เหมือนเพิ่งไม่กี่ปีก่อนนี้เองที่คนเราไม่ค่อยอยากไปหาจิตแพทย์ กลัวถูกหาว่าบ้า สมัยก่อนหลายคนเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้าแต่ไม่รู้ตัวหรือไม่ยอมรับ แต่วันนี้ในสังคมเด็กมิลเลนเนียล หรือที่นิคเนมว่า Generation Me ไปหาจิตแพทย์กันเป็นเรื่องปกติ ก็ไม่ถึงกับเหมือนไปเซเว่น แต่ก็คล้ายๆ ไปหาหมอฟัน
โรคซึมเศร้าได้รับการยอมรับเป็นเรื่องธรรมดา เลขสถิติจาก National Alliance on Mental Illness ระบุว่าชาวโลกซึมเศร้ากันราว 350 ล้านคน หรือประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก ใครเป็นไม่ต้องอาย ไปหาหมอเอายาต้านเศร้ามากินซะ การยอมรับโรคนี้นับเป็นสิ่งดี แต่ในบางพื้นที่ของสังคม ก็อาจจะยอมรับอย่างอบอุ่นมาก จนเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นโรคยอดฮิต
“เธอเป็นโรคซึมเศร้าเหรอ เฮ้ย เราก็เป็น”
ขอข้ามประเด็นที่จะก่อให้เกิดดรามา เช่น เป็นจริงหรือแค่มโน? เป็นโรคซึมเศร้าหรือเรียกร้องความสนใจ? ฯลฯ ในบรรดาผู้ป่วย 1.5 ล้านคนในไทย จากการสำรวจเมื่อต้นปี 2560 นั้น ไม่ว่าจะป่วยจริงหรือไม่ พวกเขาก็เป็นผู้ไม่มีความสุขกับชีวิตตัวเองจริงๆ และนั่นย่อมเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ บางครั้งในนามของความซึมเศร้า พวกเขาก็อาจจะมีพฤติกรรมเอาแต่ใจตัวเอง ละเลยหน้าที่ ก่นด่าคนอื่น ฯลฯ ซึ่งก็ทำให้น่าเห็นใจน้อยลงนิดหน่อย
ชาวโลกซึมเศร้ากันราว 350 ล้านคน หรือประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก
ผู้เขียนเอง ในฐานะที่มีคนใกล้ชิดเป็นโรคซึมเศร้าอยู่จำนวนหนึ่ง เมื่อสอบถามเพื่อนฝูงก็พบว่าต่างคนต่างมีมนุษย์ซึมเศร้าอยู่ในชีวิตตัวเองกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเพื่อน ญาติ พี่น้อง ที่แปลกคือดูเหมือนจะเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาหน้าตาเหมือนเรา แต่งตัวเหมือนเรา กินข้าวเหมือนเรา อกหักเหมือนเรา มีปัญหาไม่ลงรอยกับอากงอาม่าเหมือนเรา มีปมด้อยที่รู้สึกอับอายเหมือนเรา มีวันแย่ๆ ในชีวิตเหมือนเรา แต่ต่างกับเราตรงที่พวกเขาผ่านมันไปไม่ได้ เดือนหนึ่งก็แล้ว สามเดือนก็แล้ว หนึ่งปีก็แล้ว พวกเขาก็ยังคงลุกไม่ขึ้น ยังคงรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ยังคงเปราะบางและเจ็บปวดรวดร้าวจากการถูกกระทบกระทั่งแม้เพียงเล็กน้อย
“เธอไม่เข้าใจหรอก เธอไม่ได้เป็นนี่”
พูดอีกก็ถูกอีก คนไม่ซึมเศร้าไม่มีวันเข้าใจว่าทำไมการไปเจอญาติพี่น้องถึงเป็นเรื่องน่าสะพรึงกลัวสำหรับคนซึมเศร้าบางคน ในระดับที่ทำให้เขาต้องล้มป่วยครั้งแล้วครั้งเล่า เราส่วนใหญ่ไม่มีใครถูกชะตากับคนทุกคนในบรรดาเครือญาติตัวเองอยู่แล้ว แต่มันก็แค่วันๆ เดียว มันก็แค่การทำบุญเลี้ยงพระ มันก็แค่งานแต่งงาน จบภารกิจก็แยกย้ายจากกันไป
“ทำไมป้าแช่มต้องมาถามด้วยว่าฉันมีแฟนหรือยัง เป็นโสดก็รู้สึกแย่อยู่แล้ว ป้าแช่มมาถามให้ฉันรู้สึกแย่มากขึ้นอีกทำไม” หนึ่งในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าตัดพ้อน้ำตาซึม ”แล้วพอฉันบอกว่าไม่มี แกก็ทำหน้าตกใจ เหมือนจะเยาะเย้ยฉัน” น้ำตาร่วงเผาะ ผู้ฟังตกใจทำตัวไม่ถูก “ป้าคงไม่ได้ตั้งใจมั้งแก”
“ฉันไม่รู้ว่าป้าตั้งใจหรือเปล่า แต่ฉันรู้สึก! เข้าใจไหม ฉัน-รู้-สึก!”
เมื่อเธอปล่อยให้ความรู้สึกของเธอใหญ่โตเท่าโลก ความรู้สึกนั้นจะชี้นำอารมณ์ และอารมณ์ก็จะชี้นำบุคลิกภาพ และบุคลิกภาพก็จะชี้นำชีวิตทั้งชีวิต คำถามเดียวนั้นจากป้าแช่มจึงสามารถทำให้เธอง่อยเปลี้ยไปได้ทั้งวัน (หรือหลายวัน) เอาแต่นอนมองเพดานขมขื่นกับสายฝน ในขณะที่ป้าแช่มนั่งรถทัวร์กลับต่างจังหวัดไปแล้ว ดำนาเสร็จไปสองผืนแล้ว และไม่เคยเอะใจเลยว่าคำถามพื้นฐานของแกได้ทำร้ายจิตใจหลานสาวคนเมือง ผู้ซึ่งสำหรับแกแล้ว ช่างเต็มไปด้วยอนาคตอันสดใสและมีโอกาสมากมายในชีวิต
นี่เป็นเพียงตัวอย่าง ชีวิตของคนเป็นโรคซึมเศร้าประกอบขึ้นด้วยเหตุการณ์เล็กน้อยแต่ร้าวรานมหาศาลเช่นนี้จำนวนนับไม่ถ้วน บางคนมีคู่ชีวิตที่แสนดี มีลูกสุดประเสริฐ สมบัติก็ใช้ไม่หมด แต่กระนั้นก็ยังหาสุขไม่เจอ แล้วมันจะไม่น่าเห็นใจได้อย่างไร เงินทองไม่ช่วยบรรเทา ตรงกันข้าม เงินเหลือกินเหลือใช้อาจเป็นปัจจัยสัมพัทธ์ด้วยซ้ำไป
ผลการสำรวจจากองค์การอนามัยโลกพบว่า ผู้ครองแชมป์ซึมเศร้ามากที่สุดคือประเทศมั่งคั่ง นิวซีแลนด์มีคนซึมเศร้า 17.9 เปอร์เซ็นต์ สหรัฐอเมริกา 19.2 เปอร์เซ็นต์ ฝรั่งเศส 21 เปอร์เซ็นต์ แล้วลองไปดูพื้นที่ในโลกยากไร้อย่างอินเดีย มีอัตราคนซึมเศร้าแค่ 9 เปอร์เซ็นต์ ความแร้นแค้นไม่น่าจะทำให้พวกเขาเปี่ยมสุข แต่ด้วยภารกิจทำมาหากินรัดตัว ก็ทำให้ไม่ว่างจะเศร้าจริงๆ
ผลการสำรวจจากองค์การอนามัยโลกพบว่า ผู้ครองแชมป์ซึมเศร้ามากที่สุดคือประเทศมั่งคั่ง
นอกจากอิทธิพลจากสภาพสังคมแล้ว คนเป็นโรคซึมเศร้ามีทั้งกรณีที่เห็นสาเหตุชัดและไม่ชัดเจน สาเหตุชัดเจนก็เช่นฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงหลังคลอดลูก ประกอบกับอิสรภาพในชีวิตหายไป แม่มือใหม่จึงเกิดอาการที่เรียกว่า Postpartum Depression หรือ Baby Blue ซึ่งถือเป็นโรคซึมเศร้าแบบหนึ่ง หรือผู้ที่ผ่านเหตุการณ์ร้ายแรงในชีวิต สูญเสียคนใกล้ชิด ถูกทำร้ายร่างกาย ย้ายบ้าน สงคราม ฯลฯ เหล่านี้ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าที่เข้าใจได้และยังพอเห็นหนทางเยียวยา แต่กับอีกหลายกรณีที่ชีวิตไม่ได้มีเหตุการณ์ร้ายแรงเป็นพิเศษ แต่กลับมีใจอ่อนแอเป็นพิเศษ บ้างว่าพันธุกรรมมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่บ้าง สุดท้ายก็ยังไม่มีใครฟันธงลงไปได้ชัดๆ ว่ามันเป็นเพราะเคมีในสมองไม่ปกติ จึงทำให้พวกเขาจ่อมจมอยู่แต่กับอารมณ์ด้านลบไม่แล้วเลิก หรือเป็นเพราะเขาวนเวียนกับอารมณ์ด้านลบก่อน สารเคมีในสมองถึงไม่ปกติ
“ฉันไม่ได้อยากเป็นอย่างนี้หรอก”
ในสมาคม ‘เพื่อนเราเป็นโรคซึมเศร้า’ เมื่อเราพยายามจะปลอบโยนเพื่อนเรา เราล้วนต้องมาถึงจุดที่ทำให้สรุปกับตัวเองว่า พูดไปก็เท่านั้น… มันไม่ได้เข้าหัวเลยแม้แต่น้อย… พูดไม่ฟังเลย… ไม่พูดแล้วดีกว่าแม่ง แล้วพอเพื่อนๆ เลิกปลอบโยน บางคนก็ดีขึ้นได้เอง บางคนก็ออกอาการระยะสุดท้าย ทำท่าจะฆ่าตัวตายลงในอินสตาแกรม ไอ้เราก็พอรู้ล่ะว่าคนอยากตายจริงไม่น่าจะเล่นโซเชียลมีเดีย แต่เราก็ไม่อยากเสี่ยง เกิดเขาตายจริงขึ้นมาล่ะ บาปนี้ใครจะรับผิดชอบ มันคงติดอยู่กับเราไปอีกแสนนาน และยังไงนั่นก็เพื่อนเรา
จากนั้นเราก็จะเริ่มต้นงอนง้อขอคุยกับมัน หอบผ้าไปนอนเป็นเพื่อนมัน หลับไปกับเรื่องราวอันตรอมตรม ที่มันออกไปพรีเซนต์ในที่ประชุมแล้วถูกบอสหักหน้า จนทำให้หวาดผวาถึงความไม่มั่นคงไร้แก่นสารของชีวิตที่เหลืออยู่ แฟนก็ไม่ดูแล จำวันเกิดยังไม่ได้ แม่ก็ไม่เข้าใจ จมดิ่งอยู่ในหลุมดำแห่งความคิดลบที่มีมวลหนาแน่นจนหายใจแทบไม่ออก จากนั้นเราก็จะตื่นขึ้นพร้อมมหากาพย์การหลอกล่อเพื่อนให้ลุกจากที่นอน พยายามคอนเฟิร์มทฤษฎีความสุขที่จะหักล้างโศกนาฏกรรมการถูกบอสหักหน้า ชี้ชวนให้เห็นถึงแสงสดใสของวันใหม่ เพียงเพื่อจะพบว่ายังไงมันก็จะไม่ลุกจากที่นอน
“ฉันไม่ได้อยากเป็นอย่างนี้หรอก” ปิดท้ายด้วยประโยคทิ้งทวนที่แสนคุ้นเคย แล้วเราผู้ไม่ได้ซึมเศร้า ก็จะกลับบ้านด้วยความรู้สึกท้อแท้ ผิดหวังที่ไม่สามารถช่วยให้เพื่อนรู้สึกดีขึ้นได้ รู้สึกล้มเหลว รู้สึกว่าเรานี่เป็นเพื่อนที่ไม่ได้เรื่องหรือเปล่า ข้องใจว่าเราทำดีที่สุดหรือยัง แล้วที่เราเผลอด่ามันไป มันจะไปฆ่าตัวตายไหม แล้วเราก็จะห่อเหี่ยวหดหู่พักใหญ่ บางคนอาจจะเซ็งๆ ไปสองสามชั่วโมง บางคนอาจจะพานซึมไปทั้งวัน ถ้าเราสตรองจริงเราก็จะผ่านมันไป แต่ถ้าเราไม่สตรองเท่าไรล่ะ….
Welcome to the Club!
ภาพประกอบโดย ภัณฑิรา ทองเชิด
Tags: ความเศร้า, สุขภาพจิต, National Alliance on Mental Illness, ความสุข