รูธ กินสเบิร์ก เดินกระฉับกระเฉงไปเคาะประตูบ้านของชายคนหนึ่งผู้รับหน้าที่ดูแลแม่ตามลำพัง หลายปีก่อน เขาถูกปฏิเสธสิทธิในการนำค่าใช้จ่ายที่จ้างคนดูแลแม่ไปลดหย่อนภาษี ด้วยเหตุว่าเขาเป็น ‘ผู้ชาย’ เพศที่สังคมไม่คาดหวังให้ทำหน้าที่ดูแลพ่อแม่ตั้งแต่แรก

รูธต้องการให้เขาลุกขึ้นสู้ในศาลอุทธรณ์อีกครั้ง เผื่อว่ามันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่เลือกปฏิบัติทางเพศในสหรัฐฯ อย่างถอนราก ทั้งที่สถานที่นี้บอกนักหนาว่าทุกคนเท่าเทียมกัน แต่บรรทัดฐานของคำตัดสินเก่าๆ จากดุลพินิจของคณะผู้พิพากษา (ที่เป็นผู้ชาย) กลับทำให้กระบวนการยุติธรรมไม่เคยยุติธรรม หรือมองเห็นคนเท่ากัน

“ผู้พิพากษาตัดสินผิดหรือ” ชายคนนั้นทำหน้าฉงนใส่รูธ เพราะเรื่องราวก็ผ่านมานานโข การที่สังคมพร่ำบอกว่าเขาไม่มีทางชนะแม้จะสู้สักกี่ครั้ง ทำให้เขาสับสนและจำนนในที่สุด

“ไม่ใช่ กฎหมายต่างหากที่ผิด” รูธตอบ

คงเป็นเรื่องเหนือจินตนาการของใครบางคนในประเทศที่ข้อถกเถียงว่าอะไรดี-อะไรเลว อะไรทำได้หรือทำไม่ได้ จะไปถึงทางตันอยู่เพียงแค่สิ่งนั้นขัดกับกฎหมายหรือไม่

หากต่อมสงสัยไม่โตพอ ก็คงไม่ถามต่อไปว่าใครเป็นผู้ออกกฎหมายนั้น ออกด้วยอำนาจอะไร อำนาจนั้นชอบธรรมหรือไม่ ยังไม่ต้องไปไกลถึงว่าเนื้อหาของกฎหมายนั้นมองคนเท่ากันหรือเลือกปฏิบัติเฉพาะกลุ่มหรือไม่

On the Basis of Sex สะท้อนภาพสังคมอเมริกันในทศวรรษ 1950s วันคืนที่ผู้หญิงในโรงเรียนกฎหมายฮาร์วาร์ดถือเป็น ‘สิทธิพิเศษ’ ที่ผู้ชายเป็นผู้หยิบยื่นให้ มากกว่าจะมองไปที่ความสามารถและหลักพื้นฐานว่า หากมีปัญญาที่จะเรียน เธอก็ย่อมต้องได้เรียนเฉกเช่นมนุษย์ผู้ชายผู้หญิงคนอื่นๆ

 

ภาพยนต์แสงสวย องค์ประกอบสีอบอุ่นนี้ กลับเล่าเรื่องราวไฟคั่งแค้นที่ระอุอยู่ในหัวใจรูธ กินสเบิร์ก นักศึกษากฎหมายที่ทำคะแนนได้ดีในชั้นเรียน แต่กลับเจอความจริงในสังคมที่ยังคงสงวนที่นั่งไว้สำหรับผู้ชาย

ภาพยนตร์ไม่ได้ชูรูธเป็นฮีโร่หญิงผู้ต่อสู้กับสังคมชายเป็นใหญ่แบบฉายเดี่ยว แต่คือผู้หญิงคนหนึ่งที่มีบรรดาเพื่อนชาย-หญิงร่วมอุดมการณ์ต่างช่วยกันสนับสนุนและอุดช่องโหว่ของกันและกัน เพื่อไปสู่จุดหมายคือสังคมที่ดีกว่า

เราอาจรู้สึกอึดอัด นั่งไม่ติดเก้าอี้อยู่บ้าง เมื่อพบว่าบทสนทนาที่ขับเน้นการเลือกปฏิบัติ ความไม่เท่าเทียม การเหยียดเพศ ฯลฯ เกิดขึ้นซ้ำๆ พุ่งใส่ตัวละครรูธอย่างน่ารำคาญ ซ้ำจนในบางครั้งต้องแอบถอนหายใจ เพราะชุดความคิดที่พูดซ้ำไปซ้ำมานี้มันสุดเชยเมื่อมองจากบริบทศตวรรษที่ 21

แต่ในบางหลืบของสังคม เรายังคงเจอคนแบบนั้นอย่างไม่น่าเชื่อ และยิ่งในยุคซึ่งเป็นฉากหลังของภาพยนตร์ นั่นอาจเป็นสิ่งที่รูธเจอทุกๆ วัน สังคมที่บอกซ้ำๆ ว่าชายและหญิงไม่มีทางเท่าเทียมกัน และทำให้โอกาสของชีวิตถูกพรากไป และเธออดไม่ได้ที่จะโกรธ

ความโกรธนั้นทั้งทำให้เธอฮึดสู้ และขับเคลื่อนให้เรื่องราวดำเนินไปอย่างเข้มข้น แต่ถ้าควบคุมมันไม่ได้ ก็อาจทำให้เธอแพ้หน้าคะมำได้เช่นกัน

สำหรับกฎหมาย ถ้อยคำนั้นสำคัญ

“อย่าลืมว่านี่เป็นคดีภาษี และเรากำลังว่าความให้ใคร” มาร์ติน กินสเบิร์ก สามีรูธ ผู้เป็นนักกฎหมายภาษี เตือนสติเธอว่าอย่าเพิ่งใจร้อนรีบลากเรื่องราวทั้งหมดนี้ไปสู่แนวหน้าสงครามของชาย-หญิง ที่ต้องสู้กันเลือดสาด

เพราะถ้อยคำโจมตี ชิงตัดสินใส่ผู้พิพากษาไปล่วงหน้าก่อนแล้วนั้น ย่อมไม่ดีกับใครเลย

รอยยิ้มอบอุ่นและความมองโลกในแง่ดีของมาร์ติน สามีผู้ชื่นชมนับถือภรรยา ช่วยเจือจางเนื้อสารความโกรธของรูธลงมาอยู่ในระดับที่ยังกลับไปไต่เส้นเหตุและผลทางกฎหมาย และกลับมาใช้ ‘ถ้อยคำ’ ในกติกา เพื่อให้ผู้พิพากษาตรงหน้าและบรรดาผู้เข้าฟังการพิจารณาได้เปิดใจคิดตาม ปูเส้นทางไปสู่การคล้อยตาม

ภาพยนตร์เรื่องนี้โดดเด่นตรงการเขียนบทโต้ตอบที่เฉียบคม บางครั้งบทสนทนาไม่ได้ทำให้อีกฝั่งดูเป็นคนโง่ที่ติดกับค่านิยมเก่าๆ แต่กลับมีเหตุผลพอจะพยักหน้ายอมรับได้และหวิดๆ จะทำให้เราเห็นด้วย แต่สิ่งที่เด็ดคือหมัดฮุกของฝั่งรูธ ที่ใช้เหตุผลและถ้อยคำ อันเป็นอาวุธของนักกฎหมายตอกกลับไปอย่างงดงามหมดจด

ที่น่าชื่นชมก็คือ แม้จะเป็นภาพยนตร์ที่เข้มข้นด้วยเนื้อหาทางนิติศาสตร์ แต่ถ้อยคำจากตัวบทกฎหมายเป็นเพียงหลักฐานสนับสนุน แต่ไม่ใช่จุดพลิกผันเท่ากับข้อความตบท้ายที่แสดงถึงความเป็นมนุษย์ พื้นฐานที่ทุกคน ‘รู้สึก’ ไปได้ร่วมกัน แม้ไม่ได้รู้หลักกฎหมาย

และเพียงแค่จุดที่รูธเปลี่ยนจากถ้อยคำว่า ‘คุณ’ เป็น ‘เรา’ ฝ่ายอนุรักษนิยมหรือชนกลุ่มนิยมปิตาธิปไตยก็ลดการ์ดที่เคยตั้งไว้เพื่อปกป้องตัวเองอย่างแข็งกร้าว แล้วเริ่มมานั่งคุยกันดีๆ แบบมนุษย์ที่เท่ากันเขาคุยกัน

เพราะนี่ไม่ใช่แค่เรื่องว่าใครได้เปรียบใคร แต่คือผลประโยชน์ร่วมกันของกลุ่มสังคม รวมทั้งลูกหลานหญิง-ชายของพวกเขาในอนาคตด้วย

 

นิติบัญญัติ แต่ไม่อาจบังคับบัญชาสังคม

สำหรับบางคน กฎหมายคือทุกอย่าง และบางครั้งความมั่นใจนี้ก็ขีดเส้นกั้นคนนอกแวดวงออกไป เพียงส่ายหน้าบอกเพียงว่าพวกเขาคงไม่เข้าใจกฎหมาย และบรรดาหลักคิดทางนิติศาสตรที่(ถูกทำให้)แสนซับซ้อน ความมั่นใจนี้อาจถึงขั้นยกระดับให้กฎหมายเป็นวิศวกรควบคุมสังคม มากกว่าเป็นผลผลิตของสังคมที่เปลี่ยนไป

แต่ก็อย่างที่รูธได้บทเรียนมาจากชั้นเรียนฮาร์วาร์ด ว่า “กฎหมายไม่เปลี่ยนตามสภาพอากาศของแต่ละวัน แต่ต้องเปลี่ยนไปตามอุณหภูมิแห่งยุคสมัย”

หลักคิดแสนคลาสสิกนี้เองที่จะจุดตะเกียงปัญญา ในโลกสมัยใหม่ที่คนฟ้องคดีกันเป็นว่าเล่น ว่ากฎหมายไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากถ้อยคำที่ยืนยันสิทธิต่างๆ ที่มีอยู่ตรงนั้นอยู่แล้ว เป็นแบบร่างของสังคมที่ทุกคนมีมติร่วมกัน (ในสังคมประชาธิปไตย) และตัวมันไม่ได้มีอำนาจที่จะยืนแข็งทื่อชูคอเย่อหยิ่งข้ามกาลเวลา

ตัวละคร เจน กินสเบิร์ก ลูกสาวหัวขบถของรูธและมาร์ติน เป็นเหมือนเครื่องเตือนใจให้พ่อแม่ได้ตระหนักความเชื่อมั่นของพวกเขาข้อนี้ และสู้ต่อเพื่อให้บรรดาเขาและเธอตัวน้อยเหล่านั้น ได้มีอนาคตอยู่ในสังคมที่วาดกรอบกติกาตามหลักเหตุผลและสภาพอากาศของสังคมสมัยใหม่

ไม่ใช่กักขังเอาไว้ในสิ่งที่คนรุ่นปู่ย่าตายายคุ้นเคยและคิดเอาเองว่าดีที่สุดแล้ว

กติกาที่ฝืนธรรมชาติและไม่เคารพสิทธิกัน คงเป็นเพียงการกระทำอันน่าขันที่แสดงความใจแคบและหวาดกลัวอนาคตที่ตัวเองจะไม่มีที่ยืน

Fact Box

  • On the Basis of Sex ภาพยนตร์ที่อิงเรื่องราวจากชีวิตของ รูธ เบเดอร์ กินส์เบิร์ก (เกิดปี 1933) อดีตอัยการและหนึ่งในตุลาการศาลสูงสุดของอเมริกา ผู้มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้เรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ
  • ในภาพยนตร์ รูธ เบเดอร์ กินสเบิร์ก รับบทโดย เฟลิซิตี โจนส์ จาก The Theory of Everything และ มาร์ติน กินสเบิร์ก รับบทโดย อาร์มี แฮมเมอร์ จาก Call Me by Your Name
Tags: , , , ,