‘เหนื่อยล้า’
คือความรู้สึกแรกหลังลืมตาตื่นในเวลา 06.00 น. ณ สถานีรถไฟจังหวัดหนองคาย หลังการเดินทางเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ 21.00 น. จากกรุงเทพอภิวัฒน์ ยาวมาจนถึงเวลาเช้าตรู่
ณ สถานีรถไฟหนองคายมีอยู่ 2 เรื่องที่อยากเล่า เรื่องแรกคือสถานีรถไฟแห่งนี้เป็นสถานีรถไฟไม่กี่แห่งที่ตั้งชิดติด ‘แม่น้ำโขง’ แม่น้ำสายสำคัญ ขณะเดียวกัน เสียงประกาศจากเจ้าหน้าที่การรถไฟทำให้การเดินทางครั้งนี้ตื่นเต้นกว่าครั้งไหนๆ
“ผู้โดยสารกรุณาเตรียมพาสปอร์ตไว้นะครับ ต้องตรวจก่อนข้ามลาว”
ใช่แล้ว สถานีรถไฟแห่งนี้เป็นปลายทางสุดท้ายก่อนพ้นเขตแดนไทยสู่ลาว และเป็นปกติของการเดินทางข้ามประเทศ หนังสือเดินทางมักสำคัญมากกว่าบัตรประชาชน หากสิ่งนี้หายขึ้นมาคงต้องจำใจกลับกรุงเทพฯ ตั้งแต่ไก่โห่แน่นอน
แต่ครั้งนี้ นิสัยขี้ลืมทำอะไรผู้เขียนไม่ได้ การตรวจหนังสือเดินทางเป็นไปด้วยความรวดเร็วและเรียบร้อย เพียง 30 นาที รถไฟจึงเคลื่อนตัวออกชานชาลา มุ่งหน้าสถานีคำสะหวาด นครหลวงเวียงจันทน์
ก่อนข้ามสะพานมิตรภาพ ผู้เขียนไม่อยากให้ใครเผลอพลาดกับทิวทัศน์ขณะรถไฟเคลื่อนผ่านแม่น้ำโขง เพราะนี่คือ ‘First Impression’ เป็นความประทับใจแรกที่ต้อนรับคุณในทริปไทย-ลาว
เริ่ม Lost
ผู้เขียนลองนึกชื่อทริปนี้โดยภาพรวม ได้ผลลัพธ์ว่า Lost In เวียงจันทน์ ดัดแปลงจากภาพยนตร์แอ็กชัน-คอมเมดีแดนมังกร Lost in Thailand (2012) เหตุที่ดัดแปลงชื่อทริปจากภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว เพราะเวียงจันทน์ในวันนี้นั้นก็บู๊ไม่แพ้กันกับเรื่องราวในภาพยนตร์ ตั้งแต่สภาพฟ้าฝนไปจนถึงการเดินทางตะบึงฝ่าหลุมบ่อของถนนในเมือง
จุดหมายแรกคือคำสะหวาด สถานีปลายทางของขบวนรถไฟข้ามจากแดนไทย จากนั้นจึงเดินทางเข้าสู่ศูนย์กลางเมืองหลวงด้วยรถโดยสารด้านหน้าสถานีรถไฟด้วยราคาไม่เกิน 30 บาท ส่วนการเดินทางภายในนครหลวงเวียงจันทน์มีให้เลือกหลากหลาย ใครอยากนั่งรถกินลม สถานีขนส่งภายในเมืองมีรถสกายแล็บคอยบริการ แต่หากอยาก Lost ไกลข้ามเมืองไปวังเวียงหรือหลวงพระบาง ผู้เขียนแนะนำว่า รถไฟความเร็วสูงลาว-จีน เป็นตัวเลือกที่ดีเพราะใช้เวลาเดินทางไม่มาก
วันแรกในเวียงจันทน์ ผู้เขียนเลือก Lost ด้วยวิถีคนเดินดิน บนถนนขุนบุลมทอดยาวถึงถนนจันทคูมณีในนครหลวง เป็นแหล่งที่ตั้งของสถานที่สำคัญทางการเมืองในลาว บุคคลสำคัญระหว่างประเทศและนักการเมืองมีที่พำนักและสำนักงานในละแวกนี้ อาคารริมถนนโดยมากสร้างแบบตะวันตกงดงามตามฐานะ มีเพียงสำนักงานธนาคารโลก ที่ฉีกความเก่าแก่ภายในย่านด้วยอาคารอิฐแดงกระจกดูทันสมัย
เป็นเรื่องปกติ ที่ความเก่าแก่มีความทันสมัยแทรกตัวอยู่บ้าง ซึ่งไม่ได้ดูขัดตาหรือทำสภาพแวดล้อมภาพรวมย่ำแย่แต่อย่างใด
Lost In มรดก
เวียงจันทน์ เป็นเมืองหลวงของลาว คำว่า ‘นครหลวง’ ยังส่งผลให้เมืองริมฝั่งโขงแห่งนี้ กลายเป็นศูนย์กลางคมนาคม การศึกษา และการค้าของประเทศ ไม่เพียงเป็นศูนย์กลางความเจริญของลาว แต่ยังเป็นแหล่งรวมโบราณสถาน วัดเก่าแก่ที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ แสดงถึงความเรืองอารยะสมกับความเป็นนครหลวง
บนถนนจันทคูมณี ที่ผู้เขียนกำลังเดินเตร็ดเตร่อยู่ นอกจากโฉมอาคารบ้านเรือนและสำนักงานแบบตะวันตกอันสะดุดตา หนึ่งสิ่งดึงดูดใจคือ พระธาตุดำ (That Dam Stupa-ภาษาลาว ທາດດຳ) โบราณสถานเก่าแก่กลางนครหลวงฯ สันนิษฐานว่า เริ่มสร้างราวพุทธศตวรรษที่ 22 สมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช
พระธาตุดำ ตั้งอยู่ท่ามกลางความเชื่อของคนพื้นถิ่นว่า เป็นที่อาศัยของพญานาค 7 หัว ผู้ป้องภัยให้บ้านเมืองไม่ถูกรุกรานของกองทัพต่างแดน ทว่าหากดูจากอาคารบ้านเรือนที่ห้อมล้อมกับถนนครอบทุกทิศ สิ่งที่รุกคืบเข้ามายังศาสนสถานแห่งนี้คงเป็นความเจริญมากกว่าข้าศึก
ผละความสงบจากพระธาตุดำ สู่ความครึกครื้นเลียบน้ำโขง เมื่อพระอาทิตย์ลับฟ้าและอากาศเริ่มเย็น ทางเท้าริมแม่น้ำจะเต็มไปด้วยผู้คนทั่วสารทิศในเวียงจันทน์ ร้านรถเข็นขายโรตี ไอศครีมถัง กระทั่งอาหารทะเลจอดเทียบชิดริมฟุตบาท ดวงไฟจากร้านขายอาหารและเครื่องดื่มทำหน้าที่ปัดเป่าความมืดมิด ขณะดนตรีบรรเลงปนเสียงหัวเราะของเด็กน้อยที่กำลังสนุกสนานกับเครื่องเล่น
ในอาณาเขตของการพักผ่อนดื่มกิน อนุสาวรีย์เจ้าอนุวงศ์ตั้งตระหง่านส่งความดุดัน เกรงขามหันหน้าหาฝั่งไทย
ย้อนกลับไปปี 2369 (นับอย่างปัจจุบันคือปี 2370) เกิดเหตุต้อนทรัพย์และเชลยศึกขึ้นบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย กองกำลังกู้ชาติมีเจ้าอนุวงศ์เป็นผู้นำทัพ เป้าหมายคือปลดแอกเมืองลาวจากสถานะเมืองขึ้นฝั่งไทย
ท่อนหนึ่งในบทความ “ศึกเจ้าอนุวงศ์” สงครามปลดแอกชาติลาว โดย สุวิทย์ ธีรศาศวัต เผยแพร่บนเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม อธิบายมุมมองต่อพฤติการณ์ปลดแอกชาติโดยเจ้าอนุวงศ์ของคนสองฝั่งไทย-ลาว บันทึกประวัติศาสตร์เหตุการณ์นี้จากฝั่งไทยมองว่า สงครามเจ้าอนุวงศ์เป็นสงครามกบฏ แต่กลับกัน ลาวมองว่า ผู้นี้เป็นบุคคลควรแก่การยกย่อง
อย่างไรก็ดี อนุสาวรีย์สูงใหญ่ของเจ้าอนุวงศ์ในวันนี้ เป็นสิ่งแสดงความศรัทธาที่เข้มข้นของชาวลาว ต่อสิ่งปลูกสร้างที่เปรียบเสมือนบันทึกประวัติศาสตร์ความเพียรให้ได้มาซึ่งเอกราช
Lost In เรื่องราว
ประวัติศาสตร์มีทั้งเศร้าและสุข
คุณชอบประวัติศาสตร์แบบไหน?
เป็นอีกวันที่ผู้เขียนและนกตื่นขึ้นในเวียงจันทน์ตั้งแต่เช้าตรู่ ยอมรับว่า ระยะเวลาเพียง 4 วัน 3 คืนในนครหลวงเวียงจันทน์ ไม่เพียงพอจะกำซาบสถานที่สำคัญครบถ้วน แต่เมื่อมาถึงเมืองหลวงของลาวสักครั้ง หากไม่ได้ไปประตูชัย เขาคงหาว่าเรามาถึงไม่จริง จึงเป็นเหตุผลให้ผู้เขียนตื่นเช้าขึ้นอีกนิดเดินเท้าสู่ประตูชัยเมืองลาว
สถาปัตยกรรมแบบซุ้มประตู ได้รับแรงบันดาลใจจากอาร์ก เดอ ทรียงฟ์ เดอเลตวล (Arc de triomphe de l’Etoile) แลนด์มาร์กอันโด่งดังในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ลวดลายสถาปัตย์จึงเป็นการผสมระหว่างฝรั่งเศสและลาว เห็นได้จากโครงสร้างที่คล้ายกับฝรั่งเศส ขณะที่จิตรกรรมเป็นเรื่องราวความเชื่อทางศาสนาของลาว
นักท่องเที่ยวทั่วไปที่มองด้วยตาเปล่า ประตูชัยคงเป็นเพียงสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งเท่านั้น แต่ลึกลงไปในประวัติศาสตร์ ซุ้มประตูดังกล่าวไม่ได้สร้างไว้ด้วยหมุดหมายให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว หากแต่มีไว้เป็นตัวแทนการประกาศเอกราชจากฝรั่งเศส ประเทศผู้ปกครองชาวลาวในฐานะเมืองขึ้นนานหลายทศวรรษ ขณะเดียวกัน สถานที่นี้เป็นอาณาเขตรำลึกผู้สูญเสียจากความพยายามต่อสู้เพื่อปลดแอกให้ชาติของตนเอง
อย่างที่เกริ่นไว้ว่า ประวัติศาสตร์มีทั้งสุข-เศร้า ทำให้ผู้เขียนจึงยืนอยู่ที่ COPE (Cooperative Orthotic and Prosthetic Enterprise) หน่วยงานให้ความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์และอวัยวะเทียมแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากระเบิดในลาว
อาคารของ COPE ซ่อนตัวลับภายในกระทรวงสาธารณสุข ไม่เพียงแต่จุดที่ตั้งสถานที่อันลึกลับ ยังมีอีกสิ่งที่ซ่อนอยู่ในที่แห่งนี้เช่นกัน
ขาเทียมและระเบิด
นี่คือสิ่งที่กำแพงปูนและหลังคาของ COPE หุ้มห่อไว้ ขาเทียมที่ห้อยหย่อน รูปภาพผู้พิการจากระเบิดหรือกับระเบิดที่สิ้นฤทธิ์ ใช่ว่าคิดพิเรนทร์อยากนำมาวางสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์เรียกแขกแล้วจึงคิดทำ ทว่าทั้งหมดเป็นวัตถุมีภูมิหลัง อันสะท้อนความจริงของสถานการณ์ในประเทศและประชาชนชาวลาวได้อย่างชัดเจน
ประติมากรรมทำจากระเบิดที่ยังไม่ระเบิด (UXO) และระเบิดดาวกระจาย (Clus Bomb) เป็นตัวแทนย้ำเตือนถึงความสูญเสียของชาวลาวระหว่างสงครามเวียดนาม ระเบิดทิ้งจากฟ้าลงสู่ผืนดินลาว หลายล้านลูกฝังดินรอวันที่มนุษย์หรือบางสิ่งมาสะกิดให้ทำงาน ขาเทียมที่แขวนห้อยในพิพิธภัณฑ์ เป็นหลักฐานความสูญเสียของผู้คนที่ต้องประสบเคราะห์กรรมที่ตนไม่ได้ก่อ
COPE จึงไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยว แต่เป็นสถานที่ตอกย้ำ และย้ำเตือนความสูญเสียจากสงครามที่ในวันนี้แม้จะจบไปแล้ว แต่ความสูญเสียยังคงดำเนินไปต่อเนื่องไม่จบสิ้น แน่นอนว่า วัตถุที่แขวนหรือตั้งวางใน COPE คือประวัติศาสตร์ที่ห่างไกลจากความสุขและไม่มีใครอยากพบเผชิญมัน
Lost In เวียงจันทน์
วันนี้ หากถามว่า เวียงจันทน์ยังเหมาะสำหรับการเที่ยวชมเมือง หรืออาหารการกินยังอร่อยอยู่หรือไม่ ผู้เขียนคงพูดได้จากประสบการณ์ Lost Lost ครั้งนี้ว่า เวียงจันทน์ยังคงเป็นเช่นนั้นเสมอ ไม่ว่าภาพรวมประเทศจะเผชิญวิกฤตหนักหนาเช่นไร วัดวา โบราณสถาน ประวัติศาสตร์ และเรื่องราวของผู้คนยังคงอยู่ในที่แห่งนี้ไม่หายไป
แล้วเราจะกลับมาอีกครั้งที่เวียงจันทน์
Tags: พระธาตุดำ, ท่องเที่ยว, นครหลวงเวียงจันทน์, แม่น้ำโขง, COPE, Mekong, ประตูชัย, Laos, ວຽງຈັນ, โบราณสถาน, Viantian, ประวัติศาสตร์, รถไฟ, ลาว, เอเชีย