ก่อนอื่นผมอยากให้คุณคิดถึงเพลงโปรดของตัวเอง พร้อมเหตุผลที่ทำให้หลงรักมัน?

คุณยังไม่จำเป็นต้องตอบตอนนี้ก็ได้ เพราะเพลงก็เป็นเหมือนหนังสือที่เวลาและอารมณ์มีผลต่อความเข้าใจ หนังสือบางเล่มเมื่ออ่านตอนอายุ 15 ก็ให้ความรู้สึกแตกต่างจากที่อ่านตอนอายุ 30 เพลงที่คุณคิดว่าชอบเมื่อกี้ อาจถูกแทนที่ด้วยเพลงอื่นที่สัมผัสอารมณ์ได้มากกว่า เพราะเพลงที่ดีคือเพลงที่บรรจุเรื่องราวเอาไว้ เรื่องราวบางท่อนก็สามารถเข้าใจได้ง่าย แต่บางท่อนก็เหมือนถูกซ่อนไว้ไม่ให้ใครเห็น เหมือนเพลง 7 เพลงที่จะหยิบมาฝากกันวันนี้ ที่ความรู้สึกของคุณอาจเปลี่ยนไป เมื่อได้รู้เบื้องหลังของมัน

Photo: Vevo/Pumped Up Kicks

Foster the People – Pumped Up Kicks

หลายคนคงเคยได้ฟังเพลงฮิตติดหูเพลงนี้ ที่ใช้ทำนองหวานๆ ดูทันสมัย แต่ซ่อนความขมของเนื้อหาเอาไว้โดยที่เราไม่ทันสังเกต เนื้อเรื่องของเพลงนี้คือเรื่องราวของเด็กชายโรเบิร์ตที่ชอบแอบรื้อตู้เก็บของของพ่อ ด้วยความมือไวเขาหยิบของข้างในติดมือออกมาด้วย ซึ่งก็คือบุหรี่หนึ่งมวนที่คาบใส่ปากอย่างคาวบอยในหนังอเมริกันยุคก่อน อีกมือถือปืนลูกโม่สีเงินขัดเงาไว้อย่างดี เขาหยิบของสองสิ่งนี้ไปโรงเรียน แล้วไล่กราดยิงเพื่อนร่วมชั้นมัธยมคนอื่นๆ

“All the other kids with the pumped up kicks
You’d better run, better run, out run my gun
All the other kids with the pumped up kicks
You’d better run, better run, faster than my bullet”

Pumped up kicks ในที่นี้หมายถึง Reebok Pump รองเท้าบาสเกตบอลที่นิยมใส่กันในยุค 90 จุดเด่นของรองเท้ารุ่นนี้อยู่ที่มันสามารถปั้มลมเข้าไปและช่วยให้การวิ่งดีขึ้น แต่ก็ต้องแลกมาด้วยราคาแสนแพง ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่โรเบิร์ตรู้สึกหมั่นไส้เด็กที่มีโอกาสสวมมัน จนอยากหยิบปืนออกมาไล่ยิง

เหตุการณ์คล้ายๆ กันนี้เคยเกิดขึ้นที่โรงเรียนมัธยมโคลัมไบน์ ในปี 1999 เมื่อเด็กวัยรุ่นสองคนหยิบปืนและอาวุธหนักออกมากราดยิงเพื่อนร่วมโรงเรียน โดยเฉพาะพวกที่ใส่หมวกแก็ปสีขาว (นักกีฬาเบสบอล) ซึ่งรุมแกล้งเด็กสองคนนี้มาตลอด พวกเขามาเพื่อล้างแค้นโดยวางแผนมาอย่างดี เกมแบบ FPS (First Person Shooting) และความรุนแรงจากหนังกลายเป็นอีกจำเลยของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งที่ความจริงแล้วยังมีปัจจัยอื่นที่ควรเป็นจำเลยร่วม อย่างความง่ายในการครอบครองปืนของประเทศนั้นๆ

Photo: vigilantcitizen.com

Sia – Chandelier

อย่าให้เอ็มวีสวยๆ และลีลาการเต้นสุดพิลึกมาดึงดูดความสนใจของคุณไปจากเพลง ความจริงแล้ว Chandelier คือเรื่องราวของ Sia ที่กำลังฟื้นฟูตัวเองจากปัญหาติดเหล้าและการชอบปาร์ตี้ตลอดเวลา พูดถึงการดื่มแบบแก้วชนแก้ว เอ้า-หนึ่ง สอง สาม ดื่ม, หนึ่ง สอง สาม ดื่ม ทำอย่างนี้ตลอดทั้งคืนเพื่อให้ผ่านวันคืนไปได้ และสุดท้ายเมื่อตื่นมาก็ค่อยๆ รับรู้ถึงความล้มเหลวของตัวเอง แต่ตกกลางคืนก็กลับไปดื่มวนไปไม่รู้สร่าง

“Party girls don’t get hurt
Can’t feel anything, when will I learn
I push it down, push it down”

Sia เป็นนักร้องตั้งแต่อายุ 10 – 11 ขวบ ความสำเร็จตั้งแต่ยังเด็กทำให้เธอไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างเด็กทั่วไป เธอติดแอลกอฮอล์อย่างหนักถึงขนาดที่เวลาสร่างเมา เธอก็พาลคิดอยากเลิกเป็นศิลปินไปเสียเลย นอกจากนี้การติดแอลกอฮอล์ยังมีผลกระทบอื่นๆ ค่อนข้างรุนแรง เธอเคยคิดอยากจบชีวิตตัวเอง แต่หลังจากเข้ารับการบำบัดรักษาอาการติดแอลกอฮอล์และยาจนผ่านมาด้วยดี เธอแต่งเพลงนี้เพื่อให้ Rihanna ร้อง แต่สุดท้ายก็เปลี่ยนใจและเก็บไว้ร้องเอง เพราะคิดว่าเพลงนี้เป็นเรื่องราวส่วนตัว และหวังว่ามันจะช่วยให้หลายๆ คนสามารถเอาชนะวังวนมืดดำเหมือนอย่างที่เธอเคยทำได้มาแล้ว

Photo: villagephotographer

John Lennon – Imagine

เพลงนี้ถือเป็นมาสเตอร์พีซชิ้นหนึ่งของจอห์น เลนนอน อาจเป็นเพราะทำนองเรียบง่าย ฟังสบาย บรรยายถึงโลกในอุดมคติที่ทุกคนกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว โดยไม่มีอะไรแบ่งแยก แค่ได้ยิน เราก็รู้สึกถึงโลกในฝันใบนั้นกันบ้างแล้ว และเราสามารถสร้างโลกในอุดมคตินี้ได้ แค่เพียงร่วมมือกัน

จิมมี่ คาร์เตอร์-อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ถึงกับเคยยกย่องให้เพลงนี้มีสถานะเทียบเคียงกับเพลงชาติอเมริกันเลยทีเดียว โดยหารู้ไม่ว่าความจริงแล้วเพลงๆ นี้ อัดแน่นไปด้วยอุดมการณ์แบบคอมมิวนิสต์ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามกับแนวคิดเสรีนิยมของอเมริกาอย่างสิ้นเชิง ความจริงแล้วจะคอมมิวนิสต์หรือไม่ ก็ไม่ใช่เรื่องดาร์กอะไรในสมัยนี้ แต่ในยุคที่มีการต่อสู้เรื่องอุดมการณ์อย่างเข้มข้น มันจึงถูกมองไปทางลบ

จอห์น เลนนอนเรียกเพลงนี้ว่าเป็น ‘แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์เคลือบน้ำตาล’ มันเป็นเหมือนอาหารทานง่าย ทำให้ไม่นานเพลงนี้ก็ฮิตติดชาร์ทและกลายเป็นเพลงที่มีคนจดจำมากที่สุดเพลงหนึ่ง

สำหรับคำถามที่ว่า จอห์น เลนนอนเป็นคอมมิวนิสต์มั้ย? ยังเป็นที่ถกเถียงกันมานานตลอด บางฝ่ายบอกว่า ไม่มีทางใช่ เพราะเขาอาศัยอยู่ในอพาร์ทเม้นท์ที่ใหญ่โตราวกับวัง อีกฝั่งก็บอกว่าเขาเป็นหนึ่งในฮิปปี้ที่ทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง (ว่ากันว่าการตายของเขามี CIA อยู่เบื้องหลัง) ซึ่งฮิปปี้ในยุคนั้นต่างก็เชื่อในความเสมอภาค เท่าเทียมกัน ช่วยเหลือกันอย่างพี่น้องอยู่แล้ว ความจริงเพลงนี้อาจไม่ใช่แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์หรืออะไรอื่น หากเป็นแถลงการณ์ของชายช่างฝันชื่อจอห์น เลนนอน ก็เท่านั้น

The Beatles – Blackbird

เพลงทำนองน่ารักเพลงนี้ เซอร์ พอล แม็กคาร์ตนีย์เคยออกมาพูดว่าเนื้อหาของเพลงมีนัยมากกว่าแค่เรื่องนกปีกหักสีดำ มันเป็นสัญลักษณ์ของบางสิ่งที่เคยเกิดขึ้น ในเหตุการณ์การเรียกร้องสิทธิความเป็นพลเมืองของกลุ่มคนผิวดำ หรือ Civil Right Movement ในสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 1957 ซึ่งกลุ่มคนผิวดำ 9 คน (ลิตเติ้ลร็อคทั้ง 9) ออกมาใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของตัวเองเข้าเรียนที่โรงเรียนมัธยมลิตเติ้ล ร็อค ที่ตอนนั้นมีแต่นักเรียนผิวขาว ทำให้คนผิวขาวอื่นๆ ในพื้นที่แสดงอาการไม่พอใจ และพากันออกมาขัดขวาง ปิดล้อมทางเข้า ข่มขู่ และที่แย่ที่สุด ผู้ว่าการรัฐอาร์คันซัสเองก็สนับสนุนให้มีการแบ่งแยกสีผิวอีกด้วย

“All your life, You were only waiting for this moment to be free”
“ตลอดชีวิตของเธอ คือการเฝ้ารอโอกาสนี้ ที่เธอจะเป็นอิสระ”

ถึงแม้สิทธิพื้นฐานของคนในยุคนี้พัฒนามีความเท่าเทียมกันมากขึ้น (อย่างน้อยก็ในทางทฤษฏี) แต่สำหรับคนในยุค 60 นั้น การจะได้มาซึ่งสิทธิเล็กๆ น้อยๆ ในสังคมไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพลงนี้จึงเหมือนเป็นเพลงที่ให้กำลังใจแก่คนเหล่านั้น และคนที่พร้อมลุกขึ้นสู้เพื่อปกป้องสิทธิอันพึงมีของทุกคนในฐานะมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน

“นกปีกหักในเพลงนี้ก็เป็นเช่นคนผิวดำที่ถูกกดขี่กีดกัน และเฝ้ารอโอกาสที่จะได้เป็นอิสระ”

Photo: www.moshcam.com

Pink Floyd – Empty Spaces

พูดกันตามตรงว่า คงไม่มีคนปกติที่ไหนอยู่ๆ ก็อยากฟังเพลงโปรดย้อนหลัง แต่แฟนคลับบางคนทำ! โดยย้อนหลังที่ว่านี้คือการเปิดเพลงจากท้ายเพลงมายังต้นเพลง ซึ่งถ้าคุณได้ลองทำกับเพลงนี้ก็จะพบกับไข่อีสเตอร์ที่ โรเจอร์ วอลเทอร์-คนแต่งซ่อนเอาไว้

“Hello looker… Congratulations. You have just discovered the secret message.
Please send your answer to Old Pink, care of the Funny Farm, Chalfont…”
“ยินดีด้วย คุณเพิ่งค้นพบสารลับในเพลงนี้ โปรดส่งคำตอบของคุณไปยังที่อยู่นี้
โอลด์พิงค์, ฟันนี่ฟาร์ม (โรงพยาบาลบ้า), ชาลฟอนท์”

อย่าเพิ่งงงกันนะครับว่า โอลด์พิงค์ คนนี้คือใคร เดี๋ยวผมขอปูเนื้อเรื่องแบบเร็วๆ ว่าเพลงนี้อยู่ในอัลบั้มชื่อ The Wall ซึ่งแต่ละเพลงค่อยๆ เล่าถึงชีวิตตัวละครชื่อ Pink ตั้งแต่เล็กจนโต ผ่านชีวิตยากลำบาก พ่อตายในสงคราม แม่ก็เลี้ยงดูอย่างไข่ในหิน อีกทั้งยังมีระบบการศึกษาที่คอยบงการชีวิตเยาวชน และการแต่งงานที่ล้มเหลว ซึ่งตัวละครชื่อ Pink นี้อาจสะท้อนภาพของตัวโรเจอร์ วอลเทอร์เอง หรือหมายถึง ซิด บาร์เร็ต อดีตหัวหน้าวงยุคก่อตั้งซึ่งถูกสมาชิกวงอัปเปหิออกไปจากนิสัยเมามายตลอดเวลาของเขา ว่ากันว่าซิดคนนี้แหละคือ ‘โอลด์พิงค์’ ที่พูดถึง

ซิด บาร์เร็ต สมาชิกรุ่นแรกและเป็นคนคิดชื่อ พิงค์ฟลอยด์ (เป็นการผสมกันของชื่อนักดนตรีบลูส์ 2 คน Pink Anderson และ Floyd Council) เขาสร้างผลงาน 2 อัลบั้มแรกกับวง หลังจากนั้นตำแหน่งมือกีตาร์ก็ถูกแทนที่ด้วย ‘เดวิด กิลมอร์’ สาเหตุหลักก็มาจากนิสัยที่คาดเดาอารมณ์ยากของเขา ทำให้การเล่นสดแต่ละครั้งเป็นเรื่องยากลำบาก เขาเคยขึ้นเวทีโดยดีดกีตาร์คอร์ดเดียวตลอดการแสดง บางครั้งก็ยืนนิ่งหลายนาที ที่ล้วนเป็นผลจากการใช้ยาแอลเอสดีอย่างหนัก และป่วยเป็นโรคจิตเภท (Schizophrenia) ทำให้อารมณ์แปรปรวน หวาดระแวง และเห็นภาพหลอน แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็เป็นหนึ่งในนักดนตรีแนวไซเคเดลิกยุคบุกเบิก ที่คิดค้นสไตล์ดนตรี การใช้เอฟเฟ็กต์ในแบบของตัวเอง และยังเป็นจิตรกรอีกด้วย สมาชิกในวงถึงกับแต่งเพลงเพื่อยกย่องเขา อย่างเช่นเพลง Shine on you crazy diamond.

Photo:www.educatepark.com

The Weekend – Can’t Feel My Face

“ฉันรู้ว่าเธอจะเป็นผู้นำความตายมาให้ เว้นแต่เราทั้งคู่จะไร้ความรู้สึกกันไป
และเธอก็จะควบคุมฉันได้เสมอ สิ่งที่เลวร้ายที่สุดยังมาไม่ถึง
แต่อย่างน้อย เราก็รู้ว่าเราทั้งคู่นั้นงดงาม และเยาว์วัยเสมอไป
นี่คือสิ่งที่ฉันรู้”

ฟังดูเหมือนเป็นเพลงรักของคนอกหักที่กำลังพร่ำเพ้อถึงความเจ็บปวด แต่เธอคนนี้ไม่ใช่คนรักที่ไหน เธอที่เขากำลังพูดถึงคือ โคเคน เพลงภายใต้ทำนองสนุกๆ แบบยุคเก่าของเขาหลายเพลงแฝงด้วยเนื้อหาของคนที่เมามายเคลิบเคลิ้มอย่างช้าๆ อัลบั้มก่อนหน้าอย่าง House of Balloons ก็เกิดขึ้นจากการเสพสารบางอย่างจนเกิดอาการมึนชา เห็นภาพหลอน ซึ่งเขาบรรยายออกมาเป็นภาพดั่งท่อนฮุคในเพลงที่ว่า

“I can’t feel my face when I’m with you, But I love it, but I love it”
“หน้าฉันมันไร้ความรู้สึก เมื่อฉันอยู่กับเธอ…แต่ฉันชอบแบบนี้นะ”

ยังมีนักดนตรีอีกมากมายที่ยุ่งเกี่ยวกับการใช้ยาในสร้างสรรค์ผลงาน Tove Lo พูดถึงอาการเมาตลอดเวลาในเพลง Habits, Sia พูดถึงอาการติดเหล้าในเพลง Chanderlier หรือ Lana Del Rey ที่พูดถึงการเมาริมชายหาดในเพลง High By The Beach ดูเหมือนว่ายาเสพติดจะมีผลในการช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ให้ศิลปินจำนวนมาก แต่มันก็พ่วงมาด้วยอาการอื่นๆ ซึ่งเป็นผลข้างเคียงของยา เช่น ความเครียด อาการนอนไม่หลับ หรืออาการซึมเศร้าจากการเสพเป็นเวลานาน ก็นำมาซึ่งผลลัพธ์แย่ๆ ชีวิตพังๆ ที่หลายคนคงคาดไม่ถึง

Lady Gaga – Poker face

ไพ่โปกเกอร์เป็นหนึ่งในเกมไพ่ที่ไม่ได้อาศัยแค่โชค แต่ยังต้องพึ่งกึ๋นและจิตวิทยาในการเล่น การบลัฟจึงเป็นตัวสำคัญที่ตัดสินว่าเราจะแพ้หรือชนะ เหมือนอย่างในเพลง Poker Face ของ Lady Gaga ที่เล่าเรื่องผู้หญิงที่หลอกล่อผู้ชายให้ตกหลุมรักด้วยการใช้ชั้นเชิงค่อยๆ ทำให้เขาตายใจ ก่อนพลิกเกมกลับมากุมหัวใจเขาไว้ในมือ

“Can’t read my, Can’t read my, No he can’t read my poker face”
“อ่านไม่ออก อ่านไม่ออกหรอก เขาอ่านสีหน้าท่าทางอันเฉยชาของฉันไม่ออกหรอก”

สำหรับคนที่ชื่นชอบรักแบบเร้าใจ เพลงนี้อาจเป็นเพลงโปรดของคุณ แต่ความจริงแล้วเพลงนี้มีเบื้องหลังที่แตกต่างออกไป แต่ไหนแต่ไรมาแล้วที่เลดี้ กาก้าประกาศตัวว่าเธอเป็นไบเซ็กชวล แต่ช่วงแรกๆ ที่คบหาดูใจกับใคร เธอจะเก็บเรื่องนี้ไว้ไม่ให้คู่รักล่วงรู้ ความหมายที่แท้จริงของ Poker Face ที่เธอว่า ก็คือการบรรยายสีหน้าเฉยชาที่เธอทำเมื่อคิดถึงคู่รักที่ต่างออกไป อย่างเวลาอยู่กับคู่รักผู้ชายแล้วคิดถึงความเซ็กซี่ของผู้หญิง เธอก็จั่ว Poker Face ขึ้นมาสวมโดยที่พวกเขาไม่เคยรู้

 

FACT BOX:

  • The Beatles เป็นอีกวงหนึ่งที่ชอบซ่อนสัญลักษณ์ต่างๆ ไว้ในผลงาน เพื่อสื่อสะท้อนความคิดในแต่ละช่วง ความรู้สึกในแต่ละเวลา เช่น เพลง Yellow Submarine ไม่ได้พูดถึงเรือดำน้ำจริงๆ แต่พูดถึงยาเสพติดในยุคนั้นที่เป็นสีเหลืองบรรจุหลอดกลมๆ คล้ายเรือดำน้ำสีเหลือง หรือ เพลง Lucy in the sky with diamonds มาจากชื่อย่อ LSD ยาเสพติดยอดนิยมในยุคนั้น
  • เพลงที่ถูกพูดถึงในเรื่องความหมายแฝงที่เกิดจากการฟังถอยหลังยังมีอีกหลายเพลง เช่น เพลง Stairway To heaven ของ Led Zeppelin ที่ถือกันว่าเป็นเพลงบูชาซาตาน แต่เจ้าตัวบอกว่าเป็นเรื่องบังเอิญล้วนๆ
Tags: , , , , , ,