วันนี้เมื่อ 8 ปีก่อน ม็อบ ‘กปปส.’ หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกกันว่า ‘ม็อบนกหวีด’ ที่มีส่วนสำคัญต่อการเมืองไทยในการเข้าแทรกแซงกระบวนการประชาธิปไตย ณ ขณะนั้น ปิดล้อมหน่วยคูหาเลือกตั้งล่วงหน้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วประเทศ ตามการสั่งการของ สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส.

ปฏิบัติการปิดล้อมคูหาหน่วยเลือกตั้งของม็อบ กปปส. เริ่มขึ้นตั้งแต่เช้ามืด แม้มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กดดันผู้ชุมนุม สุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศให้ผู้ชุมนุมสามจุดใหญ่ ทั้งแยกปทุมวัน แยกลาดพร้าว และสวนลุมพินี รวมถึงเวทียิบย่อยอื่นๆ เคลื่อนขบวนไปปิดล้อมหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้า หากผู้ชุมนุมจุดใดทำสำเร็จก่อน ให้ถ่ายรูปส่งมาเป็นขวัญกำลังใจ ทั้งนี้ สุเทพอ้างว่าการกระทำดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนการขัดขวางการเลือกตั้งใหญ่ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เพื่อขับไล่ ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ ลงจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี แม้ยิ่งลักษณ์จะประกาศยุบสภาไปแล้วก็ตาม

เวลาประมาณ 06.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รถหกล้อกับกระบะที่บรรทุกผู้ชุมนุมมาเต็มคันรถเข้าปิดล้อมหน่วยเลือกตั้ง ‘โรงเรียนบางกะปิ’ เป็นแห่งแรก ตามด้วยหน่วยเลือกตั้งเขตคลองสามวา เขตบางกะปิ เขตสวนหลวง เขตบางพลัด และเขตบางบอน ที่ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง ส่งลูกชายอย่าง วัน อยู่บำรุง เป็นตัวแทนผู้สมัครฯ โดยเขตบางบอนมีการเจรจาขอพื้นที่คืนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่ไม่เป็นผล

ต่อมาเวลา 08.00 น. สมทรง ศรีนอก หรือ ‘ซัดดัมน้อย’ แกนนำร่วม กปปส. นำผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่ง พร้อมรถกระบะติดเครื่องขยายเสียงและจักรยานยนต์ เข้าปิดล้อมโรงเรียนเซนต์จอห์น ที่ใช้เป็นหน่วยเลือกตั้งเขตจตุจักร ผู้ชุมนุมทยอยปักหลักกางเต็นท์แน่นขนัดเต็มหน้าโรงเรียน ขณะเดียวกัน มีประชาชนบางส่วนยืนอยู่ไม่ไกลจากจุดชุมนุมกำลังรอเข้าไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และเกิดเหตุการณ์วุ่นวายเล็กน้อย เมื่อชายนิรนามรายหนึ่งพยายามปีนเข้ารั้วโรงเรียนเพื่อหวังเข้าไปใช้สิทธิ แต่ถูกผู้ชุมนุมเป่านกหวีดใส่ กระทบกระทั่งถึงขั้นเกือบทำร้ายร่างกาย แต่เหตุวุ่นวายสงบลงเพราะแกนนำในพื้นที่ประกาศเตือนผ่านเครื่องขยายเสียงเสียก่อน สุดท้ายเจ้าหน้าที่ กกต. เขตจตุจักร จำเป็นต้องสั่งปิดคูหาเลือกตั้งเพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ที่ยังติดอยู่ในโรงเรียน ท่ามกลางความไม่พอใจของประชาชนผู้มารอใช้สิทธิประมาณ 20,000 ราย

เวลาล่วงเลยมาถึงช่วงเย็นราว 17.50 น. ภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. เปิดเผยข้อมูลต่อผู้สื่อข่าวว่า ภายหลังปิดลงคะแนนในเวลา 15.00 น. ได้รับรายงานว่ามีหน่วยเลือกตั้ง 50 หน่วย ทั่วกรุงเทพฯ ถูกม็อบ กปปส. ปิดล้อม ซึ่งเขตสุดท้ายที่โดนปิดคือเขตสาทร เจ้าหน้าที่หน่วยเลือกตั้งไม่สามารถดำเนินการต่อได้ จึงต้องไปลงบันทึกประจำวันถึงสาเหตุที่ปิดหน่วยเลือกตั้ง ส่วนประชาชนที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า ขอให้ไปแจ้งเหตุที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิได้ภายใน 7 วันนับแต่วันเลือกตั้ง

สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ออกแถลงการณ์ถึงภาพรวมการเลือกตั้งทั้งใน กทม. และหน่วยเลือกตั้งนอกเขตในต่างจังหวัดว่ามี 83 เขตเลือกตั้ง จาก 375 เขตทั่วประเทศ ถูกม็อบ กปปส. ปิดล้อมจนไม่สามารถทำการจัดลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าได้ โดย 83 เขตเลือกตั้ง แยกเป็นกรุงเทพฯ 33 เขตเลือกตั้ง ภาคใต้ 47 เขตเลือกตั้ง รวมถึงจังหวัดใกล้เคียง กทม. อีก 3 แห่ง ได้แก่ เพชรบูรณ์ สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร อีกอย่างละหนึ่งเขต ส่งผลให้ประชาชนที่ลงทะเบียนขอเลือกตั้งล่วงหน้านอกจังหวัดกว่า 440,000 คน คิดเป็นร้อยละ 22 จากจำนวนผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตจังหวัดทั่วประเทศประมาณ 2 ล้านคน ไม่สามารถเข้าใช้สิทธิได้ ส่วนผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตจังหวัด ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะยังสามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งที่ตนเองมีชื่อในการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ได้

ขณะเดียวกัน สุเทพ เทือกสุบรรณ ขึ้นกล่าวปราศรัยหลังปิดล้อมหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศได้สำเร็จหลายแห่ง เอ่ยถึงแผนยกระดับการชุมนุมขั้นต่อไปด้วยการชัตดาวน์กรุงเทพฯ โดยขอให้ผู้ชุมนุมในกรุงเทพฯ ออกมาร่วมให้มากที่สุด

“ขอประกาศไว้ว่า หากนางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังไม่ลงจากเก้าอี้นายกฯ เราจะชัตดาวน์กรุงเทพฯ ให้สนิท เอาให้ออกไปไหนไม่ได้ วันดีเดย์วันสุดท้าย จะใช้ถนนไม่ได้แม้แต่เส้นเดียว จะขุดรูอยู่ที่บ้านได้กี่วันก็ตามใจ โดยจะเลือกวันที่นางสาวยิ่งลักษณ์ยังอยู่กรุงเทพฯ เพราะถ้าอยู่ที่อื่นจะบินหนีไปได้”

หลังการประกาศชัตดาวน์กรุงเทพฯ ทำให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งใหญ่ไม่สามารถจัดขึ้นได้ตามปกติ ถึงจะมีการเลือกตั้งซ่อมวันที่ 1-2 มีนาคม 2557 ผลสุดท้าย ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ วินิจฉัยให้การเลือกตั้งดังกล่าวไม่เป็นเอกฉันท์และชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 108 ก่อน กกต. จะประกาศว่าผลการเลือกตั้ง ‘เป็นโมฆะ’ พร้อมดำเนินคดีอาญาเรียกค่าเสียหายจำนวนเงิน 2,400 ล้านบาท กับบุคคลและกลุ่มคนที่ขัดขวางการเลือกตั้งจำนวน 234 ราย อาทิ สุเทพ เทือกสุบรรณ, ถาวร เสนเนียม, สาทิตย์ วงศ์หนองเตย และพุทธอิสระ

ขณะเดียวกัน กกต. ยังมีความพยายามฟ้องร้องทางแพ่งเรียกค่าเสียหายจำนวนเงิน 2,400 ล้านบาทต่อ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น ในความผิดปล่อยให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ทั้งที่ถูกทักท้วงถึงเหตุการณ์เข้าปิดล้อมของผู้ชุมนุมในคืนก่อนหน้า ตาม พ.ร.บ.ความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 โดยศาลแพ่งได้จำหน่ายคดีไว้ชั่วคราวในเวลาต่อมา

Tags: , , , , ,