การตอบโต้ทางการทูตที่ร้อนระอุระหว่างสหราชอาณาจักรและประเทศพันธมิตรที่มีต่อรัสเซียเกิดขึ้นตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังพบว่าอดีตสายลับรัสเซียที่เคยแปรพักตร์ไปช่วยอังกฤษ เซอร์เก สกริปาล (Sergei Skripal) และลูกสาว ถูกวางยาพิษจนมีอาการโคม่า ทางการอังกฤษพบว่าสารพิษที่ใช้ลอบทำร้ายครั้งนี้ คือสารเคมีในกลุ่มโนวิโชค (Novichok) จัดเป็นสารเคมีต้องห้าม และมีฤทธิ์ร้ายแรงที่ไปทำลายระบบประสาท

ฤทธิ์ของสารพิษนี้ไม่ได้ส่งผลเพียงแค่สกริปาลและลูกสาวของเขาเท่านั้น แต่ยังสะเทือนไปถึงสุขภาพผู้คนรอบข้าง คนที่พบร่างหมดสติของทั้งสองคน ก็ยังอยู่ระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาล และคาดว่าอาจมีคนอย่างน้อย 130 คนที่ได้รับผลกระทบจากสูดดมหรือสัมผัสสารเคมีชนิดนี้ เพราะยังพบสารพิษตกค้างในสถานที่ต่างๆ ที่ทั้งสองเคยเดินทางไปก่อนหมดสติ ซึ่งอาจทำให้ตัวเลขผู้สุ่มเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากสารพิษนี้เพิ่มขึ้น

อังกฤษสรุปว่า เป็นไปได้สูงที่รัสเซียจะอยู่เบื้องหลังการลอบทำร้าย เพราะโนวิโชคเป็นสารที่คิดค้นและพัฒนาโดยรัสเซียในช่วงสงครามเย็น การผลิตสารนี้ยังต้องใช้องค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และห้องแล็บที่ก้าวหน้าระดับสูงสุด ประกอบกับรัฐบาลรัสเซียเคยมีประวัติสั่งลอบสังหารคน โดยเฉพาะคนที่แปรพักตร์จากประเทศตนเอง

ด้วยศักยภาพและแรงจูงใจนี้ รัสเซียจึงตกเป็นผู้ต้องสงสัยอันดับหนึ่ง ทั้งฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า รัสเซียน่าจะมีเอี่ยวในเรื่องนี้ และกล่าวอย่างชัดเจนว่า “ไม่มีคำอธิบายอื่นๆ ที่ฟังขึ้น” (“there is no plausible alternative explanation”)

รัสเซียปฏิเสธข้อกล่าวหามาโดยตลอด และกล่าวว่า อาจเป็นอังกฤษเองที่พยายามจะลอบสังหารสกริปาลแล้วสร้างเรื่องป้ายสีให้รัสเซียเสียชื่อเสียง ด้านอังกฤษและชาติพันธมิตรกว่า 20 ประเทศจากสหภาพยุโรปและนาโตร่วมกันประท้วงการกระทำของรัสเซียด้วยวิธีทางการทูต เช่น การขับไล่ทูตรัสเซียในประเทศของตน ทำให้รัสเซียก็โต้ตอบด้วยการขับไล่ทูตอังกฤษและสหรัฐฯ ออกจากรัสเซียเช่นกัน และยังประกาศกร้าวที่จะตอบโต้อย่างเหมาะสมต่อประเทศอื่นๆ ที่มีมาตรการทางการทูตกับรัสเซีย

นอกจากการตอบโต้ทางการทูตแล้ว อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่น่าขบคิดจากกรณีนี้ก็คือ การลอบสังหารครั้งนี้จะส่งผลต่อการควบคุมอาวุธเคมีระหว่างประเทศอย่างไร

รัสเซียเป็นหนึ่งในสมาชิกของอนุสัญญาว่าด้วยอาวุธเคมี (Chemical Weapons Convention: CWC) ที่ยอมรับว่าจะไม่ใช้ ไม่ผลิต และไม่ครอบครองอาวุธเคมี ดังนั้น หากรัสเซียเป็นผู้ใช้อาวุธเคมีในการพยายามลอบสังหารสายลับจริง หรือกระทั่งหากนานาชาติส่วนใหญ่เชื่อเช่นนั้น (อย่างเช่นในปัจจุบันนี้) คำถามที่น่าสนใจก็คือ อนุสัญญา CWC จะยังมีน้ำยาในการควบคุมอาวุธเคมีอยู่หรือไม่ และที่สำคัญไปกว่านั้นคือบรรทัดฐานของสังคมโลก (global norms) ปัจจุบันที่เราเข้าใจร่วมกันว่า การใช้อาวุธเคมีเป็นสิ่งป่าเถื่อนและเป็นเรื่องต้องห้าม จะสั่นคลอนมากน้อยเพียงใด

กว่าร้อยปีมาแล้ว ที่ทั่วโลกเห็นพ้อง ไม่ใช้อาวุธเคมี

ในยุคสมัยใหม่ โดยเฉพาะหลังสงครามเย็น นานาชาติส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่า การใช้อาวุธเคมีเป็นการกระทำที่เลวร้ายในระดับที่ยอมรับไม่ได้

ศาสตราจารย์ริชาร์ด ไพรซ์ (Richard Price) แห่งมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ทำวิจัยที่น่าสนใจเกี่ยวกับพัฒนาการของบรรทัดฐานของสังคมเกี่ยวกับการไม่ใช้อาวุธเคมี พบว่าบรรทัดฐานนี้เกิดขึ้นมากว่าศตวรรษแล้ว โดยริเริ่มอย่างเป็นทางการเมื่อปี 1899 หลังจากที่หลายประเทศลงนามในคำประกาศเฮก (Hague Declaration) ที่กำหนดกฎเกณฑ์ยุทธวิธีการทำสงครามสมัยใหม่ หนึ่งในนั้นคือ การห้ามไม่ให้ใช้การแพร่กระจายของก๊าซหรือสารเคมีในการกำจัดศัตรู

แต่เรื่องอาวุธเคมีก็ไม่ใช่เป็นประเด็นที่ประเทศต่างๆ ที่ลงนามตอนนั้นให้ความสำคัญ เพราะขณะนั้นอาวุธเคมียังไม่พัฒนาเท่าใดนัก ต่อมา เมื่อเทคโนโลยีชนิดนี้พัฒนาขึ้น คำประกาศนี้ก็ถูกฉีกทิ้งย่อยยับในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยเฉพาะในปี 1915 เมื่อทั้งฝ่ายมหาอำนาจกลางและฝ่ายสัมพันธมิตรต่างใช้อาวุธเคมีกันอย่างเป็นระบบและแพร่หลายในสนามรบ ประเมินกันว่า อาวุธเคมีถือเป็น 1 ใน 3 ของอาวุธทั้งหมดที่ใช้ในสงครามครั้งนี้

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 นานาชาติกลับมาพิจารณาการควบคุมอาวุธเคมีอีกครั้ง แม้ว่าองค์กรทหารผ่านศึกของสหรัฐฯ (the American Legion) เสนอว่า กองทัพควรพิจารณาใช้อาวุธเคมีมากกว่าพวกปืนหรือระเบิด เพราะสำหรับสมัยนั้น อาวุธเคมีมีลักษณะที่มีมนุษยธรรมมากกว่าอาวุธอื่นๆ เนื่องจากการถูกจู่โจมด้วยสารเคมีอาจสามารถเยียวยาได้ แต่บาดแผลจากระเบิดหรือกระสุนอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตหรือพิการไปตลอดชีวิต

อย่างไรก็ดี ทั้งรัฐบาลและประชาชนในประเทศแถบตะวันตกต่างหวาดกลัวอาวุธเคมี โดยเฉพาะหลังจากที่เทคโนโลยีขนส่งและจู่โจมทางอากาศอย่างเครื่องบินพัฒนาก้าวหน้าไปไกล ซึ่งจะทำให้สารพิษมีแนวโน้มแพร่กระจายได้ง่ายและกว้างยิ่งขึ้น รวมถึงพื้นที่นอกสนามรบ

ความกังวลเกี่ยวกับการไม่เจาะจงเป้าหมายของอาวุธนี้ นำไปสู่การเกิดอนุสัญญาเจนีวา (Geneva Protocol) ในปี 1925 ที่กำหนดมาตรฐานการปฏิบัติต่อเชลยศึกและพลเรือน ระบุอย่างชัดเจนถึงการห้ามใช้อาวุธเคมี ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศต่างๆ จำกัดการใช้อาวุธเคมีอย่างมีนัยสำคัญ การไม่ใช้อาวุธเคมีในสงครามระหว่างกันนี้ (ยกเว้นที่นาซีใช้ในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว) เกิดจากผลพวงของหลายๆ ปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลทางด้านศีลธรรม ความกลัวที่จะถูกอีกฝ่ายตอบโต้ด้วยอาวุธเคมีในระดับเดียวกันหรือรุนแรงกว่า อีกทั้งยังขึ้นกับลักษณะของผู้นำ เช่นประธานาธิบดีรูสเวลท์ที่ปฏิเสธการใช้อาวุธเคมี แม้ฝ่ายทหารจะเสนอว่า อาวุธดังกล่าวเป็นอาวุธที่มีประสิทธิภาพสูงสุดที่จะเอาชนะญี่ปุ่นที่มีฐานดำเนินการในอุโมงค์ใต้ดิน นอกจากนี้ ยังขึ้นกับผู้ปฏิบัติการ เช่นจากคำกล่าวอ้างหนึ่งที่ชี้ว่าจริงๆ แล้ว ฮิตเลอร์สั่งให้มีการใช้อาวุธเคมีในช่วงท้ายของสงคราม แต่เหล่านายพลต่างปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำสั่งนั้น

แม้ถือเป็นอาวุธประสิทธิภาพสูง แต่การรับรู้ร่วมกันว่า อาวุธเคมีเป็นสิ่งต้องห้าม ผิดศีลธรรม จนเกิดเป็นแนวปฏิบัติและบรรทัดฐานในระดับนานาชาติที่จะไม่ใช้อาวุธเคมี แต่การพัฒนาบรรทัดฐานนี้ ก็ไม่ได้ราบรื่นตลอดทาง แต่มีการฝ่าฝืนหรือละเมิดเป็นช่วงๆ

เช่นการใช้อาวุธเคมีโดยสหรัฐฯ ในสงครามเวียดนาม หรือในทศวรรษ 1980s ที่ซัดดัม ฮุสเซน ใช้อาวุธประเภทนี้ในสงครามระหว่างอิรัก-อิหร่าน แต่ในการพัฒนาบรรทัดฐานทางสังคม โดยเฉพาะในระดับระหว่างประเทศ การละเมิดบรรทัดฐานประปรายเช่นนี้ถือว่าเป็นเรื่องปกติ และในการละเมิดแต่ละครั้ง ประเทศที่ละเมิดบรรทัดฐานนั้นก็ได้รับการประณามจากทั้งนานาประเทศและในประเทศตัวเอง

การไม่ใช้อาวุธเคมี เป็นเรื่องที่ทั่วโลกเห็นพ้อง?

หลังสงครามเย็น บรรทัดฐานการห้ามใช้อาวุธเคมีถือเป็นหนึ่งในบรรทัดฐานระหว่างประเทศที่ลงหลักปักฐานและประสบความสำเร็จที่สุดในความพยายามจำกัดความรุนแรงของสงคราม การละเมิดก็ลดลงมาเรื่อยๆ ตามกาลเวลา ต่างจากอาวุธอีกหลายชนิดที่ถึงแม้ว่าถูกมองว่าโหดร้ายป่าเถื่อนแต่ก็ยังที่เป็นยอมรับได้หากใช้ในสภาวะยกเว้นต่างๆ เช่นสภาวะสงคราม

หมุดหมายสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงการลงหลักปักฐานของบรรทัดฐานนี้ คือการออกอนุสัญญา CWC ในปี 1993 ซึ่งเป็นการขยับขยายการจำกัดอาวุธเคมีอย่างเป็นทางการ เพราะอนุสัญญาดังกล่าวไม่ได้จำกัดแค่การใช้ แต่ยังรวมถึงการผลิต การครอบครอง และการแลกเปลี่ยนอาวุธดังกล่าวด้วย

ปัจจุบัน CWC มีสมาชิกถึง 192 ประเทศ ถือเป็นหนึ่งในข้อตกลงระหว่างประเทศที่นานาประเทศลงนามมากที่สุด

นอกจากนี้ นานาชาติยังร่วมกันตั้งองค์การห้ามอาวุธเคมี (Organization for the Prohibition of Chemicals Weapons Convention: OPWC) เพื่อติดตามและตรวจสอบให้รัฐสมาชิกทำตามอนุสัญญาฯ ในปี 2013 หน่วยงานนี้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจากความพยายามและความสำเร็จในการตรวจสอบและทำลายอาวุธเคมีแล้วกว่า 72,000 เมตริกตัน หรือกว่า 96 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนอาวุธเคมีที่ประเทศต่างๆ ประกาศว่ามีในครอบครอง

การกลับมาอีกครั้งของอาวุธเคมี

หลังจากมีการก่อกำเนิดอนุสัญญา CWC โลกของเราปลอดการใช้อาวุธเคมีมากว่า 25 ปี อาวุธเคมีถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งโดยรัฐบาลซีเรียในสงครามกลางเมืองที่เริ่มขึ้นในช่วงปลายปี 2012 แต่ในช่วงตอนเริ่มใช้อาวุธเคมีนั้น ซีเรียยังไม่ได้เป็นสมาชิก CWC และต่อมา แม้พบว่าซีเรียยังใช้อาวุธเคมีอยู่หลังเป็นสมาชิก CWC และรายงานว่าตนทำลายอาวุธเคมีหมดแล้ว แต่เหตุการณ์นี้ก็ไม่ได้สร้างความแปลกใจให้กับประชาคมโลกนัก เนื่องจาก OPCW ประเมินไว้แล้วว่า ซีเรียอาจไม่ได้รายงานอาวุธเคมีที่มีในครอบครองตามจริง

นอกจากเหตุการณ์ในซีเรีย อาวุธเคมีก็ถูกใช้ประปรายในสมัยใหม่ เช่น ในปี 2016 พบการใช้อาวุธเคมีต่อประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาลในซูดาน อีกหนึ่งปีต่อมา สารเคมีทำลายล้างสูงที่มีชื่อว่า VX ก็ใช้ในการปลิดชีพนายคิมจองนัม คาดกันว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังการฆาตกรรมดังกล่าวน่าจะเป็นเกาหลีเหนือ

อย่างไรก็ดี ทั้งซูดาน (ในขณะที่พบว่าใช้อาวุธเคมี) และเกาหลีเหนือ ยังไม่ได้เป็นสมาชิกของ CWC และการกระทำอันป่าเถื่อนในทั้งสามกรณีก็ถูกประณามอย่างหนักจากประชาคมโลกและถูกแซงก์ชั่นจากนานาประเทศซึ่งนำโดยสหรัฐฯ

แต่ในกรณีของรัสเซียครั้งนี้ค่อนข้างแตกต่างจากการละเมิดข้อตกลงและบรรทัดฐานดังกล่าว รัสเซียเองเป็นสมาชิกอนุสัญญา CWC ซึ่งแสดงเป็นนัยยะว่ารัสเซียให้การยอมรับที่จะห้ามการใช้อาวุธเคมีอย่างเป็นทางการ การใช้สารพิษครั้งนี้ยังเป็นการใช้ในภาวะปกติที่ไม่ใช่ภาวะสงคราม อีกทั้งหากพบว่ารัสเซียได้ใช้สารเคมีโนวิโชคในความพยายามลอบสังหารจริง ความเชื่อมั่นของนานาชาติต่อระบบการทำงานและการตรวจสอบระหว่างประเทศอาจสั่นคลอนลง เพราะรัสเซียไม่เคยเปิดเผยต่อ OPCW ว่าตนมีสารพิษชนิดนี้ในครอบครอง และเมื่อปีที่แล้วนี้เอง OPCW ก็เพิ่งจะรับรองว่ารัสเซียได้ทำลายอาวุธเคมีที่มีในครอบครองที่มีเกือบ 40,000 เมตริกตันเรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ ในหลายกรณี ความเข้มแข็งของข้อตกลงและบรรทัดฐานระหว่างประเทศ ยังขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของมหาอำนาจ แม้รัสเซียคอยให้ท้ายรัฐบาลซีเรียเรื่องการใช้อาวุธเคมี แต่ในกรณีนี้ รัสเซียเป็นผู้ละเมิดข้อตกลงนี้เอง  

ปัจจุบัน นานาชาตินำโดยอังกฤษซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งหลัก ใช้การขับไล่นักการทูตออกจากประเทศเป็นมาตรการหลักโต้ตอบ แต่โดยทั่วไปแล้ว แม้ว่าการขับไล่นักการทูตเช่นนี้จะเป็นการแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่พอใจกับการกระทำของประเทศที่ถูกขับไล่ แต่การกระทำเช่นนี้ก็ไม่ใช่เรื่องราวรุนแรงใหญ่โตมากนักและความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศคู่ขัดแย้งมักจะค่อยๆ กลับคืนสู่ภาวะปกติหลังจากที่ทั้งสองฝ่าย ‘เอาคืน’ ทางการทูตกัน (เช่น การเรียกนักการทูตกลับ การชะลอให้วีซ่านักการทูตของอีกประเทศ การดำเนินการทางการทูตเชื่องช้ากว่าปกติ ฯลฯ) ตอบกลับกันไปมาสักรอบสองรอบ

หรืออาจกล่าวได้ว่า มาตรการที่นานาชาติใช้ตอบโต้รัสเซียยังไม่ใช่มาตรการที่แข็งกร้าว แม้ว่าจะมีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษรวมถึงประเทศพันธมิตรใช้มาตรการที่แข็งขืนต่อรัสเซีย เช่นจำกัดการถือครองทรัพย์สินของชนชั้นนำชาวรัสเซียภายในประเทศตะวันตก ซึ่งนั่นจะส่งผลกระทบต่อผู้ออกนโยบายในรัสเซียโดยตรง แต่ปัจจุบันรัฐบาลในประเทศเหล่านี้ก็ยังไม่มีสัญญาณตอบรับต่อข้อเรียกร้องเหล่านั้นเท่าใดนัก

พัฒนาการของบรรทัดฐานเรื่องไม่ใช้อาวุธเคมีเดินทางมาไกล แน่นอนว่า การละเมิดครั้งเดียวของรัสเซีย หรือกระทั่งการละเมิดจากประเทศอื่นๆ เป็นครั้งคราว ย่อมไม่ได้นำไปสู่การสูญสิ้นของบรรทัดฐานนี้จนทำให้โลกของเรามองว่าการใช้อาวุธเคมีเป็นเรื่องปกติและจะนำอาวุธชนิดนี้มาใช้แพร่หลายในสงครามอีกครั้งดังเช่นที่เกิดในสงครามโลกครั้งที่ 1 การวัดความเข้มแข็งของบรรทัดฐานหนึ่งๆ อาจไม่ได้มองแค่ว่าสมาชิกทำตามบรรทัดฐานนั้นแค่ไหน แต่ยังสามารถดูได้จากการที่ผู้ทำผิดบรรทัดฐานนั้นมีท่าทีโต้ตอบอย่างไร ซึ่งในกรณีที่ผ่านๆ มารวมถึงรัสเซียในครั้งนี้ ก็ปฏิเสธว่าตนเองใช้อาวุธดังกล่าว นั่นย่อมหมายความว่าประเทศเหล่านี้ยังมองว่าการใช้อาวุธเคมีไม่ได้เป็นที่ยอมรับระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ดี การละเมิดในแต่ละครั้งก็ส่งผลในทางลบต่อความมั่นคงของบรรทัดฐานนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะหากการตอบโต้จากนานาประเทศเกิดขึ้นในรูปแบบและระดับที่ไม่เหมาะสม เพราะนั่นอาจทำให้นานาชาติรวมถึงผู้กระทำผิดสร้างความเข้าใจและการเรียนรู้ว่าการละเมิดนั้นกระทำได้ในบางกรณี

เรื่องการลอบวางยาพิษจะพัฒนาหรือคลี่คลายไปทางใด นานาประเทศรวมถึงประเทศไทยที่เป็นสมาชิกของประชาคมโลกและยังเป็นสมาชิก CWC ควรติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ได้เพียงส่งผลต่อความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศ และไม่ใช่เพียงการตอบโต้ต่อการที่ประเทศอื่นพยายามที่จะฆ่าพลเมืองของประเทศตนหรือประเทศพันธมิตร (ปัจจุบัน สกริปาลได้โอนสัญชาติมาเป็นพลเมืองอังกฤษ) แต่ยังมีผลต่อเสถียรภาพความมั่นคงของบรรทัดฐานเรื่องการไม่ใช้อาวุธเคมีในระดับโลก

Tags: , , , , , , , ,