แมกไม้นานาพรรณเขียวขจี กลิ่นดินที่มาพร้อมละอองฝน และถนนหนทางคดเคี้ยวสุดลูกหูลูกตา เราใช้เวลาร่วม 2 ชั่วโมง เพื่อเดินทางมายังอำเภอสะเมิง สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม อันอุดมไปด้วยธรรมชาติของจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีผู้มาเยือนมากหน้าหลายตาทั้งไทยและเทศ

อำเภอเล็กๆ แห่งนี้ มีวัฒนธรรมล้านนาจากหมู่ชาวไทลื้อและกะเหรี่ยง ที่อพยพมาอยู่อาศัยตั้งแต่ปี 2324 ก่อนจะได้รับการปรับปรุงเส้นทางคมนาคมจากภาครัฐราวปี 2501 ด้วยจำนวนพื้นที่ทั้งหมด 1,002 ตารางกิโลเมตร (626,250 ไร่) ที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเขา 80% และพื้นที่ราบอีก 20% มีแม่น้ำสำคัญไหลผ่าน 2 สาย ได้แก่ แม่น้ำขานและแม่น้ำสะเมิง จึงเหมาะสมด้วยประการทั้งปวงสำหรับใช้เป็นพื้นที่แห่งเกษตรกรรมของประเทศ

ในอดีต ยอดดอยอำเภอสะเมิงเคยใช้เป็นแหล่งเพาะปลูกฝิ่น แต่หลังจากการปราบปรามและให้ความรู้ชาวบ้านเมื่อปี 2502 สะเมิงได้แปรเปลี่ยนสถานะเป็นแหล่งเพาะปลูกผลผลิตพืชผักและผลไม้เมืองหนาวชั้นเลิศ อาทิ สตรอว์เบอร์รี อะโวคาโด พีช เสาวรส คะน้าใบหยิก กระเจี๊ยบ เก๊กฮวย ฟักทอง ข้าวโพด ฯลฯ สร้างรายได้หล่อเลี้ยงปากท้องชาวบ้านในชุมชนอย่างถูกกฎหมาย สมดั่งคำขวัญที่ว่า

“สตรอว์เบอร์รีรสเยี่ยม ภูเขาสูงเทียมฟ้า ดอกไม้พันธุ์นานา บรรยากาศสวิตเซอร์แลนด์”

นอกจากที่กล่าวมาข้างต้น เรายังมีโอกาสเยี่ยมเยียน ‘Ice Cream Café At Samoeng’ ร้านคาเฟ่เล็กๆ สุดอบอุ่น ของ นที มูลแก้ว และอรัญญา มูลแก้ว ที่นำผลผลิตทั้งผักและผลไม้จากไร่บนยอดดอยอำเภอสะเมิง มาแปรรูปเป็นไอศกรีมโฮมเมดแสนอร่อยในราคาแค่หลักสิบ และอยากส่งต่อความหวัง ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงวิถีการดำเนินชีวิตเรียบง่าย เป็นมรดกสู่รุ่นลูกรุ่นหลานชาวสะเมิง

“เราสนใจในเรื่องของการทำฟาร์มเกษตรอินทรีย์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ประจวบกับภรรยาเราเป็นคนอำเภอสะเมิง ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูก เราเลยคิดวางแผนก่อตั้งกลุ่มเกษตรกรรมขึ้นมา เพื่อให้เครือข่ายผู้เพาะปลูกในอำเภอสะเมิงและเชียงใหม่แข็งแรง รวมถึงทำให้พื้นที่แห่งนี้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็คิดหาวิธีต่อยอดมูลค่าผลผลิต นอกจากค้าขายส่งออกทั่วไป ก็ลองผิดลองถูกจนสุดท้ายมาจบที่การแปรรูปเป็นไอศกรีม”

ทีร์-นที มูลแก้ว เจ้าของร้าน Ice Cream Café At Samoeng เล่าให้เราฟังถึงที่มาของร้านคาเฟ่บรรยากาศสุดอบอุ่น ซึ่งความตั้งใจแต่เดิมคือการสร้างเครือข่ายผู้เพาะปลูกประจำอำเภอสะเมิง ที่กระจัดจายอยู่บนดอย พร้อมรณรงค์ให้ความรู้ในเรื่องของฟาร์มเกษตรอินทรีย์ที่เป็นมิตรต่อผู้บริโภค ในฐานะชุมชนอาหารปลอดภัย เพื่อเป็นพื้นฐานสร้างงาน สร้างรายได้ในระยะยาวแก่คนท้องถิ่นดั้งเดิมจนถึงคนรุ่นใหม่ในอนาคต ที่ระยะเวลาลงมือล่วงเลยมานานเกือบ 9 ปี (ตั้งแต่ปี 2557) โดยร่วมมือกับ แอร์-อรัญญา มูลแก้ว ภรรยาที่เป็นคนสะเมิงแต่กำเนิด

เมื่อเครือข่ายกลุ่มผู้เพาะปลูกแข็งแรง เป้าหมายต่อมาจึงเป็นการเพิ่มมูลค่าผลผลิต สองสามีภรรยาจึงได้ศึกษาและแลกเปลี่ยนความรู้กับกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดเชียงใหม่ จนสุดท้ายมาลงเอยสินค้าประเภท ‘ไอศกรีม’ ที่เหมาะกับการนำผักและผลไม้มาแปรรูป โดยมีหน้าร้านที่ตั้งอยู่บริเวณบ้านพักเป็นจุดขาย คอยต้อนรับนักท่องเที่ยวที่แวะเวียนผ่านไปมา 

ปัจจุบัน Ice Cream Café At Samoeng มีเมนูไอศกรีมให้เลือกมากกว่า 16 รสชาติ ทุกรสล้วนเป็นการนำผลผลิตออร์แกนิกสดใหม่ ปลอดสารพิษจากฟาร์มเกษตรอินทรีย์ในชุมชนอำเภอสะเมิง (At Samoeng Organic Farm) จำนวน 17 แปลง มาใช้เป็นวัตถุดิบหลัก อาทิ เสาวรส เผือก มะม่วงหาวมะนาวโห่ มัลเบอร์รี สับปะรด กระเจี๊ยบ เผือก สตรอว์เบอร์รี ลูกพลับ เซียนท้อ (ม่อนไข่) คะน้าใบหยิก (ผักเคล) มันม่วง กล้วยตาก มะพร้าว ข้าวโพด ขนุน ฟักทอง อะโวคาโด ฯลฯ 

เมนูไอศกรีมของ Ice Cream Café At Samoeng นิยมขายตั้งแต่ลูกเดียว และแบบเซ็ตมากสุด 5 ลูก เช่นที่เราเลือกมา ประกอบด้วยรสข้าวโพด มะม่วงหาวมะนาวโห่ ผักแคลผสมมะนาว สตรอว์เบอร์รี และพีช รสชาติใหม่ล่าสุดของร้านที่นำลูกพลับสีส้มอวบอิ่มจากแปลงเพาะปลูกบนยอดดอย ห่างจากร้านไปราว 30 กิโลเมตร มาผสมคลุกเคล้ากับนมวัวจนได้รสชาติเปรี้ยวอมหวานกำลังดี 

นอกจากนี้ ไอศกรีมแต่ละรสชาติยังผสมด้วยเนื้อผลไม้สด ชวนสัมผัสเคี้ยวเพลิน เซตนี้ราคาเพียง 49 บาท หรือตกเพียงลูกละ 10 บาท เรียกได้ว่าคุณภาพเหนือราคา

หากมากันหลายคนและอยากได้ปริมาณจุใจมากกว่านี้ ยังมีเซต 7 ลูก ที่ราคา 69 บาท แต่ถ้ามากันน้อยก็มีเซต 2 ลูก ราคา 25 บาท ส่วนใครที่อยากห่อกลับบ้านยังมีขายแยกถ้วยละ 15 บาท ทุกเซตสามารถเลือกรสชาติได้ด้วยตนเอง

ด้วยความที่เป็นร้านสไตล์โฮมเมด ทุกหน้าที่ตั้งแต่หลังครัวจนถึงหน้าร้านจึงทำด้วยความใส่ใจและพิถีพิถัน โดยอรัญญารับหน้าที่ออกมาต้อนรับเราด้วยสีหน้ายิ้มแย้มเป็นกันเอง เสมือนเป็นเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงที่ถือโอกาสแวะเวียนมานั่งเล่น และในฐานะคนสะเมิงโดยกำเนิด ภาษาที่เธอใช้สื่อสารกับเราจึงเป็นภาษาถิ่นเหนือหรือคำเมือง

อรัญญาพยายามอธิบายให้เราเข้าใจว่า เธอมีปัญหาด้านการได้ยินอาจจะพูดคุยโต้ตอบได้ไม่ถนัด ฉะนั้น ขอความกรุณาต่อลูกค้าที่แวะเวียนมาให้ใจเย็นเล็กน้อย แต่จากการได้พบปะชั่วครู่ แค่เพียงรอยยิ้มและความนอบน้อมที่แสดงออกผ่านทางกาย ก็สามารถเติมเต็มความอบอุ่นและมิตรภาพต่อนักท่องเที่ยวต่างถิ่นอย่างเราได้

ที่ร้าน Ice Cream Café At Samoeng ยังมีอีกหนึ่งเมนูที่น่าสนใจ นั่นคือ ‘ไอศกรีมพร้อมข้าวเกรียบว่าว’ หรือที่ภาษาเหนือนิยมเรียกว่า ‘ข้าวควบ’ ซึ่งนำแป้งข้าวเหนียวมาบดละเอียด ก่อนนำมาปั้นให้แบน แล้วจึงเข้าเตาอบ พร้อมเสิร์ฟคู่กับไอศกรีมรสผลไม้ ให้รสสัมผัสที่เข้าคู่กันพอดี เคี้ยวเพลินจนคำสุดท้าย

ข้าวควบของที่ร้านจะนำไปอบในเตาหลังร้านจานต่อจานเท่านั้น เพื่อคงความกรอบใหม่เสมอ เพราะหากแป้งข้าวควบโดนลม เนื้อจะเหนียวจนอาจเสียรสชาติ

ทั้งนี้ ข้าวควบถือเป็นขนมพื้นบ้านยอดนิยมของชาวล้านนา ส่วนผสมหลักทำจากข้าวเหนียวผสมน้ำตาลอ้อย มีความเชื่อว่าผู้หญิงที่ต้องอยู่ไฟหลังคลอดลูกจะกินข้าวควบเป็นหลัก เพราะจะไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงใดๆ ขณะพักรักษาตัว

“เครือข่ายผู้เพาะปลูกของอำเภอสะเมิงส่วนใหญ่จะเน้นการส่งออกผลผลิตผักใบเขียว เช่น คะน้าฮ่องเต้ กวางตุ้ง หัวไชเท้าญี่ปุ่น ฯลฯ แต่มีบางส่วนที่จำเป็นต้องแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า และทำให้ผลผลิตบางส่วนที่เหลือจากการขาย ไม่เน่าเสียสูญเปล่าไป ผักใบเขียวราคาหน้าสวนส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 35-40 บาทต่อกิโลกรัม ถ้าเป็นพวกผลไม้ราคาจะอยู่ที่ 40-50 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อไปถึงมือลูกค้าเราก็จะได้กำไรจากค่าขนส่งอีกนิดหน่อย

“ถ้าถามว่านำมาแปรรูปเป็นไอศกรีมลูกละ 10-15 บาท ถูกขนาดนี้จะได้กำไรจริงหรือ คงต้องตอบว่าเราไม่ได้มีภาระเรื่องต้นทุนขนาดนั้น หน้าร้านก็เป็นบ้านเรา ผลผลิตก็มาจากไร่ของเราเอง อาจจะมีเรื่องของค่านม ค่าแรงงานขนส่งที่ไม่หนักหนาเท่าไร วัตถุประสงค์หลักของการทำร้านไม่ได้เพราะหวังกำไร แต่ต้องการเป็นสถานที่พบปะของกลุ่มเกษตรกรด้วยกัน ที่ต้องการหาความรู้แลกเปลี่ยนเรื่องการแปรรูปผลผลิต เพราะถ้าหวังเรื่องของผลกำไร เราคงสู้กับทุนเจ้าใหญ่ไม่ไหว”

นทีเล่าให้เราฟังถึงอีกหนึ่งเป้าหมายของการเปิดร้าน Ice Cream Café At Samoeng ที่ต้องการเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ของคนในชุมชน พร้อมนำผลผลิตจากฟาร์มเกษตรอินทรีย์มาลองผิดลองถูก ซึ่งบางส่วนเป็นผลผลิตที่เหลือจากการส่งออก ที่หากปล่อยไว้ก็เน่าเสียเปล่าประโยชน์ ด้านเรื่องของผลกำไร แม้ไม่มาก แต่ก็พอเลี้ยงปากท้องได้สบาย

เช่นเดียวกับ ‘อะโวคาโด’ ผลไม้ยอดนิยมของกลุ่มคนรักสุขภาพ เป็นผลผลิตที่ทำรายได้ให้กับชาวอำเภอสะเมิงมหาศาล แน่นอนว่าผลไม้ชนิดนี้ก็ถูกนำไปแปรรูปเป็นไอศกรีมรสเลิศ รวมถึงเมนูของหวานอื่นๆ

อีกหนึ่งเมนูพิเศษที่เราขอแนะนำ คืออะโวคาโดนมสดปั่น ที่นำผลอะโวคาโดลูกโตไปปั่นรวมกับนมวัวให้กลายเป็นเนื้อสมูทตี้ผิวเนียนละเอียด ให้รสชาติหวานมันกำลังดี เหมาะแก่สายหวานที่รักษาสุขภาพ

นอกจากไอศกรีมและเครื่องดื่ม ทางร้านยังนำผลผลิตไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารแห้ง ที่เหมาะกับการติดมือซื้อฝากคนทางบ้าน อาทิ แยมกระเจี๊ยบ เมล็ดพริกไทยดำ สตรอว์เบอร์รีอบแห้ง ดอกอัญชัญอบแห้ง และดอกกระเก๊กฮวยอบแห้ง ที่เหมาะกับการนำไปต้มดื่มให้ชุ่มคอในวันอากาศหนาว 

 

“ตอนนี้ไอศกรีมที่เราส่งออกประจำมีอยู่ 4 แห่ง คือ 1.ประตูท่าแพ 2. ตลาดชุมชนกาดแม่โจ้ 2477 3. ร้านกาแฟสะเมิง คอฟฟี่ (Samoeng Coffee) และ 4. ท็อปกรีน เชียงใหม่ (Tops Green Chiangmai) ตรงนี้เราจะไปเปิดบูทเป็นประจำทุกสัปดาห์ที่ 3 กับ 4 ของเดือน โดยจะนำผลผลิตไปขายด้วย

“เรายังไม่ได้คิดถึงอนาคตว่าจะขยายตลาดไอศกรีมไปทางไหนต่อ เพราะเป้าหมายหลักของเราคือทำให้เครือข่ายและผลผลิตในฟาร์มออร์แกนิกแข็งแรง จากนั้นจึงค่อยไปหวังพัฒนาเรื่องของการท่องเที่ยว ที่เราอยากทำฟาร์มสเตย์

“ทีมวางแผนการตลาดของอำเภอสะเมิงมีสิบคน ทุกคนต่างอาสาช่วยวางแผนโร้ดแมปและแพลตฟอร์มอย่างเป็นรูปธรรม แผนระยะสั้นที่เรามองไว้คือแต่ละบ้านในชุมชนสะเมิงจะต้องมีรายได้ราวสามหมื่นบาทต่อเดือน และมีหลายครอบครัวที่สามารถทำได้จริง ถ้าอนาคตเราทำได้ชัดเจน เด็กรุ่นใหม่ที่เรียนจบก็ไม่จำเป็นต้องดิ้นรนไปหางานทำต่างถิ่น”

นทีเล่าถึงแผนงานของตนและทีมงานการตลาดของกลุ่ม ‘At Samoeng Organic Farm’ ที่วางแผนให้อำเภอเล็กๆ แห่งนี้สร้างรายได้อย่างครบวงจร ทั้งด้านเกษตรกรรมเพาะปลูกส่งออก และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของจังหวัดเชียงใหม่ ที่หากสามารถทำได้จริง ประชาชนชาวสะเมิงรุ่นใหม่คงไม่จำเป็นต้องเก็บกระเป๋าเป็นแรงงานผจญโชคในเมืองกรุงกันเป็นจำนวนมาก 

เช่นเดียวกับลูกทั้ง 2 คนของนทีและอรัญญา ที่เป็นผู้อาสาลงมือใช้ชอล์กขีดเขียนตกแต่งร้านไอศกรีม ไม่แน่ว่าอนาคต พวกเขาอาจจะสามารถต่อยอดให้ร้านไปได้ไกลมากกว่าที่เป็นอยู่

ร้าน Ice Cream Café At Samoeng ตั้งอยู่ที่ 208 หมู่ 1 ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่

เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น. ติดต่อสอบถามได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 081-751-2191 และเพจเฟซบุ๊ก Ice Cream Café At Samoeng 

ทางร้านยังมีเว็บไซต์ http://www.at-samoeng.com/samoeng/ice-cream-cafe-samoeng/ สำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากเตรียมตัวหาข้อมูลของอำเภอสะเมิง ตั้งแต่ประวัติของอำเภอ สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม และของขึ้นชื่อ

ถ้ามีโอกาสได้แวะเวียนไปสักครั้ง เราเชื่อว่าคุณจะต้องหลงมนต์เสน่ห์ของอำเภอสะเมิงอย่างแน่นอน

Tags: , , , , ,