เวียนมาบรรจบครบรอบเทศกาลเบียร์อีกครั้ง ปีนี้ ‘งานเฉลิมฉลองเดือนตุลาคม’ เริ่มกันตั้งแต่วันที่ 16 กันยายนไปจนถึง 3 ตุลาคม 2017 และจัดขึ้นที่มิวนิก เมืองหลวงของรัฐบาวาเรีย
ในแต่ละปีมีผู้คนเข้าร่วมระหว่าง 6-7 ล้านคน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อิตาลี และออสเตรเลีย ไปครื้นเครงปะปนอยู่กับชาวเยอรมันท้องถิ่น ทำให้อ็อกโทเบอร์เฟสต์มีคาแรกเตอร์คล้ายงานเฉลิมฉลองพื้นเมือง ผสมผสานกับงานอีเวนต์ระดับสากล
อ็อกโทเบอร์เฟสต์ เริ่มจัดขึ้นครั้งแรกในปี 1810 เพื่อเฉลิมฉลองงานอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าชายลุดวิกที่ 1 กับเจ้าหญิงเทเรเซ ซึ่งจัดให้มีงาน 5 วัน มีขบวนพาเหรดของทหารและพลเรือนติดอาวุธ วงดุริยางค์ งานเลี้ยงอาหารและเครื่องดื่ม ชาวเมืองมิวนิกได้รับเชิญเข้าร่วมงานกันอย่างถ้วนหน้า ทว่าในความจริงแล้วมีประชากรเพียง 3 ใน 4 หรือราว 30,000 คนขณะนั้น ที่ไปร่วมงาน
กิจกรรมที่น่าสนใจในวันสุดท้ายของงานเฉลิมฉลองเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 1810 คือการแข่งม้า ซึ่งแต่เดิมวางแผนจะจัดกันบริเวณทุ่งกว้างนอกประตูเมือง กิจกรรมนี้มีผู้คนให้ความสนใจคับคั่ง กระทั่งต้องสืบต่อกิจกรรมในปีถัดๆ มา และกลายเป็นส่วนหนึ่งของอ็อกโทเบอร์เฟสต์ไปในที่สุด รวมถึงกิจกรรมโชว์ผลผลิตทางการเกษตรด้วยเช่นกัน
ประเพณีการแข่งม้าต้องมาหยุดชะงักไปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ถูกนำเข้ามาบรรจุในโปรแกรมอีกครั้งในปี 1960 และ 2010 ในวาระครบรอบ 150 และ 200 ปีของอ็อกโทเบอร์เฟสต์
แต่เดิม อ็อกโทเบอร์เฟสต์จะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม ภายหลังมาเปลี่ยนแปลง โดยเริ่มงานตั้งแต่วันเสาร์กลางเดือนกันยายน ระยะเวลาการจัดงานอยู่ในช่วง 16 ถึง 18 วัน ไปสิ้นสุดในวันอาทิตย์แรกของเดือนตุลาคม หากว่าวันอาทิตย์นั้นตรงกับวันที่ 1 หรือ 2 ก็จะเลื่อนไปปิดงานวันที่ 3 ตุลาคมซึ่งตรงกับวันชาติ และเป็นวันหยุด
ในปี 1952 อ็อกโทเบอร์เฟสต์เริ่มประเพณีการเปิดงานด้วยการเปิดก๊อกถังเบียร์ โดยนายกเทศมนตรีของเมือง พร้อมตะโกนว่า “O’zapft is!” (โอ ซัฟต์ อีส! เป็นภาษาเยอรมันสำเนียงมิวนิก แปลว่า เปิดก๊อกแล้ว) ใครที่นั่งตำแหน่งนายกเทศมนตรีจะได้รับเกียรติให้กล่าวประโยคนี้ในพิธีเปิดทุกปี และเบียร์แก้วแรกของพิธีเปิดจะเป็นของผู้ว่าการรัฐบาวาเรีย
เหยือกเบียร์มาตรฐานที่เรียกว่า ‘Mass’ (มัสส์) คือเหยือกขนาดบรรจุ 1 ลิตร และเหยือกเปล่ามีน้ำหนัก 2 ปอนด์ ในประเทศซึ่งเบียร์ราคาถูกกว่าน้ำดื่มอย่างเยอรมนี จึงน่าจะเป็นแรงดึงดูดให้นักท่องเที่ยวสนใจไปหาประสบการณ์ที่อ็อกโทเบอร์เฟสต์
ปัจจุบันราคาจำหน่ายเบียร์ในงานเทศกาลต่อเหยือก 1 ลิตรราว 9-10 ยูโร
เบียร์ไม่ใช่แค่เบียร์ อะไรคือความแตกต่าง?
เราเรียกชาวเยอรมันว่าคนเมืองเบียร์ เพราะชาวเยอรมันชอบดื่มเบียร์เป็นชีวิตจิตใจ เรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับเบียร์เยอรมันอยู่ตรงความแตกต่างของเบียร์แต่ละชนิด เบียร์อะไร เขาดื่มกันที่ไหน และเบียร์ประเภทไหนเป็นที่นิยม
จากการสำรวจเมื่อปี 2014 พบว่า ในเยอรมนีมีการบริโภคเบียร์โดยเฉลี่ยคนละ 107 ลิตร และจากความหลากหลายของเบียร์สัญชาติเยอรมันทำให้ผู้คนสามารถค้นพบประเภทและรสชาติของเบียร์ที่ตนชื่นชอบได้ไม่ยาก ผู้เชี่ยวชาญของเยอรมนีทำการคัดแยกประเภทเบียร์เยอรมันให้รับรู้กัน คราวหน้าไปเยือนบาร์เบียร์ในเมืองเบียร์เมื่อไหร่ อย่าทำพลาดด้วยการสั่งแค่ “เบียร์” ละกัน
Koelsch (เคิลช์)
ใครจะเรียกเบียร์ ‘เคิลช์’ ได้ก็ต่อเมื่อมันเป็นเบียร์ที่ผลิตในเมืองโคโลญน์เท่านั้น และตามธรรมเนียมปฏิบัติเบียร์ชนิดนี้จะต้องรินใส่ ‘แก้วเคิลช์’ ทรงกระบอก หรือที่เรียกว่า ‘Stange’ (ท่อ) อีกด้วย ตามผับบาร์ส่วนใหญ่ในโคโลญน์ พนักงาน หรือ ‘Koebes’ (เคอเบส) ซึ่งคาดผ้ากันเปื้อนสีฟ้า จะเป็นผู้เสิร์ฟ เมื่อไหร่ที่เบียร์หมดแก้วเคิลช์ พนักงานจะนำเบียร์แก้วใหม่มาเสิร์ฟให้โดยไม่ต้องถาม จนกว่าลูกค้าจะบอกว่า “พอแล้ว”
Alt (อาลต์)
อาลต์เบียร์ (เรียกสั้นๆ ว่า อาลต์) เป็นเบียร์ชนิดขม สีดำ นิยมดื่มกันแถบรัฐโลเวอร์ ไรน์ เป็นหลัก เป็นที่นิยมอย่างมากโดยเฉพาะในเมืองดุสเซลดอร์ฟ, เครเฟลด์ และเมินเชนกลัดบาค ถึงขนาดมีกล่าวถึงใน Duesseldorfer Altbierlied (เพลงเบียร์อาลต์ของดุสเซลดอร์ฟ) ที่ว่า “ใช่ ที่นี่เราอยู่ในป่า จะหาอาลต์เบียร์ของเราได้ที่ไหน ใครกันที่ว่าแน่ อย่าแชเชือนสั่งมารอบวง”
Weizen (ไวเซน)
หรือ ‘ไวซ์เบียร์’ ก็มีเรียก เป็นเบียร์เก่าแก่ที่สุดในโลก ที่ดื่มกันมานานกว่า 2,000 ปีแล้ว ปัจจุบันมีแพร่หลายแถบทางใต้ของเยอรมนี และมีให้เลือกหลากชนิด ตั้งแต่สีจางถึงสีเข้ม และปราศจากแอลกอฮอล์ อีกทั้งยังมีผสมรสชาติของผลไม้อย่างเชอร์รีหรือกล้วยด้วย ปกติแล้วไวเซนเบียร์จะเสิร์ฟขนาดครึ่งลิตร
Pils (พีลส์)
พีลส์ เป็นเบียร์ที่เรียกขานตามชื่อเมือง ‘พีลเซน’ ในสาธารณรัฐเชก เมื่อ 170 ปีก่อน ชาวเมืองไม่ชอบรสชาติของเบียร์ที่นั่น พากันประท้วงโดยการนำถังเบียร์ไปเทหน้าที่ว่าการรัฐ กระทั่งเจ้าหน้าที่ต้องไปเชิญ โยเซฟ กรอลล์ ช่างทำเบียร์ชาวบาวาเรียนมาช่วย และผลิตเบียร์พีลส์ขนานแท้ออกมาครั้งแรกในปี 1842 เคล็ดลับของเขาคือ การหมักไว้ในโพรงที่เย็นเป็นเวลานานเพื่อให้ได้รสชาติ
Berliner Weisse (แบร์ลินแนร์ ไวส์เซ)
รสชาติของเมืองหลวงเยอรมนีชนิดนี้อาจจะขมขื่นสำหรับคอเบียร์สายแข็ง เพราะมันมีส่วนผสมของราสพ์เบอร์รีไซรัปสีแดง หรือไม่ก็เบ็ดสตรอว์ไซรัปสีเขียว มีแอลกอฮอล์อยู่เพียง 2.8% ชาวเบอร์ลินนิยมสั่งพร้อมกับ ‘Strippe’ (ชทริปเป) ซึ่งเป็นเหล้ายี่หร่าฝรั่ง หรือเหล้าข้าวโพด เมื่อต้นศตวรรษที่ 19 ทหารของนโปเลียนที่ 1 เคยลองชิม แล้วถึงขนาดตั้งชื่อแบร์ลินแนร์ ไวส์เซว่าเป็น ‘Champagne du Nord’ แชมเปญของทางเหนือเลยทีเดียว
Gose (โกเซ)
ไวส์เบียร์สีอ่อน มีต้นตำรับจากเมืองโกสลาร์ (เมืองประวัติศาสตร์ในรัฐโลเวอร์ แซกโซนี) คาดว่าชื่อของเบียร์มาจากชื่อของแม่น้ำโกเซ ในยุคปัจฉิมสมัย ช่างทำเบียร์เคยใช้น้ำจากแม่น้ำสายนี้มาทำเบียร์ ในปี 1738 ขุนนางคนหนึ่งนำโกเซไปที่เมืองไลพ์ซิก ที่ซึ่งทุกวันนี้เป็นแหล่งผลิตเบียร์โกเซ เวลาชนแก้วเบียร์โกเซ จะพูดคำว่า “Goseanna” (โกเซอันนา) แทนคำว่า “Prost!” (โพรสต์) แบบเยอรมันทั่วไป
Kellerbier (เคลเลอร์เบียร์)
หรืออีกชื่อหนึ่งคือ ‘Zwickelbier’ (ซวิกเคลเบียร์) เป็นเบียร์สีขุ่น ไม่ผ่านขั้นตอนการกรองกาก เป็นที่นิยมดื่มกันในแถบฟรังโกเนีย ทางตอนใต้ของเยอรมนี เป็นเบียร์ที่ไม่สามารถเก็บได้นาน ดังนั้นจึงมักดื่มกันแบบสด เคลเลอร์เบียร์มีกรดคาร์บอนิกน้อย ได้รสชาติเบียร์เน้นๆ และไม่เรอกันบ่อยๆ (ฮา)
Export (เอ็กซ์ปอร์ต)
มีทั้งแบบสีอ่อนและสีเข้ม ในยุคสมัยก่อนยังไม่มีตู้เย็นใช้กัน จำเป็นต้องทำให้เบียร์มีอายุอยู่ได้นานไม่เน่าเสีย เพื่อส่งต่อไปยังประเทศหรือภูมิภาคอื่น ซึ่งก็ทำได้ด้วยการเพิ่มแอลกอฮอล์และฮ็อปลงไปเยอะ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเบียร์เอ็กซ์พอร์ตจึงมีรสชาติเข้มข้นมาจนถึงทุกวันนี้
Bockbier (บ็อกเบียร์)
เป็นที่รู้จักกันในคุณสมบัติของ ‘เบียร์เข้ม’ เนื่องจากมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ถึง 6.5% เป็นเบียร์ที่ยุคปัจฉิมสมัยถือเป็นของหรู มีการส่งออกไปถึงอิตาลี และมีทั้งแบบสีเข้ม-สีอ่อน รวมถึง ‘Maibock’ (ไมบ็อก) ยอดนิยม ที่ผลิตขึ้นเฉพาะระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน ความพิเศษของบ็อกเบียร์คือ มีกรดคาร์บอนิกน้อย และฟองเบียร์เกาะตัวเป็นครีมนุ่ม
Malzbier (มาลซ์เบียร์)
แปลตรงตัวว่า เบียร์ที่มีแอลกอฮอล์น้อย แต่มากด้วยน้ำตาลและกรดคาร์บอนิก ชาวเยอรมันเรียกแบบไม่มีดรามาว่า ‘เบียร์เด็ก’ ตั้งแต่ปี 1958 แล้วที่กฎหมายห้ามผู้ผลิตเรียกสินค้าของตนว่า ‘เบียร์’ หากให้ใช้คำว่า ‘Malztrunk’ (เครื่องดื่มผสมเชื้อเบียร์) แต่ลูกค้าก็ยังเรียกมาลซ์เบียร์อยู่ดี
Alkoholfreie Biere (เบียร์ปราศจากแอลกอฮอล์)
เป็นเบียร์โปรดของบรรดานักกีฬา หรือคนรักสุขภาพ เพราะเป็นเบียร์ที่มีสารอาหาร ที่สำคัญแคลอรีต่ำ รสชาติเป็นเบียร์จริงๆ ตรงข้ามกับมาลซ์เบียร์ กฎหมายในเยอรมนีอนุญาตให้ติดสลากเบียร์ปราศจากแอลกอฮอล์ได้ ต่อเมื่อเบียร์นั้นๆ มีแอลกอฮอล์บรรจุน้อยกว่า 0.5%
Tags: Germany, Export, อ็อกโทเบอร์เฟสต์, Bockbier, เบียร์เยอรมัน, Malzbier, Beer, Alkoholfreie Biere, Koelsch, Alt, Weizen, Pils, Berliner Weisse, Gose, Oktoberfest, Kellerbier