก็ไม่ได้ปรากฏให้เห็นเหมือนอย่างที่เคยเป็นมา

รูรั่วโอโซนในปีนี้มีลักษณะเบี่ยงออกไปจากตรงกลางเล็กน้อย และตำแหน่งอยู่ห่างจากขั้วโลกค่อนข้างมาก ผู้เชี่ยวชาญจาก CAMS ฉายภาพให้เห็นว่าระดับของโอโซนจะยังมีความเสถียรหรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อยต่อไปอีกหลายวัน

โอโซนคือโมเลกุลที่ประกอบด้วยอ็อกซิเจน 3 อะตอม อยู่ในชั้นบรรยากาศสตราโทสเฟียร์ ซึ่งอยู่สูงจากพื้นโลก 20-30 กิโลเมตร ทำหน้าที่กรองรังสีอัลตร้าไวโอเลตจากดวงอาทิตย์ไม่ให้ทำอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก หากชั้นบรรยากาศสะอาด วงจรของการผลิตและย่อยสลายจะสมดุลกัน แต่สารคลอรีนและโบรมีนที่ถูกปล่อยออกมาจากกิจกรรมของมนุษย์ ทำให้กระบวนการนี้เสียสมดุล ผลของมันคือทำให้เราสูญเสียโอโซน เกิดเป็นรูรั่วขนาดใหญ่ที่สุดที่ทวีปแอนตาร์กติกาในช่วงฤดูใบไม้ผลิ เดือนกันยายนตุลาคม และจะหายไปในเดือนธันวาคม ซึ่งรูรั่วโอโซนถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี 1985

จากการค้นพบรูรั่วโอโซนดังกล่าว นำไปสู่ข้อตกลงพิธีสารมอนทรีออล ที่ถูกตราขึ้นมาเพื่อปกป้องโอโซนในชั้นบรรยากาศ โดยการห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีที่ทำลายชั้นบรรยากาศ มีประเทศที่ลงนามในข้อตกลงนี้ 28 ประเทศด้วยกันในปี 1987

รูรั่วโอโซนเคยมีขนาดใหญ่ที่สุดที่ 25 ล้านตารางกิโลเมตร สำหรับปีนี้ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีขนาดเพียง 5 ล้านตารางกิโลเมตรเศษ และคาดการณ์ว่าปีนี้รูรั่วจะมีขนาดไม่เกิน 10 ล้านตารางกิโลเมตร หากเทียบกับปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกันที่รูรั่วโอโซนกินพื้นที่ประมาณ 20 ล้านตารางกิโลเมตร แม้ว่าเมื่อปี 2017 มันจะแค่ประมาณ 10 ล้านตารางกิโลเมตรก็ตาม หรืออาจพูดง่ายๆ ได้ว่า ระดับของโอโซนนั้นผันแปรไปในแต่ละปี

เงื่อนไขที่ทำให้โอโซนเบาบางในช่วงนี้ของทุกปีนั้นเป็น เพราะทวีปแอนตาร์กติกากำลังเปลี่ยนผ่านจากฤดูหนาวไปสู่ฤดูใบไม้ผลิ จึงเกิดปฏิกิริยาที่ทำให้โอโซนในชั้นสตราโทสเฟียร์ที่หนาวเย็นเริ่มถูกทำลายจากการกลับมาของแสงแดดในละติจูดที่สูง

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ขณะที่ปีนี้การสูญเสียโอโซนเริ่มเร็วขึ้นกว่าปกติ มันก็ถูกตัดให้สั้นลงด้วยอุณหภูมิที่สูงขึ้นทันทีในชั้นสตราโทสเฟียร์ 20-30 ดีกรี ทำให้กระบวนการทำลายโอโซนไม่ประสบความสำเร็จ

ริชาร์ด เอนเจเลน รองหัวหน้าของ CAMS กล่าวว่า รูรั่วที่เล็กลงในปีนี้ช่วยกระตุ้นให้ผู้คนมีความหวังในการลดการใช้สารที่ทำลายชั้นบรรยากาศนั้นช่วยได้ แต่ควรมองว่ามัน เป็นปรากฏการณ์ไม่ธรรมดาที่น่าสนใจ เรายังต้องค้นหาต่อไปว่าอะไรเป็นสาเหตุ

มันไม่เชิงว่าเกี่ยวกับพิธีสารมอนทรีออล หรือที่เราพยายามลดการใช้สารคลอรีนและโบรมีน เพราะมันก็ยังมีอยู่ แต่มันน่าจะเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนที่ของสสารมากกว่า” 

อ้างอิง

ภาพ :  gettyimages

Tags: , ,