ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เกาหลีเหนือประสบความสำเร็จในการทดสอบยิงขีปนาวุธข้ามทวีป (Intercontinental Ballistic Missiles: ICBMs) แม้ว่าก่อนหน้านี้เกาหลีเหนือจะพยายามพัฒนาการผลิตทั้งหัวรบนิวเคลียร์และทดสอบยิงระบบนำส่งเรื่อยมา จนเป็นที่คาดว่าปัจจุบันเกาหลีเหนือมีหัวรบนิวเคลียร์อย่างน้อย 20 หัว และมีขีปนาวุธนำส่งที่ยิงได้ทั้งระยะสั้นและระยะกลางซึ่งพร้อมสำหรับการจู่โจมเกาหลีใต้และญี่ปุ่น (Washington Post รายงานว่าเกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์ถึง 60 หัว ซึ่งเป็นจำนวนมากกว่าที่สื่อทั่วไปประเมิน)
แต่สิ่งที่แตกต่างในการทดสอบครั้งนี้ก็คือ ขีปนาวุธในการทดสอบครั้งนี้สามารถนำส่งนิวเคลียร์ได้ในระยะไกลกว่า 3,000 กิโลเมตร นั่นหมายความว่าตอนนี้เกาหลีเหนืออาจมีศักยภาพในการยิงนิวเคลียร์ได้ไกลถึงภาคพื้นทวีปฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ
เหตุผลหลักของการพัฒนานิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือนั้นยังคงเป็นที่ถกเถียงในแวดวงวิชาการ เกาหลีเหนือประกาศว่า (และอาจเชื่อว่า) ตนเองไม่ได้พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เพื่อรุกรานใคร แต่เพื่อป้องกันหรือป้องปรามไม่ให้สหรัฐฯ โจมตีหรือล้มล้างระบอบการเมืองในประเทศของตน โดยชี้ให้เห็นว่าสหรัฐฯ มักล้มล้างระบอบการปกครองที่สหรัฐฯ ไม่ชอบ ดังที่เห็นได้จากกรณีที่สหรัฐฯ บุกอิรักเพื่อโค่นระบอบซัดดัม และสหรัฐฯ เองก็ขู่จะใช้ระเบิดนิวเคลียร์กับเกาหลีเหนือหลายครั้ง ทั้งในช่วงสงครามเกาหลีและในช่วงที่มีความตึงเครียดระหว่างสองประเทศหลังสงครามเย็น
นอกจากเหตุผลด้านการป้องกัน ผู้เชี่ยวชาญเกาหลีเหนือหลายคนยังเสนอว่าเกาหลีเหนืออาจต้องการรวมประเทศ จึงพัฒนานิวเคลียร์เพื่อแสดงให้เห็นอำนาจของตนที่เหนือกว่า และเป็นไปได้อีกเช่นกันว่าการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์นั้นเป็นหนึ่งในกิจกรรมหลักที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ
แน่นอนว่าเป็นการยากที่จะระบุได้อย่างชัดเจนว่าเหตุผลที่แท้จริงของเกาหลีเหนือในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์คืออะไร และอันที่จริง การตัดสินใจทางนโยบายในหลายๆ ครั้งก็ประกอบไปด้วยหลายเหตุผลรวมกัน
สงครามนิวเคลียร์กำลังจะเกิดขึ้นจริงๆ หรือ?
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าเกาหลีเหนือมีเหตุผลที่แท้จริงอย่างไร และจริงๆ แล้วสหรัฐฯ อาจไม่ใช่สาเหตุหลักของการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือด้วยซ้ำไป แต่ความสำเร็จในการทดสอบ ICBMs ครั้งนี้ก็ทำให้สหรัฐฯ หวาดหวั่น โดยประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาขู่ว่าหากเกาหลีเหนือทำให้สหรัฐฯ มีภัยอันตราย กรุงเปียงยางจะพบกับ ‘ไฟและความเดือดดาล’ ในระดับที่โลกไม่เคยพบเจอมาก่อน แปลง่ายๆ คือสหรัฐฯ พร้อมใช้อาวุธนิวเคลียร์กับเกาหลีเหนือ
หลังจากได้ยินคำประกาศกร้าวจากสหรัฐฯ กอปรกับการถูกคว่ำบาตรจากสหประชาชาติ ประธานาธิบดีคิมจองอึนจึงโต้ตอบด้วยการประกาศว่าขณะนี้พวกเขากำลังวางแผนที่จะยิงขีปนาวุธระยะกลางลงน่านน้ำใกล้เกาะกวมซึ่งเป็นเกาะของสหรัฐฯ เพื่อ ‘สั่งสอน’ ประธานาธิบดีทรัมป์
ความตึงเครียดระหว่างสองประเทศที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงไม่ถึงหนึ่งเดือน ทำให้หลายคน รวมถึงสำนักข่าวต่างๆ เกิดคำถามว่า สงครามนิวเคลียร์กำลังจะเกิดขึ้นจริงๆ หรือ?
การตอบคำถามนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย และคงมีความเป็นไปได้ที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับกรอบคิดที่นำมาใช้วิเคราะห์ ด้วยความที่ผู้เขียนไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลี หรือกระทั่งด้านอาวุธนิวเคลียร์ จึงขอลองวิเคราะห์สถานการณ์นี้ผ่านทฤษฎีหนึ่งที่นิยมนำมาใช้วิเคราะห์พฤติกรรมและยุทธศาสตร์ของประเทศต่างๆ ในด้านอาวุธนิวเคลียร์ นั่นก็คือทฤษฎีป้องปราม (deterrence theory) กระแสหลัก ที่หลักการส่วนใหญ่ถูกพัฒนามาจากทฤษฎีเกม
สมมติฐานหลักของทฤษฎีนี้คือผู้เล่นในเกมอย่างรัฐต่างๆ จะตัดสินใจอย่างสมเหตุสมผล (รัฐเป็น rational actor) นั่นคือคำนึงถึงความ ‘คุ้มค่า’ ของพฤติกรรมหนึ่งๆ อยู่เสมอ ดังนั้น จากมุมมองของทฤษฎีนี้ อาวุธนิวเคลียร์จึงเป็นตัว ‘ปราม’ ชั้นดีที่ทำให้ศัตรูยับยั้งการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด เพราะศัตรูที่ตัดสินใจอย่างสมเหตุสมผลจะประเมินได้ว่าต้นทุนของการกระทำสิ่งนั้นมีสูงลิ่ว เพราะเสี่ยงต่อการถูกตอบโต้ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งมีอานุภาพทำลายล้างรุนแรงมหาศาล ซึ่งมันก็ค่อนข้างชัดเจนว่าการกระทำดังกล่าวแทบจะไม่คุ้มค่าความเสี่ยง ดังนั้น หากเป็นไปตามทฤษฎี เราก็อาจคาดเดาได้ว่าการยิงอาวุธนิวเคลียร์คงจะเกิดขึ้นได้ยาก
หากเป็นไปตามทฤษฎีป้องปราม เราก็อาจคาดเดาได้ว่าการยิงอาวุธนิวเคลียร์คงจะเกิดขึ้นได้ยาก
แต่คำถามสำคัญก็คือ ‘ผู้เล่น’ ในเกมนี้เป็นผู้เล่นที่ตัดสินใจอย่างสมเหตุสมผลดังเช่นสมมติฐานของทฤษฎีหรือไม่?
เริ่มต้นด้วยสหรัฐฯ อาจกล่าวได้ว่าการตัดสินใจด้านนโยบายต่างประเทศโดยรวมของประเทศนี้มีแนวโน้มที่จะสมเหตุสมผล และเป็นไปได้สูงว่าผู้นำจะหลีกเลี่ยงการตัดสินใจที่เสี่ยงต่อการถูกโจมตีด้วยนิวเคลียร์ ซึ่งจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อชีวิตของประชาชนในวงกว้าง เนื่องจากสหรัฐฯ ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย อย่างน้อยในทางทฤษฎี ผู้นำน่าจะ ‘แคร์’ ประชาชนอยู่พอสมควร เพื่อให้ได้รับความนิยมในการเลือกตั้งครั้งต่อไป และแม้ว่าเกาหลีเหนือจะประสบความสำเร็จในการพัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกล นักวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ บางคนก็ยังมองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะ ‘ช็อก’ สหรัฐฯ จนทำให้นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ เปลี่ยนแปลงไปจนกระทั่งกลายเป็นไม่สมเหตุสมผล เพราะเอาเข้าจริง เกาหลีเหนือก็ไม่ใช่คู่ขัดแย้งของสหรัฐฯ ประเทศแรกและประเทศเดียวที่โจมตีสหรัฐฯ ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ได้ โดยปัจจุบันนอกจากเกาหลีเหนือก็ยังมีรัสเซียและจีน ซึ่งต่างก็เพียบพร้อมด้วยขีปนาวุธที่มีศักยภาพนำส่งหัวรบนิวเคลียร์ไปยังผืนแผ่นดินของสหรัฐฯ ได้ทุกเมื่อ
จริงอยู่ที่ในอดีต ผู้นำสหรัฐฯ บางคนมีพฤติกรรมที่ดูเหมือนไม่ค่อยจะสมเหตุสมผล ที่เห็นได้ชัดคืออดีตประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ที่ดูเกรี้ยวกราดและทำตามอารมณ์ แต่ในหลายครั้ง พฤติกรรมที่ไม่สมเหตุสมผลต่างๆ จริงๆ แล้วกลับเป็นผลพวงจากการคิดแบบเป็นเหตุเป็นผลมาอย่างดี เพื่อให้เกิดความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ เมื่อต้องต่อกรกับศัตรูที่คิดอย่างสมเหตุสมผล ดังที่โทมัส เชลลิง นักทฤษฎีป้องปรามชื่อดัง เรียกว่า ความสมเหตุสมผลของความไม่สมเหตุสมผล (rationality of irrationality)
ในกรณีอดีตประธานาธิบดีนิกสัน เขาพยายามใช้เทคนิค ‘การแกล้งบ้า’ (madman theory) โดยสั่งให้เฮนรี คิสซิงเจอร์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น พยายามบรรยายถึงความบ้าของเขาให้ทูตจากสหภาพโซเวียตฟัง เพื่อกดดันให้สหภาพโซเวียตยอมรับข้อเสนอหรือยอมแพ้สหรัฐฯ เพราะความกลัวว่าสหรัฐฯ จะตอบโต้ด้วยวิธีการ ‘บ้าๆ’ หรือสุดโต่งแบบคาดไม่ถึง
อย่างไรก็ดี การแกล้งบ้าของอดีตประธานาธิบดีนิกสันไม่ค่อยประสบผลสำเร็จ เพราะนโยบายต่างประเทศในภาคปฏิบัติของนิกสันนั้นไม่ได้ ‘บ้า’ จริงในสายตาของสหภาพโซเวียต อย่างการตัดสินใจหลีกเลี่ยงการเพิ่มความตึงเครียดในเวียดนามเมื่อปี 1969
หลายครั้ง พฤติกรรมที่ไม่สมเหตุสมผลต่างๆ จริงๆ แล้วกลับเป็นผลพวงจากการคิดแบบเป็นเหตุเป็นผลมาอย่างดี เพื่อให้เกิดความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ เมื่อต้องต่อกรกับศัตรูที่คิดอย่างสมเหตุสมผล
หลายคนอาจคาดว่าการขึ้นมามีอำนาจของประธานาธิบดีทรัมป์ในปัจจุบันอาจมีเค้าลางของการตัดสินใจแบบไม่สมเหตุสมผลอยู่สูง โดยเฉพาะเมื่อดูจากคำพูดที่แข็งกร้าวบ้าๆ บอๆ ซึ่งพรั่งพรูออกมาในสื่อแทบไม่เว้นวัน รวมถึงสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลชุดนี้ก็เคยประกาศอย่างชัดเจนเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่าพร้อมจะชิงโจมตีเกาหลีเหนือก่อนหากจำเป็น อย่างไรก็ตาม คำพูดกับการกระทำย่อมเป็นคนละเรื่องกัน และจริงๆ แล้ว การพูดข่มขู่กันระหว่างศัตรูก็เป็นเรื่องปกติในการสื่อสารระหว่างประเทศ เพราะโดยความเข้าใจทั่วไป ยิ่งแสดงความแข็งกร้าวมากเท่าไร รัฐศัตรูก็อาจจะยิ่งกลัว และทำให้รัฐที่แข็งกร้าวกว่าได้เปรียบในการเจรจา
นอกจากนี้ หากประธานาธิบดีทรัมป์มีความไม่สมเหตุสมผลจริงๆ และแม้ว่าประธานาธิบดีของสหรัฐฯ มีอำนาจสูงในการกำหนดทิศทางของนโยบายต่างประเทศ แต่นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ โดยเฉพาะในภาคปฏิบัติ ก็ยังต้องผ่านขั้นตอนอื่นๆ อีกมาก โดยเฉพาะด้านงบประมาณที่ต้องได้รับการอนุมัติจากสภา ทำให้คาดการณ์ได้ว่าโดยรวมแล้ว นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ น่าจะยังพอมีความสมเหตุสมผล และในกรณีเลวร้ายที่สุด หากประธานาธิบดีทรัมป์เกิดอยากชิงยิงอาวุธนิวเคลียร์ก่อนขึ้นมา แม้ว่าการตัดสินใจของประธานาธิบดีถือเป็นคำขาด แต่ในทางปฏิบัติ การปลดปล่อยอาวุธนิวเคลียร์ถูกยับยั้งได้ หากเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการมากกว่า 3 ใน 5 ไม่ยินยอมที่จะปลดล็อกอาวุธนิวเคลียร์
ในกรณีเกาหลีเหนือ แม้ว่าคิมจองอึนผู้นำคนปัจจุบันจะมีภาพลักษณ์แข็งกร้าวและมีท่าทีที่ดูบ้าคลั่งกว่าผู้นำคนเก่า เช่น การพยายามรื้อฟื้นวาทกรรม ‘การปฏิวัติครั้งใหญ่แห่งการรวมชาติ’ ซึ่งเกิดในทศวรรษ 1980 เพื่อปลุกเร้ากระแสชาตินิยมในประเทศ แต่ผู้เชี่ยวชาญเกาหลีเหนือส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่า นอกเหนือจากคำพูดข่มขู่ ท่าทีแข็งกร้าว และการซ้อมยิงขีปนาวุธ หากพิจารณาที่พฤติกรรมและนโยบายของประเทศตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าก่อนหรือหลังการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ (ที่มีจำนวนและประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ) จะพบว่าการกระทำของเกาหลีเหนือ รวมถึงในยุคปัจจุบันภายใต้คิมจองอึน ถือได้ว่ายังห่างไกลจากความ ‘บ้า’ ตัวอย่างเช่น แม้ว่ามีการรื้อฟื้นวาทกรรมคลั่งชาติดังที่กล่าวไป แต่รัฐบาลนี้ก็ผ่อนปรนวิธีการในการรวมชาติมากขึ้น เช่น การอนุญาตให้คงไว้ซึ่งสองรัฐบาลหลังการรวมชาติ และแม้เกาหลีเหนือจะประกาศกร้าวต่อสหรัฐฯ ตั้งแต่ต้นปี 2013 ว่าเกาหลีเหนือจะไม่เจรจาเรื่องอาวุธนิวเคลียร์เด็ดขาด แต่ในการเจรจาหลังจากนั้นหลายครั้ง เกาหลีเหนือก็ส่งสัญญาณค่อนข้างชัดเจนว่ายินดีที่จะเจรจาเรื่องนิวเคลียร์ รวมถึงเคยเสนอว่าจะหยุดพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ชั่วคราว โดยแลกกับการที่สหรัฐฯ และเกาหลีใต้หยุดซ้อมรบร่วมกัน หรือกระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม เกาหลีเหนือตัดสินใจลดความตึงเครียดกับสหรัฐฯ โดยชะลอแผนการยิงขีปนาวุธสู่น่านน้ำใกล้เกาะกวม หลังจากที่สหรัฐฯ ประกาศชัดเจนว่าพร้อมจะยิงขีปนาวุธของตนเข้าทำลายขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ เพื่อป้องกันอาณาเขตของตน
ในทางปฏิบัติ การปลดปล่อยอาวุธนิวเคลียร์ถูกยับยั้งได้
หากเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการมากกว่า 3 ใน 5 ไม่ยินยอมที่จะปลดล็อกอาวุธนิวเคลียร์
พฤติกรรมของเกาหลีเหนือหลังจากพัฒนาขีปนาวุธนำส่งนิวเคลียร์พิสัยไกลสำเร็จในเชิงรายละเอียดนั้นยากที่จะคาดเดา อาจเป็นไปได้ว่าไม่มีความเปลี่ยนแปลงมากนัก (เช่นเดียวกับพฤติกรรมและนโยบายที่ไม่ต่างกันนักในช่วงก่อนและหลังการถือครองอาวุธนิวเคลียร์) หรืออาจมีท่าทีแข็งกร้าวขึ้นเพราะมีความมั่นใจมากขึ้น หรือกระทั่งอาจมีท่าทีก้าวร้าวน้อยลงเพราะมีความมั่นคงมากขึ้น
แต่ในท้ายที่สุด ไม่ว่าจะมีท่าทีเปลี่ยนไปในทิศทางใด หากเกาหลีเหนือและสหรัฐฯ ยังเป็นตัวแสดงที่ตัดสินใจแบบ ‘สมเหตุสมผล’ ตามที่บททดลองวิเคราะห์นี้เสนอ การยิงอาวุธนิวเคลียร์และสงครามนิวเคลียร์คงยากที่จะเกิดขึ้น
Tags: ICBMs, NorthKorea, deterrencetheory