ผู้เขียนชอบชมสารคดีธรรมชาติ และเป็นแฟนรายการ Planet Earth ทั้งภาค 1 และภาค 2 ยิ่งเทคโนโลยีพัฒนาไปไกล ก็ดูเหมือนว่าสารคดีเหล่านี้จะพาเราให้เข้าใกล้กับความงามของธรรมชาติมากยิ่งขึ้น แต่บางครั้ง ความงามผ่านสารคดีก็เปรียบเสมือนเหรียญสองด้าน เพราะมันปิดคลุมปัญหาวิกฤตสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น 

อ้าว! ก็จะไปมีวิกฤตสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร ในเมื่อธรรมชาติ (ที่นำเสนอผ่านทางหน้าจอ) ยังคงสวยสดงดงาม ไม่เชื่อก็ลองเปิดดูสิ

ในอดีต คนทำสารคดีธรรมชาติต่างคิดว่าการนำเสนอวิกฤตหรือปัญหาสิ่งแวดล้อมจะทำให้ผู้ชมเปลี่ยนช่อง แต่ความคิดดังกล่าวอาจเป็นเรื่องล้าสมัยเพราะวิกฤตสิ่งแวดล้อมได้เข้าสู่กระแสหลัก หลายคนกระหายใคร่รู้ที่จะได้ทราบถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ สารคดีที่ฉายภาพให้เห็นถึงปัญหาคงเป็น ‘สิ่งจำเป็น’ สำหรับบางกลุ่มที่ยังสงสัยว่าวิกฤติดังกล่าวเกิดขึ้นจริงหรือไม่

ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ผมได้ดูซีรีส์ Our Planet ซึ่งเป็นผลงานสารคดีออริจินอลที่มีคนดูมากที่สุดของเน็ตฟลิกซ์ โดยมีผู้รับชมกว่า 33 ล้านคนในเดือนแรก สารคดีดังกล่าวประกอบด้วย 8 ตอนที่จะพาเราไปสำรวจแต่ละระบบนิเวศของโลกตั้งแต่ดินแดนน้ำแข็งหนาวยะเยือก ป่าหิมะ ใต้มหาสมุทร แนวปะการังชายฝั่ง ทุ่งหญ้า ทะเลทราย ไปจนถึงป่าดิบชื้น บรรยายโดย เดวิด แอตเทนเบอเรอห์ (David Attenborough) นักสารคดีธรรมชาติระดับตำนานในวัย 92 ปี

ดูเผินๆ หลายคนคงมองว่า Our Planet คือภาคต่อของ Planet Earth ภาค 1 และ 2 แต่หากได้ชมเพียงตอนแรก จะสังเกตได้อย่างชัดเจนว่า ‘สาร’ ที่ต้องการจะสื่อใน Our Planet นั้น ไม่ใช่เพียงความงามหรือคุณค่าของธรรมชาติ แต่เป็นการพาเราไป ‘จ้องตา’ กับผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ต่อสิ่งมีชีวิตในแต่ละระบบนิเวศ

ซีรีส์ตอนแรกเปรียบเสมือนบทนำว่าโลกของเราใบนี้ได้เข้าสู่ยุคใหม่ที่นักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อว่า ‘แอนโทรโพซีน (Anthropocene)’ หรือยุคของมนุษย์ที่กิจกรรมของเรากำลังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสมดุลทางธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงระบบนิเวศมาเนิ่นนานนับล้านปี สายสัมพันธ์นี้โยงใยกันอย่างแนบแน่น ฝนที่เติมน้ำและแต่งแต้มสีสันให้ทะเลทราย ทรายที่พัดเอาสารอาหารเติมความอุดมสมบูรณ์ให้มหาสมุทร ป่าใหญ่ที่สร้างอินทรียสารให้กับแม่น้ำ สายใยดังกล่าวกำลังโดนทำลายจนเข้าขั้นวิกฤตโดยมนุษย์

Our Planet ฉายภาพความน่ารัก ความงาม และความน่าตื่นใจของธรรมชาติได้อย่างยอดเยี่ยม ด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย ทีมงานจำนวนมาก และการทำงานอย่างหนักและต่อเนื่อง วิดีโอหาชมยากของการปะทะบนอากาศของอินทรี วาฬหลังค่อมแม่ลูก โลมาไล่ต้อนฝูงปลากลางทะเล ปักษาสวรรค์เต้นรำเกี้ยวพาราสี มดตัดใบไม้ที่ถูกสิงกลายเป็นซอมบี้จากสปอร์ของเห็ดรา และสารพัดจังหวะที่แสนจะมีชีวิตชีวาของเหล่าสัตว์และพืช มันสวยงามจนยากที่จะทำให้ใครผิดหวัง

แต่ทุกตอนจะจบด้วย ‘ข้อเท็จจริง’ ซึ่งบอกเล่าด้วยน้ำเสียงนุ่มลึกของ เดวิด แอตเทนเบอเรอห์ แม้ไม่มีประกายของความโกรธเกรี้ยว แต่กลับแฝงด้วยความเศร้าร้าวลึกและความผิดหวังในมนุษยชาติ

ฉากที่สั่นสะเทือนใจผู้ชมมากที่สุดจนบางคนแนะว่าควรขึ้น ‘คำเตือน’ ก่อนชมสารคดีปรากฏในช่วงท้ายของตอนสองที่ว่าด้วยโลกเยือกแข็ง มันคือภาพฝูงวอลรัสนับแสนชีวิตที่รวมตัวกันบริเวณชายฝั่งทางตอนเหนือของรัสเซีย ชายหาดกว้างใหญ่กลายสภาพเป็นชุมชนแออัด ซึ่งในอดีตพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้คับคั่งขนาดนี้เพราะมีแผ่นน้ำแข็งกว้างให้เหล่าวอลรัสนอนพักผ่อน

อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้แผ่นน้ำแข็งดังกล่าวหายไป วอลรัสเบียดเสียดบนชายฝั่งสีน้ำตาลแดง กระทั่งบางตัวต้องถอยขึ้นไปบนหน้าผาชัน เมื่อถึงเวลาหาอาหาร มันก็มุ่งหน้าตามสัญชาตญาณสู่ทะเลจนกลายเป็นโศกนาฏกรรม

เสี้ยวนาทีที่วอลรัสกำลังจะตกจากหน้าผา ฉากสะเทือนใจในตอนหนึ่งของ Our Planet ชมวิดีโอเบื้องหลังได้ที่นี่

มันเป็นชั่วไม่กี่นาทีที่หายใจไม่ทั่วท้อง วอลรัสตัวใหญ่ยักษ์เดินงุ่นง่านไปที่หน้าผา ใช้สองครีบหน้าพยายามไต่ลงบนหินที่ดูลื่น ก่อนจะกลิ้งหล่นลงมากระแทกพื้นแล้วแน่นิ่งไป ตัวแล้ว ตัวเล่า มันเป็นฉากสะเทือนอารมณ์แม้กระทั่งทีมงานผู้ถ่ายทำ คีธ สคอลีย์ (Keith Scholey) หนึ่งในผู้กำกับสารคดีชุดดังกล่าวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวนิวยอร์กไทมส์ว่า “เราต้องการเข้าให้ถึงแก่นของปัญหาในแต่ละระบบนิเวศสำคัญทั่วโลก พร้อมทั้งนำเสนอองค์ประกอบของการทำลายล้างและแนวทางการแก้ปัญหา”

ถัดมาสู่ทะเลชายฝั่ง Our Planet ฉายภาพแนวปะการังสีสันงดงามและเหล่าฉลามนักล่าที่ต้องพึ่งพาระบบนิเวศดังกล่าว ก่อนจะตัดภาพมาที่ปะการังฟอกขาวจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น ปะการังในหลายพื้นที่ถูกทำลายเพราะเรืออวนลากและเครื่องมือประมงทำลายล้าง ป่าสาหร่ายชายฝั่งขนาดใหญ่ที่อุ้มชูสารพัดชีวิตและรักษาความสมดุลด้วยนากทะเลนักล่าหอยเม่น แต่ระบบนิเวศดังกล่าวกลับล่มสลายเพราะนากทะเลถูกล่าโดยมนุษย์ ปล่อยให้หอยเม่นเพิ่มจำนวนขึ้นจนแหล่งหญ้าทะเลเติบโตไม่ทัน

ใจกลางมหาสมุทร เหล่าสัตว์ทะเลต้องเผชิญกับปัญหาขยะพลาสติกที่ไหลมาจากแม่น้ำ เหล่าปลาอพยพก็ต้องเจอโครงสร้างขวางกั้นเส้นทางธรรมชาติเช่นเขื่อนผลิตไฟฟ้า โดยมีกรณีศึกษาที่ห้ามพลาดสำหรับคนไทยก็คือในตอนน้ำจืด (Fresh Water) ความอุดมสมบูรณ์ที่อาจสูญเสียไปจากหน้าดินจากการก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ เดินเครื่องเขื่อนกั้นโขง สิ่งที่ (น่าจะ) ได้ และราคาที่ต้องจ่าย)

ในตอนป่าดิบชื้น (Jungles) เป็นอีกตอนที่สารคดีพาเราไปชมความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งก็คือลิงอุรังอุตังแสนรู้ หลุย อีเดน และพลูโต ซึ่งเป็นอุรังอุตังที่นักวิจัยพบว่ารู้จักใช้เครื่องมือคือนำกิ่งไม้ช่วยในการหาอาหาร ความน่ารักของพวกมันทาบทับด้วยสถิติที่น่าสลดใจว่าแต่ละวัน อุรังอุตังเหล่านี้ต้องตายลงกว่า 100 ชีวิตจากกิจกรรมของมนุษย์ และภาพไทม์แลปส์ที่เปลี่ยนป่าดิบชื้นสู่สวนปาล์มน้ำมันเชิงเดี่ยว

ป่าไม้ (Forests) คือตอนสุดท้ายของซีรีส์ที่จะพาเราไปสำรวจป่าหลากหลายประเภท จากฟุตเตจหาชมยากที่ทีมใช้ใช้เวลาร่วมปีเพื่อถ่ายภาพเสือไซบีเรีย สัตว์ลึกลับที่ดำรงชีวิตอย่างโดดเดี่ยวในป่าหิมะอันเวิ้งว้าง ก่อนจะกระโดดมาที่ป่าผลัดใบในพื้นที่อนุรักษ์บนเกาะมาดากัสการ์ หลังจากรับชมพฤติกรรมหาคู่ที่แปลกประหลาดของฟอสซามาดากัสการ์มองกูส (Madagascan Fossa) สัตว์หน้าตาคล้ายแมวผสมกระรอก ผู้ชมก็จะได้รับทราบความจริงน่าสะเทือนใจว่า ฟุตเตจชุดดังกล่าวถ่ายทำเมื่อ พ.ศ. 2559 ส่วนปัจจุบัน ป่าที่เคยใช้เป็นพื้นที่ถ่ายทำไม่เหลืออยู่อีกต่อไปแล้ว

ทีมงาน Our Planet กำลังถ่ายทำธรรมชาติที่กลับคืนมาในเขตปนเปื้อนกัมมันตรังสีรอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ภาพจาก Twitter

ข้อความสุดท้ายที่ Our Planet ส่งต่อถึงผู้ชมคือภาพธรรมชาติที่ฟื้นตัวอย่างก้าวกระโดดในพื้นที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล (Chernobyl) เมืองรกร้างที่ปัจจุบันปกครองโดยสัตว์ป่าและต้นไม้ ฉายภาพว่าธรรมชาติสามารถฟื้นตัวได้ภายในระยะเวลาไม่ถึงชั่วอายุคน โดดเด่นด้วยสุนัขป่าซึ่งมีประชากรหนาแน่นราว 7 เท่าหากเทียบกับพื้นที่อื่นๆ ในยุโรปตะวันออก สัตว์นักล่าเป็นตัวชี้วัดอย่างดีว่าพื้นที่ดังกล่าวอุดมสมบูรณ์อย่างยิ่ง อีกทั้งยังสามารถพบม้าป่าเปรวาสกี (Przewalski’s horses) หนึ่งในสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์อีกด้วย

ภาพธรรมชาติที่ฟื้นตัวได้ท่ามกลางซากปรักหักพังของอารยธรรมมนุษย์สื่อเป็นนัยว่าโลกใบนี้สามารถอยู่ได้และอยู่ดีแม้ไม่มีมนุษย์ ชวนให้เราทบทวนบทบาทว่าควร ‘ยืน’ อยู่ตรงไหนในระบบนิเวศ

Fact Box

ซีรีส์ Our Planet ยังมีหนังสือชื่อเดียวกันที่รวบรวมตัวเลขและข้อเท็จจริงหลายประการที่อาจไม่สามารถรวมเข้าไปในรายการสารคดีได้ นอกจากนี้ ซีรีส์ดังกล่าวยังมีตอนพิเศษซึ่งถ่ายทอดเบื้องหลังการถ่ายทำสารคดีชุดดังกล่าว นับว่าเป็นอีกหนึ่งตอนที่พลาดไม่ได้สำหรับผู้ที่สนใจธรรมชาติ

Tags: , , , ,