ไม่รู้ตั้งแต่เมื่อไรที่ส่วนผสมอันกลมกล่อมของแดดเช้ายาม 11 โมง กลิ่นน้ำขิงต้มบนเตาถ่านสุดคลาสสิก หน้าร้านสไตล์ง่ายๆ บนรถเข็นคันเล็กสุดเซอร์ และสีหน้าเฉื่อยเฉย ขัดกับสเต็ปการตระเตรียมวัตถุดิบที่ดูกระฉับกระเฉงกว่าคนวัยเดียวกันของ เฮียมัก-ชยุต ศุภธีรวัตร กลายมาเป็นภาพที่แสนคุ้นเคยของผู้คนที่อาศัยอยู่ใกล้ปากคลองตลาด ย่านท่าเตียน และบริเวณใกล้เคียง

    ตั้งแต่จำความได้เลยครับ” ลูกค้าหนุ่มวัย 20 กลางๆ ที่ตัดสินใจจอดมอเตอร์ไซค์ลงมาเข้าคิวโดยไม่ถอดหมวกกันน็อกตอบ หนุ่มใหญ่เจ้าของรอยยิ้มใจดีผู้มีผมหงอกแซมประปรายที่ยืนอยู่ใกล้ๆ ได้ยินดังนั้นก็เริ่มเล่าบ้าง

    ส่วนผมตั้งแต่อายุสิบห้าแน่ะ ตอนนี้จะห้าสิบแล้ว นานไหมล่ะ

  เช่นเดียวกับลูกค้าคิวถัดไปที่ตรงเข้ามาสั่งเต้าฮวยกับเฮียมักเป็นภาษาจีนแต้จิ๋วอย่างไม่ลังเล “บ้านพี่กินมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่แล้ว วันนี้ที่หิ้วไปหลายถุงก็เพราะจะเอาไปฝากคนเฒ่าคนแก่นี่แหละ

ไม่จำเป็นต้องมีป้ายชื่อร้าน ไม่จำเป็นต้องมีป้ายบอกเมนูหรือราคา ไม่จำเป็นต้องมีเสียงเรียกหวานๆ เชิญชวนคนที่เดินผ่านไปมา ลูกค้าประจำก็ผลัดกันแวะเวียนมาอุดหนุนเฮียมักเสียจนเขาไม่มีเวลานั่งว่างๆ เลยตั้งแต่ตอนเตรียมร้านช่วง 9 โมงเช้า ไปจนถึงตอนเก็บร้านช่วง 4 โมงเย็น

นอกจากเต้าฮวยเนื้อเนียนนุ่ม ทีเด็ดที่เลื่องลือกันในหมู่ลูกค้าคือน้ำขิงร้อนๆ ซดคล่องคอ รสหอมหวานกำลังดี ด้วยปริมาณน้ำตาลที่ไม่มากไม่น้อยไป และขิงทุกหัวที่เฮียมักเลือกเอง เพื่อให้มั่นใจว่าอยู่ในช่วงอายุที่พอเหมาะพอเจาะแก่การนำมาต้มเพื่อทำเป็นของหวานโดยเฉพาะ

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น จึงกลายมาเป็นรสชาติเฉพาะตัวที่นอกจากจะมัดใจลูกค้าประจำอยู่หมัด ไม่นอกใจไปซื้อร้านอื่นในละแวกใกล้เคียงแล้ว ลูกค้าส่วนหนึ่งยังชื่นชอบน้ำขิงรสมือเฮียมักมากเสียจนต้องขอซื้อแค่น้ำขิงเปล่าๆ ไปดื่มเดี่ยวๆ แบบไม่เอาเนื้อเต้าฮวย

สูตรครอบครัวหรือ? ไม่มีหรอก ไม่ได้มีใครสอน เพราะพ่อแม่ก็ไม่ได้ขาย ผมเริ่มต้นศึกษาเอง ลองผิดลองถูกเอง ตั้งแต่อายุสิบสาม ช่วงที่เริ่มเดินเร่ขายขนม แรกๆ มีขนมไทยด้วยหลายอย่าง ขายไปขายมาก็ลงตัวที่ปรับเหลือแค่สองเมนูพอ คือเต้าฮวยกับเฉาก๊วย

เฮียมักในวัย 75 ปีเล่าไปพลางยกกรวยตักจ้วงเนื้อเต้าฮวยจากหม้อใส่ถ้วยไปด้วย ตามข้อตกลงว่าจะสัมภาษณ์ไปขายไป เพราะกลัวว่าหากมัวค่อยพูดค่อยตอบไปทีละคำถามจะทำให้ลูกค้าต้องเสียเวลาคอยนาน

แม้จะไม่ได้เล่าอย่างละเอียดว่าเหตุใดจึงจับพลัดจับผลูมาขายเมนูเต้าฮวย แต่ก็เดาได้ไม่ยากว่าเฮียมักเป็นหนึ่งในพ่อค้ามือใหม่วัยสร้างตัวเฉกเช่นคนในยุคเดียวกัน ที่หันมาสนใจกิจการรถเข็นขายผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองประเภทน้ำเต้าหู้ เต้าฮวย เต้าทึง เต้าส่วน ฯลฯ

หากอ้างอิงจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ไม่นาน คณะราษฎรที่เพิ่งขึ้นสู่อำนาจก็เร่งดำเนินนโยบายสำคัญทันที หนึ่งนโยบายจำนวนนั้น คือแผนการที่จะทำให้ประเทศไทยเป็น ‘รัฐเวชกรรม’ ที่ดูแลรักษาสุขภาพพลานามัยของราษฎร

ตั้ว ลพานุกรม 1 ใน 7 ผู้ริเริ่มก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ต่อมากลายเป็นอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์คนแรก ให้ความสำคัญกับนโยบายโภชนาการอย่างมาก ครั้งหนึ่งเคยเป็นประธาน ‘คณะกรรมการพิจารณาส่งเสริมกิจการถั่วเหลืองแห่งประเทศไทย’

เรียกได้ว่ายุคหลังปี 2480 นับเป็นยุค ‘ตื่นถั่วเหลือง’ เพราะผู้คนกำลังตื่นเต้นถึงคุณค่าทางโภชนาการที่เพิ่งถูกค้นพบกับศักยภาพของพืชเศรษฐกิจน้องใหม่ชนิดนี้ พลันถูกจับยัดเป็นเมนูของหวานเลิศรสตามร้านสไตล์รถเข็นที่มีอยู่ในแทบจะทุกซอกทุกมุมตลาด เรียกว่าหากินง่ายยิ่งกว่าประเทศต้นกำเนิดอย่างจีนเสียอีก

นี่จึงเป็นหนึ่งในคำอธิบายว่า เหตุใดคนจีนแต้จิ๋วโพ้นทะเลรุ่นที่ 3 เช่นเฮียมักจึงต้องลองผิดลองถูกและเฝ้าสังเกตกระแสตลาดด้วยตนเอง เพราะเขาไม่ใช่ทายาทเถ้าแก่สำเภาผู้มีอาวุธลับเป็นสูตรเต้าฮวย-เฉาก๊วย ‘ต้นตำรับ’ ที่อาม่า-อากงหอบหิ้วมาให้จากประเทศจีน แต่เป็นจีนสร้างตัวชนชั้นกรรมาชีพที่ต้องเริ่มกิจการทุกอย่างจากศูนย์

ก็ขายมาตั้งแต่ตอนพลเอก สฤษดิ์ ธนะรัชต์-จอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นนายกฯ สมัยนั้นขายถ้วยละบาท ถามว่านานขนาดไหน ก็ตั้งแต่ท่าเตียนยังมีรถรางวิ่งผ่านน่ะ แถวนี้มีตลาดตรงไหนก็ตามไปเร่ขาย พออายุเยอะขึ้นก็เลิกเร่ มาตั้งจุดเดิมๆ เป็นประจำให้เป็นหลักเป็นแหล่งขึ้น

ลูกค้าหลายคนที่ให้สัมภาษณ์กับ The Momentum ลงความเห็นว่าจุดเด่นของร้านเฮียมัก นอกเหนือจากรสชาติอร่อยคงเส้นคงวามาเป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษ ยังมีเรื่องของราคาที่ย่อมเยากว่าเจ้าอื่นอย่างมีนัยสำคัญ กระนั้นก็ตาม เฮียมักยืนยันว่า ก็เป็นเพราะขนมหวานราคาถูกๆ ของเขานี่แหละที่ส่งลูกทั้ง 2 คนเรียนหมอจนจบ

แม้จะยินดีที่ได้ฟังเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับความสำเร็จและความภาคภูมิใจของเขา แต่อีกนัยหนึ่ง การที่ลูกๆ ต่างก็มีหน้าที่การงานที่มั่นคงทำแล้วทั้งคู่ ก็ย่อมหมายความว่าเฮียมักคงไม่ได้มีเจตนารมณ์จะส่งกิจการที่ตนทำเองคนเดียวมาอย่างยาวนานให้ทายาทได้รับช่วงต่อ  

และนี่เองคงเป็นเหตุผลที่เขายังคงตื่นเช้ามาเปิดร้านทุกวัน แม้จะก้าวเข้าสู่ช่วงชีวิตที่สามารถหยุดพักจากการทำงานได้มาหลายปีแล้วก็ตาม

Fact Box

  • ‘เต้าฮวย เฉาก๊วย เฮียมัก’ ตั้งอยู่บริเวณปากซอยท่าข้าม หลังมิวเซียมสยาม ไม่ไกลจากโรงเรียนราชินี
  • ผู้ที่เดินทางด้วยรถไฟฟ้า สามารถเดินจาก MRT สถานีสนามไชย ในระยะทาง 200 เมตร โดยออกทางประตู 5 (ท่าเรือราชินี)
  • ทั้งร้านมีแค่ 2 เมนูเท่านั้น คือเต้าฮวยและเฉาก๊วยตามชื่อร้าน ขายในราคา 15 บาทเท่ากัน
  • เวลาเปิด-ปิดร้านอย่างเป็นทางการคือ 11.00-16.00 น. แต่ในวันที่ขายดีของอาจหมดตั้งแต่ 14.00 น.

Tags: , , , , , ,