ภายใต้บรรยากาศทางการเมืองที่ขัดแย้ง ประชาชนแบ่งออกเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจน สถาบันศาลก็ยังคงต้องทำหน้าที่ตีความกฎหมาย พิจารณา และตัดสินคดีต่อไป หลายครั้ง ผู้มีอำนาจพยายามใช้กฎหมายและสถาบันศาลเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง เมื่อเกิดปัญหาที่เห็นไม่ตรงกันกับฝ่ายตรงข้ามและเห็นช่องทางที่ตัวเองได้เปรียบ เรื่องนั้นๆ มักถูกส่งต่อให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด จึงทำให้สถาบันศาลถูกดึงเข้ามาเป็นผู้เล่นตัวสำคัญในความขัดแย้งทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในบริบทของปี 2562 ภาพนี้ยิ่งปรากฏชัดเจนมากขึ้น เมื่อผู้มีอำนาจรัฐ คือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้ควบคุมการออกกฎหมายทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการเขียนรัฐธรรมนูญโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) การออกพระราชบัญญัติโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หรือการออกประกาศและคำสั่งโดยอำนาจของตัวเอง
กฎหมายเหล่านี้รวมกันได้กว่า 800 ฉบับ ยังมีผลใช้ต่อเนื่องยาวมาหลังการเลือกตั้งในยุคของ ‘คสช.2’ และกลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้รัฐบาล คสช.2 ทำงานได้ตามใจ และใช้อำนาจเพื่อเป้าหมายทางการเมืองที่ตัวเองต้องการได้
เพียงข้ออ้างที่ว่า เป็นการ “ทำตามกฎหมาย” ก็ทำให้สามารถทำอะไรได้ตามใจ แถมยังมีสถาบันศาลคอยรองรับความชอบธรรมให้
นอกจากจะออกกฎหมายเพื่อให้อำนาจกับตัวเองแล้ว ฝ่าย คสช. ยังนิยมออกกฎหมายและใช้เพื่อให้เป็นโทษกับฝ่ายตรงข้าม ทั้งการจับกุมดำเนินคดีกับผู้ที่แสดงความคิดเห็นทางการเมือง ผู้ที่จัดกิจกรรมชุมนุมต่อต้าน คสช. หรือนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่ถูกดำเนินคดีทั้งคดีอาญา และคดีคุณสมบัติของนักการเมือง
เมื่อคดีเหล่านี้ขึ้นสู่ชั้นศาล แม้สถาบันศาลจะมีบทบาทเกี่ยวข้องในฐานะผู้ปรับใช้กฎหมายเหล่านั้น ไม่ใช่ผู้เขียนกฎหมายและผู้ริเริ่มคดี แต่ภาพลักษณ์ที่สังคมรับรู้ คือ ศาลกลายเป็นองค์กรสุดท้ายที่มีอำนาจสั่งให้มีผลลัพธ์ทางการเมืองออกมาสอดคล้องกับแนวทางของ คสช.
เพียงข้ออ้างที่ว่า เป็นการ “ทำตามกฎหมาย” ก็ทำให้สามารถทำอะไรได้ตามใจ แถมยังมีสถาบันศาลคอยรองรับความชอบธรรมให้
และเมื่อมีคดีที่ผ่านการชงเรื่องมาจากองค์กรที่ คสช. แต่งตั้งขึ้น พร้อมข้อกล่าวหาตามกฎหมายที่ คสช. เขียนส่งมายังศาล ศาลก็เสมือนถูก “มัดมือชก” ให้ตัดสินเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากตามกฎหมายและข้อเท็จจริงที่ชงมาแล้วเท่านั้น
ในแง่นี้ก็สถาบันศาลจึงถูกใช้เป็นเพียง “เครื่องมือทางการเมือง” ของ คสช. เท่านั้นเอง
เมื่อสถาบันศาลกลายมาเป็นผู้เล่นตัวหนึ่งในความขัดแย้งทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้ที่เสียเปรียบทางการเมืองจึงมักถูกลากให้ไปยืนตรงข้ามกับสถาบันศาลไปด้วย และเมื่อมีผลของคดีความออกมาครั้งแล้วครั้งเล่าที่เป็นไปในทางสนับสนุน คสช. หรือลงโทษฝ่ายตรงข้ามกับ คสช. ก็ย่อมสะสมความรู้สึกไม่พอใจให้กับสาธารณชนที่ไม่เห็นด้วยกับ คสช. มากเข้าๆ และเป็นธรรมชาติของคนที่จะรู้สึกสงสัย หรือตั้งคำถามต่อการทำหน้าที่บางครั้งของสถาบันศาล
เรียกได้ว่า ยุคสมัยของ คสช. พาให้สถาบันศาลถูกตั้งคำถามมากที่สุดอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ และมีแนวโน้มแต่จะถูกตั้งคำถามต่อไปมากขึ้นเรื่อยๆ
ยุคสมัยของ คสช. พาให้สถาบันศาลถูกตั้งคำถามมากที่สุดอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ และมีแนวโน้มแต่จะถูกตั้งคำถามต่อไปมากขึ้นเรื่อยๆ
สถานการณ์ที่ผู้พิพากษาน่าเห็นใจ?
คนกลุ่มหนึ่งที่น่าเห็นใจในสถานการณ์ แต่สังคมที่รู้สึกโกรธแค้นอาจไม่มีพื้นที่ว่างในใจมากพอให้คิดเห็นอกเห็นใจได้ คือ กลุ่มผู้พิพากษาที่ต้องทำหน้าที่เขียนอธิบายผลของคำพิพากษาให้เป็นไปตามกฎหมายที่ คสช. เขียนขึ้น แม้ว่าในใจลึกๆ อาจจะไม่เห็นด้วยขนาดไหนแต่ก็ต้องก้มหน้าทำไป “ตามหน้าที่” ที่ถูกชงเรื่องมาแล้ว และถ้าหากมีคดีถูกส่งขึ้นมาอีก ก็ทำได้เพียงเขียนคำพิพากษาออกไปเช่นเดิม
แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไปคาดหวังให้ผู้พิพากษาบางคนตัดสินคดีความโดยยึดหลัก ‘ความยุติธรรม’ ทั่วไปในสังคมที่เป็นนามธรรม โดยมองข้ามตัวบทกฎหมายที่เขียนโดยผู้มีอำนาจ แล้วออกคำตัดสินที่เป็นการ ‘รื้อถอน’ กฎหมายที่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพ เพราะระบบกฎหมายไทยใช้กฎหมายลายลักษณ์อักษรเป็นหลัก เมื่อคนมีอำนาจเบ็ดเสร็จในยุคสมัยหนึ่งออกกฎหมายมาแล้ว ก็แทบจะบีบให้ผู้พิพากษาทุกคนต้องเดินทางตามแนวทางนั้น โดยต้องมองด้วยว่า ผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่ในแต่ละคดี ก็มีฐานะเป็นเพียงข้าราชการคนหนึ่งในระบบข้าราชการอันเก่าแก่ ที่มาจากคนเรียนจบกฎหมายและผ่านการทดสอบข้อเขียนมาแล้วเท่านั้น ระบบแบบนี้ไม่ได้ทำให้ผู้พิพากษามีพลังทางสังคมพอจะลุกขึ้นมาตัดสินคดีแบบ ‘กลับหลัก’ ของกฎหมายลายลักษณ์อักษรได้
สถานการณ์เช่นนี้ที่อาจจะเริ่มมาตั้งแต่ประมาณปี 2549 จนถึงปี 2562 อาจจะสร้างความอึดอัดให้กับบุคลากรภายในสถาบันศาลและสังคมโดยทั่วไป แต่ก็ยังมีเงื่อนไขที่ทำให้เลวร้ายลงได้อีก
แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไปคาดหวังให้ผู้พิพากษาบางคนตัดสินคดีความโดยยึดหลัก ‘ความยุติธรรม’ ทั่วไปในสังคมที่เป็นนามธรรม โดยมองข้ามตัวบทกฎหมายที่เขียนโดยผู้มีอำนาจ แล้วออกคำตัดสินที่เป็นการ ‘รื้อถอน’ กฎหมายที่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพ
ทำไมการวิจารณ์ศาลจึงเป็นเรื่องยากลำบาก
เมื่อศาลตัดสินคดีความสำคัญๆ ซึ่งนำไปสู่ความไม่พอใจของคนจำนวนมาก ก่อให้เกิดข้อวิพาษ์วิจารณ์ต่อศาลขยายตัวกว้างขึ้น บางครั้งไม่ใช่เพราะความ ‘กล้า’ แต่เพราะความ ‘โกรธ’ หรือความ ‘คับข้องใจ’ จนจำเป็นต้องแสดงออกมา ผู้มีอำนาจที่ไม่ต้องการถูกวิจารณ์จึงเลือกเอาความผิดฐาน ‘ดูหมิ่นศาล’ และความผิดฐาน ‘ละเมิดอำนาจศาล’ เข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อปิดกั้นการเคลื่อนไหว การวิพากษ์วิจารณ์ และการว่าร้ายศาล โดยเฉพาะจากฝั่งของผู้ที่ถูกกดขี่ทางการเมือง
เมื่อการวิจารณ์ศาล กลายเป็นเรื่องที่อ่อนไหวไม่ต่างจากการวิจารณ์รัฐบาล คสช. หรืออาจจะอ่อนไหวมากกว่า แถมยังมีกระบวนการพิเศษของความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ที่ตัวผู้พิพากษาเป็นผู้ริเริ่มคดีได้เอง กล่าวคือ เป็นผู้เสียหายเอง และยังเป็นผู้ตัดสินคดีเองได้ บรรยากาศเช่นนี้ทำให้การใช้เหตุผลวิพาษ์วิจารณ์เป็นไปอย่างยากลำบาก
คนที่มีความรู้ มีชื่อเสียงในสังคม เป็นนักวิชาการ แม้จะสามารถวิพากษ์วิจารณ์บนพื้นฐานของหลักการได้ ก็จะพยายามหลีกเลี่ยง เพราะไม่แน่ใจในเสรีภาพของตัวเอง ความคิดเห็นที่พอหาได้ก็จะเป็นความรู้สึกอัดอั้นที่ถูกระบายออก กลุ่มคนที่รู้สึกไม่พอใจศาลอยู่แล้วก็มีแต่จะรู้สึก ‘เกลียดศาล’ มากขึ้นไปอีก ยิ่งหากมีผลคำตัดสินเป็นการลงโทษ ‘เพื่อนร่วมอุดมการณ์’ ก็ไม่แปลกที่คนกลุ่มนี้จะรู้สึก ‘คับแค้น’ ต่อศาล ซึ่งกลายเป็นความขัดแย้งสะสมที่ไม่อาจจะเยียวยาความรู้สึกให้กลับมาสมานฉันท์ปรองดองได้ ส่วนกลุ่มคนที่เริ่มสนใจศึกษาเหตุการณ์ทางการเมืองก็จะมาพร้อมกับความรู้สึกระแวงตั้งคำถามกับสถาบันศาล โดยไม่มีข้อเท็จจริงหรือเหตุผลมารองรับความสงสัย
คนที่มีความรู้ มีชื่อเสียงในสังคม เป็นนักวิชาการ แม้จะสามารถวิพากษ์วิจารณ์บนพื้นฐานของหลักการได้ ก็จะพยายามหลีกเลี่ยง เพราะไม่แน่ใจในเสรีภาพของตัวเอง ความคิดเห็นที่พอหาได้ก็จะเป็นความรู้สึกอัดอั้นที่ถูกระบายออก กลุ่มคนที่รู้สึกไม่พอใจศาลอยู่แล้วก็มีแต่จะรู้สึก ‘เกลียดศาล’ มากขึ้นไปอีก
ในระยะยาว มองเห็นแต่ความขัดแย้งที่จะเพิ่มสูงขึ้น และความศักดิ์สิทธิ์ ความน่าเชื่อถือของศาล มีแต่จะลดต่ำลง
บางคนอาจจะไม่ได้พูดออกมาเพราะเกรงกลัวกฎหมาย แต่ในใจก็ไม่อาจให้ความเคารพได้ และความรู้สึกที่เกิดจากสถานการณ์ทางการเมืองนี้ หากลุกลามไปถึงการทำหน้าที่ในคดีปกติ ซึ่งคิดเป็นงาน 99% ของศาล ก็จะยิ่งทำให้สถานะของสถาบันศาลที่ต้องค้ำจุนสังคมสั่นคลอนไปโดยไม่จำเป็น
ทำอย่างไรให้ศาลดำรงอยู่ได้อย่างสง่างาม
ในปี 2562 ที่พื้นที่เคลื่อนไหวทางการเมืองโดยหลักอยู่ในโลกออนไลน์ ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ค้นหาสิ่งที่อยากรู้ได้ด้วยตัวเอง และโดยธรรมชาติ เมื่อได้รับรู้ข้อมูล ผู้คนก็ย่อมต้องการแสดงความคิดเห็นหรือความรู้สึก ซึ่งก็มีช่องทางมากมายให้สามารถแสดงออกได้ สถาบันศาลเองก็มีหน้าที่ต้องทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงทางสังคมนี้ที่ไม่อาจชะลอหรือขัดขวางได้
หากศาลเลือกใช้แนวทางแบบ ‘ปิดตัวเอง’ เช่นเดียวกับช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา สร้างภาพลักษณ์ให้ปัญหาทางคดีความเป็นเรื่องนักกฎหมายใส่ครุยคุยกันเท่านั้น และใช้อำนาจตีความกฎหมาย ‘ขีดเส้น’ ขอบเขตการถูกวิจารณ์ของตัวเอง ดำเนินคดีฐานละเมิดอำนาจศาลกับคนวิจารณ์ เพื่อส่งสัญญาณ ‘เชือดไก่ให้ลิงดู’ ก็มีแต่จะวางตัวให้ถอยห่างและกลายเป็นศัตรูกับประชาชน
ในทางตรงกันข้าม หากศาลเข้าใจธรรมชาติของโลกการสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงไป และมั่นใจว่าการพิจารณาคดีและการตัดสินคดีของตัวเองเป็นไปตามข้อเท็จจริงและหลักกฎหมาย ศาลก็สามารถเลือกใช้แนวทาง “ยิ่งเปิดเผย ยิ่งโปร่งใส” โดยเปิดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล เข้าถึงข้อเท็จจริงของคดี และเข้าถึงรายละเอียดคำพิพากษาได้โดยง่าย เพื่อให้ประชาชนสามารถหาอ่านและใช้วิจารณญาณของตัวเองได้ว่า ศาลทำถูกหรือทำผิด เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์กันได้อย่างมีคุณภาพ
หากยังมีใครที่มีอคติและจะใช้ถ้อยคำด่าทอบ้างก็เพียงปล่อยให้ด่าไป เมื่อเปิดเผยและทำทุกอย่างถูกต้องแล้ว แน่นอนว่า คนที่ยังรักและสนับสนุนศาลก็จะยังมีอยู่มาก เมื่อผู้คนบนโลกออนไลน์มีข้อมูลมากพอ การโต้เถียงและชี้แจงกันจากหลากหลายแง่มุมก็จะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ คนที่เห็นด้วยกับการทำหน้าที่ของศาลก็จะเอาข้อเท็จจริงและเหตุผลออกมาปกป้อง
และสถาบันศาลก็จะดำรงอยู่ได้อย่างสง่างามในโลกสมัยใหม่ ดำรงอยู่ได้บนฐานของเหตุและผลที่ผ่านการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจ
เมื่อเปิดเผยและทำทุกอย่างถูกต้องแล้ว คนที่ยังรักและสนับสนุนศาลก็จะยังมีอยู่มาก เมื่อผู้คนมีข้อมูลมากพอ การโต้เถียงและชี้แจงกันจากหลากหลายแง่มุมก็จะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ คนที่เห็นด้วยกับการทำหน้าที่ของศาลก็จะเอาข้อเท็จจริงและเหตุผลออกมาปกป้อง และสถาบันศาลก็จะดำรงอยู่ได้อย่างสง่างามในโลกสมัยใหม่
เมื่อศาลกลายมาเป็นสถาบันที่มีบทบาททางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ไปแล้ว หากมีความคิดเห็นจากประชาชนที่วิจารณ์ศาลและเป็นความจริง มีเหตุผลรองรับ ก็เป็นหน้าที่ศาลที่จะต้องรับฟังและปรับตัวไปในอนาคตข้างหน้า และถ้าหากบางกรณี ศาลเองก็ถูก ‘มัดมือชก’ ให้ต้องตัดสินคดีไปตามข้อกฎหมายที่ผู้มีอำนาจในยุค คสช. เขียนขึ้น ศาลก็เพียงแค่เขียนอธิบายไว้ในคำพิพากษาอย่างชัดเจน และพยายามสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจว่า ศาลได้มองเห็นคุณค่าของหลักการและคุณธรรมบางอย่างแล้ว เพียงแต่ต้องทำหน้าที่ตัดสินไปตามที่ ‘กฎหมาย’ เขียนเอาไว้ทุกประการเท่านั้น เพื่อให้ประชาชนสามารถทราบได้ว่า ต้นเหตุของปัญหาที่แท้จริงมาจากอำนาจการออกกฎหมายที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม เนื่องจากอำนาจทางการเมืองไม่ได้เป็นของประชาชนนั่นเอง และศาลไม่ใช่ต้นเหตุของปัญหา
เช่นนี้ ศาลก็จะสามารถสร้างพื้นที่เพื่อรักษาตัวเองออกจากการถูกดึงเข้าสู่ความขัดแย้งทางการเมืองได้ ในอนาคตสถานการณ์ทางการเมืองก็ย่อมจะต้องเปลี่ยนแปลงไป และสถาบันศาลก็จะยังดำรงอยู่เป็นเสาหลักให้กับสังคมได้ในระยะยาว
Tags: ดูหมิ่นศาล, สถาบันศาล, การวิจารณ์, การละเมิดอำนาจศาล, คสช., คณะรักษาความสงบแห่งชาติ, ศาล