“มันคือความฝันที่มีมานานของคนเล่นสเกตบอร์ด ไม่ว่ากี่ยุคสมัย”

ชายหนุ่มรูปร่างสูงโปร่งเอ่ย มีสเกตบอร์ดอันเป็นอาวุธคู่ใจของ ‘เด็กบอร์ด’ แนบอยู่ข้างกาย รอยถากบนแผ่นบอร์ดที่ทำจากไม้เมเปิล บ่งบอกถึงการใช้งานที่ต้องคอยรับแรงกระแทกจากการกระโดดนับครั้งไม่ถ้วนของกีฬาชนิดนี้ได้เป็นอย่างดี เบื้องหลังของเขาคือพื้นที่กว้างขวางภายใน Chiangmai Skatepark ลานสเกตในร่มที่เขานิยามมันว่า ‘โกดังแห่งความฝันของคนรักสเกตบอร์ด’

‘โตโต้’ – จิรวัฒน์ นาวาจักร์ คือเบื้องหลังผู้นำความฝันของคนรักสเกตบอร์ดในเชียงใหม่ มาก่อร่างสร้างให้กลายเป็นพื้นที่ที่จับต้องได้จริง เป็นคอมมูนิตี้สำหรับเด็กบอร์ดและคนที่สนใจ ให้มาพบปะ ไถสเกต ฝึกซ้อม สร้างชุมชนสเกตบอร์ดให้เข้มแข็ง ไล่ไปจนถึงอนาคตที่จะมีกิจกรรมที่น่าสนใจอีกหลากหลายเพิ่มเติม ที่สำคัญ โกดังแห่งนี้เปิดให้เข้าใช้บริการฟรี

“ตราบเท่าที่เราจะหาผู้สนับสนุนไปได้เรื่อยๆ เราจะหาสปอนเซอร์เข้าสนามเอง” เขาบอก

โตโต้เป็นคนบ้าสเกตบอร์ด เขาเล่นสเกตบอร์ดมาตั้งแต่เด็ก และฝันจะอยู่กับสเกตบอร์ดไปตลอดชีวิต หลายปีที่ผ่านมาเขาสร้างแรมป์ (Ramp) หรืออุปกรณ์การเล่นสเกตบอร์ด มีหลายรูปแบบและขนาด โดยพื้นฐาน ส่วนมากโครงสร้างจะมีลักษณะโค้งเว้าตามรูปทรงกลมของเลขาคณิต และขายให้กับผู้สนใจทั้งชาวเชียงใหม่และชาวต่างชาติ

หลังเคยพยายามรณรงค์ผลักดันให้เกิดพื้นที่สาธารณะสำหรับเล่นสเกตบอร์ด หรือ Skatepark ในเชียงใหม่มาหลายปี ทำงานร่วมกับหลายฝ่าย มีการรวบรวมข้อมูลเป็นเอกสาร เข้าพบทางเทศบาลนครเชียงใหม่เพื่อประชุมหารือ ทำความเข้าใจ และแนวทางการออกแบบโครงการ เพื่อให้เชียงใหม่มีพื้นที่สวนสาธารณะรูปแบบใหม่บัญญัติไว้ในระเบียบเทศบาลท้องถิ่น และได้ใช้ประโยชน์กันจริง แต่ดูเหมือนว่าเรื่องยังไม่คืบหน้า ซ้ำยังมีปัญหากรณีที่ถูกสั่งห้ามเล่นสเกตบอร์ดบนลานสามกษัตริย์ จนกลายเป็นข่าวพาดหัวในสื่อท้องถิ่น

นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาคิดว่า ถึงเวลาแล้ว ที่ต้องสร้างพื้นที่สำหรับเล่นสเกตบอร์ดของตัวเองให้ได้

“รุ่นน้องของเรามีโอกาสไปเล่นสเกตบอร์ดให้กับร้านสเกตบอร์ด S-Project ที่กรุงเทพ เขาได้เจอเจ้าของร้านชื่อคุณแอน และได้คุยกัน น้องเขาก็บอกเจ้าของร้านสเกตไปว่า ที่เชียงใหม่มีพี่คนหนึ่ง ซึ่งหมายถึงเราเอง กับกลุ่มเพื่อนๆ ที่เล่นสเกตบอร์ด ต่อสู้เรื่องอยากมีที่เล่นสเกตบอร์ดมานาน สามารถทำอุปกรณ์ได้เอง จัดงานได้ พร้อมที่จะเป็นแรงงานทำฝันให้เป็นจริง คุณแอนเลยทักมาหาเรา ถามว่าลุยกันเลยไหม เขาถามว่าเรามีภาพพื้นที่ที่เคยดีไซน์ไหม เราบอกมีทุกอย่างพร้อมหมด รวมถึงข้อมูลตัวเลขและการจัดงาน” โตโต้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของโกดังแห่งความฝัน ที่บัดนี้กลายเป็นความจริงตรงหน้า

“หลังจากคุยกัน เราก็ตระเวนหาโกดังทั่วเชียงใหม่ที่ไม่ไกลเกินไป ไม่ใกล้เกินไป ไม่แพงเกินไป จนมาได้ที่นี่ ดูทรงแล้วชอบมาก ที่จอดรถกว้างขวาง บวกกับช่วงนั้นข่าวห้ามเล่นสเกตบอร์ดที่สามกษัตริย์กำลังร้อนแรง คนก็อยากให้มีที่เล่นสเกตบอร์ดมาก เราก็คุยกับคุณแอนว่า เราสำรวจมาทั่วเชียงใหม่แล้ว ที่นี่เวิร์กที่สุด แล้วก็ไปคุยกับเจ้าของโกดังซึ่งเป็นตระกูลทำหมู่บ้านแถวนี้ เขาชอบมาก ลูกชายเขาก็ชอบ ก็ส่งเสริมกัน เซ็นสัญญาเช่า เราก็เบิกงบเพื่อซื้ออุปกรณ์ช่าง โทรเรียกน้องๆ ที่เคยช่วยเหลือกัน ทำอุปกรณ์ด้วยกัน มาช่วยกันสร้าง”

ด้วยความอยากให้พื้นที่แห่งนี้เกิดขึ้นได้เร็วที่สุด เขาใช้เวลาเพียงสามคืนในการร่างแบบตามสเกลให้ใกล้เคียงกับที่เคยทำไว้  รวมถึงคำนวณราคาค่าใช้จ่ายให้นายทุน ก่อนจะเริ่มดำเนินการเช่าสถานที่ และเริ่มยิงน็อตตัวแรกเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยที่แรงงานเริ่มต้นคือเขากับรุ่นน้องอีกหนึ่งคน และแอบโพสต์บอกในเฟซบุ๊กเป็นนัยๆ หลังจากนั้นจึงเริ่มมีกลุ่มเพื่อนพี่น้องที่สนใจเข้ามาช่วยลงแรง

“ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นน้ำพักน้ำแรง แรงเหงื่อจากคนเล่นสเกตในเชียงใหม่ร้อยเปอร์เซ็นต์” โตโต้กล่าว “ตอนลงน็อตตัวแรกโคตรดีใจ พูดแล้วยังขนลุก”

ในที่สุด ระยะเวลาเกือบสองเดือนผ่าน Chiangmai Skatepark จึงพร้อมใช้งาน และเปิดให้ทดลองเข้ามาเล่น โดยยังไม่เปิดอย่างเป็นทางการ แต่น่าเสียดายที่เพียงไม่นานก็ต้องชะงัก เพราะการมาของโควิดระลอกสาม

ภายในโกดังขนาด 1,000 ตารางเมตร ถูกแบ่งสัดส่วนไว้สำหรับพื้นที่ต่างๆ มีโซนตรงกลางสีขาวเป็นไฮไลต์ ที่เรียกว่าโซน Street สำหรับนักเล่นที่ชอบความผาดโผน โดยจำลองเหลี่ยมมุมเหมือนพื้นที่สาธารณะ ทั้งบันได เนินลาด และแท่งเสา ให้ได้โชว์สกิลกันอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ อนาคตพื้นที่ส่วนนี้จะใช้จัดงานแข่งสเกตบอร์ด เป็นที่ฝึกซ้อมเก็บตัวของนักกีฬาสเกตบอร์ด และหากเริ่มมีการเปิดประเทศ ก็จะมีการเชิญนักสเกตต่างชาติเข้ามาโชว์ความสามารถ มากไปกว่านั้น อาจมีการจัดประกวดงานต่างๆ เพื่อโชว์ความสามารถของเยาวชนและวัยรุ่น เช่น งานดนตรี งานเต้น หรือเล่นตลก

นอกจากโซน Street โกดังนี้ยังแบ่งพื้นที่สำหรับโซน Surf หรือเซิร์ฟสเกต ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในหมู่นักเล่นบอร์ดรุ่นใหม่ รวมถึงโซนมินิแรมป์ (Mini Ramp) สำหรับคนที่ชอบเล่นส่วนโค้งขนาดกลาง ซึ่งเป็นมินิแรมป์จากพารตเนอร์ของโตโต้ที่ชื่อคริสเตียน ชาวต่างชาติจากอำเภอหางดงผู้รักสเกตบอร์ด และให้การสนับสนุนสำหรับชุมชนสเกตบอร์ดในเชียงใหม่

“มีมุมเล็กๆ สำหรับฟิตเนสสายถือกล่องปูนด้วยนะ” เขาชี้ไปบริเวณพื้นที่ขนาดย่อมด้านหลังโซนมินิแรมป์ “เอาไว้สำหรับใครที่จะมาส่งเพื่อน แต่ไม่ได้เล่นสเกต ตรงนั้นเราจะมีแป้นบาสเล็กๆ มีดัมเบลแบบหล่อปูนแท่งที่ทำกันเอง มีบาร์ให้โหน กระสอบทราย หรือจะซ้อมลีดก็ได้นะ เป็นสีสันให้คนเล่นสเกต” เขากล่าวติดตลก พร้อมทำท่าทางประกอบ

อีกโซนที่สำคัญคือโซน School สำหรับสอนเด็กๆ เล่นสเกตบอร์ด ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนคิดหลักสูตรการสอน โดยอาจเปิดสอนแบบภาคการเรียน มีเป้าหมายเพื่อให้เด็กมีพื้นฐานการเล่นสเกตที่แน่น และสามารถต่อยอดในอนาคตได้ นอกจากนี้ยังมีโซน Shop ที่ขายอุปกรณ์สเกตราคากันเอง คุณภาพเยี่ยม จากร้าน S-Project และมีออฟฟิศเล็กๆ สำหรับพบปะขับเคลื่อนโกดังแห่งนี้

“เราจดทะเบียนที่นี่เป็นบริษัทจริงจัง เรามีพนักงานช่วยทำการตลาด มีคนทำกราฟิก มีเงินเดือน เข้าสู่ระบบประกันสังคมจริงจัง เราพยายามจะสร้างรายได้เข้าโกดัง ผูกมิตรกับคนที่เป็นเจ้าของธุรกิจท้องถิ่นระดับประเทศ ที่เห็นว่าที่นี่คือความฝันอันแรงกล้าของเด็กยุคใหม่จริงๆ”

 หลังพูดคุยพักใหญ่ เราลองถามโตโต้ว่าเขารู้สึกอย่างไรกับภาพลักษณ์ของ ‘เด็กบอร์ด’ ที่มักถูกเหมารวมจากผู้ใหญ่ในแง่ลบ คำตอบของเขาฟังดูค่อนข้างปลง “ไม่รู้สึกอะไรแล้ว” เขาพูด

“เราพยายามแยกด้วยมุมมองของตัวเอง เพราะทุกสิ่งมันก็อยู่แค่เพียงหนึ่งคนเท่านั้นที่เกิดขึ้น เขามองเห็นโดยรวมว่ามันไม่ดี แต่มันก็ยังมีอีกหนึ่งคนที่ไม่ได้เป็นแบบนั้นนี่ เล่นสเกตก็ไม่ได้จำเป็นว่าต้องกินเหล้า บางคนเล่นสเกตแต่เป็นวีแกนแท้ๆ ก็มี ไม่กินเหล้าสูบบุหรี่ก็มี ไม่เล่นยา ไม่เจ้าชู้ บางคนถึงขั้นเล่นสเกตแต่เป็นหมอ เป็นนักบิน คือเราเห็นมามากพอที่จะบาลานซ์ได้ ยิ่งถ้าเป็นสเกตต่างประเทศนะ เขาเล่นจริงจัง ไม่มาตีรันฟันแทงหรือเสพยามั่วสุม ไม่เลย เพราะทุกคนต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองทำ

“แม้กระทั่งคนที่มองเข้ามาด้วย ถ้าเขามองเห็นแค่จุดนั้น เขาก็ต้องรับผิดชอบในความคิดตัวเองว่าเขาก็จะมองด้านลบของสเกตและคนเล่นแบบนั้นตลอดไปจริงๆ เหรอ ไม่ลองมองอีกมุมหนึ่งบ้างเหรอ”

ราวกับนึกขึ้นได้ เขาชี้ไปที่ชื่อของโกดังแห่งความฝันแห่งนี้ ที่ถูกเพนต์ด้วยสีลงบนผนังในมุมหนึ่ง

“ตอนนั้นก็สองจิตสองใจในการตั้งชื่อโกดัง เราคิดว่ามันจะเกินไปไหม ถึงขนาดเอาชื่อจังหวัดมาตั้งเลย” เขากล่าว แข่งกับเสียงของเขาคือเสียงไถสเกตของรุ่นน้องนักสเกตที่กำลังซ้อมอยู่บริเวณโซน Street

“แต่เราก็มองสิ่งที่เราทำมาตลอดช่วง 6-7 ปีหลัง เราต่อสู้ให้คนในจังหวัดได้มีที่เล่น แม้จะไม่ได้เป็นข่าวดังอะไร แต่เราก็ทำมันจริงจัง ถึงขั้นไปพบนายกเทศมนตรี บอกกับเขาว่าเราอยากมีพื้นที่สาธารณะสำหรับเล่นสเกตบอร์ด

“มีสองชื่อที่เลือกมา คือโกดังสเกตปาร์กหรือเชียงใหม่สเกตปาร์ก แต่สุดท้ายก็จบที่ เชียงใหม่สเกตปาร์ก ตอนนั้นก็คิดว่าชื่อจะติดอะไรไหม เช่น ภาษี ความเป็นเจ้าของ แต่พอไปจองได้แล้วก็จดเรียบร้อยเลย เราอยากให้เป็นสิ่งง่ายๆ ที่เวลาชาวต่างชาติเสิร์ชในกูเกิลก็เจอ

“มันเป็นสิ่งที่เราดิ้นรนต่อสู้มา”

เขาพูดจบและทอดสายตาไปยังรุ่นน้องที่กำลังเล่นท่าบนสเกตบอร์ดอยู่ไม่ไกล

Fact Box

  • ติดตามความเคลื่อนไหวของ Chiangmai Skatepark ทาง facebook.com/thailandchiangmaiskatepark
  • ติดตามการขับเคลื่อนของกลุ่มสเกตบอร์ดเชียงใหม่ในการผลักดันนโยบายต่างๆ ทาง facebook.com/cnxheartskateboard
Tags: , , ,