หากค้นหาคำว่า ‘ฉงชิ่ง’ หรือ ‘Chongqing’ บนอินเทอร์เน็ต ภาพตึกรามอาคารสูง สะพานข้ามแม่น้ำ และแสงสีในยามค่ำคืน คงปรากฏขึ้นมาเต็มไปหมด จนยากจะเดาออกว่าในเมืองต้าจู๋ (Dazu) ห่างจากเทศบาลนครฉงชิ่ง (The municipality of Chongqing) ออกไปราว 100 กิโลเมตร ซึ่งเป็นนครปกครองโดยตรงของสาธารณประชาชนจีนนั้น จะมีแหล่งมรดกโลกซ่อนอยู่
หลังจากอยู่บนรถบัสเกือบ 2 ชั่วโมงก็มาถึงทางเข้า เราตื่นจากภวังค์ด้วยเสียงห้วนๆ ของ ‘อาผิง’ ไกด์ชาวจีนที่พูดไทยได้เกือบชัด รถบัสจอดส่งเราที่ด้านหน้าและต้องเดินข้ามสะพานไปยังซุ้มประตูหินสีเทาขนาดใหญ่ แม้จะดูเหมือนไม่ไกล แต่พอก้าวเท้าเดินจริงๆ มันก็ไม่ได้ใกล้อย่างที่คิด เราต้องนั่งรถกอล์ฟรับลมธรรมชาติไปอีกหน่อย และในที่สุดก็ถึง ‘ผาหินแกะสลักเมืองต้าจู๋’ (Dazu Rock Carvings) โซนเป่าติงซาน (Baodingshan) จุดหมายปลายทางของเราในวันนี้
อภิสิทธิ์ของช่างแกะสลัก
อาผิงนำทางเราขึ้นบันไดไปอีกนิด ก่อนจะพบกับหน้าผาสูงใหญ่ที่แกะสลักเป็นเทพเจ้าและเรื่องราวของผู้คน ทั้งยังลงสีปิดทองบนหินได้อย่างลงตัว แม้สภาพของหินแกะสลักที่อยู่ตรงหน้าจะไม่ได้สมบูรณ์มากนัก แต่รายละเอียดต่างๆ ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ ทำให้พอเดาได้ว่าเมื่อราว 700 ปีที่แล้ว ก่อนที่น้ำและลมจะค่อยๆ กร่อนหินไป คงสวยงามและน่าตื่นตาตื่นใจมากทีเดียว
ไกด์ของเราชี้ไปที่หินแกะสลักองค์ใหญ่ที่อยู่ตรงกลาง รูปชายมีหนวดยาวในผ้าคลุมกำลังนั่งขัดสมาธิและยกนิ้วขึ้นมา ใบหน้าที่ปิดด้วยทอง ดูอย่างไรก็คล้ายกับเทพเจ้าจีนสักองค์ และยังมีเหล่าเทพน้อยใหญ่ทำท่าทางต่างๆ แกะสลักไว้รอบๆ ยิ่งทำให้น่าคิดว่า นี่คงเป็นเทพเจ้าชั้นสูงสักองค์
แต่เปล่าเลย นี่ไม่ใช่เทพเจ้าองค์ไหนทั้งสิ้น
อาผิงเฉลยว่า เจ้าของใบหน้าที่ปิดด้วยทองนั้นคือ ‘ช่างแกะสลัก’ เจ้าของผลงานแกะสลักบนผาหินนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่า ช่างแกะสลักบางคนก็อยากมีตัวตนอยู่ในผลงานของตัวเอง และถ้ามองจากความสวยงามของการแกะสลักที่อยู่ตรงหน้าแล้ว นายคนนี้ก็อาจจะเป็น ‘เทพแห่งการแกะสลัก’ บนโลกมนุษย์จริงๆ ก็ได้ เมื่อเทียบทักษะการแกะสลักหินที่ละเอียด ละเมียดละไม แบบที่ไม่ใช่ใครๆ จะทำได้
ฉันนึกถึงประโยคหนึ่งที่บอกว่า ‘ผู้ชนะเป็นคนเขียนประวัติศาสตร์’ แต่สำหรับที่นี่แล้ว ถ้าจะบอกว่า ช่างแกะสลักเป็นผู้สร้างเทพเจ้าองค์ใหม่คงไม่ผิดนัก
แบบเรียนวิชาขงจื๊อบนผาหิน
อาผิงชวนให้สังเกตว่า ตามผนังหินจะมีรูกลมๆ ที่เจาะลึกเข้าไปข้างใน ตอนแรกเราคิดว่ามันคงถูกใครมาทำลาย อาจจะเป็นเพราะดูหนังสงครามมากไปหน่อย แต่ที่จริงแล้วอาผิงบอกว่า มันเป็น ‘นวัตกรรม’ ของช่างแกะสลักในยุคนั้นที่ใช้ไม้ยาวเสียบเข้าไปในรูที่เจาะไว้ เพื่อทำเป็นบันไดปีนขึ้นไปแกะสลักบนหน้าผาสูงนั่นเอง โดยการเจาะรูจะเจาะแค่ลึกพอเหมาะ เพราะเมื่อแกะสลักหินลงมาเรื่อยๆ รูเหล่านั้นก็ถูกสกัดออกไปด้วยเช่นกัน เมื่อเสร็จสมบูรณ์แล้วผาหินแกะสลักจึงไม่เหลือร่องรอยของรูบันไดไว้เลย
เดินไปอีกหน่อย เราเจอกับหินแกะสลักที่อาผิงบอกว่าเป็นเรื่องราวในลัทธิขงจื๊อ ซึ่งปลูกฝังมากับชาวจีนทุกยุคทุกสมัยเป็นเวลาหลายพันปี และหลักคิดดังกล่าวยังคงหลงเหลืออยู่ถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องความกตัญญูต่อบุพการี บนผาหินแถบต่อมานี้เป็นหินแกะสลักรูปลูกสาวลูกชายที่ดูแลพ่อแม่ยามแก่เฒ่า อาผิงอธิบายเพิ่มว่า ลูกที่ไม่ดูแลพ่อแม่นั้นถือว่ามีบาปหนัก เป็นสิ่งที่คนรอบตัวจะมองว่าผิด และอาจถูกลงโทษจากสังคมได้
คุณแม่ชาวไทยที่อยู่ข้างๆ สอนลูกสาวตัวน้อยของตนเรื่องความกตัญญู พร้อมชี้ไปที่หินแกะสลักที่อยู่ข้างหน้า เธออธิบายด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล ฟังดูน่าเอ็นดูไม่น้อย
และไม่ว่าเด็กน้อยคนนั้นจะเข้าใจหรือไม่ แบบเรียนวิชาขงจื๊อบนผาหินนี้ก็ได้ทำหน้าที่ของมันแล้ว
แอบมองเธออยู่นะจ๊ะ
เดินไปอีกสักพัก เราจะเจอกับอีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญของที่นี่ หินแกะสลักรูปพระนอนยาวกว่า 30 เมตร แสดงให้เห็นถึงการเข้ามาของอิทธิพลพุทธศาสนา นิกายตันตระจากอินเดีย ที่อยู่ร่วมกับหลักคิดลัทธิขงจื๊อของจีน และบันทึกไว้บนผาหินนี้อย่างกลมกลืน
เราเดินเข้าไปใกล้บริเวณส่วนหน้าของพระนอน ขนาดใหญ่เกินหน้าเกินตาทุกสิ่งทุกมาก จนเมื่อเดินถอยหลังออกมาหน่อย รูปสลักพระนอนองค์นี้ก็เหมือนกับกำลังแอบหรี่ตามองบรรดานักท่องเที่ยวอยู่ ส่วนนักท่องเที่ยวก็เหมือนกับมดที่มารุมก้อนน้ำตาลอย่างไรอย่างนั้น
ใกล้ๆ กันเป็นหินแกะสลักรูปสัตว์ที่กำลังอ้าปากแลบลิ้น และมีสายน้ำไหลลงมารดหินแกะสลักรูปคนพนมมือ อาผิงบอกว่านี่เป็นสิ่งที่ช่างแกะสลักสมัยนั้นตั้งใจทำ เพราะน้ำจากบนเขาหรือแหล่งน้ำอื่นๆ จะไหลมาตามทางที่พวกเขาสร้างไว้ และออกมาทางปากของหินสลักรูปสัตว์นี้ มากน้อยต่างกันไปตามฤดู
สายน้ำไหลลงมารดรูปสลักคนพนมมือข้างล่างจนรายละเอียดเริ่มหายไป ตะไคร่น้ำที่เติบโตอยู่บนหิน ทำให้ผาบริเวณนี้มีสีสันต่างจากบริเวณอื่นอย่างสะดุดตา
ถ้าอยากหนีความวุ่นวาย เชิญมาที่ต้าจู๋
ก่อนหน้าที่จะมาเมืองต้าจู๋ ฉันใช้เวลาอยู่ในตัวนครฉงชิ่งมาแล้ว 2 วัน จึงพอสัมผัสได้ว่าที่นี่เงียบสงบและเหมาะมากหากต้องการหนีความวุ่นวายในฉงชิ่งสักพัก ด้วยการใช้ชีวิตของคนจีนอาจจะไม่ถูกใจฉันเท่าไร เพราะในนครจะสูบบุหรี่หรือบ้วนน้ำลายที่ไหนก็ได้ แม้กระทั่งในห้างหรือห้องน้ำ แต่ที่ผาหินแกะสลักเมืองต้าจู๋นี้ เหมือนผู้คนถูกสวิตช์โหมดชั่วคราว ที่นี่จึงได้กลิ่นอายของศิลปะจีนเต็มที่ โดยไม่มีกลิ่นบุหรี่เข้ามาขัดจังหวะ
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา ที่นี่จึงเป็นเพียงไม่กี่ที่ที่น่าจดจำในทริปนี้ และด้วยการรวมตัวของศิลปะจีนและความเชื่อพุทธศาสนาจากอินเดีย ที่ถ่ายทอดผ่านการแกะสลักอย่างประณีต งดงาม และหาชมได้ยากไว้บนผาหินนี้ จึงสมเหตุสมผลอย่างยิ่งกับการได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโกเมื่อปี 1999
ถ้าใครมีโอกาสมาเที่ยวนครฉงชิ่ง และอยากหนีความวุ่นวายหรือมีเวลาว่างๆ สักครึ่งวัน การเดินทางมา ‘ผาหินแกะสลักเมืองต้าจู๋’ โซนเป่าติงซานแห่งนี้ก็เป็นตัวเลือกที่ดีไม่น้อย
ข้อมูลอ้างอิง
https://whc.unesco.org/en/list/912/
Tags: ต้าจู๋, ฉงชิ่ง, ผาหินแกะสลัก, เป่าติงซาน, ยูเนสโก, มรดกโลก, Out and About