“อากงเป็นชาวจีนแต้จิ๋ว อำเภอเหยี่ยวเพ้ง เมืองซัวเถา ที่อพยพมาไทยตั้งแต่ตอนอายุ 17 ปี ท่านเกิดในครอบครัวที่มีอาชีพทำขนมขาย พอมาอยู่ที่นี่ท่านเห็นว่าขนมแบบชาวจีนหากินยาก เลยตัดสินใจเอาความรู้ที่ติดตัวมาทำเป็นอาชีพขายขนม เริ่มจากทำแค่ประเภทขนมเปี๊ยะ ก่อนค่อยๆ เก็บหอมรอมริบมากพอเปิดเป็นหน้าร้านในปี พ.ศ. 2473 แล้วถึงพัฒนามามีขนมอื่นๆ ที่เป็นขนมมงคลสำหรับใช้ไหวตามเทศกาลต่างๆ จนอากงเสียตอนอายุ 77 ป๊าก็เข้ามารับช่วงต่อเป็นรุ่นที่ 2 และมาถึงเราในปัจจุบันที่เป็นรุ่นที่ 3”
ศศิธร จินตนาปราโมทย์ หรือ ‘พี่จุ๋ม’ ทายาทรุ่นที่ 3 ของร้านอื๊อเล่งเฮง เล่าให้ฟังถึงจุดกำเนิดของร้านที่เริ่มมาจาก ‘อากงโค้วกวง’ ที่เป็นชาวจีนขนานแท้ ผู้อพยพมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) โดยเริ่มแรกอากงโค้วกวงทำขายเฉพาะขนมเปี๊ยะใส่หาบเร่ขายตามตลาด เมื่อมีทุนทรัพย์มากพอก็ได้เปิดหน้าร้านเป็นหลักแหล่ง และพัฒนาเพิ่มประเภทขนมที่เหมาะแก่การใช้ตามงานพิธีมงคล
ภายหลังก่อนอากงโค้วกวงเสียชีวิต จึงส่งมอบสูตรเคล็ดลับการทำขนมให้กับทายาทรุ่นที่ 2 กระทั่งปัจจุบันมาถึงพี่จุ๋มที่เป็นทายาทรุ่นที่ 3 ดังนั้นหากประเมินสูตรขนมที่ส่งต่อกันมา นับตั้งแต่รุ่นก่อนหน้าอากงโค้วกวง ต้องมีอายุเกินกว่า 100 ปี แน่นอน
นอกจากหน้าร้านที่มีขนมวางอยู่เรียงรายละลานตา ด้านหลังของร้านยังถูกออกแบบทำเป็นโรงครัว สำหรับใช้อบขนมวันต่อวันเริ่มตั้งแต่ตี 5 ไปจนถึง 6 โมงเย็น โดยบางช่วงเทศกาลสำคัญอย่างตรุษจีนอาจลากยาวถึง 4 ทุ่ม ส่งกลิ่นหอมลอยอบอวล เพื่อรับประกันความสดใหม่แก่ลูกค้าเสมอ
ขนมเปี๊ยะของร้านอื๊อเล่งเฮงถือเป็นสินค้าอันดับหนึ่งที่ได้รับความนิยม ไม่ว่าลูกค้าจะซื้อทีละ 10-20 ชิ้น ไปใช้ไหว้เจ้า หรือซื้อเพียง 3-4 ชิ้น เพื่อทานคู่กับชาร้อนๆ ช่วงพักเบรกยามบ่าย โดยมีไส้ให้เลือกมากมายหลายชนิด เช่น ไส้ถั่วหวาน ไส้ถั่วเค็ม ไส้ถั่วดำ ไส้งาดำ ไส้เผือก ไส้ฟัก ไส้หมูแดง ไส้ถั่วเค็มผสมพริกไทย และ ไส้เต้าหู้ยี้เค็มหวาน (หนำยู่)
รสชาติขนมเปี๊ยะของที่นี่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวทั้งแป้งที่บางนุ่ม ไส้ทะลักจุใจ ถึงขั้นที่ว่าขาประจำรายใดเคยได้กิน เมื่อเทียบกับขนมเปี๊ยะร้านอื่นก็สามารถแยกออกได้ทันที
ใครที่กินเจ มังสวิรัติ หรือต้องการซื้อไหว้ ทางร้านได้แบ่งโซนขายขนมเป็นสองฝั่ง คือ ฝั่งซ้ายที่มีเฉพาะขนมประเภทชอ (ชื่อเรียกอาหารประเภทที่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์และผักกลิ่นฉุน ในภาษาจีนแต้จิ๋ว) และฝั่งขวาที่มีเฉพาะขนมประเภทเจ (ในภาษาจีนแต้จิ๋วหมายถึงคำว่าบริสุทธิ์ แต่สำหรับอาหารหมายถึงเมนูทีไม่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ ผลผลิตที่ได้จากสัตว์ รวมถึงผักกลิ่นฉุน) เหตุผลเพื่อความสบายใจของลูกค้าส่วนใหญ่ ที่เคร่งครัดและไม่อยากมีส่วนฆ่าสัตว์ตัดชีวิตตามความเชื่อทางศาสนาพุทธนิกายต่างๆ
‘จันอับ’ หรือ ‘จับกิ้ม’ ในภาษาจีนแต้จิ๋ว ถือเป็นขนมมงคลที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงเทศกาลตรุษจีน บางรายซื้อครั้งละ 5-6 ชุด ตามแต่จุดประสงค์ว่าใช้ไหว้สิ่งใด จะบรรพบุรุษ หรือ เจ้า ก็ล้วนมีความหมายเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
ที่ร้านอื๊อเล่งเฮงจะขายขนมจันอับสองแบบ คือ ถุงละครึ่งกิโลกกรัม กับ ถุงละ 1 กิโลกรัม และมีขายแยกสำหรับใครที่ไม่อยากได้ขนมด้านในแบบคละรวม 5 ชนิด (ถั่วตัด, งาตัด, ฟักเชื่อม, ข้าวพอง และถั่วเคลือบน้ำตาลสีชม-ขาว)
‘กิ๊กเปี้ย’ หรือ ‘ส้มจีนเชื่อม’ เป็นอีกหนึ่งขนมโบราณหากินยากที่ขึ้นชื่อ และมีเฉพาะแค่ที่ร้านอื๊อเล่งเฮง พี่จุ๋มเล่าว่า ได้ไอเดียเมนูนี้มาจากตอนไปเยี่ยมญาติที่เมืองซัวเถา โดยทางร้านจะสั่งทำและนำเข้ามาจากแหล่งปลูกส้มขนาดใหญ่ ในเมืองอุรุมชี ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน
พี่จุ๋มแนะนำว่าขนมกิ๊กเปี้ยมีรสชาติหวานละมุน สามารถกินเปล่าๆ แก้อาการขมในปาก ลิ้นเฝื่อน จะบดใส่ชาร้อนหรือสาคู ก็ช่วยเพิ่มความหอมได้ดี และที่สำคัญยังเป็นขนมมงคลสำหรับใช้ในพิธีแต่งงานแบบชาวจีน
“หากมองรูปร่างขนมแบบผิวเผินอาจเหมือนกันทุกร้าน แต่ความเป็นจริงแล้วมีสูตรการทำไม่เหมือนกัน ส่วนผสมไส้ เวลาในการอบ อย่างขนมเปี๊ยะส้มร้านเรา เนื้อไส้ด้านในจะเป็นแยมส้มเนื้อนวล กลิ่นจะหอมขึ้นจมูก เคี้ยวไปจะมีความหนึบๆ เป็นสูตรโบราณมีเฉพาะที่นี่ ต่างจากร้านอื่นๆ ที่อาจผสมถั่ว”
เมนูขนมมงคลชนิดต่อมาที่พี่จุ๋มแนะนำกับเราคือ ‘หล่าเปี๊ยะ’ หรือ ‘ขนมเปี๊ยะใหญ่’ ที่ไส้ด้านในเป็นแยมส้มสูตรเฉพาะของทางร้าน ที่มีกลิ่นหอมส้มเตะจมูก แต่รสชาติไม่เปรี้ยวหรือหวานแสบคอ ส่วนแป้งด้านนอกนุ่มหนึบ ไม่หนาจนเกินไป
ทายาทรุ่นที่ 3 ของอื๊อเล่งเฮงบอกกับเราว่า หล่าเปี๊ยะเป็นขนมมงคลยอดนิยมอันดับหนึ่งของร้าน ที่ใครแวะมาไม่ควรพลาดซื้อกลับไป ทั้งยังสามารถใช้ไหว้ในช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์
สูตรขนมของร้านอื๊อเล่งเฮงไม่ได้หยุดพัฒนาแค่ที่รุ่นอากงโค้วกวง เพราะในรุ่นของพี่จุ๋มสูตรขนมได้มีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับคนทุกกลุ่ม ยกตัวอย่างเช่น ถั่วตัด (เต้าปัง) ที่เปลี่ยนวัตถุดิบหลักจากถั่วลิสงผสมน้ำตาล มาเป็น ‘เม็ดมะม่วงหิมพานต์’ ผสมน้ำตาล ได้รสสัมผัสกรอบเคี้ยวเพลินสู้ฟันและหอมกว่าเดิม ซึ่งพี่จุ๊มแย้มกับเราว่าเมนูนี้เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่นิยมซื้อกลับไปเป็นของฝากญาติ
“เมื่อก่อนเราแนะนำให้ชาวต่างชาติกับกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ลองชิม เขาก็บอกว่ากินไม่เป็น เราก็คะยั้นคะยอให้ลองก่อน (หัวเราะ) พอเขาได้ลอง จากนั้นก็กลายมาเป็นกลุ่มลูกค้าประจำ โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่สายมูเตลู ที่หาซื้อขนมไปไหว้เจ้าขอพรเพิ่มความสบายใจ เรียกว่าร้านเรามีกลุ่มเป้าหมายทุกประเภท ไม่ใช่แค่เพียงคนเฒ่าคนแก่”
ด้านขวา คือ กล่องขนมมงคลแบบดั้งเดิม ที่ออกแบบโดยฝีมืออากงโค้วกวง ผ่านศาสตร์ศิลปะสุดคลาสสิกสไตล์ชาวจีนขนานแท้ รายละเอียดด้านในภาพเป็นรูปเทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ย ที่รายล้อมท่ามกลางเงินทอง และเด็กผมแกละ มีความหมายสื่อถึงความมั่งคั่ง ร่ำรวย อุดมไปด้วยลูกหลาน
ขณะที่ด้านซ้าย คือ กล่องขนมมงคลที่ถูกดีไซน์ใหม่ เพื่อให้มีความโมเดิร์นเข้ากับยุคสมัย ด้วยสีแดงและสัญลักษณ์เล่งหงษ์สัตว์มงคลตามความเชื่อของจีน พร้อมมีคำอวยพรว่า ‘มั่ง มี ศรี สุข’ อยู่ด้านล่าง
เกร็ดเล็กๆ ที่น่าสนใจ คือ หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่าสัญลักษณ์ ‘ซังฮี้’ (囍) ที่หมายถึง ‘ความสุขและความยินดี’ ยังคงปรากฏอยู่ในกล่องทั้งสองแบบ เพราะเป็นสัญลักษณ์สำคัญยอดนิยม ที่ใช้ในพิธีมงคลตามธรรมเนียมของชาวจีนมาช้านาน โดยเฉพาะในพิธีสมรส (สัญลักษณ์ซังฮี้ เกิดจากการประดิษฐ์ตัวอักษรภาษาจีนคำว่า สี่(喜)ที่หมายถึงยินดี ดีใจ มีความสุข เข้าด้วยกัน 2 ตัว ฉะนั้นจึงไม่พบคำว่าซังฮี้ปรากฏในพจนานุกรมจีน)
ใครที่เดินผ่านหน้าร้านอื๊อเล่งเฮง คงจะต้องสะดุดตากับขนมถั่วและงา ที่ถูกนำมารังสรรค์เป็นลักษณะของวัตถุดิบไหว้เจ้า อาทิ ไก่ต้ม เป็ดต้ม หัวหมู ปลา และปลาหมึก
สาเหตุที่ทางร้านผลิตขนมถั่วและงาออกมาในลักษณะนี้ ก็เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้า ที่จำเป็นต้องใช้เนื้อสัตว์ไปประกอบพิธีไหว้บวงสรวง แต่ส่วนตัวไม่อยากฆ่าสัตว์หรือเป็นคนกินเจ โดยเมนูนี้จะต้องสั่งจองล่วงหน้า เพราะทางร้านจะปั้นเองกับมือ ไม่ใช้บล็อกพิมพ์ ถือเป็นสีสันเรียกรอยยิ้ม และปรับตัวเข้ากับความศรัทธาได้ดี
เจดีย์น้ำตาลทรง 8 เหลี่ยม หรือ ทึ้งถะ (ด้านขวา) ถือเป็นของไหว้สำหรับพิธีมงคลของจีน เช่น ทีกงแซ (ไหว้ขอบคุณเทพพยาดาฟ้าดิน) และ หง่วงเซียว (วันเพ็ญเต็มดวงแรกหลังตรุษจีน)
สำหรับพิธีหง่วงเซียวจะเกิดขึ้นนับ 15 วัน หลังตรุษจีน โดยความเชื่อในหมู่สังคมอาชีพเกษตรกรชาวจีนโบราณ มีนัยยะสื่อถึงสัญญาณแห่งการเริ่มลงมือเพาะปลูก หลังผ่านพ้นฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ จึงถือเป็นการไหว้ขอพรเอาฤกษ์เอาชัยและเฉลิมฉลองใหญ่ ทว่าเมื่อล่วงเลยผ่านกาลเวลา ความเชื่อดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงเป็นการไหว้ขอพรเพื่อเสริมสิริมงคลให้ธุรกิจทำมาค้าขึ้นตลอดปีแทน
สิงโตน้ำตาล (ด้านซ้าย) ใช้สำหรับผู้ที่ต้องการไหว้ขอลูกตามศาลเจ้าที่เคารพนับถือ ต้องเป็นสิงโตเป็นผู้และเพศเมียคู่กัน เมื่อไหว้เสร็จจึงนำมาตั้งไว้ในบ้าน
ขนมมงคลประเภทนี้ถือเป็นการสะท้อนความปราณีตด้านศิลปะของชาวจีนอย่างยิ่ง เพราะต้องใช้เวลาเคี่ยวน้ำตาลทรายหลายชั่วโมง ก่อนจะนำน้ำตาลเทบนบล็อกพิมพ์ และแกะออกจากบล็อกด้วยความระมัดระวัง ถ้าทำพลาดเสียหายเท่ากับต้องเริ่มใหม่ทั้งหมด
ขณะที่เรากำลังสัมภาษณ์พี่จุ๋ม ก็มีเสียงจากลูกค้าดังมาเป็นระยะ บ้างก็ตะโกนทักทายด้วยความคุ้นเคย บ้างก็ตะโกนถามราคา บ้างก็ถามว่าขนมชนิดนี้ใช้ไหว้สิ่งใดได้บ้าง ซึ่งพี่จุ๋มก็ยินดีที่จะตอบกลับด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม แม้วันนั้นแดดจะร้อน ลูกค้าแน่นขนัดแค่ไหนก็ตาม
“ตัวเราแทบจะกลายเป็นโลโก้ของร้านไปแล้ว (หัวเราะ) ลูกค้าประจำเวลามาซื้อก็จะถามหาพี่จุ๋ม ด้วยความที่เราซื้อขายจนผูกพันธ์กับลูกค้า ร้านนี้เป็นมรดกกิจการของบรรพบุรษที่เราอยากสืบสานไว้ และอยากให้ลูกค้าได้กินของอร่อยมีคุณภาพ (ยิ้ม)” ทายาทรุ่นที่ 3 แห่งร้านอื๊อเล่งเฮงทิ้งทาย
ร้านอื๊อเล่งเฮง ตั้งอยู่ที่ 11-13 ถนนแปลงนาม เขตสัมพันธ์วงศ์ กทม. เปิดขายทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-18.30 น. (ช่วงหน้าเทศกาลเปิดถึงเวลา 21.00 น.) ติดต่อสอบถามได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 0-2222-0369 และ 0-2623-1747-8 สามารถเดินทางมาด้วยรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ลงสถานีวัดมังกร
หากต้องการพิสูจน์ตำนานความอร่อย หรือหาขนมมงคลไว้สำหรับไหว้เทศกาลตรุษจีนก็ไม่ควรพลาด
Tags: Uelenheng, Chinese New Year 2023, อื๊อเล่งเฮง, ตรุษจีน, Out and About