เมื่อการส่งผลงานลงตีพิมพ์ในวารสารวิชาการเป็นบันไดสู่ความก้าวหน้าของนักวิจัยหลายๆ คน เราจึงได้เห็นวารสารหัวแหลมที่ใช้ลู่ทางนี้สร้างกำไรเป็นกอบเป็นกำให้กับตัวเองมากกว่าจุดประสงค์ทางวิชาการ หรือที่เรียกว่า “predatory journal” วารสารวิชาการที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้เขียนเพื่อให้งานได้ตีพิมพ์ มากกว่าจะเกิดจากกระบวนการคัดเลือกของบรรณาธิการหรือมีผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบเนื้อหา (peer review)

ล่าสุด นิวยอร์กไทมส์รายงานว่า คณะกรรมาธิการการค้าแห่งสหพันธรัฐ (The Federal Trade Commission) ซึ่งเคยกล่าวหาสำนักพิมพ์ OMICS International ในไฮเดอราบาด ประเทศอินเดีย ว่าเป็นผู้ตีพิมพ์วารสารวิจัยปลอมจำนวนมาก และดำเนินธุรกิจที่ฉ้อฉล รวมทั้งเจ้าของสำนักพิมพ์ Srinubabu Gedela โดยเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (3 เม.ย.) กลอเรีย เอ็ม. นาวาร์โร ผู้พิพากษาศาลเนวาดา ตัดสินให้สำนักพิมพ์ต้องชดใช้เงินจำนวน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามคำขอ

OMICS เป็นหนึ่งในวารสารที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อทำกำไรโดยเฉพาะ ซึ่งวารสารแนวนี้กำลังระบาดหนักในโลกวิชาการ ทำลายความน่าเชื่อถือในทางวิทยาศาสตร์และผลาญงบสนับสนุนการทำวิจัย พวกเขามักเป็นสำนักพิมพ์ออนไลน์ที่มีชื่อฟังดูเป็นทางการ แต่เลือกตีพิมพ์เกือบทุกอย่างแม้กระทั่งเรื่องไร้สาระเพื่อแลกกับค่าธรรมเนียมการตีพิมพ์ที่เรียกจากผู้เขียนซึ่งอาจสูงถึงหลายพันดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอาจจะคุ้มสำหรับนักวิชาการที่อยากที่พื้นที่พิมพ์งาน เมื่อได้รับบทความวิจัยมา วารสารเหล่านี้จะตอบรับตีพิมพ์แทบจะทันทีโดยไม่มีการตรวจทานจากผู้เชี่ยวชาญเลย

ไม่เพียงแต่ตีพิมพ์งานวิจัย OMICS ยังเป็นผู้จัดงานประชุมทางวิชาการด้วย ซึ่งหากยึดตามข้อมูลในเว็บไซต์ พวกเขาตีพิมพ์วารสารมามากกว่า 700 ฉบับ และจัดการประชุมทั่วโลกมามากกว่า 3,000 ครั้ง เนื้อหาครอบคลุมประเด็นตั้งแต่การแพทย์ เภสัชกรรม วิศวกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และธุรกิจ ลูกค้าก็มีตั้งแต่นักวิจัยในสหรัฐฯ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ รวมไปถึงนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชื่อดังในไต้หวัน

นอกจากการชดใช้เงินจำนวนนี้แล้ว ศาลยังสั่งให้บริษัทยุติการดำเนินธุรกิจที่ฉ้อฉล เช่น การปิดบังค่าธรรมเนียม จงใจทำให้ผู้เขียนเข้าใจผิดเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของวารสาร และการโฆษณางานประชุมทางวิชาการโดยอ้างชื่อวิทยากรดังๆ ผู้ไม่เคยตอบรับเข้าร่วมงาน

ที่ร้ายแรงยิ่งกว่าการแสร้งปลอมเป็นวารสารวิชาการ คือการแอบอ้างชื่อนักวิชาการว่าเป็นบรรณาธิการของวารสาร ทั้งที่พวกเขาไม่ได้ทำหน้าที่นี้ และไม่รู้ตัวมาก่อนว่ามีชื่อตัวเองถูกอ้างถึงอยู่ในเว็บไซต์เหล่านั้น

สำหรับเงินจำนวน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่ FTC เรียกร้องให้บริษัทจ่าย มาจากการประมาณผลตอบแทนรวมที่ OMICS ได้รับจากลูกค้าตั้งแต่ 25 สิงหาคม 2011 จนถึง 31 มิถุนายน 2017 ซึ่งเป็นปีที่มีการฟ้องร้อง

หากสุดท้าย OMICS ยังคงดำเนินธุรกิจแบบเดิม FTC จะนำวารสารเหล่านี้ออกจากเครือข่ายออนไลน์ รวมทั้งติดต่อโรงแรมและสถานที่ต่างๆ ที่บริษัทใช้เป็นที่จัดงานประชุม เพื่อบอกว่าพวกเขากำลังร่วมกับบริษัทละเมิดคำสั่งศาล

อย่างไรก็ตาม คดีนี้เป็นเพียงการตัวอย่างของการเอาจริงเอาจังกับวารสารวิชาการจอมปลอม แต่ FTC ยังต้องไล่ตามวารสารที่มีลักษณะเดียวกันนี้อีกจำนวนมหาศาล

 

ที่มา:

 

Tags: , ,