ปลากับน้ำสัมพันธ์กันเพราะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย บ้านกับมนุษยสัมพันธ์กันเพราะเป็นสถานที่พักพิงกาย และหากพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับเฟอร์นิเจอร์ คำตอบของหลายคนอาจมุ่งไปที่การเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกสบายให้กับผู้เป็นเจ้าของ
แต่สำหรับ จูเลียน สเปียวัก (Julien Spiewak) ศิลปินถ่ายภาพชาวฝรั่งเศส เฟอร์นิเจอร์กับคนสัมพันธ์กันลึกซึ้งกว่านั้น เขามองว่าข้าวของเครื่องใช้ที่อยู่ภายในบ้านหรือสถานที่ต่างๆ จะสะท้อนถึงตัวตนผู้เป็นเจ้าของ ส่วนโค้งของสถาปัตยกรรมที่อาจเข้ากันกับวงแขน ที่สำคัญ ร่างกายมนุษย์อาจทดแทนองค์ประกอบต่างๆ ของเฟอร์นิเจอร์ หรือรวมเป็นอันหนึ่งเดียวกันได้
ทั้งหมดนี้กลายมาเป็นแนวคิดของ ‘ร่าง ร่วม สมัย’ นิทรรศการภาพถ่ายจากความร่วมมือกันระหว่างแกลเลอรีชั้นนำจากต่างประเทศกับ West Eden Gallery กรุงเทพฯ ในการจัดแสดงผลงานภาพถ่ายที่ได้รับการต่อยอดจากชุดผลงานศิลปะ Corps de Style ในปี 2005 โดยดึงความประณีตของเครื่องเรือนมาเชื่อมโยงเข้ากับชีวิตประจำวันของมนุษย์ โดยเฉพาะเครื่องเรือนที่ได้รับอิทธิพลในสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 แห่งฝรั่งเศส ซึ่งยังคงผลิตซ้ำต่อเนื่องมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 20
นอกจากแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับไร้ชีวิตแล้ว ร่าง ร่วม สมัย ยังฉายให้เห็นการอยู่ร่วมกันระหว่างของเก่ากับเรือนร่างมนุษย์ในปัจจุบัน ผ่านภาพถ่ายที่เกิดขึ้นจากการสำรวจสถานที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และศิลปะของไทย 3 แห่งด้วยกันคือ สิริศาลาไพรเวทไทยวิลล่า, วัดสุวรรณาราม ราชวรวิหาร และโซวเฮงไถ่
01
บริเวณชั้น 2 ของโซวเฮงไถ่ คฤหาสน์จีนเก่าแก่ในชุมชนตลาดน้อย ภาพถ่ายของจูเลียนจัดแสดงอยู่โดยรอบ แต่ละภาพมีองค์ประกอบคล้ายกันคือ เครื่องเรือนกับเรือนร่างของมนุษย์ปรากฏคู่กันอยู่ในภาพ ซึ่งเป็นความตั้งใจของศิลปินผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้านการถ่ายภาพ ที่มุ่งมั่นมองหาสิ่งที่สัมพันธ์กับร่างกายของมนุษย์
เขาต้องการให้ ร่าง ร่วม สมัย ฉายภาพความสัมพันธ์ระหว่างข้าวของที่ไร้ชีวิตกับอวัยวะแต่ละส่วนของร่างกาย เช่น แขน ขา กระทั่งก้น ด้วยเหตุที่มองว่า สิ่งของต่างๆ ภายในบ้านเปรียบเสมือน ‘หน้าต่างของหัวใจ’ ผู้อยู่อาศัย ทั้งในมิติของเรื่องราวและความทรงจำ นี่จึงเป็นคำตอบว่า เหตุใดจูเลียนต้องตระเวนไปตามบ้าน กวาดสายตาพิจารณาเครื่องเรือน ของใช้ส่วนตัว ไปจนถึงการจัดวางข้าวของในบ้านแต่ละหลังว่า สะท้อนตัวตนของเจ้าบ้านอย่างไร
การทำงานของ จูเลียน กับผลงานภาพถ่ายแต่ละชิ้นใน ร่าง ร่วม สมัย มีวิธีการสรรค์สร้างที่พิถีพิถันทางความคิด เขามองว่าของใช้ภายในบ้านหรือองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมมีแรงดึงดูดให้ร่างกายเข้าไปเชื่อมโยงได้ ศิลปินจึงต้องใช้เวลาในการลงพื้นที่สำรวจวัตถุดิบที่จะสามารถนำมาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะครั้งนี้
นอกจากนี้จูเลียนจำเป็นต้องใช้จินตนาการในหัวร่างออกมาเป็นภาพที่ชัดเจนก่อนจะกดชัตเตอร์แต่ละภาพ เนื่องจากต้องการเห็นภาพในอนาคตว่า หากถ่ายภาพออกมาแล้วจะสะท้อนความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งต่างๆ อย่างที่เขาตั้งใจอย่างไร
02
คำว่า ‘ร่าง’ จากชื่อของนิทรรศการ สื่อได้ทั้งการเป็นเรือนร่างของคนหรือรูปทรงของเฟอร์นิเจอร์ ในนิทรรศการพยายามนำเอาทั้ง 2 สิ่งนี้รวมกันให้กลมกลืน ยกตัวอย่าง ภาพเก้าอี้ซึ่งมีเรียวแขนแนบไปตามแนวของพนักวางแขนที่โค้งอย่างประณีต หรือการใช้เส้นเลือดที่ปูดขึ้นตามส่วนต่างๆ ของร่างกายเชื่อมโยงไปกับลายหินอ่อนของกำแพงบ้าน
ความตั้งใจของจูเลียนที่ต้องการให้ผู้ชมมองเห็นความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงกันอย่างแท้จริงระหว่างเฟอร์นิเจอร์กับร่างกายคน ยังนำเสนอผ่านการที่ร่างกายสามารถทดแทนหรือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เฟอร์นิเจอร์สมบูรณ์ขึ้นได้ ดังภาพของม่านที่ถูกรวบด้วยมือของคนแทนจะเป็นที่รัดม่าน หรือการดัดอุ้งมือแนบชิดกับสถาปัตยกรรม เพื่อเติมเต็มลวดลายให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
ไม่เพียงแต่ผลงานที่ต้องให้ความสำคัญ สถานที่ในการจัดแสดงยังเป็นอีกองค์ประกอบของนิทรรศการที่ศิลปินต้องพิจารณาหลายส่วน ในกรณีนี้จูเลียนเลือกจัดแสดงที่โซวเฮงไถ่ คฤหาสน์เก่าแก่อายุ 250 ปี ด้วยเหตุผลด้านความเข้ากันของผลงานศิลปะแต่ละชิ้นกับสถานที่ ซึ่งเฟอร์นิเจอร์ในภาพถ่ายส่วนหนึ่งก็มีอยู่ในคฤหาสน์โบราณหลังนี้
บางภาพของจูเลียนในนิทรรศการร่าง ร่วม สมัย จึงพยายามดึงจินตนาการและมุมมองส่วนตัวของศิลปินเข้ากับพื้นที่ในการแสดงผลงาน เช่น คานไม้รับน้ำหนักของหลังคาในโซวเฮงไถ่ที่เขามองว่า เมื่อมีคานแนวตั้งแล้วก็ควรจะมีคานไม้ในแนวนอนด้วย
ขณะเดียวกันทีมงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับนิทรรศการดังกล่าว ยังคิดรวมไปถึงบรรยากาศในการจัดแสดง การมีอารมณ์ร่วมกับการสัมผัสงานศิลป์ที่เข้มข้นมากกว่า เมื่อเทียบกับการจัดแสดงในแกลเลอรีทั่วไป
03
ความท้าทายของจูเลียนในนิทรรศการ ร่าง ร่วม สมัย คือความละเอียดอ่อนของวัฒนธรรมเอเชียที่มีความแตกต่างกันกับยุโรป โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีความเชื่อเรื่องของสูงของต่ำ ศิลปินจึงต้องศึกษาความเชื่อของพื้นที่นำเสนอผลงานเพิ่มเติม โดยเฉพาะผลงานที่มีความเกี่ยวข้องกับศาสนา การทำงานจึงทำงานเพื่อสร้างผลงานศิลปะจึงเป็นไปด้วยความระมัดระวัง และ ‘เคารพ’ ความเชื่อของคนในท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม บางภาพที่ปรากฏสิ่งของที่ชาวไทยเชื่อว่า มีความศักดิ์สิทธิ์เมื่อปรากฏคู่กับเรือนร่างก็อาจถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสม เช่น ภาพตัลปัตรที่วางอยู่บนแผ่นหลัง
นิทรรศการภาพถ่าย ร่าง ร่วม สมัย จัดแสดง ณ โซวเฮงไถ่ ตั้งแต่วันนี้-26 มกราคม 2568 และจัดแสดงอีกครั้งที่ West Eden Gallery ตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์-9 มีนาคม 2568 ก่อนที่ผลงานภาพถ่ายชุดนี้จะนำไปจัดแสดงยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในช่วงปลายปีอีกด้วย
Fact Box
- นิทรรศการ ร่าง ร่วม สมัย เป็นผลงานของ จูเลียน สเปียวัก ศิลปินถ่ายภาพชาวฝรั่งเศส ที่เชื่อมโยงระหว่างเฟอร์นิเจอร์กับร่างกายมนุษย์ เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งไม่มีชีวิตภายในบ้าน
- นิทรรศการนี้จัดแสดงที่โซวเฮงไถ่ คฤหาสน์จีนเก่าแก่ในชุมชนตลาดน้อย ตั้งแต่วันนี้-26 มกราคม 2568 และจะจัดแสดงที่ West Eden Gallery กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์-9 มีนาคม 2568