ยามบ่ายในช่วงสุดสัปดาห์ ย่านอารีย์เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวมากหน้าหลายตา ทั้งกลุ่มที่ชื่นชอบการคาเฟ่ฮอปปิ้ง กลุ่มคนรักกาแฟ และอีกหลากหลายความสนใจ ซึ่งย่านอารีย์ถือเป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวใจกลางกรุงฯ ที่เต็มไปด้วยร้านรวงมากมาย ทั้งร้านอาหารขึ้นชื่อ ร้านกาแฟชื่อดัง บาร์ลับๆ แต่ที่ดูเหมือนว่ายังขาดออกไปคือ ‘ร้านขายของชำ’
เมื่อพูดถึงร้านขายของชำ ทุกคนมักนึกถึงร้านสะดวกซื้อที่มีอยู่ทุกมุมถนนของเมือง และมักส่งแขกด้วยประโยคคุ้นหูว่า “รับขนมจีบซาลาเปาเพิ่มไหม” แน่นอนว่าการที่ทุกสาขามีหน้าตาเหมือนกันหมด ก็เป็นจุดแข็งของร้านสะดวกซื้อเจ้าใหญ่ แต่ในมุมหนึ่ง ก็ทำให้ร้านขายของชำธรรมดาลดน้อยถอยลง และผันตัวไปตามยุคสมัย
จากเหตุผลดังกล่าว จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘MADBACON’ ร้านขายของชำ จาก 3 ผู้ก่อตั้งอย่าง ดา-อรดา เขียวเกิด, ดรีม-ธนัชชา เขียวเกิด และเอก-นันทวัฒน์ คงคา ที่ตั้งใจสร้างให้มีไลฟ์สไตล์ที่ไม่เหมือนใครและคงไม่มีใครเหมือน
เมื่อเดินลัดเลาะฟุตปาธมาจากถนนพหลโยธิน และเข้าซอยพหลโยธิน 7 มาได้สักระยะ จะได้เจอกับคาเฟ่มากมายที่ซ่อนตัวอยู่ในย่านอารีย์ แต่เมื่อเดินเข้าซอยอารีย์ 5 ซึ่งห่างจากปากซอยประมาณ 300 เมตร ร้านขายของชำที่มีไลฟ์สไตล์ไม่ธรรมดาอย่าง MADBACON จะปรากฏอยู่ตรงหน้า
MADBACON เป็น ‘ร้านขายของชำ’ ที่มีสโลแกนติดอยู่บนร้านว่า ‘Convenience Store for Today’s Lifestyle’ เพียงแค่สโลแกนก็บ่งบอกถึงความเป็นคอนเซปต์สโตร์ได้เป็นอย่างดี
สำหรับตัวร้านมี 3 โซนด้วยกัน แบ่งเป็น โซนหน้าร้าน (Convenience Store) ที่ไม่ต่างจากภาพคุ้นตา คือมีลักษณะเป็นร้านขายของชำที่มีสินค้าให้เลือกซื้อมากมายเรียงรายอยู่ บางชิ้นก็เป็นของที่หลายคนคุ้นเคยตั้งแต่สมัยประถม แต่บางชิ้นก็ทำให้ต้องยืนคิดอยู่นานว่า ‘คืออะไร’ ซึ่งนี่คืออีกเสน่ห์ของร้านขายของชำแห่งนี้ ที่ลูกค้าต้องสงสัยตั้งแต่ชื่อร้านยันสินค้าในร้าน
โซนถัดมาคือ บริเวณชั้น 2 (EndlessUsed) ที่เรียงรายไปด้วยเสื้อผ้าจากหลากหลายแบรนด์ที่ทางร้านคัดสรรมาเป็นอย่างดี และมีหลากหลายสไตล์ให้ได้เลือกซื้อ
ส่วนโซนเปิดใหม่ (New space) ที่กำลังอยู่ในช่วงทดลองเปิด คือพื้นที่พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และนั่งพักจิบกาแฟสำหรับยามบ่าย ขอบอกว่าโซนนี้มีสิ่งของเลอค่าจากบรรดานักศิลปินมากหน้าหลายตาที่ผัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาจัดไว้ ตามที่ทางร้านได้คัดสรรเข้ามา
จุดเริ่มต้นของ ‘MADBACON’
ร้านขายของชำแห่งนี้ เริ่มจาก ดา-อรดา เขียวเกิด, ดรีม-ธนัชชา เขียวเกิด และเอก-นันทวัฒน์ คงคา โดยทั้ง 3 คน ได้รับแรงบันดาลใจจากการเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ และชื่นชอบการเดินไปตามร้านที่มีความเป็นท้องถิ่นและมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง ซึ่งทั้งสามมองว่าสินค้าเหล่านั้นมีความน่าดึงดูดมากกว่าสินค้าที่มีขายอยู่ทั่วไปตามร้านสะดวกซื้อชั้นนำ
อรดาเป็นอดีตนักเขียนนิตยสารและอยู่วงการครีเอทีฟ ส่วนนันทวัฒน์เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ และธนัชชาเป็นโปรเจกต์เมเนเจอร์ของบริษัทด้านศิลปะแห่งหนึ่ง โดยทั้งสามเปลี่ยน ‘ความชื่นชอบ’ ให้กลายเป็น ‘ความสนุก’ และเริ่มคิดแบรนด์สินค้าเป็นของพวกเขาเอง โดยไม่ลืมหยิบจับประสบการณ์ที่ได้รับมาแปรเปลี่ยนเป็นสินค้าที่ใครเข้ามาก็ต้องถามก่อนว่า ‘ชิ้นนี้คืออะไร’ และจะได้รับคำอธิบายที่รับรู้ได้ทันทีว่าทั้งสามหลงใหลในสินค้าทุกชิ้นอย่างมาก
ในที่สุด แบรนด์ ‘MADBACON’ ก็ถือกำเนิดขึ้น โดยมีคอนเซปต์คือ ‘อะไรก็ได้’ และไม่เฉพาะเจาะจง
“ความจริง MADBACON มีมาหลายปีแล้ว ซึ่งไม่ได้มีคำนิยามชัดเจน เราแค่คิดไว้ว่าอยากทำแบรนด์ที่เป็นของพวกเราเอง และถ้าจะให้โลกรู้จักก็ต้องมีคาแรคเตอร์ จากนั้นพวกเราก็เริ่มตั้งชื่อโดยจับสิ่งของรอบตัวที่ชอบ ซึ่งทั้งสามคนชอบกินเบคอน จึงตกลงใช้คำนี้ ซึ่งพวกเราก็ไม่อยากตั้งชื่อเหมือนแบรนด์ทั่วไปที่บ่งบอกว่าสินค้าคืออะไรตั้งแต่แรก
“ดังนั้น ต้องเป็นคำที่เราไม่เคยได้ยินมาก่อนในชีวิตประจำวัน ใครได้ยินต้องตั้งคำถามว่าคืออะไร เอาไปใช้กับอะไร ถ้าเราตั้งชื่อแล้วตั้งคำถามกับคนมาซื้อของได้ ถือว่าเราประสบความสำเร็จแล้ว”
ทั้งสามขยายความว่า เบคอนเป็นสิ่งที่กินกับอะไรก็อร่อยและลงตัว ไม่ต่างไปจากสินค้าของพวกเขา ที่ใครซื้ออะไรไป ก็จะค้นพบได้เองว่าต้องเอาไปใช้ทำอะไร ส่วนคำว่า Mad คือ ความ ‘บ้า’ ซึ่งทั้งสามอธิบายว่า เป็นความบ้าที่อยากจะทำ และพร้อมจะพาให้ผู้ซื้อหลงใหลในความน่ารักของสินค้าที่ตั้งเรียงรายอยู่ในร้าน
“มีช่วงหนึ่งที่เพื่อนๆ มาที่ร้าน แล้วเขาบอกว่า MADBACON หมายถึงลมบ้าหมู ซึ่ง MAD คือบ้า ส่วน BACON คือหมู ด้วยความที่เนื้อหมูมีความมัน รวมกันก็กลายเป็นลมบ้าหมู นี่คือความสนุกที่ทุกคนพยายามตามหานิยามให้กับร้านของเรา”
อรดาเล่าว่า Convenient Store คือร้านขายของชำ แต่ MADBACON เป็นร้านขายของชำที่ปรับลุคใหม่ให้ไม่ธรรมดา โดยรวบรวมสินค้าที่คัดสรรมาด้วยตนเองอย่างประณีตและบรรจง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าลูกค้าจะได้รับสินค้าที่ดีที่สุดจากร้าน
“เราอาจมีนิยามว่า MADBACON เป็น Convenient store for today life style ซึ่งหมายถึงร้านขายของชำหรือร้านสะดวกซื้อ แต่ด้วยความที่ทุกวันนี้ การใช้ชีวิตของแต่ละคนแตกต่างกันไปถึงในระดับปัจเจก คนคนเดียวอาจมีหลากหลายไลฟ์สไตล์ เพราะฉะนั้น พื้นที่ตรงนี้้มีไว้เพื่อตอบสนองสิ่งเหล่านั้น ทั้งงานศิลป์ งานเสื้อผ้าแฟชั่น งานสินค้าทำมือ รวมถึงขนมและเครื่องดื่ม ส่วนข้างหลังเป็นพื้นที่สำหรับใครที่มีทักษะ แล้วอยากชวนกันทำอะไรสนุกๆ ที่สร้างสรรค์ ก็สามารถมาจอยกันได้”
นันทวัฒน์เล่าว่า ตอนเริ่มต้นไม่ได้มีการคิดแบบตายตัวว่าจะให้ร้านออกมาเป็นแบบใด แต่ใช้ความสนุกสนานและความหลงใหลในการนำทาง ทำให้ร้านมีลักษณะที่โดดเด่นและไม่เหมือนใคร และการที่ลูกค้าพยายามตามหานิยามร้านคือสิ่งที่พวกเขารู้สึกสนุกอยู่เสมอ เพราะจะได้เปลี่ยนไปเรื่อยๆ
“ที่แน่ๆ เราไม่นิยามว่า MADBACON เป็น ‘คาเฟ่’ แม้จะมีกาแฟขาย ด้วยความชอบของเราที่หลากหลาย ชอบอะไรก็ขาย ความจริงจุดประสงค์หลักของพื้นที่นี้คือ อยากให้เป็นพื้นที่ที่ศิลปิน นักออกแบบ ครีเอทีฟ หรือใครที่มีงานศิลป์แล้วสามารถต่อยอดได้ มาแสดงเล็ก มาจัดเวิร์กช็อป หรืออะไรก็ได้ ที่พื้นที่ตรงนี้สามารถมอบให้ได้”
“วันที่ไม่มีจัดงาน เราก็ปรับให้พื้นที่สามารถนั่งได้ มีกาแฟเสิร์ฟ เราอยากให้เป็นร้านขายของชำที่สามารถหยิบขนม หยิบน้ำ มานั่งกิน นั่งทำงาน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ เหมือนกำลังนั่งอยู่บ้านเพื่อน
“แปลกดีนะ พวกเราทั้งสามคนอยู่ในวงการนักคิดนักออกแบบ แต่พอถามว่าร้านนี้มีคอนเซปต์อะไร พวกเรากลับไม่เคยคิดเลย (หัวเราะ) ซึ่งเราก็สนุกกับการจัดร้านใหม่ไปเรื่อยๆ” นันทวัฒน์กล่าว
ร้านขายของชำและย่านอารีย์ในความทรงจำ
“ร้านขายของชำในความทรงจำ คือสถานที่ที่เราต้องแวะเข้าไปดู มีทั้งขนม ลูกอม น้ำดื่ม ของเล่นที่แถมมากับขนม นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ที่แม่ใช้ให้ไปซื้อของ ร้านขายของชำในความทรงจำจึงหมายถึงร้านที่มีทุกอย่าง เราจึงอยากเอาบรรยากาศแบบนั้นกลับมา และเวลาที่พวกเราไปต่างประเทศ เราจะรู้สึกว่าร้านขายของท้องถิ่นน่าเข้ากว่าห้างสรรพสินค้า เราจึงอยากทำให้ MADBACON เป็นร้านชำแบบโลคัลที่ทุกคนเข้าถึงได้
“ส่วนที่ต้องเป็นย่านอารีย์เพราะเราอยู่ตรงนี้มา 5-6 ปีแล้ว เราชอบที่อารีย์เป็นแบบที่เป็นทุกวันนี้ ที่นี่มีเสน่ห์บางอย่างที่ทำให้เราอยากมาอยู่ เรารู้สึกว่าอารีย์เป็นพื้นที่ของเรา นอกจากย่านนี้จะมีคาเฟ่ มีนักท่องเที่ยว การเดินทางมาก็ไม่ยาก บางคนบอกลึกลับ แต่เรากลับชอบในมุมนี้ คือยังพอมีร้านอาหารราคาถูก และไม่ได้เปลี่ยนเป็นเมืองไปเสียทั้งหมด”
Tiny Hand
สินค้าทุกชิ้นผ่านการเลือกสรรและคัดคุณภาพมาจากเจ้าของร้านทั้งสาม เมื่อเราลองให้แต่ละคนแนะนำว่าชอบสินค้าชนิดไหนที่สุด ก็ดูจะเป็นเรื่องยาก เพราะทุกชิ้นต่างเป็นสินค้าที่ทั้งสามชอบและคัดเลือกด้วยใจมาทั้งหมด
สำหรับธนัชชาเลือก ‘Tiny Hand’ หรือมือจิ๋ว ซึ่งเป็นสินค้าชนิดแรกที่ตัดสินใจว่าต้องมีวางขายในร้านให้ได้ โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากการเดินทางไปต่างประเทศแล้วได้พบศิลปินที่นำผลงานมาใส่ขวดโหลขาย ทั้งสามจึงนำเจ้ามือจิ๋วมาเป็นสินค้าชูโรงในร้านขายของชำแห่งนี้
“ไทนี่แฮนด์ เป็นสินค้าชนิดแรกของร้าน อย่างที่บอกว่าเราชอบไปเที่ยวต่างประเทศ แล้วมีอยู่ครั้งหนึ่งที่เราไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์และได้เจอศิลปินที่ทำมือจิ๋วใส่ในขวดโหล เราชอบมากจึงซื้อมา ทั้งที่ยังไม่รู้เลยว่าจะใช้ทำอะไร ดังนั้น เราคิดว่าถ้าคิดจะทำแบรนด์นี้ มันก็ขึ้นอยู่กับจินตนาการเลยว่าคนซื้อจะเอามือจิ๋วชิ้นนี้ไปทำอะไร”
ขณะที่นันทวัฒน์บอกว่า “สินค้าทุกชิ้นเกิดจากความชอบส่วนตัวของพวกเราทั้งสามล้วนๆ ไม่ว่าจะเป็นดีไซน์หรืออะไรก็ตาม แม้บางชิ้นไม่รู้ว่าคืออะไร แต่มันเหมาะกับ MADBACON มาก และด้วยความที่พวกเราเป็นครีเอทีฟ บางทีก็จะย้ายจุดวางของไปเรื่อยๆ ทุกอย่างที่ได้เห็นก็ไม่ได้จัดวางไว้จุดในจุดหนึ่งแบบตายตัว”
การที่เจ้าของร้านทั้ง 3 คนอยู่ในแวดวงครีเอทีฟ ทำให้พวกเขามองว่า การไม่มีกรอบอาจเป็นสิ่งที่ดีกว่าการมีกรอบ
“เราไม่ได้มีโจทย์เหมือนเวลาทำงานให้ลูกค้า แต่นี่คือร้านที่ตอบสนองความชอบของพวกเรา จึงสามารถไหลไปได้เรื่อยๆ” นันทวัฒน์เล่า “ถ้าเราทำด้วยความชอบซึ่งออกมาจากใจจริงๆ คนอื่นก็น่าจะรู้สึกได้และรู้สึกดีไปด้วย เช่น สินค้าทุกชิ้นที่เข้ามาขายในร้านเรา พวกเราตรวจเกรด คัดสรรมาอย่างดี ผ่านความชอบและคุณภาพ ทำให้เวลาลูกค้าถามว่าคืออะไร เราสามารถตอบได้ทั้งหมด
“โต๊ะเกาอี้ที่เห็นบางตัวก็มาจากที่บ้าน เรามองแค่ว่ามันเข้ากับร้านจึงเอามาไว้ ร้านทั่วไปอาจมีนิยามแตกต่างกันไป แต่เรากลับสนุกตรงที่คนที่มาคิดสไตล์ร้านให้เราเอง เหมือนเรื่องแฟชั่น ปัจจุบันนี้โลกเปิดกว้างมาก เมื่อก่อนคนจะตามอ่านนิตยสารเพื่อรู้ว่าโลกฮิตอะไรกัน แต่เดี๋ยวนี้กรอบไม่มีความหมายแล้ว ทุกคนเป็นตัวเองได้หมด อะไรอยู่ในตู้ก็จับใส่”
Signature Madbacon coffee
พื้นที่ตรงนี้เป็นโซนใหม่ ที่เพิ่งทดลองเปิดไม่นาน โดยมีการขายกาแฟด้วย เนื่องจากความชอบของทั้งสาม ซึ่งพยายามเริ่มจากการทดลองสูตรไปเรื่อยๆ จนได้รสชาติเป็นที่พอใจ
สำหรับเครื่องดื่ม 3 แก้ว ที่ MADBACON อยากแนะนำ และรับรองว่าอร่อยหอมและผ่อนคลาย เมื่อได้ลองจิบ คือ Signature madbacon cofee, Keg huay soda และ Madbacon Soda
แก้วแรก ‘Signature Madbacon Coffee’ ซิกเนเจอร์กาแฟที่ใส่เมเปิลไซรัปคอฟฟี่ ทอปปิ้งด้วยวิปครีมและเบคอน เหมาะกับคอกาแฟครีมหวานนม ได้ความละมุนหอมตั้งแต่จิบแรก แต่เมื่อผ่านไปสักพักจะได้สัมผัสความกรุบกรอบของเบคอนชิ้นเล็กที่โรยหน้าบนกาแฟ
“เรารู้สึกว่าอยากมีกาแฟที่สามารถใส่เบค่อนลงไปได้ เบค่อนอยู่กับของหวานมาตลอดเวลาเราเลยรู้สึกว่าเข้ากันได้”
แก้วถัดมา ‘Keg huay soda’ หรือน้ำเก็กฮวยโซดา ที่ดื่มแล้วให้ความสดชื่น คลายร้อนจากแดดยามบ่ายได้เป็นอย่างดี แถมเพิ่มรสชาติในบทสนทนาให้ดีขึ้นได้อีกด้วย
แก้วสุดท้าย คือ ‘Madbacon Soda’ สตรอว์เบอร์รีโซดาสีละมุน รสหวานน่าประทับใจ เหมาะกับคนที่ต้องการเพิ่มความหวานให้ชีวิต
พื้นที่แสดงผลงานสำหรับครีเอทีฟและศิลปิน
นอกจากโซนขายของชำ MADBACON กำลังจัดพื้นที่โซนด้านในให้เพื่อนฝูงหรือผู้ที่สนใจในการนำผลงานมาจัดแสดงได้
“ถ้าเป็นเมื่อก่อน พื้นที่จัดแสดงศิลปะหรืองานสร้างสรรค์ คงอยู่แค่ในแกลเลอรี แต่ปัจจุบันมีพื้นที่ให้แสดงออกมากขึ้น ร้านเราก็สามารถจัดนิทรรศการได้เช่นกัน และเราพยายามจัดให้มีพื้นที่สำหรับคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการมาแสดงตัวตรผ่านผลงาน” นันทวัฒน์เล่า
ธนัชชาซึ่งอยู่ในแวดวงด้านศิลปะเสริมว่า แม้สถานที่จัดแสดงผลงานศิลปะมีมากมาย แต่สิ่งที่ทำให้ศิลปินทั้งหลายต้องคิดหนัก คือเรื่องของต้นทุนในการจัดแสดง MADBACON จึงสามารถเป็นหนึ่งทางเลือกที่สามารถช่วยลดต้นทุนตรงนี้ให้ศิลปินหลายคนได้ โดยปลายเดือนสิงหาคมนี้ ที่ร้านจะมีการจัดงานร่วมกับศิลปินอีกด้วย
ท้ายที่สุด เราอยากให้คุณได้ลองมาพิสูจน์ร้านขายของชำ MADBACON แห่งนี้ด้วยตัวเอง กับสินค้าทุกชิ้นที่ทางร้านคัดสรรมาให้ได้เลือกซื้อติดไม้ติดกลับไป พร้อมคำถามในหัวว่า ‘เอาไปทำอะไรดีนะ’
Fact Box
MADBACON Store: ซอยอารีย์ 5 เปิดทำการทุกวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 11.00 - 19.00 น.
Location : bit.ly/3HQ7jE8
Instagram : @madbaconstore