ประตูกระจกเป็นเหมือนเขตแดนระหว่างโลกจริงกับความฝัน ทันทีที่ผลักเข้าไปด้านในชั้น 1 ของ เอส เอ ซี แกลเลอรี (SAC Gallery) เสียงในนิทรรศการ ‘Dark Was the Night – ผีพุ่งไต้’ ต้อนรับผู้ชมเข้าสู่ห้วงภวังค์ของภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่น เหมือนลอยเคว้งอยู่ท่ามกลางอวกาศโดยไม่ทันรู้ตัว
นิทรรศการนี้เป็นผลงานเดี่ยวครั้งล่าสุดของ ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ ผู้กำกับและศิลปินทัศนศิลป์ ผู้ได้รับรางวัลจากเวทีการประกวดทั้งในบ้านเกิดและนานาชาติมาหลายหน เจ้าของผลงานอย่างภูเขาไฟพิโรธ (A Ripe Volcano, 2554) และพญาโศกพิโยคค่ำ (The Edge of Daybreak, 2564)
หลายครั้ง ผลงานของไทกิมีจุดร่วมคือ การเป็นเสมือนบันทึกบอกเล่าการเมืองไทย แตกต่างก็ตรงที่การใช้วัตถุดิบสำหรับประกอบสร้างเป็นภาพยนตร์ที่หลากหลาย แปลกใหม่ และเปลี่ยนไปอยู่เสมอ
เช่นกันกับครั้งนี้ที่เขาบอกว่า มวลไอเดียของนิทรรศการก่อตัวขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม 2566 หลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้น ผลลัพธ์ดูเหมือนเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศไทย ทว่าปัญหาต่างๆ กลับเข้ามาจนทำให้ผู้ชนะการเลือกตั้งไม่สามารถเป็นรัฐบาลได้ ความรู้สึกตั้งคำถามต่อความอยุติธรรมนี้ไม่เพียงเกิดขึ้นในหมู่ชาวไทยจำนวนมาก แต่รวมถึงไทกิด้วย
“ไม่ว่าคุณจะเป็นศิลปินหรือคนทำหนัง เวลาที่ประเทศมีปัญหามากๆ มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ปัญหาเหล่านี้จะซึมซับแทรกซึมเข้าไปอยู่ในวิธีคิด ชีวิตประจำวันของพวกเรา มันจะออกมาในรูปแบบใดก็ได้ แต่ผมเชื่อเลยว่า มิติของการเมือง ปัญหาของประเทศ รวมถึงปัญหาส่วนตัว ถ้าเรารู้สึกกับมันมาก มันก็จะออกมา ไม่ทางใดทางหนึ่ง”
เจ้าของผลงานอธิบายต่อว่า เสียงคือตัวกลางในการติดต่อสื่อสารและสร้างภาพของสิ่งมีชีวิต ระหว่างการค้นคว้าเขาพบเรื่องของ Echolocation หรือการหาตำแหน่งของวัตถุโดยใช้เสียงสะท้อน อย่างการอัลตราสแกนซาวนด์ทารกในครรรภ์มารดา หรือค้างคาวที่ใช้เสียงเพื่อนำทางในที่มืด ดังนั้นในมุมมองของเขาเสียงจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
ส่วนหนึ่งของสารตั้งต้น มาจากเหตุการณ์ในหน้าประวัติศาสตร์โลกเมื่อปี 2520 องค์การนาซาพยายามติดต่อกับสิ่งมีชีวิตอื่นในจักรวาล ด้วยการส่งแผ่นเสียงทองคำไปกับยานวอยเอเจอร์ (Voyager) โดยภายในแผ่นเสียงบรรจุเสียงต่างๆ ของมนุษยชาติ ทั้งเสียงในธรรมชาติ เสียงจูบ เสียงหัวเราะ คำทักทายในหลากหลายภาษา รวมถึงเสียงดนตรี หวังใจให้นำเสียงจากโลกมนุษย์นี้เป็นตัวกลางไปเผยแพร่วิวัฒนาการทางศิลปะของชาวโลกต่อสิ่งชีวิตนอกโลก
อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนกลับมามองที่ในประเทศไทย เพียง 1 ปีก่อนหน้า เสียงและการเรียกร้องกลับเป็นสาเหตุให้เข่นฆ่ากันระหว่างรัฐกับนักศึกษา ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นักศึกษาพยายามพูดถึงสิ่งที่อยู่ในใจ พยายามเรียกร้องถึงอิสรภาพ แค่เพียงบอกเสียงของตัวเองให้รัฐได้ยิน แต่เช้าวันนั้นรัฐกลับบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัย แล้วฆ่านักศึกษาอย่างโหดเหี้ยม
นอกจากเนื้อหาจากเหตุการณ์ในสังคมและการเมือง Dark Was the Night ยังปรุงขึ้นจากแรงบันดาลใจด้านดนตรีหลากหลายแนว ชื่อของนิทรรศการมาจากบทเพลงหนึ่งที่ส่งขึ้นไปพร้อมกับแผ่นเสียงทองคำ คือ Dark Was the Night, Cold Was the Ground โดย บลายด์ วิลลี จอห์นสัน (Blind Willie Johnson) ศิลปินบลูส์ผิวดำตาบอดชาวอเมริกัน ที่ไม่มีเนื้อร้อง มีเพียงเสียงฮัมและโอดครวญ แต่กลับจับใจคนฟังให้คิดถึงความเจ็บปวดที่คนผิวดำต้องเผชิญในวันที่โลกยังเหยียดผิวเป็นวงกว้าง
“ในนั้นเต็มไปด้วยความเศร้าและความรู้สึกของการเป็นคนผิวดำ ที่เกิดมาในช่วงเวลาที่มีการเหยียดผิวสูง นี่มันยิ่งกว่าเนื้อเพลงมากๆ เลย” ไทกิเล่าถึงที่มาของชื่อนิทรรศการครั้งใหม่
ขณะที่ธีมเสียงทั้งหมดที่ได้ยินในงาน ไทกินำอารมณ์และความรู้สึกตอนที่พัฒนาไอเดีย จากดนตรีแนว Dream Pop และ Shoegaze ที่เปิดฟังบ่อยๆ ระหว่างทำงาน ซึ่งมีเอกลักษณ์คือเมโลดี้ล่องลอย เชื่องช้า และฟุ้งฝัน สอดรับกับความตั้งใจเล่าเรื่องความทรงจำ โดยได้ จิน-วรเมธ มตุธรรมธาดา ซาวนด์ดีไซเนอร์ที่ทำงานร่วมกันหลายครั้งแล้ว มาออกแบบเสียงให้
“เสียงเป็นตัวนำอารมณ์ เวลาเราดูหนัง อารมณ์มากับเสียงมากกว่าภาพ” ศิลปินเผย “เหมือนเราอยู่ในท้องแม่ จริงๆ เราสื่อสารกับแม่ด้วยเสียง ก็เลยออกแบบให้เสียงเดินทางไปในพื้นที่ของแกลเลอรีนี้” ไทกิบอกเหตุผลที่ตั้งใจให้เสียงแพร่กระจายไปทั่วทุกซอกมุมของอาคาร
ขณะเดียวกัน เสียงยังทำงานร่วมกับวิดีโอทั้ง 2 จอที่ฉายอยู่ตรงข้ามกัน ผ่านภาพเคลื่อนไหวไร้จุดโฟกัส ปราศจากบทสนทนา เพื่อเปิดโอกาสให้ภาพตรงหน้าเข้ามาปนกับความนึกคิดในหัวของผู้ชม แล้วสร้างสรรค์ภาพออกมาจากประสบการณ์ของแต่ละคน หรือไม่ก็พาย้อนกลับไปคิดถึงเรื่องในอดีตคล้ายกับ Flashback
“พอพูดถึงความรู้สึก ความทรงจำ บาดแผล หลายครั้ง มันมาไม่ชัดหรอก มันจะมาเป็นช่วง เป็นก้อน เป็นชิ้น หรือ Fragmentation มันไม่ปะติดปะต่อ” เขาตั้งข้อสังเกต
หน้าจอแรกซึ่งเล่าเรื่องถึงหญิงชรา ได้ ดุษฎี พนมยงค์ ศิลปินแห่งชาติและบุตรสาวของ ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสและแกนนำคณะราษฎรฝ่ายพลเรือน มาแสดง เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของครอบครัวหนึ่ง
เบื้องหลังการนำทายาทของตัวละครสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยมาเป็นส่วนหนึ่งในงาน ไทกิเผยว่า เกิดขึ้นจากการหวนย้อนคิดถึงความเป็นแม่ ในหนังสือ สันติปรีดี ของชมัยภร แสงกระจ่าง มีบทหนึ่งเล่าถึงเหตุการณ์ก่อนการลี้ภัยของปรีดี โดยทหารบุกไปที่ทำเนียบท่าช้าง บ้านของครอบครัวพนมยงค์ริมน้ำเจ้าพระยา แล้วระดมยิงปืนกลเข้าใส่ ก่อนท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภรรยาของปรีดี ออกมาตะโกนสวนเสียงปืน
“อย่ายิง! ที่นี่มีแต่ผู้หญิงกับเด็ก”
วาทะดังกล่าวทำให้ไทกินึกถึงความเข้มแข็งของคนเป็นแม่ ที่ไร้อำนาจและเครื่องมือต่อสู้ มีแค่หัวใจที่ต้องการปกป้องครอบครัวของตัวเอง และสิ่งนี้น่าจะเป็นความสามัญธรรมดาที่เชื่อมโยงถึงผู้ชมได้ไม่ยาก
ส่วนหน้าจออีกฟากหนึ่งฉายภาพสถานที่ต่างๆ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในวันแดดจ้า โทนสีชวนฟุ้งฝัน แต่สำหรับมุมมองของบางคน ภาพอาจตัดกลับไปให้หวนคิดถึงเหตุการณ์อันดำมืด ที่เคยเกิดขึ้นในสถานที่แห่งนี้อย่าง 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นเหมือนบาดแผลที่สลักติดไว้ในใจคนไทยจนวันนี้
“ทุกครั้งมันเหมือนกับเราบันทึกความรู้สึกของเราในงานแต่ละชิ้น ความคิดเห็นของเรา ความรู้สึกของเรา ที่มีต่อปัญหา ต่อประสบการณ์ ต่อการเมืองหรือว่าสังคม มันต้องออกมาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง” ไทกิเล่าอย่างเปิดอก
แม้ในแต่ละหน้าจอดูเหมือนกำลังเล่าคนละเนื้อหา ทว่าหากสังเกตให้ดีจะพบว่า ไทกิตั้งใจให้ปรากฏการณ์สุริยุปราคา ที่เขาโยงถึงภาวะอัมพาตของทั้งความรู้สึกและบ้านเมือง เป็นตัวกลางเชื่อมร้อยถึงกันระหว่างจอ
“ผมนึกถึงสุริยุปราคา ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มาครอบงำทั้งเรื่องของแสงและเงา ที่เคลื่อนที่ผ่านบ้าน ครอบครัวนี้ และมันมีอิทธิพลต่อความรู้สึกของตัวละครในงานนี้ ในที่นี้ผมนึกถึงการเป็นอัมพาตทางอารมณ์ การที่แสง ความมืด ครอบงำตัวบ้าน”
เงามืดที่ทาบทับดวงอาทิตย์ ไม่ได้ก่อให้เกิดภาวะนิ่งสงัดกับบ้านเมืองเท่านั้น แต่ส่งผลไปถึงหน่วยเล็กๆ อย่างครอบครัวด้วย
ไม่เพียงแต่เรื่องราวที่ฉายในวิดีโอที่เสียงทำหน้าที่ขับความรู้สึกต่างๆ ให้พรั่งพรูออกมาในหัวสมอง เพราะไทกิตั้งใจให้เสียงที่ได้ยินในแกลเลอรีแห่งนี้ทำงานกับผลงานศิลปะต่างๆ ที่แวดล้อมอยู่ในงานนิทรรศการเช่นเดียวกับภาพที่เห็นผ่านจอ
ทั้งภาพถ่ายพรินต์ลงแผ่นกระดาษเงิน ที่ไทกินำภาพถ่ายจากสถานที่ทางประวัติศาสตร์ เช่นพื้นผิวบนป้อมปืนเหนือถ้ำฤาษีสมบัติ จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เคยนำสมบัติจากกรุงเทพฯ ไปเก็บซ่อนเมื่อหลายสิบปีก่อน ซึ่งเขาตั้งใจให้วัสดุที่มีความมันวาวนี้สะท้อนกับภาพผู้ชม ประหนึ่งว่าเป็นส่วนหนึ่งในงานและเหตุการณ์
ภาพถ่ายในกล่องไฟ (Light Box) ที่ศิลปินเข้าไปเก็บภาพม่านสีสดในหอประชุม และลิฟต์แดงที่นักศึกษาเข้าไปหลบซ่อนและถูกฆ่าอย่างอำมหิต ขับเน้นเรื่องราวที่ศิลปินซุกซ่อนออกมาได้อย่างมีมิติ
รวมถึงภาพพิมพ์โลหะดวงดาวต่างๆ และประติมากรรมจำลองการเกิดสุริยุปราคา ที่หมุนวนเข้าสู่ภาวะมืดเป็นวัฏจักรซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ต่างอะไรกับวัฏจักรการเมืองในบางประเทศ
“เราเอาแรงบันดาลใจจากเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งมาผสมกับสิ่งที่เราชอบ ในที่นี้คือดนตรีต่างๆ ในแต่ละช่วงเวลา มาผสมกับความชอบทางด้าน Visual Art และใช้สัญชาตญาณตัวเองในการเก็บบันทึกสิ่งที่ปรากฏต่อหน้าเรา
“นิทรรศการนี้เลยอยากให้ความรู้สึกมาเป็นอันดับหนึ่ง คือผู้ชมจะต้องรู้สึกถึงอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะรู้จักประวัติศาสตร์หรือบริบททางการเมืองมากแค่ไหนก็ตาม อันนั้นไม่สำคัญเท่างานมันสัมผัส มันแตะถึงอารมณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้” ไทกิทิ้งท้ายถึงผลงานครั้งนี้ของเขา
สำหรับบางคน Dark Was the Night อาจดึงเข้าสู่ความเคลิ้มฝัน ความคะนึงหา และความทรงจำครั้งเก่า ขณะที่บางคน นิทรรศการนี้อาจจูงมือคุณเผชิญกับบางเหตุการณ์ที่อยากลืม แต่กลับจำ
Fact Box
- ไทกิมีผลงานภาพยนตร์ทั้งขนาดสั้นและยาวหลายชิ้น เช่น อุรุเวลา (Deathless Distance, 2553), ภูเขาไฟพิโรธ (A Ripe Volcano, 2554), The Age of Anxiety (2556), Shadow and Act (2562) และพญาโศกพิโยคค่ำ (The Edge of Daybreak, 2564) ฯลฯ
- ผลงานต่างๆ ของไทกิพาให้เขาได้รับรางวัลหลายครั้ง เช่น รางวัลชนะเลิศ สาขารัตน์ เปสตันยี เทศกาลภาพยนตร์สั้นปี 2554, รางวัลวิจิตรมาตรา จากเทศกาลภาพยนตร์สั้นปี 2556, รางวัล FIPRESCI Prize เวที International Film Festival Rotterdam 2021 (IFFR) ประเทศเนเธอร์แลนด์ และรางวัล Honourable Mention เทศกาลภาพยนตร์ Split Film Festival ประเทศโครเอเชีย
- นิทรรศการ ‘Dark Was the Night - ผีพุ่งไต้’ โดย ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ จัดแสดงที่ชั้น 1 เอส เอ ซี แกลเลอรี (SAC Gallery) ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 6 กรกฎาคม 2567