หนึ่งในกิจกรรมที่เริ่มเป็นที่นิยมในบ้านเราเมื่อไม่กี่ปีมานี้คือการ ‘เซิร์ฟ’ ด้วยความสนุกในการโต้คลื่นทะเลทั้งเล็กและใหญ่ (ตามแต่ฝีมือ) ไถลไปพร้อมวิวผืนทะเลสุดลูกหูลูกตา ทั้งยังได้ภาพสวยๆ ไว้ลงโซเชียลฯ ทำให้หลายคนเลือกใช้เวลาว่างในการหอบหิ้วเซิร์ฟบอร์ดคู่ใจลงท้าทายเกลียวคลื่นกันเป็นจำนวนมาก

และหากพูดถึงชุมชนคนรักการโต้คลื่นในประเทศไทย คงไม่มีใครไม่รู้จัก Better Surf Thailand โรงเรียนสอนโต้คลื่นแห่งชายหาด Memories Beach เขาหลัก จังหวัดพังงา แหล่งแฮงก์เอาต์ของคนรักการโต้คลื่นทั่วโลก ที่ไม่ต้องมีพื้นฐานก็สามารถมาเล่นได้ เพราะมีคลาสสอนพร้อมเทรนเนอร์ระดับประเทศคอยดูแลให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่การสอนทฤษฎีไปจนถึงพาลงโต้คลื่นจริงๆ

นอกจากการสอนและให้ความรู้ผู้ที่อยากลองเซิร์ฟ รวมถึงการพยายามพากีฬาชนิดนี้ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นในประเทศไทย Better Surf Thailand ยังมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญร่วมกับพาร์ตเนอร์อื่นๆ ในหาด Memories Beach เพื่อสร้างชุมชนเซิร์ฟให้เข้มแข็ง ไปพร้อมกับการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของเมืองผ่านเรื่องการท่องเที่ยว และทำให้ธุรกิจของผู้คนในเมืองสามารถเดินหน้าและเติบโตต่อไปได้อย่างมั่นคงยั่งยืน

The Momentum มีโอกาสไปเยือนหาด Memories Beach เขาหลัก พังงา ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หาดแห่งนี้มีพื้นที่ชายหาดกว้างใหญ่ เม็ดทรายละเอียด แถมยังเป็นสถานที่ที่ว่ากันว่ามี ‘คลื่นทะเล’ ที่เหมาะสมกับการเล่นเซิร์ฟที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย พร้อมทั้งพูดคุยกับ ต๊ะ-ทวีโรจน์ เอี๋ยวพานิช, แมน-ชาติชาย สมพร และเรม-อาทิต์ยา จันทร์ประเสริฐ สามผู้ก่อตั้ง Better Surf Thailand ถึงความเป็นมาของโรงเรียนและชุมชนคนรักเซิร์ฟแห่งนี้ 

หลายคนเข้าใจว่าจะเซิร์ฟได้เฉพาะช่วงที่เป็นไฮซีซั่นเท่านั้น แต่ปัจจุบันที่ Better Surf Thailand สามารถเซิร์ฟได้ 11 เดือนต่อหนึ่งปี! ฉะนั้น หากอ่านบทความนี้จบแล้วรู้สึกอยากจองตั๋วลงทะเลใต้ที่พังงา เพื่อไปลองเซิร์ฟกับชุมชนคนรักเซิร์ฟแห่งนี้ก็อย่ารอช้า

แม้จะเป็นมือใหม่หรือไม่เคยเล่นมาก่อนก็ไม่ต้องกังวล เพราะ Better Surf Thailand ยืนยันว่าทุกคนที่นี่พร้อมที่จะให้กำลังใจและให้คำแนะนำเสมอ เหมือนที่ปรัชญาของชุมชนแห่งนี้บอกไว้ว่า

“เซิร์ฟคือการแชร์ความสุข รอยยิ้ม และเอ็นจอยธรรมชาติไปด้วยกัน”

1

การเดินทางมายังหาด Memories Beach สนุกและให้ความรู้สึกตื่นเต้นตั้งแต่ยังไม่ถึง เพราะการเข้าถึงหาดแห่งนี้ต้องเลี้ยวเข้ามาจากเส้นทางสายหลักของถนนในเขาหลัก ผ่านทางรถเดินที่มีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ทั้งสองข้างทาง ราวกับอยู่ในภูเขามากกว่าทะเลใต้ แต่เมื่อผ่านเส้นทางป่าแล้ว ชุมชน Better Surf Thailand ก็ปรากฏอยู่ตรงหน้า พร้อมกับชายหาดกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา

แม้จะเป็นช่วงบ่ายที่แสงแดดร้อนแรง แต่ก็ยังมีผู้คนจำนวนมากที่หิ้วเซิร์ฟบอร์ดคู่ใจลงโต้คลื่นอย่างสนุกสนาน ซึ่งมีทุกเพศทุกวัยตั้งแต่เด็กไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ หลายคนมีผิวกร้านแดดแต่ดูสุขภาพดี เป็นภาพที่เหมาะกับท้องทะเลใต้อย่างมาก

2

เรามาพบกับ ต๊ะ- วีโรจน์ เอี๋ยวพานิช, แมน-ชาติชาย สมพร และเรมี-อาทิต์ยา จันทร์ประเสริฐ เพื่อนทั้งสามที่รู้จักกันเพราะเซิร์ฟ ที่บริเวณร้านอาหารของชุมชนแห่งนี้ และพูดคุยถึงจุดเริ่มต้นของ Better Surf Thailand ในปี 2018 ที่ต้องการสอนและให้ประสบการณ์แก่ผู้ที่สนใจเล่นเซิร์ฟ ได้หลงรักเขาหลัก

ต๊ะเล่าว่า ตอนแรกที่เริ่มทำ Better Surf Thailand เขาไม่ได้มองเรื่องความสำเร็จเป็นหลัก แต่มีแพสชันเรื่องการสอน การส่งต่อ คอนเนกชัน และรู้สึกดีเวลาคนมาเขาหลักแล้วเขาชอบ “หน้าที่ของเราคือทำให้คนมีความสุขเวลาที่มาเล่นเซิร์ฟที่นี่ มาแล้วรู้สึกว่าที่นี่คือสวรรค์ เหมือนในหนัง The Beach ที่หลุดมาอีกโลกหนึ่ง เราก็เชื่อว่าคนจากกรุงเทพฯ มาที่นี่ก็น่าจะมีความสุขเหมือนกับเรา” 

ขณะที่แมน ซึ่งเป็นนักกีฬาโตคลื่นทีมชาติไทยเล่าว่า ความสุขของเขาคือการให้ความรู้จากประสบการณ์ของตนเอง เหมือนเป็นโค้ชให้กับผู้ที่มาเรียนเซิร์ฟ ส่วนเรมีซึ่งเป็นอดีตนักกีฬาโต้คลื่น ก็ต้องการใช้ความรู้ช่วยพัฒนา Better Surf Thailand ให้มีมาตรฐาน รวมถึงผลักให้เขาหลักเป็นสถานที่ที่เป็นที่รู้จักทั่วโลก

3

“เราสังเกตได้เลยว่าคนที่มีความผูกพันกับทะเล เขาจะรักธรรมชาติ จะไม่ทิ้งขยะ จะช่วยรณรงค์ นี่เป็นเรื่องใหญ่มากในเมืองนอก การดูดบุหรี่แล้วโยนลงหาดเป็นเรื่องที่โคตรแย่” ต๊ะเล่าถึงประสบการณ์การเดินทางที่การเล่นเซิร์ฟพาเขาไป 

“เราชอบออสเตรเลียเพราะว่าทะเลคือส่วนหนึ่งของชีวิตทุกคน เขาสอนให้คนเข้าใจธรรมชาติ ซึ่งกีฬาเซิร์ฟเป็นสิ่งที่ทำให้เราได้อยู่กับธรรมชาติ ที่นั่นทุกคนจะเซิร์ฟก่อนไปทำงาน พอกลับมาจากทำงานก็เซิร์ฟอีก มันทำให้คนรักธรรมชาติมากยิ่งขึ้น”

แมนมองว่า ประเทศไทยอาจจะยังไม่ได้ดังมากในเรื่องการเซิร์ฟ เพราะไม่ได้มีคลื่นใหญ่เหมือนต่างประเทศ แต่ในทางกลับกัน บางแห่งก็ไม่ได้มีสภาพอากาศที่เอื้อต่อการเล่นเซิร์ฟเหมือนที่ไทย รวมถึงมีสัตว์ทะเลอย่างเช่นฉลามขาวเยอะมาก “เวลาเราไป เราได้รับมิตรภาพ ได้รับประสบการณ์ที่แตกต่าง แต่พอมองกลับมา กลายเป็นว่าบ้านเราคือที่ที่สนุกนะ เพราะเป็นที่ที่เราตื่นมาเล่นเซิร์ฟได้ ไปไหนก็สบาย อากาศก็ดี

“แต่ถ้าให้ลองมองเป็นโมเดล เราก็อยากให้เป็นแบบออสเตรเลียหรือฮาวาย ซึ่งเป็นโครงสร้างเดียวกัน คือทุกคนในเกาะเซิร์ฟได้หมดเลย อย่างออสเตรเลียเขามีเป็นหลักสูตรเรียนเลยนะ เด็กประถมตื่นเช้าแบกบอร์ดไปตั้งไว้หลังห้อง เรียนเสร็จก็ไปแวะเซิร์ฟแล้วค่อยกลับบ้าน หรืออย่างฮาวาย ทุกคนก็จะตื่นเช้ามาไปเซิร์ฟ พ่อก็เซิร์ฟ ปู่ก็เซิร์ฟ ลูกก็เซิร์ฟ หลานก็เซิร์ฟ มันกลายเป็นวัฒนธรรมของคนทุกรุ่นไปแล้ว”

ทางด้านเรมีเสริมว่า สิ่งที่ Better surf Thailand พยายามทำ คือนำประสบการณ์จากการเดินทางไปพบเห็นวัฒนธรรมและไลฟ์สไตล์ของการเซิร์ฟในแต่ละแห่งมาสร้างวัฒนธรรมแบบเฉพาะของตนเอง คือไม่ต้องหวือหวาหรือวุ่นวายเกินไป “ที่นี่จะผสมวัฒนธรรมของคนเข้าไปกับการเซิร์ฟ” เรมีกล่าว

4

ก่อนหน้านี้ ด้วยความบูมของการเล่นเซิร์ฟจึงทำให้ Better Surf Thailand โตเร็วจนกระทั่งมีนักเรียนที่รับมาล้นทุกวัน ทางทีมจึงต้องเซ็ตแพลนกันใหม่โดยลิมิตการรับนักเรียนลดลง จากแต่ก่อนที่รับเกินวันละ 100 คน รวมแล้วปีหนึ่งหลายพันคน ก็เปลี่ยนมารับเพียงวันละประมาณ 30 คน

“เรามานั่งคุยกันว่า เป้าหมายของเราไม่ใช่เรื่องเงิน ไม่ได้อยากได้กำไรเยอะที่สุด แต่เราทำเพราะความรัก ความชอบ อีกอย่างคือเรื่องความปลอดภัย เราจึงต้องลิมิตการรับนักเรียน เพื่อให้ทุกคนได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุด”

5

สำหรับคนที่สนใจอยากเล่นเซิร์ฟแต่ยังไม่มีพื้นฐานมาก่อน เราอยากแนะนำคอร์สพื้นฐาน LEVEL 1: Try Surf ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง แบ่งเป็นการเรียนทฤษฎีบนบกจากเทรนเนอร์ก่อน 1 ชั่วโมง ซึ่งจะสอนเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานด้านอุปกรณ์ การยืนบนกระดานโต้คลื่น และความปลอดภัยเบื้องต้นที่ควรทราบ โดยแต่ละรอบจะรับนักเรียนไม่เกิน 10 คน หลังจากนั้นจะเป็นการลงไปเซิร์ฟในทะเลจริงโดยมีเทรนเนอร์คอยประกอบเพื่อให้คำแนะนำ และดูแลความปลอดภัย อีกประมาณ 1 ชั่วโมง

หากลองเล่นแล้วเริ่มติดลม พอหมดชั่วโมงที่ 2 แล้วก็สามารถยืมกระดานโต้คลื่นไปเล่นต่อเองได้ โดยคอร์สเรียนจะมีรอบทุก 1 ชั่วโมง เริ่มตั้งแต่ 9.00 น. ไปจนถึง 15.00 น. ลองเข้าไปเช็กรายละเอียดกันได้ที่ bettersurfthailand.com

6

ย้อนกลับไปในวันที่เริ่มเปิดธุรกิจโรงเรียนสอนโต้คลื่น นอกจากความรู้และประสบการณ์ของทั้งต๊ะและเรมี ในการดูเรื่องแผนการตลาด รวมถึงประสบการณ์จากการเป็นนักกีฬาของแมนในการช่วยพัฒนาหลักสูตรการสอน อีกบุคคลที่สำคัญ คือ คุณฉิ่ง-มนตรี ณ ตะกั่วทุ่ง เจ้าของสถานที่บริเวณ Memories Beach ที่ให้โอกาสในการสร้างโรงเรียนแห่งนี้ โดยนอกจาก Better Surf Thailand แล้ว ในบริเวณเดียวกันยังมีโรงเรียนสอนเซิร์ฟปะการัง (Pakarand Surf School) รวมถึง Seapiens Camp Khaolak ที่เป็นแคมป์เรียนรู้เรื่องสัตว์ทะเลและสอนเซิร์ฟสำหรับเด็ก เพื่อผลักดันให้พื้นที่ดังกล่าวมีระบบนิเวศของการเล่นเซิร์ฟที่เพียบพร้อม

“ทั้งสามแห่งทำหน้าที่คนละบทบาทกัน และเป็นลูกค้าคนละกลุ่มกัน แต่เราไปด้วยกันได้ โรงเรียนสอนเซิร์ฟปะการังก็สอนเซิร์ฟ Seapiens Camp ก็ให้ความรู้และสอนเซิร์ฟเด็กๆ ส่วน Better Surf ก็ช่วยสร้างวัฒนธรรมการเซิร์ฟ เราอาจจะมีปัญหาบ้าง แต่สุดท้ายทุกคนมีมายเซตที่คิดว่าเราคือครอบครัวเดียวกัน คือพี่น้อง เราให้ความสามัคคีเป็นกุญแจสำคัญในการทำงานร่วมกัน เพราะเราไม่ได้มองแค่ธุรกิจของเรา แต่ธุรกิจของคุณ ธุรกิจของน้อง ต้องไปด้วยกันได้ และมันจะช่วยพัฒนาเมืองต่อได้อย่างไร นั่นคือสิ่งที่เรามอง” เรมีเล่า 

7

นอกจากการทำให้เขาหลักเป็นจุดหมายปลายทางของนักเซิร์ฟทั่วโลก รวมถึงสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่นักเล่นเซิร์ฟผ่านโรงเรียน อีกสิ่งที่ Better Surf Thailand ต้องการผลักดันคือการพัฒนาธุรกิจของเมืองไปพร้อมกัน ต๊ะเล่าว่า ช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนัก คนไปต่างประเทศไม่ได้ จึงเลือกบินมาลงภูเก็ต และเดินทางมาเที่ยวต่อที่เขาหลัก จังหวัดพังงา ทำให้ในเวลานั้น พังงาเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวไทยจำนวนมาก “บอกไม่ได้เลยว่ากี่หมื่นคน แต่ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ คนเต็มหมด ร้านอาหารใน Better Surf Thailand ก็ไม่มีโต๊ะเหลือเลย นั่นเป็นจุดที่ทำให้เซิร์ฟเริ่มได้รับความนิยม”

อย่างไรก็ดี แม้ชุมชนเซิร์ฟจะคึกคัก แต่ต๊ะเล่าว่า ส่วนอื่นๆ ของเมืองเงียบเหงามาก เพราะขายของไม่ได้ “ทั้งเมืองปิดไฟหมดเลย” ต๊ะเปรียบเทียบ

ด้วยความที่ทีม Better Surf Thailand และชุมชนเซิร์ฟแห่งนี้อยู่ภายใต้ชมรมกีฬาโต้คลื่นจังหวัดพังงา จึงมีการทำโครงการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือธุรกิจอื่นๆ เช่น การไปทำคอนเทนต์โปรโมตให้ร้านอาหารเล็กๆ หรือการร่วมมือกับ ททท. เพื่อทำแคมเปญให้คนนำ voucher ไปใช้กินอาหารร้านต่างๆ 

“นอกจากร้านอาหาร เราพยายามกระจายความช่วยเหลือไปยังโรงแรมเล็กๆ ที่ลำบาก เพราะอยากช่วยซัพพอร์ตธุรกิจในชุมชนให้เขาเดินต่อได้ บางโรงแรมต้องปิดนานถึง 7 เดือน พอกิจกรรมเซิร์ฟเริ่มดังขึ้นมา บางโรงแรมก็กลับมาเปิดได้ เพราะมีคนมาเล่นเซิร์ฟเข้าพัก ทำให้เงินกระจายเข้าสู่ชาวบ้านเยอะขึ้น”

เรมีเสริมว่า ก่อนที่จะมีโควิด-19 เขาหลักเป็นเมืองที่เปิดได้แค่ 6 เดือน และต้องปิด 6 เดือนช่วงฤดูฝน เนื่องจากเรือก็ไม่สามารถออกทะเลได้เพราะคลื่นใหญ่ การท่องเที่ยวล่องเรือ ดำน้ำ สกูบา ฟรีไดรฟ์ ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะน้ำทะเลจะขุ่น แต่พอโควิด-19 มา พร้อมกับการที่เซิร์ฟเริ่มเป็นที่นิยม จึงเป็นช่วงเวลาที่ทำให้ทีมงานได้ร่วมกันคิดว่า จะผลักดันให้เมืองไปต่อมากขึ้นได้อย่างไร

ช่วงปีแรก Better Surf Thailand เปิดไม่ถึง 10 เดือน พอเข้าช่วงฤดูที่ไม่มีคลื่นก็จะปิด คนทำงานที่นี่ก็จะมูฟไปทำงานใดงานหนึ่งก่อน เพื่อรอวันเปิดอีกครั้ง แต่หลังจากที่มีโควิด-19 และการเล่นเซิร์ฟเริ่มบูม จึงเริ่มมีการขยับช่วงเวลาในการเล่นเซิร์ฟให้ยาวนานมากขึ้น แม้ไม่ใช่ช่วงหน้าไฮซีซั่น

“ตอนนี้เริ่มปรับตัวได้ ถ้าเป็นเมื่อก่อน ในหนึ่งปีอย่างน้อยต้องหยุด 4 เดือน แต่ตอนนี้ค่อนข้างที่จะชัดเจนขึ้น คลื่นมันเริ่มเปลี่ยน เราเริ่มเซิร์ฟได้มากขึ้น เมื่อก่อนเราสามารถเซิร์ฟได้ 4-6 เดือนต่อปี ก็เริ่มขยับมาเป็น 8 เดือนต่อปี ล่าสุด เราเซิร์ฟได้ 11 เดือนเลยนะ มีแค่เดือนมีนาคมที่ไม่ได้เซิร์ฟ แต่ก็แล้วแต่ว่าจะเป็นคลื่นใหญ่หรือคลื่นเล็ก ซึ่งมันเป็นธรรมชาติที่เราไม่สามารถไปกำหนดได้” เรมีเล่า

ขณะที่แมนแนะนำว่า ปกตินักเซิร์ฟจะรอคอยคลื่นพายุช่วงมิถุนายนไปจนถึงเดือนกันยายน แต่สำหรับคนทั่วไป จะแนะนำประมาณช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน และเดือนกันยายนไปจนถึงธันวาคม เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่เกาะเปิดในเดือนตุลาคมพอดี ซึ่งเป็นช่วงที่ทำกิจกรรมได้ทุกอย่าง


8

ด้วยความที่การเล่นเซิร์ฟได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ต๊ะบอกว่าความน่ากลัวคืออะไรก็ตามที่ดังเร็ว ถูกนำเสนอออกสื่อเร็ว ก็มีโอกาสที่จะหมดเร็วตาม ซึ่งเป็นสิ่งที่ Better Surf Thailand พยายามสร้างความยั่งยืนมากกว่าความฉาบฉวย เช่น การสร้างทีมนักกีฬาเซิร์ฟเด็ก

“ในอนาคต ถ้าเด็กๆ มีพื้นฐาน เราสามารถดันพวกเขาไปแข่งขันที่ต่างประเทศได้ ซึ่งก็น่าจะช่วยยืดอายุของเซิร์ฟได้มากขึ้น รวมถึงในอนาคตเรามีการวางแผนว่าจะทำกิจกรรม Surf Camp พาคนมาเล่นเซิร์ฟ ตอนนี้เราเองก็เป็นอุปนายกฝ่ายกิจกรรมในสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดพังงา เรามีแผนออกไปต่างประเทศ เพื่อไปเปิดตัวว่าเมืองไทยสามารถมาโต้คลื่นได้ ซึ่งจะสามารถดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาได้ด้วย รวมถึงอาจมีกิจกรรมเกิดขึ้นอีกเยอะ เช่น การแข่งขันเซิร์ฟนานาชาติ ถ้าสามารถทำได้จริง มันจะทำให้เขาหลักไม่มี High หรือ Low Season แต่จะเป็น High Season ตลอด

“รวมไปถึงการสร้างวัฒนธรรมในเรื่องความยั่งยืนต่างๆ ที่พูดถึงเรื่องธรรมชาติ เรื่องการลดพลาสติก เราก็กำลังทำโครงการอยู่ แต่ต้องใช้เวลานิดหนึ่ง” ต๊ะเล่า 

ส่วนฝั่งแมนเล่าในมุมการเรียนการสอนว่า เซิร์ฟถือเป็นกีฬาเอ็กซ์ตรีม จึงต้องมีการวางโครงสร้างในเรื่องครูผู้สอน รวมถึงหลักสูตรการสอนให้เป็นไปในทางเดียวกัน ซึ่งไม่ใช่แค่ที่ Better Surf Thailand แต่รวมถึงแต่ละชมรมในจังหวัด และทางสมาคมกีฬาเห็นความสำคัญในจุดนี้ ซึ่งก็จะเป็นอีกจุดที่ทำให้การเซิร์ฟไม่ใช่แค่แฟชั่น แต่เป็นความยั่งยืน

9

เมื่อแสงแดดเริ่มอ่อนลงในช่วงบ่ายแก่ ลมเย็นๆ พัดเอากลิ่นเกลือทะเลขึ้นมาบนฝั่ง ใกล้จะได้เวลาที่หาด Memories Beach จะคึกคักเต็มที่ เนื่องจากนักเซิร์ฟทั้งไทยและเทศ ทุกช่วงวัย ที่เริ่มทยอยลงโต้คลื่นกันมากขึ้นเรื่อยๆ ทีม Better Surf Thailand เล่าว่า ที่กีฬาเซิร์ฟได้รับความนิยมมาก เนื่องจากเป็นสิ่งที่ทำให้คนเล่นได้ ‘unlock’ หรือปลดปล่อยความรู้สึกในใจได้

“ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้หญิง หรือผู้สูงอายุ ก็มาเรียนกับเรา และเขาสามารถเซิร์ฟได้ หลายคนมองว่ามันเป็นเรื่องที่ยาก แต่เราเชื่อว่ามันเป็นเรื่องที่ทำได้ เราไม่จำเป็นต้องไปเซิร์ฟในคลื่นใหญ่ เซิร์ฟในคลื่นเล็กๆ ก็สามารถทำให้เราอิ่มเอมใจได้ เหมือนกับตอนที่เราสามารถปั่นจักรยานสองล้อได้ครั้งแรกในชีวิต มันให้ความรู้สึกที่แตกต่าง ทุกคนอาจจะถามว่าเล่นเซิร์ฟรู้สึกอย่างไร มันตอบไม่ได้จนกว่าคนนั้นจะลองมาเล่นเอง

คนที่มาเรียนกับเรา มีทั้งคนที่เป็นโรคซึมเศร้า คนที่กลัวน้ำ หรือเคยมีประสบการณ์ที่ไม่ดีเกี่ยวกับน้ำ ว่ายน้ำไม่เป็น แต่พอได้มาเซิร์ฟ มันเป็นความรู้สึกพิเศษที่ช่วยปลดพันธนาการของเขา ซึ่งชุมชนแห่งนี้ก็จะคอยให้กำลังใจกัน คอยพูดคุยกัน คนที่เล่นมาก่อน หรือคนที่อาวุโสกว่า ก็จะคอยเอื้อเฟื้อ คอยให้ความรู้ เป็นรุ่นพี่ที่ใจดี นี่เป็นกฎง่ายๆ และเป็นสิ่งที่เราพยายามทำให้มันเกิดขึ้นใน Better Surf Thailand” 

กระทั่งพระอาทิตย์กำลังลับขอบฟ้า เปลี่ยนสีสันของท้องทะเลแห่งนี้ให้งดงามราวกับภาพวาด นักเซิร์ฟหลายคนยังคงโต้คลื่น หลายคนขึ้นมานั่งพักชมแสงสุดท้ายของวันที่ชายหาดกว้างใหญ่ เสียงเพลง เสียงสนทนา ดังขึ้นแข่งกับเสียงลมทะเล ก่อนที่ทุกอย่างจะเงียบลง และกลับมาเป็นเช่นนี้ซ้ำอีกในวันถัดไป

Tags: , , , , ,