ในปี 2543 นับเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ครั้งที่ 6 ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 23 กรกฎาคม 2543 มีผู้สมัครทั้งหมด 23 คน ทั้งสังกัดพรรคการเมืองและอิสระ ผู้สมัครที่เป็นตัวเต็งในขณะนั้นคือ สมัคร สุนทรเวช อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง และ ส.ส. พรรคประชากรไทย ที่ลาออกจากตำแหน่ง ส.ส. เพื่อมาลงแข่งการเมืองท้องถิ่นครั้งนี้, สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวงเช่นเดียวกัน โดยลงสมัครในนามพรรคไทยรักไทย, ธวัชชัย สัจจกุล ผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติไทยในขณะนั้น ลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์, ปวีณา หงสกุล ส.ส. พรรคชาติพัฒนา ส่วนผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ในนามอิสระได้แก่ พันเอก วินัย สมพงษ์, คุณหญิง กัลยา โสภณพนิช และพันเอก ประจักษ์ สว่างจิตร

สมัครได้หมายเลข 7 เป็นเลขผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ในห้วงเวลาของการหาเสียงเลือกตั้ง สมัครไม่เคยออกรายการประชันวิสัยทัศน์กับผู้สมัครคนไหนเลย ส่วนนโยบายหาเสียงที่โดดเด่นคือเขาจะทำให้การค้าแบบแผงลอยขายได้อย่างเสรี วลีที่ใช้ในการหาเสียงคือคำสั้นๆ ง่ายๆ ว่า “ถ้าจะใช้ผม กรุณาเลือกผม” ด้วยนโยบายนี้ทำให้สมัครได้รับความนิยมจากพ่อค้าแม่ค้าเป็นอย่างมาก 

แม้จะถูกโจมตีเรื่องที่สมัครเคยมีส่วนพัวพันกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 แต่ด้วยชื่อเสียงส่วนตัว และบุคลิกความตรงไปตรงมาของสมัคร รวมถึงการประกาศว่าครั้งนี้จะเป็นการทำงานการเมือง ‘ครั้งสุดท้าย’ หากไม่ได้รับเลือก ทำให้สมัครชนะการเลือกตั้งอย่างขาดลอยด้วยคะแนน 1,016,096 เสียง ตามมาด้วยสุดารัตน์ ที่ได้คะแนนการเลือกตั้งทั้งหมด 521,184 เสียง และธวัชชัย ที่ได้คะแนนทั้งหมด 247,650 เสียง นับเป็นครั้งแรกที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ได้รับคะแนนเกิน 1 ล้านเสียง

อย่างไรก็ตาม สมัครดำรงตำแหน่งเป็น ผู้ว่าฯ กทม. ได้เพียงสมัยเดียวจนถึงปี 2547 ก็ประกาศไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. อีกสมัย จากนั้น ในวันที่ 19 เมษายน 2549 สมัครได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ว. กรุงเทพฯ โดยได้รับเลือกเป็นอันดับ 2 รองจาก ร้อยตำรวจเอก นิติภูมิ นวรัตน์ ด้วยคะแนนเสียง 2.47 แสนเสียง และยังปิดฉากการเมืองในตำแหน่งสุดท้ายด้วยตำแหน่ง ‘นายกรัฐมนตรี’ ภายหลังพรรคพลังประชาชนที่เขาเป็นหัวหน้าพรรคได้รับเลือกเป็นอันดับ 1 ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550

ภาพ : AFP 

Tags: , ,