ไม่กี่วันก่อน ขณะกำลังเดินจากบ้านเช่าในย่านที่ขึ้นชื่อว่าอาชญากรรมสูงที่สุดย่านหนึ่งของลอนดอนไปจ่ายตลาด ผู้เขียนต้องรีบหลีกทางให้กลุ่มวัยรุ่นใส่ผ้าคลุมหน้าโขยงหนึ่งที่วิ่งสวนมา ในใจพลางคิดว่าฉากนี้มันออกจะคุ้นๆ ยังไงพิกลอยู่

ไม่ถึงนาทีต่อมา พื้นทางเท้าที่ผู้เขียนกำลังย่ำอยู่ก็เต็มไปด้วยเลือด หยดกระจายไปจนถึงหน้าร้านขายของ 1 ปอนด์ ที่มีกลุ่มคนกำลังยืนล้อมอะไรบางอย่าง วิญญาณไทยมุงเข้าสิง รีบวิ่งไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น โชคดี (ของเขา) ที่ดูเหมือนเจ้าของเลือดจะแค่บาดเจ็บที่แขน และมีฝรั่งมุง แขกมุง คนดำมุง ซึ่งค่อนข้างมีสติ ช่วยกันใช้ผ้าพันห้ามเลือดและจัดท่าให้อยู่ในลักษณะปลอดภัย

หลังจากผู้เขียนซึ่งได้แต่ยืนเกะกะไร้ประโยชน์เดินหลบกองเลือดออกมาได้ไม่กี่เมตร รถหวอตำรวจก็วิ่งมาจอด เจ้าหน้าที่ฝั่งคนขับกระโดดลงมาพร้อมตะโกนบอกพรรคพวกว่า “ระวังด้วย เผื่อใครมีมีด!”

ในความเหวอบังเกิดความหลอน ไม่ใช่เพราะกลัวใครจะวิ่งเอามีดมาจิ้มพุงกะทิที่ยังไม่มีข้าวในนั้น แต่เพราะเหตุการณ์ตรงหน้าเป็นสิ่ง (เกือบจะ) เดียวกันกับเหตุการณ์ในหนังสือเล่มหนึ่งที่ผู้เขียนกำลังอ่านอยู่ ในโลกของเรื่องแต่ง มีกลุ่มนักเลงใส่เสื้อแบบมีฮูดคลุม มีการก่ออาชญากรรมด้วยมีด มีเหยื่อที่โชคร้ายกว่าชายหน้าร้านขายของ 1 ปอนด์ แต่ที่มากไปกว่าเรื่องจริงตรงหน้าคือพื้นเพชีวิตของบุคคลต่างๆ ที่เข้ามามีส่วนร่วมในเหตุการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าใครจะอยากหรือไม่ แต่สายธารเหตุการณ์มาบรรจบกันอย่างที่มันเป็น แถมพ่วงด้วยคำถามหนักๆ ในหัวเกี่ยวกับความสำคัญของชุมชน โอกาส ทางเลือกของชีวิต และราคาที่ต้องจ่ายเพื่อ ‘สิ่งที่ดีกว่า’

หนังสือเล่มนั้นมีชื่อว่า NW ซึ่งมาจากรหัสไปรษณีย์สองตัวแรกของภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือ (North West) ของลอนดอน เหตุการณ์หลักเกือบทั้งหมดของเรื่องเกิดขึ้นในแถบ NW6 ย่านที่เรียกว่า Kilburn (ที่ตั้งของบ้านที่ผู้เขียนอาศัยอยู่นี่เอง) เหยื่อมือมีดทั้งในและนอกหนังสือนั้นนอนอยู่ห่างกันเพียงไม่กี่ร้อยเมตร เส้นแบ่งที่บางอยู่แล้วระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องแต่ง ไม่เคยบางเท่ากับวันนี้

NW เป็นนวนิยายลำดับที่ 4 ของ ซาดี สมิธ (Zadie Smith) นักเขียนชื่อดังที่นิตยสาร Granta ยกให้เป็นหนึ่งในนักเขียนนวนิยายรุ่นใหม่ที่ดีที่สุดของอังกฤษทั้งในปี 2003 และ 2013

แม่ของสมิธเป็นชาวจาไมก้า ส่วนพ่อเป็นชาวอังกฤษ เธอใช้ชีวิตวัยเด็กอาศัยอยู่ในอาคารสวัสดิการของรัฐที่เรียกว่าเคาน์ซิลแฟลตในย่าน NW6 เรียนโรงเรียนมัธยมใกล้บ้าน ไม่เคยรู้การมีอยู่ของสิ่งที่เรียกว่าเคมบริดจ์ จนกระทั่งมีตัวแทนจากมหาวิทยาลัยมาพบปะนักเรียน และแนะนำให้สมัครเข้าเรียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (ตอนนั้นนักเรียนที่อังกฤษยังเรียนมหาวิทยาลัยฟรีกันอยู่)

ต่อมา สมิธก็ได้เข้าเรียนวรรณคดีอังกฤษที่เคมบริดจ์ และตีพิมพ์ White Teeth ผลงานเล่มแรกซึ่งพาชื่อของเธอขึ้นมาอยู่แถวหน้าของวงการวรรณกรรมเกือบจะในทันทีเมื่ออายุได้ 25 ปี

เรื่องราวของตัวละครใน NW มีส่วนคล้ายคลึงกับชีวิตของสมิธอยู่บ้าง แต่ดูจะไม่ใช่อะไรมากไปกว่าการที่เธอใช้ประสบการณ์ตรงของตัวเองมาสร้างตัวละครและเหตุการณ์ที่สมจริงมากๆ บนฉากหลังที่เธอคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก

นวนิยายแบ่งเป็นสามส่วนใหญ่ๆ (+ ส่วนเล็กอีกสองส่วน) ว่าด้วยตัวละครหลักสามตัว (+หนึ่ง ตัวที่เหมือนไม่หลัก แต่โผล่มาตลอดทั้งเรื่อง และมีบทบาทสำคัญในการโยงเหตุการณ์ทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน) ประกอบด้วย ลีอาห์ (Leah) หญิงสาวลูกครึ่งไอริช คีชา (Keisha) ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น นาตาลี (Natalie) เพื่อนรักชาวแคริบเบียนของลีอาห์ ฟีลิกซ์ (Felix) อดีตวัยรุ่นเกเรที่พยายามกลับใจ และ นาธาน (Nathan) อดีตเพื่อนร่วมชั้นของลีอาห์และคีชา ที่เคยใฝ่ฝันจะเป็นนักฟุตบอล ตัวละครทั้งหมดเติบโตมาในเคาน์ซิลแฟลต เช่นเดียวกับสมิธและชาวลอนดอนจำนวนมาก

นวนิยายเล่มนี้ได้รับเสียงบ่นมากพอสมควร เพราะหลายคนมองว่ามันดูเป็น ‘แนวทดลอง’ เกินไปหน่อย ส่วนตัวผู้เขียนเองไม่รู้สึกแบบนั้นเท่าไร กลับมองว่ามีลักษณะแบบสัจนิยมเอามากๆ ด้วยซ้ำ จริงอยู่ที่สมิธแบ่งบทแบบประหลาดๆ และใช้วิธีดำเนินเรื่องที่ไม่ได้บรรยายแบบตรงๆ บางท่อนเหมือนเขียนไดอารี บางทีเหมือนคิดในใจ บางครั้งมีแต่บทสนทนาและการบรรยายท่าทางเหมือนละครเวที และหลายช่วงก็คล้ายกับแนวทางการเขียนแบบกระแสสำนึก แต่พัฒนาการและความคิดความรู้สึกของตัวละคร รวมทั้งฉากหลัง สถานที่ เหตุการณ์ ความขัดแย้งต่างๆ ถูกนำเสนอออกมาแบบตรงไปตรงมา และไม่ได้ ‘เล่น’ กับภาษาแบบสวิงสวายอะไร ส่วนหนึ่งที่ภาษาอาจจะดูแปลกสำหรับนักอ่านบางคน ก็เพราะมันเต็มไปด้วยบทพูด (หรือคิด) ของคนที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษอย่างถูกต้องตามหลักภาษาเท่าไร และก็ด้วยเหตุนี้เองที่มันดูสมจริงมาก เมื่อมันกำลังเล่าเรื่องของกลุ่มคนในชุมชนที่เต็มไปด้วยผู้พลัดถิ่นและชนชั้นล่าง

หนังสือเต็มไปด้วยบทพูด (หรือคิด) ของคนที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษอย่างถูกต้องตามหลักภาษาเท่าไร และก็ด้วยเหตุนี้เองที่มันดูสมจริงมาก

สำหรับคนอังกฤษ รหัสไปรษณีย์เป็นสิ่งสำคัญพอๆ กับ (หรืออาจจะมากกว่า) เลขที่บ้าน มันไม่ได้แค่บอกข้อมูลกว้างๆ ในระดับตำบลหรืออำเภอเหมือนกับบ้านเรา แต่มักเจาะจงไปถึงระดับถนน ซึ่งเทียบได้กับซอยของไทย หรือถ้าเป็นสถานที่ใหญ่หน่อย อย่างตลาด โรงละคร พิพิธภัณฑ์ ก็เรียกว่าระบุที่ตั้งกันได้เลย ตัวอย่างเช่น ถ้าหากเราต้องการไปบริติชมิวเซียม เราสามารถกรอกรหัสไปรษณีย์ WC1B 3DG ลงในกูเกิ้ลแมป แล้วหมุดในแผนที่ของเราก็จะไปตกตรงที่บริติชมิวเซียมพอดิบพอดีไม่มีพลาด วิธีนี้ทำให้การหาตำแหน่งของสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะบ้านคนที่มีเลขที่ซ้ำๆ กัน หรือห้างร้านที่มีหลายสาขา (เป็นต้นว่าคุณนัดเพื่อนที่ร้านบูทส์ซึ่งมีอยู่แทบจะทุกมุมของลอนดอน) เป็นไปอย่างสะดวกง่ายดาย

ยิ่งไปกว่านั้น สำหรับคนที่คุ้นชินกับพื้นที่ เพียงแค่มองเห็นรหัสไปรษณีย์ 2-3 ตัวแรก ซึ่งจะประกอบด้วยตัวอักษรบอกทิศ เช่น E = East (ตะวันออก) SW = South West (ตะวันตกเฉียงใต้) และตัวเลขที่บอกเขตต่างๆ แยกย่อยลงไปตามตัวอักษร ก็จะรู้ได้ทันทีว่า สถานที่ดังกล่าวอยู่ในย่านไหน มีสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร และกลุ่มคนแบบไหนที่จะไปอาศัยอยู่กัน เป็นต้นว่า รหัสไปรษณีย์ที่ขึ้นต้นด้วย NW3 คือย่าน Hampstead ซึ่งมีชื่อเสียงมาแต่โบราณว่าเป็นแหล่งรวมปัญญาชน ศิลปิน นักเขียน (กวีโรแมนติกดังๆ ล้วนมีชื่อพัวพันอยู่กับย่านนี้) และราคาที่ดินในปัจจุบันก็แพงมากเป็นอันดับต้นๆ ของลอนดอน คนที่มีบ้าน (หรือแม้แต่เช่าบ้าน) อยู่แถวนี้ได้ ก็แทบจะเรียกได้ว่าต้องเป็นระดับเศรษฐี ขณะที่รหัสไปรษณีย์ NW6 ซึ่งอยู่ห่างออกไปไม่กี่ร้อยเมตร เรียงรายไปด้วยแฟลตเก่าๆ หลังโย้เย้ ร้านเคบับสลับกับไก่ทอด และซูเปอร์มาร์เก็ตราคาถูกที่แข่งกันลดราคากับร้านโชว์ห่วย

รหัสไปรษณีย์ไม่เพียงบอกตำแหน่งที่อยู่ของเรา แต่ยังบอก ‘พิกัด’ ทางสังคมของเราด้วย

การตั้งชื่อนวนิยายด้วยรหัสไปรษณีย์ จึงเหมือนเป็นสัญญาณบอกกลายๆ ว่า หนังสือเล่มนี้มีลักษณะค่อนข้าง ‘ท้องถิ่น’ ไม่ใช่เพราะมันพูดถึงพื้นที่ที่อาจจะรู้จักกันเองในหมู่ชาวลอนดอน แต่เพราะมันมาพร้อมกับนัยทางสังคมที่โยงอยู่กับชาติพันธุ์และฐานะทางเศรษฐกิจ ด้านหนึ่งมันบ่งบอกความหลากหลายของเมืองหลวงแห่งนี้ แต่อีกด้านก็ชี้ให้เห็นถึงระบบชนชั้นที่มีมิติอันซับซ้อน ทั้งในและนอกเขต NW เอง ซึ่งทั้งหมด ล้วนเป็นสิ่งที่ชาวลอนดอนรับรู้ได้จากการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะตระหนักถึงมันหรือไม่

ตัวละครใน NW ที่ได้ ‘แอร์ไทม์’ มากที่สุด (เราจะขอนับว่าเธอคือตัวเอก) คือ คีชา หญิงสาวผิวดำในครอบครัวเคร่งศาสนา เธอมีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับลีอาห์ที่เคยได้สถานะเป็น best friend แต่เส้นทางชีวิตที่แตกต่างกันทำให้กลายมาเป็นแค่ good friend ถึงแม้ทั้งคู่จะไม่ได้มีฐานะร่ำรวย แต่ลีอาห์ก็สุขสบายกว่าคีชาพอสมควร เธอได้ใช้ชีวิตวัยรุ่นแบบสำมะเลเทเมา สามารถเข้าเรียนมหาวิทยาลัยดีๆ เลือกเรียนสาขาที่ไม่ค่อยทำเงินอย่างปรัชญา และจบออกมาทำงานในองค์กรการกุศล พูดง่ายๆ ว่าเธอมีศักยภาพและโอกาสที่จะทั้งเกเรและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

สำหรับคนที่คุ้นชินกับพื้นที่ เพียงแค่มองเห็นรหัสไปรษณีย์ 2-3 ตัวแรก และตัวเลขที่บอกเขตต่างๆ ก็จะรู้ได้ทันทีว่า สถานที่ดังกล่าวอยู่ในย่านไหน และกลุ่มคนแบบไหนที่จะไปอาศัยอยู่กัน

ส่วนคีชา นอกจากจะต้องช่วยงานบ้าน ช่วยงานโบสถ์ และทำงานพิเศษ เธอยังต้องตั้งใจเรียนให้หนักกว่าเพื่อนคนอื่นๆ จนการมีชีวิตแบบวัยรุ่นนับเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยที่เธอไม่สามารถอนุญาตให้ตัวเองทำได้ ครั้งหนึ่งเธอเคยถามแม่ว่า ทำไมพวกเขาจึงต้องพยายามทำตัวให้ดีกว่าคนขาวอย่างลีอาห์มากมายนัก คำตอบก็คือ “พวกเขา [คนขาว] จะได้ไม่มีข้ออ้าง”

ข้ออ้างที่จะบอกว่าคนดำนั้นต่ำต้อยกว่าพวกเขาโดยธรรมชาติ

ข้ออ้างที่จะไล่ผู้อาศัยออกไปจากบ้านหลังใหญ่ที่มีพวกเขาเป็นเจ้าของ

สถานการณ์ของเด็กผู้ชายผิวดำ ยิ่งเลวร้ายกว่าเด็กผู้หญิง เพราะขณะที่ลูกสาวต้องรับแรงกดดันจากครอบครัว และในหลายๆ กรณีก็ต้องปากกัดตีนถีบกว่าชาวบ้านเพื่อจะแบกครอบครัวตัวเองไว้ ลูกชายแทบจะถูกมองว่าเป็นภาระและไร้อนาคตโดยอัตโนมัติ พวกเขาไม่ได้รับความไว้วางใจแม้แต่จากชุมชนตัวเอง ผลก็คือ นอกจากจะแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะสานฝันตัวเองแล้ว การถูกปฏิเสธจากคนรอบข้างมักพาพวกเขาไปสู่จุดที่กลายเป็นปัญหาสังคมเข้าจริงๆ ตัวละครชายใน NW สะท้อนแง่มุมนี้ได้เป็นอย่างดี

ในระหว่างการไต่เต้าทางสังคม คีชาซึ่งเลือกเรียนกฎหมาย (จุดเริ่มต้นของกระบวนการซับซ้อนยาวไกลกว่าจะได้เป็นส่วนหนึ่งของ ‘สถาบัน’ ที่สำคัญที่สุดอันหนึ่งของสังคมอังกฤษ) เปลี่ยนชื่อของตัวเองเป็นนาตาลี และรับเอาไลฟ์สไตล์แบบชนชั้นกลางมาใช้พร้อมกับชื่อ การเปลี่ยนชื่อไม่เพียงมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ (เกิดใหม่-อัตลักษณ์ใหม่) แต่ยังมีความสำคัญต่อพล็อตเรื่อง ขณะที่นาตาลีมีหน้าที่การงานและครอบครัวที่ดี (เธอแต่งงานกับเศรษฐีลูกครึ่งตรินิแดด-อิตาเลียน) คีชาไม่ได้ตายจากไปไหน หากแต่ดำรงอยู่ในโลกคู่ขนาน ผ่านทางเว็บหาคู่นอนที่เปิดโอกาสให้เธอได้พบเจอและสัมผัสกับผู้คนซึ่งเธอไม่มีโอกาสเจอในชีวิตประจำวัน

ความสำเร็จของนาตาลีมาพร้อมกับความรู้สึกถูกตัดขาดจากชุมชน (แม้ว่าชุมชนอาจจะคิดว่าเป็นเธอที่ ‘หนี’ ออกไปเอง) และแทนที่มันจะเป็นตัวพิสูจน์ว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะ ‘เขียน’ ชีวิตของตัวเอง กลับกลายเป็นทำให้เธอรู้สึกว่า ตัวเองเป็น ‘ของปลอม’ อยู่ตลอดเวลา คีชาแปลกแยกจากสถานะทางสังคมใหม่ที่เธอพยายามอย่างยิ่งเพื่อให้ได้มา (ถึงแม้จะแสดงออกในทางตรงกันข้าม) และเมื่อเธอนำมาตรฐานการใช้ชีวิตของเธอไปตัดสิน หรือแม้แต่พยายามช่วยเหลือคนในครอบครัว เธอก็ถูกปฏิเสธจากพวกเขาเช่นกันในฐานะคนนอก

แทนที่มันจะเป็นตัวพิสูจน์ว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะ ‘เขียน’ ชีวิตของตัวเอง กลับกลายเป็นทำให้เธอรู้สึกว่า ตัวเองเป็น ‘ของปลอม’ อยู่ตลอดเวลา

เมื่อลีอาห์ถามนาตาลีในตอนท้ายเรื่องด้วยความสับสนว่า ทำไมพวกเธอถึงมีชีวิตที่ดีกว่าคนอื่นๆ ในชุมชน ทำไมถึงไม่ต้องไปอยู่กับแก๊งมาเฟีย เที่ยวหลอกเงินคน โดนซ้อม หรือโดนแทงตาย คำตอบของนาตาลีดูเหมือนจะเป็นจุดเริ่มต้นของคำถามอีกมากมาย

“เพราะเราทำงานหนักกว่า…เราฉลาดกว่า เรารู้ว่าเราไม่ต้องการเที่ยวไปนั่งขอเงินหน้าบ้านใคร เราอยากหนีออกมา คนแบบโบเกิลเขาไม่อยากมากพอ ฉันขอโทษถ้าหากเธอเห็นว่าคำตอบฉันมันน่ารังเกียจ แต่มันคือความจริง”

คำตอบนี้ถูกในมุมของผู้พูด และเข้าใจได้ในมุมของผู้อ่านที่ติดตามชีวิตตัวละครในเรื่องมาจนจบเล่ม แต่อาจไม่ใช่ ‘ความจริง’ ที่สุดสำหรับทุกๆ คน หรือแม้แต่สำหรับลีอาห์เองที่ไม่ได้ทำงานหนักหรือฉลาดไปกว่าใครๆ หากแต่มีโอกาสและเงื่อนไขของชีวิตที่ดีกว่า เพียงเพราะเธอเกิดมาในครอบครัวที่มีอภิสิทธิ์บางอย่างมากกว่าครอบครัวอื่นๆ เท่านั้น

NW บอกเราว่า การ ‘หนี’ ออกจากชนชั้นของตัวเองไปสู่ความสำเร็จในโลกเสรีนิยมนั้น ไม่ได้เป็นไปอย่างเรียบลื่น และผลลัพธ์ของมันก็อาจไม่ได้หอมหวาน ชุมชนดูเหมือนจะเป็นสิ่งสำคัญต่อความรู้สึกมั่นคงและปลอดภัยไม่น้อยไปกว่าสถานะทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับกลุ่มคนที่ไม่ได้รับการยอมรับอย่างเท่าเทียมในฐานะสมาชิกของสังคมใหญ่มาตั้งแต่แรก คำถามจึงอาจไม่ได้อยู่ที่ว่า จะหนี (หรือแม้กระทั่งช่วยพาคนอื่นหนี) ออกจากชุมชนได้ยังไง แต่อยู่ที่ว่า จะทำอย่างไรให้ชุมชนกลายเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์เพียงพอต่อการเจริญงอกงามอย่างเต็มศักยภาพของสมาชิก

ในฐานะนิยาย ‘ท้องถิ่น’ NW บอกเล่าชีวิตของลอนดอนเนอร์ กลุ่มที่นักอ่านและนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจไม่ได้เห็นบ่อยนัก คนเหล่านี้อาศัยอยู่ที่ศูนย์กลางของอังกฤษ อดีตเจ้าอาณานิคมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก แต่พวกเขาก็ยังมี ‘พิกัด’ อยู่ที่ชายขอบของสังคมโลกสมัยใหม่อยู่ดี

ในแง่นี้ เรื่องราวบนถนนไม่กี่เส้นบนรหัสไปรษณีย์เดียว จึงเป็นสากลเอามากๆ ด้วย สำหรับใครก็ตามที่สนใจจะมองโลกที่ไม่เคยและไม่มีวันเท่าเทียมนี้ ผ่านสายตาของคนอื่นบ้าง