HIDDEN AGENDA No.2 – On King and I เป็นโปรเจกต์พิเศษของ สำนักพิมพ์สมมติ เพื่อเปิดพื้นที่สำหรับวัฒนธรรมการวิจารณ์ ความเชื่อ และข้อเสนอบางประการที่อาจไม่ได้รับโอกาสในพื้นที่กระแสหลัก ทั้งยังเป็นหนังสือรวบรวมบทความและเรื่องแต่ง เป็นหนังสือที่ให้พื้นที่กับบทความวิชาการนอกขนบ และเป็นพื้นที่จริงสำหรับเรื่องแต่งที่ไร้ขอบเขตทางวัฒนธรรม

และ On King and I ก็คือหัวข้อหลักของหนังสือเล่มนี้ รวบรวมงานเขียน 13 ชิ้นจากนักเขียน 13 คน ว่าด้วยทัศนะ ความทรงจำ และประสบการณ์ที่มีต่อ ‘พระราชา’ (King) ของพวกเขา มีตั้งแต่ความเรียง เรื่องสั้น กวีนิพนธ์ บทสัมภาษณ์ และบทวิเคราะห์

เปิดด้วย กุมภาพันธ์  บันทึกของ ชาคริต คำพิลานนท์ ถึงความทรงจำสมัยเด็กที่เติบโตมากับเพลง ต้นไม้ของพ่อ และบรรยากาศอันยิ่งใหญ่ของงานเฉลิมฉลองการครองราชสมบัติของรัชกาลที่ 9 ในวโรกาสครบรอบ 50 ปี พร้อมบอกเล่าประสบการณ์สมัยเรียนประถมที่เคยคัดลายมือคำราชาศัพท์ผิด จนถูกครูดุด่าและเกือบเป็นเรื่องราวใหญ่โต เหตุการณ์นั้นกลายเป็นปมฝังใจมาจนถึงทุกวันนี้ ทำให้เขาเข้าใจเป็นครั้งแรกว่า “ความรักที่ทุกคนสรรเสริญนั้น แท้จริงแล้วอาจหล่อเลี้ยงด้วยความกลัว”

 เสมือนต้นร่างคำนำที่ไม่เคยเผยแพร่ (The King ans Nostalgia) ของ นิธิ นิธิวีรกุล เส้นทางชีวิตของนักเขียนหนุ่มผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายฤดู ทั้งอุปสรรคชีวิต ทั้งวิกฤตบ้านเมือง ประสบการณ์พานพบกับความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้มุมมองและความคิดของเขาเปลี่ยนไป โดยเฉพาะศรัทธาที่มีต่อ ‘พ่อผู้ให้กำเนิด’ และ ‘พ่อของแผ่นดิน’ ไปจนถึงศรัทธาต่อการมีชีวิตอยู่ต่อไปภายใต้ความอยุติธรรม

The King and (Dor Chor) Chaiyan พุทโธ่เอ๋ย อนิจจา ไอ้หนูน้อยตามัว ความเรียงย้อนรำลึกความทรงจำในวัยเยาว์ของ ไชยันต์ รัชชกูล เมื่อครั้งที่ได้เห็นพระเจ้าแผ่นดินเป็นครั้งแรก ผ่านการเสด็จทางเรือในลำน้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม เขาบรรยายถึงความรู้สึกตื่นเต้นในการตระเตรียมทำซุ้มเฉลิมพระเกียรติสุดแสนอลังการของโรงเรียนเล็กๆ ผ่านสำนวนภาษาเรียบง่าย สนุก เปี่ยมด้วยอารมณ์ขัน บวกกับตอนจบที่หักมุมแบบตลกร้าย

บทสวดที่ไม่มีผู้แต่ง ของ สุขพงศ์ คหวงศ์อนันต์ คล้ายความเรียงกึ่งๆ เรื่องสั้น ว่าด้วยความเท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำ ความอยุติธรรม ความศรัทธา ความสูงส่งศักดิ์สิทธิ์ จนถึงจิตวิญญาณของมนุษย์ที่โหยหาเสรีภาพ อ่านแล้วให้อารมณ์เหมือนกำลังเสพงานศิลปะแนวนามธรรม เหมือนฟังบทสวดอันขรึมขลัง เต็มไปด้วยความรู้สึกนึกคิดข้างในจิตใจ แฝงด้วยสัญญะมากมายที่ต้องตีความ

เรื่องที่ห้า The King and I ของ วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนผู้ถูกถีบออกจาก ‘แผ่นดินของพระราชา’ ด้วยข้อหาอยากเป็นเสรีชนไม่ใช่ฝุ่นใต้เท้าใคร เปิดเรื่องด้วยชีวิตระหกระเหินในต่างแดน ในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง ก่อนจะ ‘เล็กเชอร์’ วิชา The King and I เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ไทยกับประชาธิปไตย ตั้งแต่ยุคโบราณที่ผู้คนยังหมอบกราบมาจนถึงยุคทะลุเพดานที่คนรุ่นใหม่ออกมาชูสามนิ้ว จากยุคที่โปรปะกันดาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพทำให้ความรักเบ่งบานเจียนคลั่งจนถึงยุคที่เห็นได้ชัดแล้วว่ายุทธศาสตร์ที่ล้าหลังนั้นกำลังบ่ายหน้าสู่ความพ่ายแพ้ นี่คือบทความของนักเขียนที่เรียกตัวเองว่า ‘บ้า’ ซึ่งเขียนขึ้นด้วยเลือดเนื้อและหัวใจที่พ่ายแพ้แต่ไม่ยอมแพ้

ในอกข้างซ้ายของบรรณาธิการวารสารเรื่องสั้นเล่มหนึ่งในราชอาณาจักร โดย ธีร์ อันมัย เขียนออกมาในลักษณะบทสัมภาษณ์ ผ่านปากคำของบรรณาธิการอาวุโสของวารสารรวมเรื่องสั้นเล่มหนึ่ง ด้วยประสบการณ์โชกโชน ผ่านเหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองมาตั้งแต่ยุคเผด็จการเรืองอำนาจ นักศึกษาถูกล้อมฆ่าหมู่ ประชาชนลงถนนขับไล่คณะรัฐประหาร จนถึงม็อบเด็กออกมาชูสามนิ้วเย้ยฟ้าท้าดิน บวกกับบทบาทหน้าที่บรรณาธิการเรื่องสั้น เขาจึงแสดงทัศนะที่มีต่อกษัตริย์ ขุนศึก ศักดินา จนถึงไพร่ฟ้าประชาชนได้อย่างลุ่มลึก คมคาย ขณะเดียวกันก็แสดงความเห็นในเรื่องการเซ็นเซอร์ตัวเองของนักเขียนที่ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์เรื่องต้องห้ามอย่างตรงไปตรงมา สะท้อนว่ายังไม่สามารถก้าวข้ามความกลัวไปได้

New Normal บทกวีนิพนธ์หนึ่งเดียวในเล่มนี้ของ เมฆ’ ครึ่งฟ้า เขียนถึงบทกวีที่เขาได้ขึ้นไปอ่านครั้งแรกบนเวทีชุมนุมฯ “ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” ที่ม.เกษตรฯ ท่ามกลางบรรยากาศฝนโปรยกรุงฯ สุดโรแมนติก สำนวนยังคงร้ายกาจ ทันสมัย ไม่เคยตกเทรนด์ เมฆหยิบเอาเหตุการณ์ต่างๆ ของ ‘เจ้า’ ที่ทำให้เหล่าพสกนิกรต้องทึ่ง อ่านแล้วทั้งขำทั้งตบเข่าฉาดด้วยความสะใจ

พ่อ ของ รชา พรมภวังค์ เรื่องราวของพ่อกับลูกชายซึ่งเติบโตและต่อสู้มากันคนละยุคสมัย พ่ออพยพจากจีนมาสร้างเนื้อสร้างตัวบนแผ่นดินของพระราชา แต่ก็ไม่เคยได้เฉียดใกล้ความรวยสักที เพราะถูกระบบและคนบางกลุ่มขี่คออยู่ ในที่สุดก็ตาสว่างและคิดฝันถึงอนาคตที่ดีกว่าภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ ก่อนถูกทำลายราบคาบในยุคตุลาทมิฬ กระทั่งวันที่ลูกชายเติบโตขึ้นเป็นหนุ่ม ได้เห็นเหตุการณ์บ้านเมืองที่เปลี่ยนไป เห็นความขัดแย้งทางการเมือง เห็นความอยุติธรรม เห็นความเหลื่อมล้ำ และยังคงเห็นระบบเดิมๆ คนกลุ่มเดิมๆ ขี่คออยู่เช่นเคย ผิดแต่ว่าการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวในวันนี้ ทำให้ชายหนุ่มเริ่มเห็นความหวัง…

ไม่มีใคร นอกจากเรา โดย ธิติ มีแต้ม นักข่าว นักเขียน และกวี เขียนบันทึกอันอบอุ่นงดงามถึงลูกสาวตัวน้อย ในวันที่บ้านเมืองวุ่นวาย ประชาชนเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และการต่อสู้ของวีรชนคนกล้าผู้ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีกว่า สู่อนาคตที่ดีกว่า ไม่ใช่เพื่อพวกเขา แต่เพื่อรุ่นลูกรุ่นหลานของพวกเขาด้วย ธิติมอบบทเรียนล้ำค่าให้ลูกสาว ผ่านชีวิตและการทำงานของคนธรรมดาๆ 3 คนที่ทำในสิ่งยิ่งใหญ่ เสียสละเพื่อผู้อื่น ได้แก่ บุญยืน สุขใหม่ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงาน ‘ลูกตาล’ – สุวรรณา ตาลเหล็ก แอคติวิสต์สาวผู้ยืนเคียงบ่าเคียงไหล่ม็อบคนหนุ่มสาว และ โทโมโกะ กาตาโอกะ ครูสาวชาวญี่ปุ่นผู้ก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้บ้านสายรุ้งแห่งสังขละบุรี หวังมอบการศึกษาให้แก่เด็กชายขอบ

Ensemble ของ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ เล่าถึงเบื้องหลังการตัดสินใจไม่ไปรับรางวัลศิลปาธรจากมือ ‘เจ้า’ ด้วยความเชื่อว่า “การตัดสินรางวัลของคณะกรรมการจบสิ้นโดยสมบูรณ์แล้ว สิทธิเสรีภาพที่จะไปหรือไม่ เป็นของศิลปิน” วรพจน์มองว่ารางวัลศิลปาธรเป็นของกระทรวงวัฒนธรรม เจ้าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับรางวัลนี้ การที่เจ้าหน้าที่รัฐไทยดึงเจ้ามาเกี่ยวข้องในพิธีมองรางวัลต่างๆ เป็นการเพิ่มบทบาทอำนาจให้เจ้าโดยไม่จำเป็น เมื่อสังคมไทยใช้เจ้ามากเกินไป เจ้าก็มีบทบาท อำนาจ และพื้นที่มากมายล้นเกิน

เครื่องราง ของ อุทิศ เหมะมูล เรื่องสั้นชั้นดีว่าด้วยความเชื่อมั่นและศรัทธาของเด็กชายคนหนึ่งที่มีต่อเครื่องรางของขลังที่พ่อของเขามอบให้ เพื่อไล่ภูติผีปีศาจ ไล่สิ่งชั่วร้ายอัปมงคล เป็นเหรียญกษาปณ์จัดทำในวาระพิเศษเลี่ยมกรอบเงิน สร้อยเงิน เป็นภาพนูนต่ำของในหลวงรัชกาลที่ 9 เด็กชายสวมใส่ไม่เคยห่างคอ บางครั้งเขาชอบเอาเหรียญไว้ในอุ้งมือแล้วท่องนะโมสามจบ เวลาที่ขาดความมั่นใจ ทว่าเมื่อโตขึ้น ผ่านความรู้ ประสบการณ์ และเหตุการณ์ต่างๆ มากมายที่สั่นคลอนความเชื่อและศรัทธาของตัวเอง ทำให้เขาเริ่มสงสัยและตั้งคำถามถึงความศักดิ์สิทธิ์ของเครื่องรางชิ้นนี้

จาก ‘เราจะสู้เพื่อในหลวง’ ถึง ‘ในหลวงสู้ๆ’ คำขวัญและเสียงกระซิบ ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับประชาชนและการเคลื่อนเปลี่ยนสถานะ บทวิเคราะห์โดย วาด รวี ข้อเขียนหนักแน่นด้วยข้อมูลเชิงลึก เล่าถึงจุดแรกเริ่มของวิกฤตการเมือง ผ่านคำว่า “เราจะสู้เพื่อในหลวง” วาทกรรมอันลือลั่นของ สนธิ ลิ้มทองกุล ผู้นำม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งไม่เพียงนำไปสู่ความแตกแยกระหว่างประชาชนฝ่ายต่อต้านทักษิณและฝ่ายสนับสนุนทักษิณ แต่ยังนำมาสู่ความแปลกแยกระหว่างสถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตยด้วย ทำให้สถาบันกษัตริย์ไม่อยู่เหนือการเมืองอีกต่อไป แต่ได้กลายเป็นตัวละครสำคัญในความขัดแย้งทางการเมือง สุดท้ายม็อบคนหนุ่มสาวจึงออกมาเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เพื่อ ‘ปรับความสัมพันธ์’ ระหว่างกษัตริย์และประชาชนเสียใหม่

ปิดท้ายด้วย หมายเรียกผู้ต้องหา ครั้งที่ 1 ของ ‘ทราย’ – อินทิรา เจริญปุระ เผยให้เห็นภาพสำเนาหมายเรียกผู้ต้องหาในคดี ม.112 เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ของนักแสดงสาว ผู้ประกาศจุดยืนชัดเจนว่าสนับสนุนการเคลื่อนไหวของม็อบราษฎร และนี่คือสิ่งที่เธอได้รับกลับมาจากการเรียกร้องอยากเห็นบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย และสถาบันกษัตริย์ที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

HIDDEN AGENDA No.2 – On King and I เล่มนี้ตีพิมพ์เผยแพร่ออกมาในช่วงที่สถานการณ์ชุมนุมเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ถึงจุดพีคสุด ประชาชนออกมาพูดถึง ‘เจ้า’ ในที่สาธารณะอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ท่ามกลางสถิติผู้ถูกฟ้องร้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมากที่สุดในประวัติศาสตร์

จึงอาจกล่าวได้ว่านี่เป็นหนังสือที่กล้าหาญชาญชัยยิ่ง

Fact Box

HIDDEN AGENDA No.2 - On King and I, สำนักพิมพ์สมมติ, จำนวน 224 หน้า, ราคา 250 บาท

Tags: , ,