รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 ของไทย และเป็นฉบับที่ถูกขนานนามว่า มีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าฉบับก่อนหน้า (รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2475) และรัฐธรรมนูญที่มีขึ้นในสมัยหลังอย่างฉบับ พ.ศ. 2490 

รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเกิดขึ้นหลังกระแสการผลักดันให้ประเทศไทยมีร่างกฎหมายสูงสุดของประเทศในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งขณะนั้นรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกล้มด้วยกระบวนการทางรัฐสภาในปี 2487 และควง อภัยวงศ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน

ในช่วงเวลาเดียวกัน ปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะนั้น ร่วมกับควงจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นแทนรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ควงจึงจัดตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อดำเนินการศึกษาการจัดทำรัฐธรรมนูญในวันที่ 19 กรกฎาคม 2488 เสริมด้วยรัฐบาลของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เพื่อตั้งคณะกรรมการดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญขึ้น

หลังจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นรูปเป็นร่าง รัฐบาลจึงนำร่างรัฐธรรมนูญเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรและทูลเกล้าฯ ถวายต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) ให้ทรงลงพระปรมาภิไธยตามลำดับ

สำหรับพระราชพิธีลงพระปรมาภิไธยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 และประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในวันถัดไป ทว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับนี้กลับมีอายุการใช้งานเพียง 18 เดือนเท่านั้น จากการรัฐประหาร ปี 2490 โดยจอมพล ผิน ชุณหะวัณ ‘ฉีก’ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ และนับเป็นการเริ่มประเพณีฉีกรัฐธรรมนูญที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489 ก็เป็นเพียงรัฐธรรมนูญฉบับเดียวและฉบับสุดท้ายที่รัชกาลที่ 8 ทรงลงพระปรมาภิไธยในรัชสมัยของพระองค์ เพราะเพียง 1 เดือนผ่านไป ก็มีเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้น ณ พระที่นั่งบรมพิมาน หลังเสียงปืน 1 นัด ดังขึ้นภายในห้องบรรทมรัชกาลที่ 8 และเสด็จสวรรคตหลังจากเสียงปืนครั้งนั้น

Tags: , , , ,