ซิดนีย์โอเปราเฮาส์ที่ตั้งอยู่ปากอ่าวซิดนีย์ กำลังจะฉลองครบรอบ 45 ปีในเดือนตุลาคมนี้ แต่เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวอาคารสีขาวกลายเป็นจุดศูนย์กลางของการถกเถียงเรื่องวัฒนธรรม กีฬา การเกลียดผู้หญิง และอัตลักษณ์ของชาติสำหรับชาวออสเตรเลีย

เมื่อวันอังคารที่ 9 ต.ค. มีการฉายภาพบนอาคารซิดนีย์โอเปราเฮาส์เพื่อโปรโมทการแข่งม้าที่ชื่อ เอเวอเรสต์ คัพ (Everest Cup) ที่เป็นการแข่งม้าใหม่ที่สุดและร่ำรวยที่สุดของออสเตรเลีย จัดโดย Racing NSW  หน่วยงานด้านการแข่งม้าของรัฐนิวเซาธ์เวลส์ ท่ามกลางการชุมนุมประท้วงของประชาชนหลายพันคน

การตัดสินใจอนุญาตให้ใช้มรดกโลกเป็นป้ายโฆษณากลายเป็นที่ถกเถียงของประชาชนชาวออสเตรเลียว่ากำลังทำให้พื้นที่สาธารณะกลายเป็นสินค้า

สัปดาห์ที่แล้ว กรรมการโอเปราเฮาส์ปฏิเสธการขออนุญาตโฆษณาเอเวอเรสต์ คัพ โดยให้เหตุผลว่ามันไม่เหมาะสมที่จะใช้เพื่อทำการค้า หลุยส์ แฮร์รอน (Louise Herron) ผู้บริหารให้สัมภาษณ์ว่า “เรามีนโยบายปกป้องสถานะของมรดกโลก” ผู้บริหารของโรงละครเห็นว่านี่เป็นการทำให้อาคารซึ่งเป็นมรดกโลกเทียบเท่ากับสโตนเฮนจ์ หรือเทพีเสรีภาพ กลายเป็นป้ายโฆษณาเพื่อส่งเสริมการพนัน

แต่ต่อมาเกลดีส์ เบเรจิกเลียน (Gladys Berejiklian) ผู้ว่าการรัฐนิวเซาธ์เวลส์ยกเลิกการตัดสินใจของแฮร์รอนและอนุญาตให้ฉายภาพโฆษณาได้ 10 นาที สก็อตต์ มอริสัน นายกรัฐมนตรีก็เห็นด้วยกับการโฆษณา โดยบอกว่ามันดีต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว “ไม่รู้ว่าทำไมคนถึงให้ค่ากับมันมาก”

ซิดนีย์โอเปราเฮาส์ดำเนินการโดยหน่วยการทรัพย์สินที่ดูแลโดยรัฐบาลท้องถิ่น สำหรับประชาชนแล้ว โรงละครเป็นของทุกคน  ตั้งแต่อาทิตย์ที่ผ่านมา ประชาชน 300,000 คน ลงชื่อบนเว็บไซต์ Change.org ในแคมเปญที่ชื่อว่า “ปกป้องโรงละครของพวกเรา” และการสำรวจทางการตลาดโดยบริษัทไมโครแมกซ์พบว่า ประชาชนชาวนิวเซาธ์เวลส์ 80% คัดค้านการตัดสินใจของรัฐที่อนุญาตให้โฆษณาได้

เบน โอควิสต์ (Ben Oquist)  ผู้อำนวยการสถาบันออสเตรเลีย (Australia Institute) บอกว่ากรณีนี้มากเกินไป แม้แต่โดนัลด์ ทรัมป์ยังไม่โฆษณาบนอนุเสาวรีย์ลินคอล์นเลย

ผู้ชุมนุมในคืนวันที่ 9 ต.ค. ใช้โทรศัพท์ ไฟฉาย และเครื่องฉายไฟแบบมืออาชีพส่องไปที่อาคารที่มีการฉายภาพโฆษณาเอเวอเรสต์  “โอเปร่าเฮาส์เป็นตัวแทนของศิลปะซึ่งไม่มีอคติต่อสีผิว อายุ และเงิน” นักดนตรีวัย 27 ปีคนหนึ่งที่มาประท้วงกล่าวระหว่างที่ผู้ชุมนุมตะโกนว่า “ไม่ได้มีไว้ขาย” และ “โรงละครของพวกเรา”

ความโกรธส่วนหนึ่งยังพุ่งเป้าไปที่อลัน โจนส์ นักจัดรายการวิทยุฝ่ายขวา ตอนที่เขาถามหลุยส์ แฮร์รอน ผู้บริหารโรงละครซึ่งคัดค้านการโปรโมทการแข่งม้าว่า “คุณคิดว่าคุณเป็นใคร คุณไม่ได้เป็นเจ้าของสักหน่อย เราเป็นเจ้าของโรงละครนี้ ถ้าผมเป็นเกลดีส์ เบเรจิกเลียน ผมจะยกหูโทรศัพท์แล้วก็ไล่คุณออกวันนี้เลย” ด้วยประโยคนี้ ผู้ชุมนุมคนหนึ่งจึงมาเพื่อบอกว่าสนับสนุนแฮร์รอนโดยเฉพาะ เพราะรู้สึกว่าโจนส์กำลังข่มขู่ผู้หญิง

ช่วงเวลาของการโฆษณายังอยู่ในช่วงสัปดาห์รณรงค์การพนันอย่างมีความรับผิดชอบของรัฐด้วย ออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีนักพนันมากที่สุดในโลก อุตสาหกรรมการพนันในออสเตรเลียเปรียบเทียบได้กับสมาคมปืนไรเฟิลของสหรัฐอเมริกา คือมีอำนาจในการล็อบบี้และบริจากเงินมากมายให้กับพรรคการเมือง

ตอนแรกในการตอบคำถามทางอีเมล แกรม ฮินตัน (Graeme Hinton)  หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการของ Racing NSW บอกว่าความขัดแย้งที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ทำให้ เอเวอเรสต์เป็นที่รู้จัก และขายตั๋วได้เร็วมาก อย่างไรก็ตามหลังจากคืนวันอังคาร เขาให้สัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์ว่า ไม่คิดว่าคนจะโกรธ เขาแปลกใจมาก และคงจะไม่ใช้วิธีนี้อีก

ซิดนีย์โอเปราเฮาส์ออกแบบโดยยอร์น อุตซอน (Jørn Utzon) สถาปนิกชาวเดนมาร์ก หลังจากที่มีความขัดแย้งกับรัฐบาลในเรื่องงบประมาณการก่อสร้าง เขาก็ลาออกในปี 1966 ออกจากออสเตรเลียก่อนที่จะโรงละครจะเสร็จในปี 1973 เป็นที่จัดงานทุกแบบ ตั้งแต่คอนเสิร์ตเพลงป็อบไปจนถึงดนตรีคลาสสิก การสำรวจในปี 2013 พบว่า ทำรายได้ประมาณ 3.25 พันล้านเหรียญ ซึ่งมีผู้เข้าชมจากทั่วโลกประมาณ 8 ล้านคนต่อปี โรงโอเปราแห่งนี้ได้รับการขึ้นนทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม เมื่อปี 2007 และเป็นสมบัติของรัฐนิวเซาท์เวลล์

ที่มา:

https://www.nytimes.com/2018/10/11/world/australia/sydney-opera-house-horse-racing-ad.html

https://www.bbc.com/news/world-australia-45780351

http://www.abc.net.au/news/2018-10-10/racing-nsw-surprised-at-opera-house-backlash/10360256

เครดิตภาพ: PETER PARKS / AFP